๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ยุวกษัตริย์

๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ยุวกษัตริย์

รอบนักษัตรที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๘๒)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระนาม ”ภูมิพลอดุลเดช” ทางโทรเลข โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า BhumibalaAduladeja สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยในตอนแรกว่า พระนามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานคือ ภูมิบาล การเขียนอักษรเช่นนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์การเทียบอักษรโรมันกับอักษรไทยของคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีสันสกฤต (ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๖) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษรพระนามพระองค์เองว่า ”ภูมิพลอดุลเดช” และ “ภูมิพลอดุลยเดช” สลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบมีตัว ”ย” สะกดตามปัจจุบัน

คำว่าภูมิพลมีความหมายว่าพลังแห่งแผ่นดิน

คำว่าอดุลยเดชมีความหมายว่าผู้มีอำนาจที่ไม่มีผู้ใดอาจเทียบได้

ขณะทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดให้อาจารย์ที่โรงเรียนเพาะช่าง (ชื่อในสมัยนั้น) ประดิษฐ์ตัวต่อ (จิ๊กซอว์) เป็นภาพแผนที่ประเทศไทยถวาย เพื่อทรงเล่นเป็นการฝึกทักษะและเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทย นับเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ส่งเสริมให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ในเวลาต่อมา เช่น ขณะเจริญพระชนมายุเพียง ๑๐ พรรษา ทรงประดิษฐ์เครื่องรับวิทยุและทรงซ่อมจักรเย็บผ้าให้พระพี่เลี้ยง จนถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมอย่างกังหันน้ำชัยพัฒนา ในปัจจุบันภาพแผนที่ประเทศไทยที่ประทับอยู่ในความทรงจำ ทำให้พระองค์ทรงนึกถึงประเทศและอาณาประชาราษฎร์ ดังตลอดเวลาหลายสิบปีที่ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จนเป็นที่กล่าวกันว่าไม่มีที่แห่งใดบนผืนแผ่นดินไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปไม่ถึง

ขณะประทับอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส เมื่อทรงจบระดับมัธยมศึกษา ทรงได้รับประกาศนียบัตรด้านอักษรศาสตร์ ส่วนในมหาวิทยาลัยเบื้องแรกทรงศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ทว่าหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยและพระประมุขของปวงชนชาวไทย

 

อ่านเพิ่มเติม : ๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙, ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

Recommend