รูปที่มีทุกบ้าน

รูปที่มีทุกบ้าน

หากมองเผิน ๆ เราคงไม่รู้สึกประหลาดใจกับภาพถ่ายภาพนี้สักเท่าไร แต่ถ้าผมบอกว่าภาพนี้ถ่ายโดยช่างภาพชื่อ ดีน คองเกอร์ มีดีกรีเป็นช่างภาพ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ก็อาจจุดประกายความสนใจขึ้นมาได้บ้าง

แล้วถ้าผมบอกเพิ่มอีกว่า ภาพนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1967 หรือตรงกับ พ.ศ. 2510 เป็นภาพหนึ่งที่ประกอบสารคดีเรื่อง “Hope and Fears in Booming Thailand” ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันนั้น ก็น่าจะทำให้ใครหลายคนอยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังมากขึ้น คำบรรยายภาพภาพนี้ระบุสั้น ๆ ว่า “พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกำลังศึกษาพระธรรมอยู่ในกุฏิที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ชายไทยส่วนใหญ่รวมถึงพระมหากษัตริย์ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ประดับอยู่บนผนังห้องจะได้รับผลบุญยิ่งใหญ่จากการบวชเรียนเป็นพระภิกษุ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม”

ภาพถ่ายภาพนี้มีอายุเกือบครึ่งศตวรรษ หากบวกเวลาเพิ่มเข้าไปอีก 20 ปีคงหมายถึงหนึ่งชั่วอายุคนและหมายถึงช่วงเวลา 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทย รัชสมัยอันยาวนานนี้หมายความว่า คนไทยส่วนใหญ่เกิดและเติบโตขึ้นใน

แผ่นดินรัชกาลที่ 9 แม้วันนี้พระองค์จะจากพวกเราไป พร้อม ๆ กับที่ยุคสมัยหรือหน้าประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่หน้าหนึ่งได้ปิดฉากลง นั่นคือความเป็นจริงอันเจ็บปวดที่เราจำต้องยอมรับ  และก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

ในบทความเรื่อง “พระราชวงศ์ผู้ทรงงานของไทย” หรือ “Thailand’s Working Royalty” ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับตุลาคม ปี 1982 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อกราบบังคมทูลสัมภาษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถึงความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองโดยทรงไล่เรียงความเป็นไปในแต่ละรัชกาล จนมาถึงรัชสมัยของพระองค์ว่า

“แล้วเราก็เข้ามา [เสด็จขึ้นครองราชย์] ตอนนั้นเราอายุ 18 ถึงตอนนี้ก็ 36 ปีแล้ว เป็นเวลายาวนานทีเดียว ตอนที่เราเข้ามารับหน้าที่นี้ในพระราชวัง ทั้งเก้าอี้และพรมมีรูโหว่ พื้นก็ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด พระราชวังอยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรม ตอนนั้นเป็นช่วงหลังสงคราม และไม่มีใครคอยดูแล เราต้องสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นใหม่ เราไม่รื้อทำลาย แต่ค่อย ๆ ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันทีละชิ้น นี่ก็ล่วงเข้า 36 ปีแล้ว ดังนั้นรัชสมัยนี้อาจเป็นเรื่องของการก้าวไปทีละก้าว [เป็น] วิวัฒนาการมองหาสิ่งดี ๆ จากอดีต ประเพณียังคงอยู่และได้รับการปรับเปลี่ยน นี่คือบทเรียน: เรานำประเพณีเก่าแก่มาบรูณะขึ้นใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต”

     ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

 

อ่านเพิ่มเติม : คุยกับซีซาร์ มิลแลน๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

Recommend