๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ปวงประชามหาปีติ

๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ปวงประชามหาปีติ

รอบนักษัตรที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๙๔)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้วเสด็จฯกลับไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ล่วงถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงเสด็จนิวัตประเทศไทย

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นี้เอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ มีนาคม

ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส แล้วทรงสถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ที่ทรงประกอบพิธีหมั้นตั้งแต่ครั้งทรงพำนักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้วสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

พระปรมาภิไธยที่จารึกในแผ่นพระสุพรรณบัฏเมื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยภูษิตาภรณ์ ประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา ในช่วงแรกๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูโบราณราชประเพณีที่เคยว่างเว้นไปในสมัยรัชกาลก่อน ๆ เช่น พิธีพืชมงคลที่ว่างเว้นไปกว่า ๑๐ ปีก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ และพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้น

พระราชกรณียกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนี้มีอาทิ การเสด็จฯไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้วได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญทางด้านเกษตรกรรม ได้ทรงจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อทำการทดลองและวิจัยทางการเกษตร

ภายหลังการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายต่อหลายครั้งในเวลาต่อมา เป็นผลให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใหม่ ๆ ขึ้นมากมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ แก่พสกนิกรของพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

 

อ่านเพิ่มเติม : ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ยุวกษัตริย์๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

Recommend