การอพยพของมนุษย์ ถูกกระตุ้นโดยสงคราม ภัยธรรมชาติ และขณะนี้คือภูมิอากาศ

การอพยพของมนุษย์ ถูกกระตุ้นโดยสงคราม ภัยธรรมชาติ และขณะนี้คือภูมิอากาศ

มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ได้ย้ายถิ่นฐานของตนมาตั้งแต่ช่วงของการเริ่มต้นเผ่าพันธุ์ โดยอุทกภัย ความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเป็นสาเหตุในการอพยพของพวกเขา

การอพยพของมนุษย์ คือการเคลื่อนย้ายจากประเทศ สถานที่ หรือถิ่นฐานหนึ่งไปยังสถานที่หนึ่ง นับตั้งแต่มนุษย์ยุคแรกได้เริ่มกระจายตัวจากทวีปแอฟริกา มนุษย์ก็ยังคงย้ายถิ่นฐานอยู่เช่นเดิม กระทั่งในทุกวันนี้ จำนวนประชากรโลกร้อยละ 3 หรือประมาณ 258 ล้านคนอยู่อาศัยนอกถิ่นกำเนิดของพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือถูกสถานการณ์บังคับ การอพยพก็ได้มีส่วนสร้างโลกของเราให้เป็นอย่างทุกวันนี้

การอพยพครั้งแรก

การอพยพของมนุษย์ ครั้งแรกสุดนั้นเกิดขึ้นโดยมนุษย์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา การกระจายตัวของพวกเขาไปยังมหาทวีปยูเรเซียและที่อื่น ๆ ยังคงเป็นข้อถกเถียงในทางวิทยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่ระบุว่าเป็นของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ ในประเทศเอธิโอเปียซึ่งมีอายุประมาณ 200,000 ปีมาแล้ว

ทฤษฎีการออกจากแอฟริกายืนยันว่าเมื่อ 60,000 ปีที่แล้ว มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ได้กระจายตัวไปทั่วมหาทวีปยูราเซียอันเป็นสถานที่รวมตัวกัน และมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ได้แทนที่บรรพบุรุษของพวกเขาอย่างมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในท้ายที่สุด แต่ทว่าทฤษฎีนี้ก็ถูกท้าทายโดยหลักฐานของการอพยพจากทวีปแอฟริกา สู่มหาทวีปยูราเซียเมื่อ 120,000 ปีที่แล้ว ในอีกแง่หนึ่ง มีแนวคิดว่ามนุษย์ยุคแรกได้อพยพสู่ทวีปเอเชียผ่านทางช่องแคบที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินปลายแหลมของแอฟริกา (บริเวณคาบสมุทรโซมาลี) ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศเยเมน หรือได้อพยพผ่านทางคาบสมุทรไซนาย หลังจากได้กระจายตัวไปจนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ก็มีความคิดว่ามนุษย์ยุคแรกได้อพยพสู่ทวีปออสเตรเลีย ที่ในขณะนั้นยังแบ่งปันพื้นที่ร่วมกับเกาะนิวกินี จากนั้นได้อพยพไปยังทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา

การอพยพของมนุษย์, แผนที่,
มนุษย์ยุคใหม่เริ่มอพยพออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อ 60,000 ปีที่แล้ว โดยแผนที่ฉบับนี้คือเส้นทางอพยพ

ผู้อพยพเหล่านี้ถูกกระตุ้นโดยภูมิอากาศ แหล่งอาหาร และปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เมื่อเวลาผ่านไปและวัฒนธรรมการเร่ร่อนได้ลดลง สงครามและการล่าอาณานิคมได้กลายมาเป็นเชื้อไฟของการย้ายถิ่นฐาน คนกรีกโบราณขยายอาณาจักรไปยังบรรดาอาณานิคมหลายแห่ง ชาวโรมันโบราณได้ส่งพลเมืองของตนไปยังพื้นที่ทางเหนือสุดของเกาะอังกฤษ และจักรพรรดิจีนก็ได้ใช้การทหารขยายชายแดนของตน และให้ถิ่นพำนักกับผู้ลี้ภัยสงครามในพื้นที่ชายแดนอันห่างไกล

เหตุผลที่ต้องหนี

การอพยพเกิดเป็นรูปร่างและซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากสงคราม การค้าทาส และการถูกบุกรุกข่มแหง ชาวยิวได้หลบหนีไปจากดินแดนบรรพบุรุษหลังจากเกิดกระแสการขับไล่และการทำลายนครเยรูซาเลมในคริสตศักราช 70 จนเกิดการกระจายตัวของผู้พลัดถิ่น ชาวแอฟริกันอย่างน้อย 12 ล้านคนตกเป็นทาสและถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานไปยังทวีปอเมริกาในช่วงของการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงปีคริสตศักราช 1500 จนถึงช่วงทศวรรษ 1860 และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดในปี 1945 ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นับแสนคนและพลเรือนจากที่อื่น ๆ ได้เป็นผู้ที่ย้ายเข้าไปในยุโรปตะวันออก ดินแดนปาเลสไตน์ในอาณัติของอังกฤษที่ต่อมาคือประเทศอิสราเอล และประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ในช่วงที่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง มีคนเวียดนามกว่า 125,000 คน อพยพไปสหรัฐอเมริกาและในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม

พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่กลุ่มสุดท้าย การอพยพยังคงดำเนินมาจนถึงศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ซึ่งถูกขับเคลื่อนจากภาวะขาดแคลนอาหาร ภัยธรรมชาติ และการทารุณทางสิทธิมนุษยชน ในปี 2013 ผู้อพยพจากภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และภูมิภาคตะวันออกกลางไปยังทวีปยุโรปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ผู้อพยพเหล่านี้ต้องการหลีกหนีความยากจน และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในบ้านเกิด วิกฤตการณ์ผู้อพยพได้ขยายไปถึงการลดลงของทรัพยากรในทวีปยุโรป เป็นการเติมเชื้อไฟแห่งความกลัวและความโกรธเคืองชาวต่างชาติแม้แต่ในรัฐที่ยอมรับพวกเขาเข้ามา นอกจากนี้ ผู้อพยพชาวโรฮีนจากว่าแสนคนก็จำต้องอพยพจากประเทศเมียนมาอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขามานานนับร้อยปี ไปยังประเทศบังกลาเทศ

ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจเติมเชื้อไฟให้เกิดการย้ายถิ่นในระดับมหาศาล จากรายงานของธนาคารโลกในปี 2018 พบว่าผู้คนมากกว่า 143 ล้านคนอาจกลายเป็นผู้อพยพเนื่องจากภาวะภูมิอากาศในเร็ว ๆ นี้ อันมีสาเหตุมาจากอุทกภัย ความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ดูเหมือนว่าการอพยพจะยังดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์ และตราบเท่าที่พวกเขายังมีสถานที่ที่จะไป


อ่านเพิ่มเติม รอยเท้าเก่าแก่ 85,000 ปี ร่องรอยการอพยพมนุษย์

Recommend