รอบนักษัตรที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๓๐)
หากนับจากปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเยี่ยมราษฎรครั้งแรกที่บ้านหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อมาได้เสด็จฯเยี่ยมพสกนิกรในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มจากจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ขึ้นบนดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับพักแรมระหว่างเสด็จฯเยี่ยมราษฎรชาวเขาและพสกนิกรในจังหวัดทางภาคเหนือ
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ขึ้นบนเขาตันหยง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สำหรับเป็นที่ประทับระหว่างเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในภาคใต้
สำหรับการเสด็จฯไปทรงงานในภาคอีสานนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ขึ้นบนเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพื้นที่ด้วยพระองค์เองด้วยมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณเทือกเขาภูพานที่ถูกบุกรุกจนแห้งแล้ง ต่อมาได้ขยายพื้นที่โครงการพระราชดำริออกไปจนครอบคลุมพื้นที่ ๑,๙๕๐ ไร่ โครงการนี้ช่วยพลิกฟื้นคืนชีวิตให้แก่ป่าต้นน้ำลำธารของเทือกเขาภูพานการเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้ได้ทอดพระเนตรสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและสภาพพื้นที่ที่แท้จริง เมื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าราษฎรกำลังประสบปัญหาความทุกข์ยาก ทั้งเรื่องพื้นที่ทำกินและชีวิตความเป็นอยู่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่เหล่านั้นโดยทั่วกัน
พื้นที่ทางภาคเหนือซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงนั้น เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ เดิมชนกลุ่มน้อยเหล่านี้หาเลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย จึงทำให้ต้องตัดไม้ทำลายป่า พืชไร่ที่เพาะปลูกก็มีทั้งพืชอาหารและพืชที่เป็นต้นทางของยาเสพติดคือฝิ่น ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นของราษฎรเหล่านี้ จึงพระราชทานโครงการช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นการเพาะปลูกพืชไร่ ทั้งจำพวกพืชผักที่เป็นไม้ล้มลุกและไม้ยืนต้น มีการนำพันธุ์ผักผลไม้เมืองหนาวไปแจกและสอนวิธีเพาะปลูก เมื่อได้ผลผลิตมาก็ให้ความช่วยเหลือในการจัดจำหน่ายตามราคาที่เป็นธรรม ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างมาก และเลิกอาชีพการทำไร่ฝิ่นอย่างเด็ดขาดในที่สุด นี่คือปฐมบทของโครงการหลวงที่ดำเนินงานสืบเนื่องมากว่าสี่ทศวรรษในปัจจุบัน
พื้นที่ทางภาคอีสานนั้นมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง ขาดน้ำ และคุณภาพของดินที่เป็นปัญหาในการทำเกษตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโครงการเกษตรชลประทานในรูปแบบต่าง ๆ จนปัจจุบันพื้นที่ทางภาคอีสานสามารถทำการเกษตรได้หลายรูปแบบ แม้กระทั่งสวนยางพาราคุณภาพดีที่ให้ผลผลิตสูงไม่ด้อยกว่าสวนยางพาราในภาคใต้
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ พสกนิกรในทุกภูมิภาคของประเทศต่างเทิดทูนพระองค์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด และพร้อมใจกันเรียกขานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของพวกเขาว่า “พ่อหลวง”
อ่านเพิ่มเติม : ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : เสด็จฯเยี่ยมพสกนิกรทั่วหล้า, ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : พระอัจฉริยภาพเกริกไกร