จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกลอบสังหารที่เมืองดัลลัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 แต่จนถึงทุกวันนี้คดีของเขาก็ยังคงถูกพูดถึงมากมายหลายทฤษฎี
จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหารขณะดำรงตำแหน่ง (อีก 3 คนคือ อับราฮัม ลินคอล์น , เจมส์ เอ. การ์ฟีลด์ และ วิลเลียม แมกคินลีย์ ) ซึ่งคดีลองสังหาร JFK ถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ไม่รวมประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกหลายคนที่ถูกลอบยิงแต่รอดมาได้เช่น โรนัลด์ เรแกน เป็นต้น
คดีลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 1 ครั้งชื่อ JFK รอยเลือดฝังปฐพี ในปี 1991 และล่าสุดถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์สารคดี JFK Revisited: Through the Looking Glass เปิดแฟ้มลับ ใครฆ่าเจเอฟเค ในปี 2023 ซึ่งกำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน ทั้งสองเรื่อง ในวาระที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ทยอยเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับคดีนี้ทางออนไลน์ จนถึงปัจจุบัน เอกสารมากกว่า 97 % ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่บางส่วนยังถูกปกปิดไว้ โดยหน่วยงานรัฐบาลอ้างว่าเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มีประชาชน นักวิชาการ นักข่าว และเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนมากใช้เวลานำข้อมูลที่ทางการสหรัฐฯเปิดเผยมาวิเคราะห์เกี่ยวกับคดีนี้ แน่นอนว่าชาวสหรัฐฯจำนวนมากไม่เชื่อว่า คดีลอบสังหารผู้นำระดับประเทศจะมีผู้ต้องหาเพียงคนเดียว ตามที่คณะกรรมการวอร์เรนสรุป
เหตุการณ์การลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี
วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี เดินทางไปยังเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เพื่อหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยต่อไป พร้อมกับ แจ็กเกอลีน เคนเนดี
เวลา 11:40 น. ขบวนพาเหรดต้อนรับประธานาธิบดีจากสนามบินสู่ตัวเมือง จอห์น เอฟ. เคนเนดี นั่งรถลีมูซีนเปิดประทุน โดยมีภรรยานั่งเคียงข้าง ด้านหน้าเป็น นายจอห์น บี คอนนอลลี ผู้ว่ารัฐเท็กซัสนั่งคู่กับภรรยาของเขา ส่วนด้านหัวขอรถ นายรอย เคลเลอร์แมน ตัวแทนพิเศษของทำเนียบขาว และ นายบิล เกรเออร์ คนขับรถ
เวลา 12:30 น. สองข้างทางมีประชาชนชาวดัลลัสเดินทางมาต้อนรับประธานาธิบดีอย่างล้นหลาม ขบวนรถเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเอล์ม ระหว่างนั้นเกิดเสียงปืนดังขึ้น กระสุนถูกจอห์น เอฟ. เคนเนดีที่คอ โดยกระสุนนัดนั้นยังถูกผู้ว่าจอห์นที่บริเวณหลังด้วย แต่ทุกคนยังคิดว่าเป็นเสียงของประทัด ต่อมาเสียงปืนก็ดังขึ้นอีก 1 นัด กระสุนถูกจอห์น เอฟ. เคนเนดีที่ศีรษะ หลายคนถึงรู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น ประชาชนพากันแตกตื่น บางคนหมอบลงกับพื้น บางคนวิ่งหนี เพื่อหลบลูกกระสุนที่อาจยิงเข้ามาอีก
เวลา 13:00 น. ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ทนพิษบาดแผลไม่ไหวและได้เสียชีวิตลง และได้มีการชันสูตรศพ ผลชันสูตรพบว่าประธานาธิบดีเสียชีวิตจากกระสุนนัดที่ยิงเข้าศีรษะ กระสุนทำลายเนื้อสมอง ทำให้เสียชีวิต ขณะที่ รอย เคลเลอร์แมน กับ จอห์น บี คอนนอลลี ได้รับบาดเจ็บ
เวลาประมาณ 13:15 น. จอห์นนี่ เคลวิน บรูเวอร์ พนักงานขายรองเท้าร้านฮาร์ดี้ แจ้งต่อตำรวจว่าเขาเห็นคนยิง เจ. ดี. ทิปปิต เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตที่บริเวณหัวมุมถนน 10 กับแพตตันและฆาตกรได้หลบหนีเข้าไปในโรงหนังแห่งหนึ่งของเท็กซัส ตำรวจหลายสิบนายบุกเข้าไปจับตัว ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ได้ เมื่อค้นตัวพบบัตรประจำตัวปลอมของ หน่วยปฏิบัติการพิเศษใช้ชื่อว่า อเล็ก เจมส์ ไฮเดลล์
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ถูกจับกุมและโดนยิงเสียชีวิตขณะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ถูกจับกุมในข้อหาสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังการลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี เพียง 45 นาที เขาถูกตั้งข้อหาฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและสังหารประธานาธิบดี
ทั้งนี้ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ให้การปฏิเสธในทุกข้อหา เขายืนยันว่าตัวเองเป็นแพะรับบาป และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารประธานาธิบดี ขณะที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ลี ฮาร์วีย์ ใช้ปืนไรเฟิลที่สั่งซื้อมา ลอบยิง ซึ่งการที่เขาเพิ่งได้งานชั่วคราวทำที่อาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัสในช่วงที่เคนนาดี้ถูกลอบสังหารพอดี ทำให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่สืบสวน ระบุจุดซุ่มยิงว่าเป็นชั้น 6 ของอาคารเก็บหนังสือแห่งนั้น รวมถึงปักใจว่า ลี ฮาร์วีย์ คือคนลั่นไกสังหาร
ทว่า 2 วันต่อมา เมื่อมีการย้ายตัว ลี ฮาร์วีย์ จากสถานีตำรวจไปยังเรือนจำท้องถิ่น ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้ามามุงดูเหตุการณ์ และมีกองทัพสื่อมวลชนทั่วโลกเข้าไปรุม ลี ฮาร์วีย์ เพื่อถ่ายภาพ รวมถึงขอสัมภาษณ์ ไม่น่าเชื่อว่าท่ามกลางความวุ่นวายนั้น แจ็ค รูบี้ เจ้าของไนต์คลับในดัลลัส ได้ใช้ปืนยิง ลี ฮาร์วีย์ ตายต่อหน้าต่อตาประชาชนนับล้านทั่วประเทศผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
แจ็ค รูบี้ ถูกจับในที่เกิดเหตุ เขากลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ลี ฮาร์วีย์ ต่อมาถูกพิพากษาว่ามีความผิด ต้องโทษประหารชีวิต โดยในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1964 แจ็ค อุทธรณ์คำตัดสินและโทษประหารชีวิต ก่อนจะมีกำหนดไต่สวนคดีครั้งใหม่ เขาป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1967 ซึ่งเขาอาจเป็นหนึ่งในเบาะแสสำคัญของคดีลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในฐานะคนฆ่าปิดปากคนร้ายคนเดียวของคดี (รูบี้ อ้างว่าทำไปเพราะแค้นที่ ลี ยิงประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของเขา) หลายคนที่อยากรู้ความจริงเริ่มทำใจว่าการสืบสวนจากทางรัฐบาลคงยุติลง หลัง แจ็ค รูบี้ เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการรายงานว่า แจ็ค รูบี้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแก๊งมาเฟีย และมีข้อมูลว่าเขาเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ เช่นเดียวกันกับ ลี ฮาร์วีย์ ส่วนการตายของเขาในเรือนจำ มีข่าวลือว่า แจ็ค ไม่ได้ป่วยตาย แต่เขาฆ่าตัวตาย หรือ ไม่ก็โดนฆ่าปิดปาก
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีถูกขู่หรือไม่ก็เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา
มีพยานหญิงที่อยู่ในอาคารเก็บหนังสือในวันเกิดเหตุ 2 ราย ยืนยันว่าเธอวิ่งลงบันไดขณะที่มีขบวนรถประธานาธิบดีแล่นผ่าน เธอให้การกับตำรวจว่าไม่เห็น ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ บริเวณบันได แต่คำให้การของเธอถูกเก็บงำไว้ เมื่อทั้งสองคนพยายามที่จะเปิดเผยกับบุคคลอื่นก็ได้รับคำขู่ และประเด้นที่พวกเธอสงสัยไม่เคยไรับการตอบสนองจากตำรวจ
อีกคนที่ปิดปากเงียบยาวนานคือหมอที่ทำการรักษา จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในวันเกิดเหตุ เขาสงสัยทั้งเรื่องของกระสุนและบาดแผล ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปหลังศพถูกส่งไปให้กองทัพ แต่แพทย์คนนี้พยายามไม่พูดถึงเรื่องนี้ หลีกหนีนักข่าว และย้ายออกจากรัฐหลังจากนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี วันหนึ่งเขาก็ยอมเปิดปากเล่าเรื่องนี้กับคนใกล้ชิด พร้อมสารภาพว่า มีเจ้าหน้าที่หลายคนพยายามจัดฉาก รวมถึงรายงานเกี่ยวกับศพก็ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข หลังจาก จอห์น เอฟ. เคนเนดี เสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ส่วนอีก 3 รายซึ่งถูกโยงว่ามีความเกี่ยวโยงกับหน่วยงานของรัฐ จากการสืบสวนของ จิม แกริสัน อัยการเมืองนิวออร์ลีนส์ ที่เชื่อว่า ออสวอลด์ ถูกใส่ร้าย โดยบุคคล 3 คนนี้น่าจะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ลอบสังหาร เริ่มต้นที่ วิลเลียม กาย บานิสเตอร์ อดีต FBI เขาเคยติดต่อกับ ออสวอลด์ ตอนอยู่รัสเซีย แต่ไม่ทันที่ จิม จะได้สอบสวนเขาจริงจัง กาย บานิสเตอร์ ก็ฆ่าตัวตาย ตำรวจสรุปปิดคดีแบบไม่มีข้อสงสัยว่าเขาอาจถูกจัดฉากฆาตกรรมเลย
ด้าน เคลย์ แอล ชอร์ นักธุรกิจในเมือง นิวออร์ลินส์ ที่จ้างทนายให้ ออสวอลด์ หลังโดนจับ กับ เดวิด เฟอร์รี หัวหน้าหน่วยบินกองทัพอากาศ อาจารย์ของ ออสวอลด์สมัยเป็นทหารถูก จิม แกริสัน นำตัวไปสอบสวน โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลหลายหน่วยพยายามขัดขวางการตามหาความจริงของเขา มีการใช้สื่อสร้างภาพให้เขากลายเป็นคนสติไม่ดี ไม่นาน เคลย์ แอล ชอร์ กับ เดวิด เฟอร์รี ก็ถูกปล่อยตัว ศาลยกฟ้องพวกเขาทุกข้อหา หลังจากนั้นไม่นาน เดวิด เฟอร์รี ก็เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา
คณะกรรมการวอร์เรน ปิดคดีที่ซับซ้อนอย่างง่ายดาย
แม้ว่าการตายของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี จะเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกจน ลินดอน บี. จอห์นสัน ที่เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกาแทน จอห์น เอฟ เคนเนดี สั่งการให้มีการตั้ง คณะกรรมการวอร์เรน ขึ้นมาเพื่อสืบหาความจริงเกี่ยวกับคดีลอบสังหารอันฉาวโฉ่นี้
ใน คณะกรรมการวอร์เรน ประกอบไปด้วย ประธานศาลสูงสุด , วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ , ผู้แทนสหรัฐฯ , ผู้นำฝ่ายค้าน และผู้บริหารในหน่วยงานรัฐบาล พวกเขาร่วมกันสืบสวนหาความจริง แต่ขาดความน่าเชื่อถือขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นขัดแย้งกันเอง มีบางคนถอนตัว โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI มีอิทธิพลต่อคณะกรรมการชุดนี้
ข้อสรุปของคณะกรรมการวอร์เรนที่สร้างความกังขาคือ พวกเขายึดมั่นแนวทางการสืบสวนเดียวกับ จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ทั้งการกล่าวหา ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ว่าเป็นผู้กระทำความผิดเดียวในคดี , การไม่สนใจเรื่องของทิศทาง จำนวน หรือวิถีกระสุน รวมถึงที่มาของอาวุธปืน , ไม่สนใจเรื่องข้อมูลที่เปลี่ยนไปมาของการชันสูตรศพ , ไม่ใช้คำให้การของพยานหลายคน และ การปัดตกทุกสาเหตุที่ไม่เชื่อว่าชั้น 6 ของอาคารเก็บหนังสือเป็นจุดซุ่มยิง
บทสรุปของรายงานคณะกรรมการวอร์เรน ที่สร้างความผิดหวังให้กับคนทั่วโลก ระบุว่า ประธานาธิบดีเคนเนดี ถูกลอบยิงจากหน้าต่างชั้นหกที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์รับฝากหนังสือโรงเรียนเท็กซัส
ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า กระสุนถูกยิงจากทางลอดสามทาง หน้าคาราวาน หรือจากที่อื่น , ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการยิงสามนัด , ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ เป็นผู้ลอบสังหารโดยลงมือเพียงคนเดียว , ไม่มีหลักฐานสนับสนุนข่าวลือที่ว่า แจ็ค รูบี้ อาจได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจดัลลัสในการยิง ลี ฮาร์วีย์
ไม่พบหลักฐานว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ หรือ แจ็ค รูบี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสมรู้ร่วมคิดใดๆ ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ในการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี รวมทั้งไม่พบหลักฐานการสมรู้ร่วมคิด การโค่นล้ม หรือไม่จงรักภักดีต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง รัฐ หรือท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมาธิการไม่สามารถกำหนดแรงจูงใจของ ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ ในการลงมือก่อเหตุได้แน่ชัด ด้านตำรวจพยายามนำเสนอประเด็นประวัติใช้ความรุนแรง กับความนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ เพื่อชี้นำสังคม พร้อมเอาประวัติที่เขาเคยเดินทางไปรัสเซียสมัยเป็นนาวิกโยธินมาโยงว่า ออสวัลด์ อาจเป็นสายลับให้ KGB หน่วยสืบราชการลับของรัสเซีย หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งตำรวจและคณะกรรมการวอร์เรนต้องการรีบปิดคดีนี้ให้เร็วที่สุด
ภายหลังได้มีการตั้งคณะกรรมการอีกลายชุดขึ้นมาตรวจสอบคดีลอบสังหาร JFK และรายงานของคณะกรรมการวอร์เรน แต่ก็ไม่มีคณะกรรมการชุดไหนมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่นำไปสู่การเอาผิดใครเพิ่มได้เลย
ทฤษฎีกระสุนนัดเดียว
ทฤษฎีกระสุนนัดเดียว ถือกำเนิดโดย อาร์เลน สเป็กเตอร์ นักกฎหมายซึ่งมาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการวอร์เรน ในการสอบสวนหาเบื้องหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี เขางอธิบายข้อสรุปที่ว่าฆาตกรที่ยิงเคนเนดีและคอนนอลลี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส มีแค่คนเดียวและยิงมาจากทิศทางเดียว
กระสุนหนึ่งนัดนี้สามารถทำให้เกิดบาดแผลในร่างของคนทั้งสองรวมทั้งสิ้นถึง 7 แผล ซึ่งในภาพยนตร์สารคดี JFK Revisited มีแพทย์นิติเวชแย้งว่า คงมีแต่กระสุนวิเศษเท่านั้นถึงจะมีอานุภาพยิงได้พิสดารขนาดนี้
แน่นอนว่ารายงานนี้ขัดแย้งกับ วิถีกระสุน 3 นัด จากรายงานเบื้องต้นของหน่วยสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ ที่พบว่า กระสุนนัดแรกจากปืนไรเฟิลยิงเข้าที่ลำคอของประธานาธิบดีเคนเนดี นัดที่สองถูกจอห์น คอนนัลลี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสที่นั่งอยู่แถวหน้าในรถคันเดียวกันจนบาดเจ็บ และนัดสุดท้ายยิงเข้าศีรษะของ จอห์น เอฟ เคนเนดี
อนึ่ง ผลการสอบสวนของคณะกรรมการวอร์เรนที่นำโดยหัวหน้าผู้พิพากษาเอิร์ล วอร์เรน สรุปเรื่องกระสุนว่า ลี ลั่นไกยิง 3 นัดจริง แต่มีนัดหนึ่งพลาดเป้าไป ซึ่งสอดคล้องกับการพบร่องรอยกระสุนในรอบบริเวณที่เกิดเหตุ เพียงแต่กระสุนมีร่อยรอยมากกว่า 1 นัด และวิถีกระสุนไม่ได้มาจากบนอาคาร
ประเด็นเรื่องปืนก็เป็นที่ถกเถียง เพราะในรายงานพบภาพตัดต่อ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ถือปืนรุ่นเดียวกับที่ตำรวจอ้างว่าใช้ลอบสังหาร แต่รายงานฉบับหนึ่งระบุว่า ปืนที่ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ สั่งมาที่บ้านเป็นคนละรุ่นกับปืนที่ตำรวจเอามาแสดงเป็นหลักฐาน จุดนี้เป็นอีกหนึ่งในหลายข้อสงสัยที่ทำให้คนจำนวนมากทั่วโลกเชื่อว่ามีทฤษฎีสมคบคิดที่พยายามจะจัดฉากยัดเยียดข้อหาลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี ให้ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ เป็นผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียวให้ได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานอ้างอิงหลักฐานใหม่ในคดีลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี คือบันทึกเสียงจากวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ระหว่างเกิดเหตุ สรุปว่า มีความเป็นไปได้ 95% ที่ ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ จะก่อเหตุกับผู้ร่วมก่อเหตุคนอื่น ซึ่งอาจมีมือปืนคนที่สองน่าจะยิงมาจากเนินหญ้าบริเวณริมถนน แต่กระสุนพลาดเป้า และมีรายงานพบชายคนหนึ่งกางร่มในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่อากาศสดใส เพื่อบังสายตาว่าเขากำลังใช้วิทยุสื่อสารกับผู้ร่วมก่อเหตุลอบสังหาร แน่นอนว่าข้อเท็จจริงส่วนนี้ก็ไม่ได้มีการสืบสวนต่อเช่นกัน
ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับชนวนเหตุที่ทำให้ จอห์น เอฟ เคนเนดี ตกเป็นเป้าสังหาร
ตัวละครในคำถามที่ว่า ใครฆ่า จอห์น เอฟ เคนเนดี มีหลายตัวมาก ด้วยความที่เขาเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ฉลาด บุคลิกดี พูดเก่ง ตรงไม่ตรงมา มุ่งมั่นในการทำงาน ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะถูกยกย่องให้เป็น 1 ในประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะเดียวกันบทบาทเหล่านี้ของเขาก็สร้างศัตรูไว้มากมาย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาว่าอาจอยู่เบื้องหลังหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี มีทฤษฎีที่ถูกพูดถึงดังนี้
– จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์
จอห์น เอฟ เคนเนดี มีความขัดแย้งกับ 2 หน่วยสืบราชการลับอย่าง CIA และ FBI โดยเฉพาะเรื่องการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆในตอนนั้น ซึ่ง จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ถูก จอห์น เอฟ เคนเนดี หมายหัวว่าจะปลดเขาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง Federal Bureau of Investigation หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ FBI
ความคิดเห็นของ จอห์น เอฟ เคนเนดี กับ จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ไม่ตรงกันในหลายเรื่อง ทั้งสงครามเย็นกับรัสเซีย วิกฤตการณ์คิวบา การถอนทหารจากเวียดนาม และการสนับสนุนสิทธิของคนผิวสี มีรายงานว่า ประธานาธิบดีไม่พอใจอย่างมากที่ ผอ. FBI ขัดคำสั่ง และทำงานโดยไม่ขอการอนุมัติจากประธานาธิบดี การตายของ จอห์น เอฟ เคนเนดี จึงเป็นผลดีกับ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์
หลังจาก จอห์น เอฟ เคนเนดี เสียชีวิต จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ที่เป็นผอ. FBI คนแรก ก็ครองตำแหน่งนี้ยาวนานต่อมาถึง 48 ปี เขาทำงานกับประธานาธิบดีถึง 8 คน กลายเป้นผู้อาวุโสในประเทศที่ใครๆก้ต้องยำเกรง จนกระทั่งมาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในปี 1972 ชาวอเมริกันเชื่อกันว่า จอห์น เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ อาจอยู่เบื้องหลังหรือไม่ก็มีส่วนร่วมกับการลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี แต่การที่เขาเป็นหนึ่งในคนที่กุมความลับของนักการเมืองสหรัฐฯไว้มากที่สุด จุดนี้เองที่ช่วยให้ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ รอดพ้นจากทุกข้อกล่าวหา ซึ่งเกี่ยวโยงกับการตายของคนดังในประเทศหลายคน
– ลินดอน บี. จอห์นสัน
ลินดอน บี. จอห์นสัน ผู้ที่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่หลัง จอห์น เอฟ เคนเนดี คงไม่อาจปฏิเสธความเชื่อมโยงในเรื่องนี้ได้ เพราะเขาคือหนึ่งคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการจากไป จอห์น เอฟ เคนเนดี ด้วยการได้เลื่อนตำแหน่งจากรองประธานาธิบดี มาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกา
มีรายงานข่าวว่า ลินดอน บี. จอห์นสัน มีความขัดแย้งในเรื่องการทำงานกับ จอห์น เอฟ เคนเนดี พอสมควร โดยบางคนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ จอห์นสัน จะเป็นคนอนุมัติคณะกรรมการวอร์เรนขึ้นมาสะสางคดีลอบสังหาร แต่ก็ไม่ได้มีการทวงถามหรือติดตามการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้เลย แม้คนจำนวนมากในประเทศสงสัยการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาจาก จอห์นสัน
การขึ้นสู่อำนาจสูงสุดของประเทศทำให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลลับมากมาย แต่ จอห์นสัน ไม่ได้สนใจที่จะรื้อฟื้นหรือหาความจริงในคดีใหญ่ระดับโลก ซํ้าแนวทางการบริหารประเทศของเขาก็ต่างจาก จอห์น เอฟ เคนเนดี โดยสิ้นเชิง สหรัฐฯมีท่าทีที่เปลี่ยนไปเช่น นอกประเทศ จอห์นสัน อนุมัติการส่งทหารไปเวียดนามเพิ่ม ทั้งๆที่ เคนเนดี พยายามจะยุติสงคราม และ ในประเทศรัฐบาลกลับมาเพิกเฉยกับการเหยียดผิว หลังเคยต่อต้านเรื่องนี้อย่างชัดเจนในสมัยของ จอห์น เอฟ เคนเนดี
– ฟิเดล คาสโตร
ฟิเดล คาสโตร ประธานาธิบดีคิวบา คือหนึ่งในศัตรูเบอร์ต้นๆของสหรัฐอเมริกา ในยุคนั้นมีข่าวลือว่า คาสโตร อาจอยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี หลังจากที่เขารู้ข่าวว่าสหรัฐฯมีแผนที่จะกำจัดเขา คาสโตร เลยตัดสินใจชิงลงมือก่อน ซึ่งแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการพยายามรุกรานของสหรัฐฯในปี 1962
นอกจากนี้ ในคดีลอบสังหารมีข้อมูลว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ก่อนจะย้ายมาที่เท็กซัส ลี ฮาร์วีย์ เคยแจกใบปลิวสนับสนุนคอมมิวนิสต์และคิวบา บริเวณอาคารที่เชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FBI ที่เป็นเจ้าของตึกดังกล่าว ซึ่งอาจมองได้ว่า ลี ฮาร์วีย์ กำลังทำภารกิจอะไรบางอย่างอยู่
แต่นักวิชาการมองว่า ข่าว คาสโตร ลอบสังหาร เคนเนดี เป็นการปล่อยข่าวเพื่อพยายามเบี่ยงเบนประเด็นของ FBI และ CIA รวมถึงสร้างความชอบธรรมให้กองทัพสหรัฐฯ หาข้ออ้างในการบุกคิวบา โชคดีที่เหตุการณ์ไม่ได้ลุกลามบานปลายจนเกิดสงคราม
– กลุ่มมาเฟีย
หลายนโยบายของ จอห์น เอฟ เคนเนดี อาจส่งผลกระทบต่อ กลุ่มมาเฟีย โดยการที่มีรายงานว่า แจ็ค รูบี้ มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับ อัลคาโปน เจ้าพ่อหมายเลข 1 แห่งการทำธุรกิจผิดกฎหมายในยุคนั้น ทำให้บางคนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ จอห์น เอฟ เคนเนดี อาจสร้างความไม่พอใจบางอย่างให้กับกลุ่มมาเฟียจนถูกฆ่า
แต่ความขัดแย้งกับกลุ่มมาเฟียสหรัฐฯ อาจไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมายบ้านเมือง เป็นที่รู้กันดีว่า จอห์น เอฟ เคนเนดี ยังหนุ่มแน่น หน้าตาหล่อเหลา มีเสน่ห์ ทำให้เขามีภาพลักษณ์ในเรื่องของเสือผู้หญิง มีข่าวลือเรื่อง ประธานาธิบดี มีความสัมพันธืลับๆกับ เลขา นักศึกษาฝึกงาน นักกีฬา รวมถึงตกเป็นข่าวชู้สาวกับดาราชื่อดังอย่าง มาริลีน มอนโร ซึ่งการตายของเธอก็ถูกโยงมาหา เคนเนดี กับน้องชาย นอกจากนั้น จอห์น เอฟ เคนเนดี ยังมีข่าวว่าเคยจีบสาวสวยที่เป็นภรรยากับหัวหน้ามาเฟียด้วย ดังนั้นก็มีโอกาสอยู่บ้างที่ความเจ้าชู้ของ จอห์น เอฟ เคนเนดี จะทำให้ตัวเองตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มมาเฟีย
– กลุ่มอิลลูมินาติ
กลุ่มกลุ่มอิลลูมินาติ ที่เป็นทฤษฎีสมคบคิดเรื่องของสมาคมลับในหมู่ชนชั้นสูง ซึ่งมีอิทธิพลต่อหลายเหตุการณ์สำคัญของโลก มีรายงานว่า จอห์น เอฟ เคนเนดี คืออุปสรรคของการจัดระเบียบโลกใหม่ จากท่าทีและนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศสหรัฐฯ แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มฐานอำนาจเก่าที่เป็นสมาชิกของ อิลลูมินาติ
ดังนั้น กลุ่มอิลลูมินาติ ซึ่งมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ CIA จำนวนมากอยู่ในกลุ่มนี้ หลายคนมีความแค้นส่วนตัวกับ จอห์น เอฟ เคนเนดี จากวิกฤตการณ์คิวบาในปี 1962 เป็นไปได้ว่า CIA อาจวางแผนลอบสังหาร จอห์น เอฟ เคนเนดี เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม (มีความเป้นไปได้ที่จะร่วมมือกับ FBI) จากนั้นก็ใช้เงินและอำนาจในเครือข่ายปกปิดเป็นความลับ ชี้นำคดี ตามข่มขู่พยาน โดยมีการกำจัดคนที่รู้ความจริงหรือต้องการเปิดเผยความลับไปหลายคน
“จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านทำอะไรให้ประเทศชาติ” คือวาทะอมตะที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ฝากไว้ หลังการจากไปของเขา องค์การนาซา ได้นำชื่อ จอห์น เอฟ เคนเนดี ไปตั้งเป็นชื่อศูนย์อวกาศที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดาทันที เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้นำซึ่งถือเป็นเสาหลักของโครงการอวกาศแห่งชาติ , สนามบินนานาชาติในนครนิวยอร์ก ก็เปลี่ยนชื่อเป็นท่าอากาศยานจอห์น เอฟ เคนเนดี , มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปลี่ยนชื่อบัณฑิตวิทยาลัยด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของตนเอง เป็นชื่อบัณฑิตวิทยาลัยจอห์น เอฟ เคนเนดี ด้านการปกครอง เพื่อเชิดชูศิษย์เก่า และทั่วโลกก็ยังยกย่องเชิดชู จอห์น เอฟ เคนเนดี ในฐานะวีรบุรุษต้นแบบประชาธิปไตยที่น่าจดจำ
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/การลอบสังหารจอห์น_เอฟ._เคนเนดี
https://prachatai.com/journal/2013/11/49946
https://www.thaipbs.or.th/news/content/322642
https://thestandard.co/ onthisday22111963/