อัลฮัมบรา อาณาจักรมุสลิมแห่งสุดท้ายของสเปน

อัลฮัมบรา อาณาจักรมุสลิมแห่งสุดท้ายของสเปน

เจาะลึก อัลฮัมบรา ในตำนาน ที่ซึ่งอาณาจักรมุสลิมแห่งสุดท้ายของสเปนปกครองอยู่เกือบ 300 ปี

เฆซุส เบร์มูเดซ ผูกพันกับ อัลฮัมบรา (Alhambra) อย่าง ลํ้าลึก เขาเกิดในป้อมปราการที่สร้างบนเนินเขาสูงตระหง่าน ในเมืองกรานาดาของสเปน และเติบโตขึ้นภายในกำแพง พระราชฐานแห่งนี้ เมื่อพ่อของเขารับตำแหน่งผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์อัลฮัมบราตอนกลางศตวรรษ ครอบครัวก็ย้าย เข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งภายในอัครสถานประวัติศาสตร์ แห่งนี้ ตามที่เขาบอก อัลฮัมบราคือ “เวที” ให้วันคืนของ เขาโลดแล่น ทำให้เขาเรียนรู้ตำนานและประวัติของที่นั่น ตั้งแต่เด็ก และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอุทิศตนทำงานใน เวลาต่อมา เกือบสี่สิบปีที่เบร์มูเดซเป็นนักโบราณคดีและ นักอนุรักษ์ของอัลฮัมบรา ซึ่งถือเป็นความรุ่งโรจน์สูงสุดของ ราชวงศ์มุสลิมผู้ปกครองคาบสมุทรไอบีเรียอยู่นานเกือบ 800 ปี

เบร์มูเดซคือมัคคุเทศก์ในฝันของนักท่องเที่ยวที่ชอบ เจาะลึกเบื้องหลัง (และเคยเขียนคู่มือท่องเที่ยวฉบับทางการ ด้วย) จากประตูแห่งความยุติธรรมซึ่งใหญ่ที่สุดในทางเข้า ทั้งสี่ของอัลฮัมบรา เราชื่นชมไม่เฉพาะลานและหอคอย อันเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น แต่รวมถึงหลายจุดที่น้อยคน ได้รับอนุญาตให้เข้าชมที่ซึ่งข้อเท็จจริงปะปนคละเคล้าไป กับตำนานและเรื่องเล่า ขณะที่นักวิจัยยังสำรวจและศึกษา ความลึกลํ้าต่าง ๆ เหล่านั้น อัลฮัมบราก็คงสถานะเป็นทั้ง แหล่งโบราณคดีและการฟื้นฟูบูรณะ รวมถึงการคืนชีวิต ให้งานศิลปะอันเป็นปริศนาที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จ หลังผ่านไปเกือบ 20 ปี

อัลฮัมบรา, มุสลิม, สเปน
อัลฮัมบราซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาในเมืองกรานาดา คือภาพสะท้อนยุคทองทางสถาปัตย-กรรมของผู้ปกครองชาวมุสลิม บนคาบสมุทรไอบีเรีย พระราชวังโกมาเรสที่สร้างในศตวรรษที่สิบสี่ คือหนึ่งในอาคารหลายหลังที่สร้างโดยสุลต่านหลายพระองค์ พระราชวังขนาดใหญ่ (ทางขวา) สร้างเพิ่มเติมภายหลังโดยกษัตริย์ชาวคริสต์ ภาพถ่าย คริสเตียน ฮีบ, LAIF/REDUX
อัลฮัมบรา, มุสลิม, สเปน, หอคอย
พื้นที่ภายในล้อมกรอบทัศนียภาพภายนอก หอคอยแห่งจำเลย (ซ้าย) ซึ่งได้ชื่อจากความรักในตำนานของสุลต่านองค์หนึ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ ถูกปรับให้เป็นตำหนักเล็ก ๆ ผนังประดับด้วยอักขระอาหรับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการออกแบบที่พบได้ทั่วไปในอัลฮัมบรา

“เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด อัลฮัมบราคือศูนย์กลางอำนาจ ครับ” เขาบอกและเสริมว่า “นี่คือที่พำนักของประมุขแห่งรัฐ มีทั้งค่ายทหาร เมืองราชสำนัก และตำหนักน้อยใหญ่ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาสองร้อยห้าสิบปี” ป้อมปราการแห่งนี้เติบโตตามกาลเวลา จากอัลกาซาบาหรือป้อมปราการดั้งเดิมที่สุลต่านมุฮัมมัดที่หนึ่งทรงสร้างไว้ตั้งแต่ปี 1238 กลายเป็น หมู่ตำหนักที่สะท้อนความหรูหราของราชวงศ์นัสริดในเวลาต่อมา การสืบสันตติวงศ์ของสุลต่านตระกูลนาสร์ดำเนินมาถึงปี 1492 เมื่อที่มั่นสุดท้ายของสุลต่านมุสลิมบนคาบสมุทรถูกกษัตริย์สเปน ซึ่งเพิ่งผนึกกำลังกระชับอำนาจอีกครั้ง หลังพระนางอิซาเบลลาแห่งคาสตีลอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟอร์ดินานด์แห่งอารากอน โค่นล้ม

ตลอด 254 ปีที่ราชวงศ์นัสริดปกครองรัฐสุลต่านกรานาดา ซึ่งแผ่อาณาเขตออกไปไกลจากตัวเมืองมากบริเวณที่เป็นภูมิภาคอันดาลูเซียในปัจจุบันถูก “แช่แข็งใน กาลเวลา โดยคงสภาพสังคมระบบศักดินาที่แยกตัวอยู่ ในโอเอซิสอันสุขสราญ” ตามที่เบร์มูเดซอธิบาย กระนั้น อาณาจักรแห่งนี้ก็ยังทิ้งมรดกไว้ในอนุสรณ์สถานที่ได้รับ การยกย่องว่าเป็นจุดสูงสุดของความงามและความละเอียด ประณีตทางสถาปัตยกรรมที่ถือกำเนิดในอัลอันดะลุส ชื่อเรียกรวม ๆ ของภูมิภาคที่มุสลิมปกครองในสเปน

ผู้ปกครองชาวคริสต์ฝากรอยประทับไว้ตอนสร้างที่ประทับสำหรับกษัตริย์ด้วยการทำสวนรอบ ๆ และต่อเติมลานลินดาราฆาที่มีทางเดินล้อมรอบ
อัลฮัมบรา, มุสลิม, สเปน
ในท้องพระโรงแห่งบุรพกษัตริย์ ผลงานศิลปะปริศนาจากศตวรรษที่สิบสี่ ซึ่งเพิ่งบูรณะใหม่ อาจเป็นภาพสุลต่านแห่งกรานาดา หรือสภาผู้พิพากษา สารสีที่สดใสมาจากหินลาพิสลาซูลี ฮีมาไทต์ ซินนาบาร์ และทองคำการสร้างผลงานแบบกอทิกนี้มีลักษณะคล้ายงานของศิลปินในอิตาลีและฝรั่งเศส

ครั้นกรานาดาล่มสลาย ผู้ปกครองชาวคาทอลิกที่ สืบทอดต่อมาใช้ป้อมปราการแห่งนี้จนถึงต้นศตวรรษที่สิบเก้า เมื่อกองทัพของพระเจ้านโปเลียนยึดครองและ ทุบทำลายก่อนจากไป ท้ายที่สุด กษัตริย์สเปนทรงยก อัลฮัมบราให้ทางการดูแล และได้รับการประกาศเป็น อนุ สรณ์ สถานแห่งชาติ ในปี 1870 ทุกวันนี้ นครแห่งอำนาจ ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งโดยมีข้าราชบริพารเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คอย บริหารจัดการและกำหนดระเบียบการเข้าชมที่เข้มงวด

อัลฮัมบราทำให้คนนอกตื่นตะลึงได้เสมอ เมื่อเดือนมกราคม ปี 1492 สมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาทรงม้านำขบวนทหารเดินฉลองชัยจากถนนกูเอสตาเดโกเมเรซขึ้นสู่อัลฮัมรา (Al Hamra – ชื่อภาษาอาหรับของอัลฮัมบรา) ซึ่งแปลว่า “สีแดง” สอดรับกับหินสีชมพูของป้อมปราการสงครามพิชิตคืน (The Reconquest) ที่กินเวลายาวนานกว่า 700 ปี ทวงคืนดินแดนมุสลิมบนคาบสมุทรไอบีเรียทีละแห่ง สมณโองการของสมเด็จพระสันตะปาปาให้ทำสงครามครูเสดครั้งสุดท้าย คือที่มาของสงคราม 10 ปี เพื่อยึดครองอาณาจักรกรานาดาที่ดื้อแพ่งไม่ยอมจำนน

หลังพิชิตอัลฮัมบราได้ในที่สุด นักจดหมายเหตุบันทึกความแปลกพระทัยของพระนางอิซาเบลลา ขณะทอด-พระเนตรรายละเอียดอันงดงามวิจิตรภายในป้อมปราการที่ซ่อนเร้นจากพระองค์มานาน ทั้งงานฉลุลายอันประณีต โครงสร้างทรงโค้งรูปรวงผึ้ง หรือมุก็อรนัศ กระเบื้องลายเรขาคณิตที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุด และบ่อรับนํ้าที่สะท้อนเงาอาคารโอ่อ่าสง่างาม

อัลฮัมบรา, มุสลิม, สเปน
ท้องพระโรงในพระราชวังโกมาเรสปูกระเบื้องลายเรขาคณิต เช่นเดียวกับ งานปูนปั้นอันวิจิตรและจารึกต่างๆ ซึ่งเดิมทาสีสันสดใส วลีต่างๆ ถูกร้อยรวมอยู่ในโครงสร้างทรงโค้งรูป รวงผึ้งในการประดับอักขระแบบกูฟีย์ของอาหรับ ด้านบน แถบอักขระแบบเล่นหางที่อ่านออกได้ (ซึ่งทอดยาวขึ้นไปในแนวดิ่งบนผนังติดกัน) สดุดีท้อง พระโรงโดยใช้บุคลาธิษฐานในบทกวีว่า “นางผู้อยู่ตรงกลาง เป็นดั่งหัวใจ”
อัลฮัมบรา, มุสลิม, สเปน
บุคลากรราว 500 คนดูแลสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ รวมถึงคนสวน 40 คน และเจ้าหน้าที่เทคนิคเฉพาะทางกว่าสิบคนที่ทำงานในโครงการบูรณะซึ่งกำลังดำเนินอยู่ ในภาพนี้ผู้ดูแลกำลังกวาดระเบียงทางเดินในอุทยานเฆเนราลีเฟซึ่งได้ชื่อจากสวนอาหรับจันนัตอัลอารีฟ หรือสวนแห่งสถาปนิกที่อยู่บนเนินเหนืออัลฮัมบรา ภาพถ่าย ฆวน มานูเอล กัสโตร ปริเอโต, AGENCE VU/REDUX

อัลฮัมบราเป็นป้อมปราการที่ตีไม่แตกตลอดระยะเวลาเกือบสามร้อยปี บางคนอาจคิดไปว่า ราชินีชาวคริสต์คงมี รับสั่งให้เผาที่นี่เป็นเถ้าถ่าน ทุบทำลายผนังที่จารึกบทสรรเสริญอัลลอฮ์ ทว่าพระองค์กลับมีพระเสาวนีย์ห้ามผู้ใดแตะต้อง ยิ่งไปกว่านั้น ทรงหมายมั่นให้ที่นี่เป็นที่พำนักชั่วนิรันดร์ของพระองค์ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1504 ณ พระราชวังที่ประทับในเมืองเมดีนาเดลกัมโป หีบพระศพของพระองค์ถูกอัญเชิญไปยังกรานาดาโดยใช้เวลาสามสัปดาห์ อัลฮัมบราที่ซึ่งราชวงศ์นัสริดถูกโค่นล้มเมื่อ 12 ปีก่อน จะกลายเป็นที่ฝังพระศพของราชินีคาทอลิก (พระศพของพระองค์และพระสวามี พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ถูกฝังอยู่ที่ป้อมปราการแห่งนี้ในตอนแรก ต่อมาในภายหลังจึงอัญเชิญเคลื่อนย้ายไปยังมหาวิหารแห่งกรานาดา)

หลายปีต่อมา ระหว่างเสด็จทรงดื่มนํ้าผึ้งพระจันทร์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ห้า พระนัดดาของพระนางอิซาเบลลา เสด็จเยือนเมืองที่พระอัยยิกาทรงพิชิตได้ พระองค์มีรับสั่งให้สร้างพระราชวังส่วนพระองค์ในอัลฮัมบราด้วยทรงเล็งเห็นคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งนี้ การก่อสร้างใช้เวลากว่าหนึ่งร้อยปี และถึงพระองค์จะไม่เคยประทับที่นั่น แต่เบร์มูเดซก็เห็นว่าไม่ใช่ประเด็น สิ่งนี้เสริมเรื่องเล่าใหม่ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงใช้สถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นฐานรองรับพระราชวังใหม่ ซึ่งเป็นอุปมาถึงการพิชิต และ “การวางพระองค์สูงกว่าเล็กน้อยครับ” เบร์มูเดซบอก อาคารรูปทรงจัตุรัสแข็งแกร่งของกษัตริย์สเปนที่ตั้งอยู่เคียงข้างพระราชวังสามแห่งของราชวงศ์นัสริด ได้แก่ เมกซัวร์ โกมาเรส และพระราชวังแห่งราชสีห์ ซึ่งรวมกันเป็นอัญมณียอดมงกุฎที่ไร้ข้อโต้แย้งในสายตาผู้มาเยือน จึงเป็นดั่ง “อุกกาบาต” ตามที่สถาปนิกคนหนึ่งเปรียบเปรยไว้

เรื่อง เอมมา ลีรา
ภาพถ่าย โฆเซ มานูเอล นาเบีย

ติดตามสารคดี ป้อมปราการแห่งศรัทธา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/594704


อ่านเพิ่มเติม เผยความลับ 1,300 ปี ภายใน โดมแห่งศิลา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลำดับ 3 ของอิสลาม

โดมแห่งศิลา

Recommend