ระหว่างการรับประทานอาหารมื้อค่ำ เหล่าผู้สร้าง เรือไททานิค ได้จินตนาการถึงเรือที่ทั้งรวดเร็วและหรูหรา และในไม่ช้า เรือลำนี้ได้ถูกยกย่องและอ้างว่ามันจะ “ไม่มีวันจม”
แม้ อาร์.เอ็ม.เอส. ไททานิค จะต้องพบจุดจบด้วยการจมลงใต้น้ำเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับหายนะที่เกิดขึ้นก็ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดของชาวอเมริกัน เป็นไปได้อย่างไรที่เรือที่ถูกสร้างโดยเหล่าวิศวกรผู้เก่งกาจที่สุดในยุคนั้นและถูกออกแบบให้ “ไม่มีวันจม” ลำนี้ต้องดำดิ่งลงใต้น้ำภายในเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 40 นาที จากการชนกับภูเขาน้ำแข็งเมื่อมันแล่นอยู่ห่างจากบอสตันไปทางตะวันออกราว 1,609 กิโลเมตร และนำลูกเรือและผู้โดยสารผู้โชคร้ายกว่า 1,500 ชีวิตไปสู่ความตาย (ส่วนผู้คนบนเรืออีก 706 คนนั้นรอดมาได้) เรื่องราวการกำเนิดของไททานิคและความฝันของผู้ที่สร้างมันนั้นยิ่งทำให้ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นเรื่องที่โหดร้ายมากกว่าเดิม ทุกสิ่งเริ่มขึ้นมาจากอาหารค่ำมื้อเย็นในลอนดอน บรั่นดียี่ห้อนโปเลียน และซิการ์จากคิวบา
แข่งขันต่อเรือลำยักษ์
คืนหนึ่งในฤดูร้อนของปี 1907 ลอร์ดวิลเลียม เจมส์ เพียร์รี ประธานบริษัทต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ (Harland and Wolff) ซึ่งตั้งอยู่ที่เบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ ประชุมและรับประทานอาหารมื้อเย็นกับ เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัทการเดินเรือไวท์สตาร์ไลน์ที่บ้านของตนในลอนดอน บริษัทเดินเรือนี้สั่งสมความมั่งคั่งด้วยการขนส่งผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกา และให้บริการเรือโดยสารขนส่งลูกค้าผู้มั่งคั่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ในขณะนั้น มีการแข่งขันที่มากขึ้น บรรดาคู่แข่งต่างมุ่งมั่นสร้างเรือที่รวดเร็วและมีความสะดวกสบายมากขึ้น หนึ่งในคู่แข่งตัวฉกาจคือบริษัทการเดินเรือคิวนาร์ด ซึ่งเพิ่งเปิดตัว ลูซิเทเนีย และมอริเตเนีย เรือโดยสารสองลำที่ดูเหนือชั้นที่สุดทั้งในด้านความเร็วและความหรูหรา
อิสเมย์ต้องการสร้างเรือที่ทั้งใหญ่โตและยอดเยี่ยมยิ่งกว่าอย่างเร่งด่วน ขณะจิบบรั่นดีหลังอาหารเย็น เขาเผยต่อเพียร์รี่ว่า ตนมีวิสัยทัศน์ว่าจะให้ฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟต่อเรือที่จะโดดเด่นเหนือกว่าเรือของคู่แข่งอย่างมากโขได้อย่างไร ทันใดนั้น เพียร์รี่ได้ร่างภาพของบรรดาเรือที่อิสเมย์อธิบายให้เขาฟัง เรือเหล่านั้นจะมีทั้งหมดสามลำ โดยแต่ละลำจะมีลักษณะเช่นเดียวกันหมด ได้แก่โอลิมปิค ไททานิค และไจแกนติค (ซึ่งต่อมาจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริเตนนิค)
ต่อเรือลำยักษ์
การต่อเรือเริ่มขึ้นในเวลาไม่นาน ในทุกๆ เช้า แรงงานกว่า 15,000 คนหลั่งไหลมาที่อู่ต่อเรือของฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟเพื่อต่อเรือซึ่งทำจากเล็กและโลหะเหล่านี้ พวกเขาวางกระดูกงูของไททานิคเคียงคู่กับโอลิมปิคซึ่งเป็นฝาแฝดของมันเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1909 (ส่วนไจแกนติคถูกกำหนดให้สร้างในภายหลัง)
ในอีกสองปีต่อมา คนงานราว 3,000 คนอุทิศตนให้กับการต่อเรือไททานิค พวกเขาตอกหมุดลงบนแผ่นเหล็กซึ่งซ้อนทับกันเป็นชั้นเพื่อก่อรูปตัวเรือและเตรียมพร้อมเปลือกเรือสำหรับการวางดาดฟ้าชั้นต่างๆ โดยมี โธมัส แอนดรูว์ส หัวหน้าผู้ออกแบบเรือของฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟ์ เป็นผู้ควบคุมการต่อเรือ เขารู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานของตนเอง ในค่ำคืนหนึ่งในปี 1910 แอนดรูวส์พาภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์มาที่อู่เพื่ออวดโฉมโอลิมปิคและไททานิค ซึ่งเปรียบเหมือนลูกอีกสองคนของเขาให้เธอได้ชม เหนือขึ้นไปบนท้องฟ้า ดาวหางฮัลเล่ย์กำลังส่องแสงสกาว
เรือที่ไม่มีวันจม
เรือทั้งสองลำออกแบบให้มีความยาว 269 เมตร หรือมากกว่าเรือลำใหม่ทั้งสองของคิวนาร์ดกว่า 36.6 เมตร แต่ระหว่างการต่อเรือ ไททานิคกลับมีความยาวเพิ่มขึ้นอีกเก้านิ้ว ทำให้มันเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้น นอกจากนี้ มันยังมีความสูงวัดจากกระดูกงูถึงยอดปล่องควันกว่า 53.3 เมตร ทำให้ไททานิคมีความยาวเทียบเท่าบล็อกเมืองสี่บล็อกและมีความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น และยังมีผนังเหล็กอีกสิบห้าแผ่นซึ่งแบ่งด้านในของตัวเรือออกเป็นสิบห้าส่วน โดยแต่ละส่วนถูกโฆษณาว่าสามารถป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าไปในตัวเรือได้
เหล่าผู้สร้างไททานิคคาดคำนวนว่ามันสามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้ในกรณีที่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น ในการเดินทางข้ามแอตแลนติกเหนือในช่วง 40 ปี ก่อนหน้านี้ อุบัติเหตุต่างๆ กลายเป็นเรื่องล้าสมัย ส่วนเรื่องเรือจมนั้นหรือ? แม้แต่กัปตันของเรือลำนี้ยังเคยป่าวประกาศครั้งหนึ่งว่าตัวเขาไม่อาจจินตนาการว่าจะมีเหตุใดๆ ที่อาจทำให้เรือสมัยใหม่ต้องจมลง นิตยสารชิปบิลเดอร์ (Shipbuilder magazine) ได้สำรวจไททานิคและประกาศว่า “มันไม่มีวันจม” แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำกล่าวนี้กลับได้รับการพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง
ทดลองปล่อยตัว
วันที่ 31 พฤษภาคม 1911 คือวันที่อากาศแจ่มใส เพียร์รี่, อิสเมย์, และเจ. พี. มอร์แกน เศรษฐีเงินล้านชาวอเมริกันผู้ควบคุมการเงินของไวท์สตาร์ เข้าร่วมกับฝูงชนราวหนึ่งแสนคนเพื่อชมดูการปล่อยตัวไททานิคลงสู่แม่น้ำ Lagan จากรางเลื่อนไม้ซึ่งถูกลงน้ำมัน เสาค้ำน้ำหนักล้มลง เพียร์รี่ให้สัญญานปล่อยอุปกรณ์ยับยั้งชิ้นสุดท้าย และไททานิคก็ได้เคลื่อนไหวเป็นครั้งแรก เหนือขึ้นไปด้านบน ธงสัญญานบนเครนส่งรหัสเป็นคำว่า “โชคดี” ให้แก่มัน
แต่ไททานิคที่ลอยลำอยู่นี้เป็นเพียงโครงกระดูกเท่านั้น กระบวนการ “ต่อเรือให้เสร็จสมบูรณ์” ต้องใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งปี กระบวนการดังกล่าวนี้มีทั้งการจัดแบ่งและตกแต่งห้องต่างๆ ตั้งปล่องควันทั้งสี่ และทำทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเตรียมล่องเรือ เงินทุกสตางค์ถูกใช้อย่างไม่ยั้ง เรือลำนี้มีทั้งสระว่ายน้ำอุ่น ห้องอาบน้ำร้อน คาเฟ่ซึ่งประดับด้วยต้นปาล์ม ห้องอาหารชั้นหนึ่งที่จุคนได้กว่า 554 ที่นั่ง คอร์ทสคอวช และห้องวิทยุโทรเลขไร้สาย ซึ่งใช้สำหรับทั้งการส่งข้อความเพื่อความปลอดภัยเมื่อเรือล่องอยู่กลางทะเลและสร้างความพึงพอใจให้เหล่าผู้โดยสารผู้มากทรัพย์ที่ต้องการสื่อสารกับผู้คนบนฝั่ง
เมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 1912 เหล่าคนงานต่างเร่งรีบทาสีและเคลือบเงาตัวเรือเป็นครั้งสุดท้าย ในวันเดียวกันนั้นเอง เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิท วัย 62 ปี ผู้เป็นกัปตันของการท่องสมุทรครั้งแรกของเรือทุกลำของบริษัทเดินเรือไวท์สตาร์ ขึ้นมาบนไทแทนิคเพื่อดูแลการทดสอบการล่องทะเลของมัน อันเป็นการทดสอบในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าเรือลำนี้มีสมรรถนะตามมาตรฐานซึ่งกำหนดไว้ในการออกแบบ เขาประกาศว่านี่จะเป็นการล่องเรือข้ามแอตแลนติกครั้งสุดท้ายของตน ก่อนจะเกษียนอย่างมีความสุขเมื่อเขาได้กลับสู่อังกฤษ ไททานิคผ่านการทดสอบ และได้รับใบรับรองจากคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหราชอาณาจักร
ไททานิคล่องไปสู่เซาท์แฮมตันเพื่อรับถ่านหินและผู้โดยสารกลุ่มแรก เมื่อเช้าของวันที่ 10 เมษายน ฝูงชนที่ท่าเทียบเรือต้องตะลึงไปกับเรือยักษ์ใหญ่และดูแข็งแกร่งลำนี้ ซิลเวีย เคลาด์เวล ผู้โดยสารคนหนึ่งถามกะลาสีว่า “เรือลำนี้จะไม่มีวันจมจริงหรือ?” กะลาสีผู้นั้นตอบว่า “ใช่ครับคุณสุภาพสตรี แม้แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าเองยังไม่สามารถทำให้มันจมได้เลยครับ”
จุดเริ่มต้นของจุดจบ
เรืออันยิ่งใหญ่ลำนี้ออกเดินทางในตอนบ่าย เมื่อช่างเติมถ่านหินประจำห้องหม้อไอน้ำเจ็ดคนซึ่งดื่มสุราในผับจนลืมเวลาพยายามวิ่งขึ้นเรือแต่ไม่ทัน แน่นอนว่าพวกเขาคงต้องรู้สึกผิดหวัง ขณะกำลังล่องไปตามแม่น้ำเทสต์ ไททานิคได้แล่นผ่านเรือเดินสมุทรนิวยอร์คซึ่งกำลังเทียบท่าอยู่ แรงดูดของมันดึงนิวยอร์คออกจากท่าเทียบและทำให้โซ่สมอของมันขาด ก่อนที่เรือลำเล็กกว่านี้จะถูกดึงเข้าหาไททานิค สมิธได้สั่งให้เรือของตนเร่งกำลังใบจักรด้านกราบซ้ายเพื่อสร้างช่องว่างระหว่างเรือทั้งสองลำ ทำให้พวกมันรอดจากการประสานงาได้อย่างเฉียดฉิว
ไททานิคแวะเทียบท่าที่แชร์บูร์กในฝรั่งเศสและควีนส์ทาวน์ในไอร์แลนด์เพื่อรับและส่งผู้โดยสาร เมื่อมันบอกลาควีนส์ทาวน์เมื่อวันที่ 11 เมษายน ฟรานซิส บราวน์ ผู้โดยสารซึ่งลงจากเรือได้ถ่ายภาพไททานิคที่ยังลอยลำเป็นภาพสุดท้าย ผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งรวมตัวอัดแน่นบนดาดฟ้าท้ายเรือชั้นบนสุดเพื่อมองดูโลกใบเก่าเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เรือจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกและลับตาออกไป ในขณะนั้น ผู้โดยสารชั้นสามคนหนึ่งก็ได้เล่นเพลง “ความอาดูรของเอริน (Erin’s Lament)” อันเป็นเพลงเศร้าของไอร์แลนด์ด้วยปี่สก็อต และณ บัดนี้ ไททานิคก็ได้เดินทางมุ่งหน้าไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติกอันกว้างใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว…
เรื่อง กองบรรณาธิการ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน