106 ปี ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม
ซากเรือนอนสงบนิ่งในความมืดมิด เศษโลหะผุกร่อนกระจัดกระจายกินอาณาบริเวณสี่ตารางกิโลเมตรของก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ รอเวลาให้เชื้อรากัดกิน สรรพชีวิตไร้สีสันเร้นกายอยู่ตามผนังและขอบหยักแหลม นับตั้งแต่การค้นพบซากเรือเมื่อปี 1985 โดยโรเบิร์ต บัลลาร์ด นักสำรวจประจำสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก และชอง-หลุย มีเชล นาน ๆ ทีจะมีหุ่นยนต์หรือยานดำน้ำที่มีมนุษย์ควบคุมลงไปโฉบเหนือพื้นผิวดำทะมึนของ ไททานิก บางครั้งก็มีการปล่อยคลื่นเสียงหรือโซนาร์ในทิศทางของซากเรือ เก็บภาพแล้วกลับขึ้นมา
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักสำรวจอย่างเจมส์ แคเมรอนและปอล-อองรี นาชีโอเล ได้นำภาพถ่ายซากเรือที่ละเอียดชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กลับขึ้นมา แต่โดยรวมแล้วเรายังเห็นรายละเอียดของจุดอับปางได้ไม่ชัดนัก ทัศนวิสัยของเราจำกัดจากปฏิกูลแขวนลอยและตะกอนในน้ำ คงเห็นแต่เพียงบริเวณที่แสงไฟจากยานใต้น้ำส่องถึงเท่านั้น เรายังไม่สามารถปะติดปะต่อได้ว่าชิ้นส่วนที่แตกต่างกันเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และเราก็ยังไม่เคยเห็นภาพรวมของพื้นที่ที่เรืออับปางอย่างสมบูรณ์เลย
กระทั่งบัดนี้ ในรถเทรลเลอร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคจอดอยู่หลังสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution: WHOI) วิลเลียม แลงก์ ยืนอยู่เหนือแผนที่สำรวจด้วยระบบโซนาร์ของจุดที่ ไททานิก อับปาง ซึ่งเป็นภาพโมเสกที่ประกอบขึ้นจากภาพขนาดเล็กจำนวนมากและใช้เวลาทำนานหลายเดือน เมื่อมองแวบแรก ภาพนี้ดูคล้ายพื้นผิวดวงจันทร์ทั้งริ้วลายบนพื้นทะเลและแอ่งน้อยใหญ่
ครั้นพินิจพิจารณาใกล้ ๆ เราจึงเห็นว่าจุดอับปางนั้นระเกะระกะไปด้วยเศษซากวัสดุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ แลงก์ชี้ไปที่ส่วนหนึ่งของแผนที่ เขาขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้เราเห็นส่วนหัวของเรือ ไททานิก ชัดจนพอดูออกบ้างแล้วเห็นช่องโหว่สีดำตรงที่ครั้งหนึ่งเคยมีปล่องควันด้านหน้าตั้งอยู่ ฝาปิดระวางบานหนึ่งที่หลุดกระเด็นออกมาจมอยู่ในโคลนห่างออกไปทางเหนือหลายร้อยเมตร เพียงลากเมาส์คอมพิวเตอร์ เราก็เห็นซากเรือไททานิกทั้งลำ ไม่ว่าจะเป็นพุกผูกเรือ (bollard) เสาเดวิต (davit) หรือหม้อไอน้ำ (boiler) กองเศษซากซึ่งครั้งหนึ่งเคยแยกแยะไม่ออกกลายเป็นภาพถ่ายความละเอียดสูงของจุดเกิดเหตุ ”ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง หนึ่งร้อยปีผ่านไปในที่สุดไฟก็สว่างครับ” แลงก์บอก
บิล แลงก์ เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางการประมวลผลภาพและการสร้างภาพขั้นสูงของสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล ที่นี่เป็นห้องทึบคล้ายถ้ำ ภายในบุด้วยวัสดุเก็บเสียงและแน่นขนัดไปด้วยจอภาพโทรทัศน์ความละเอียดสูง และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่งเสียงครางหึ่ง ๆ แลงก์เป็นส่วนหนึ่งในทีมสำรวจชุดแรกของบัลลาร์ดที่ค้นพบซากเรือ และยังคงถ่ายภาพบริเวณอับปางด้วยกล้องที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่นั้นมา
ภาพโมเสกขนาดใหญ่ของซากเรือซึ่งเป็นผลจากการสำรวจมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปี 2010 ถ่ายภาพโดยหุ่นยนต์หรือยานล้ำยุคสามลำซึ่ง ”บิน” อยู่เหนือพื้นก้นสมุทร ณ ระดับความสูงแตกต่างกัน ยานที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องโซนาร์แบบสแกนข้างชนิดหลายลำคลื่น และกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูงที่ถ่ายภาพได้หลายร้อยภาพต่อวินาที ปฏิบัติงานโดยวิธี ”ไถสนาม” ซึ่งเป็นศัพท์เรียกเทคนิคดังกล่าว ยานทั้งสามวิ่งกลับไปกลับมาตัดบริเวณก้นสมุทร เป้าหมายเป็นพื้นที่ห้าคูณแปดกิโลเมตร แล้วจึงนำข้อมูลแต่ละแถบมาเชื่อมต่อกันด้วยระบบดิจิทัล เพื่อประกอบเป็นภาพความละเอียดสูงขนาดมหึมาหนึ่งภาพ ซึ่งทุกส่วนมีการทำแผนที่อย่างละเอียดและถูกต้องตามตำแหน่งอ้างอิงทางภูมิศาสตร์
”นี่เป็นการพลิกโฉมสถานการณ์เลยนะครับ” เจมส์ เดลกาโด กล่าว เขาเป็นนักโบราณคดีสังกัดสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯหรือโนอา (National Oceanic and Atmospheric Ad- ministration: NOAA) และเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้นำการสำรวจครั้งนี้ “ที่ผ่านมาการพยายามทำความเข้าใจซากเรือไททานิก อุปมาไปแล้วก็เหมือนกับการเพ่งมองนครนิวยอร์กกลางพายุฝนตอนเที่ยงคืนด้วยไฟฉายเพียงกระบอกเดียว ตอนนี้เรามีจุดอับปางที่สามารถสำรวจตรวจวัดได้ และมีรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจนคอยบอกเรา ในอีกหลายปีข้างหน้า แผนที่ประวัติศาสตร์ฉบับนี้อาจเผยเรื่องราวของผู้วายชนม์ที่เสียงของพวกเขาประหนึ่งจะจมหายไปกับสายน้ำเย็นยะเยือกตลอดกาล”
ซากเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก มีอะไรน่าดึงดูดนัก หนึ่งร้อยปีผ่านไป เหตุใดผู้คนจึงยังทุ่มเทกำลังสมองและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมหาศาลให้กับสุสานโลหะที่จมอยู่ใต้พื้นสมุทรลึกลงไปราวสี่กิโลเมตร