เรียบเรียงโดย ปณธาดา ราชกิจ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อภินันทนาการพร้อมนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย พฤศจิกายน 2551
แนวคิดและความเชื่อ
ตามคติความเชื่อแต่โบราณของไทยนั้น พระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากสมมติเทพ เมื่อถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ทุกพระองค์จะเสด็จสู่ทิพยสถาน ณ พระสุเมรุบรรพต (เขาพระสุเมรุ) การถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพจึงเปรียบเสมือนการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยและการสร้างพระเมรุมาศก็เปรียบได้กับการจำลองเขาพระสุเมรุมาประดิษฐาน ณ โลกมนุษย์
ในทางพระพุทธศาสนา การสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ สามารถอธิบายโดยใช้แนวคิดเรื่องไตรภูมิ กล่าวคือ พระเมรุมาศนั้นเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลหรือภพภูมิทั้งสาม ส่วนอาคารที่รายรอบเปรียบได้กับเขาสัตตบริภัณฑ์ วิมานท้าวจตุโลกบาล และยังมีเหล่าทวยเทพ ณ สวรรค์ชั้นฟ้า พร้อมทั้งสัตว์ต่างๆในป่าหิมพานต์อีกด้วย
พระเมรุมาศในอดีต
ในอดีตการจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพมีความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในสมัยอยุธยามีธรรมเนียมว่า หลังเสร็จการพระบรมศพหรือพระศพ สถานที่ที่ใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพจะอุทิศเพื่อสร้างวัดหรือเจดีย์ เช่น สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสุริโยทัย ได้สถาปนาเป็นพระเจดีย์วิหารและได้ชื่อว่า ”วัดสบสวรรค์” เป็นต้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๔๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการพูนดินหน้าพระวิหารแกลบเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับถวายพระเพลิง จึงอาจถือเป็นสถานที่ถาวรแห่งแรกสำหรับงานพระบรมศพตามราชประเพณี โดยไม่ต้องสร้างวัดหรือวิหารหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีเหมือนแต่ก่อน
การปลูกสร้างพระเมรุมาศในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีความยิ่งใหญ่อลังการ ตามหลักฐานจดหมายเหตุเกี่ยวกับพระเมรุมาศสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า ”พระเมรุมาศ…โดยขนาดใหญ่ ชื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยลง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ มียอด ๕ ภายในพระเมรุทองนั้น ประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่างๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศพระเมรุราย แลสามสร้าง”
พระเมรุมาศสมัยต้นรัตนโกสินทร์
งานออกพระเมรุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถือเป็นงานยิ่งใหญ่สมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี กอปรกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีให้กลับคืนมา เพื่อเป็นแบบแผนของแผ่นดินสืบไปในภายภาคหน้า การพระเมรุในยุคนั้นจึงได้จัดตามราชประเพณีโบราณอย่างยิ่งใหญ่ รวมไปถึงการสร้างพระเมรุมาศและเครื่องประกอบต่างๆด้วย
การสร้างพระเมรุมาศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงปลายรัชกาลที่ ๕ ยึดหลักการสร้างตามโบราณราชประเพณี กล่าวคือพระเมรุมาศมีขนาดใหญ่ ตัวพระเมรุมี ๒ ชั้น โดยมีพระเมรุทองอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นยอดปรางค์ สำหรับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่าเป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่สร้างตามคตินิยมเช่นนี้
พระเมรุมาศสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนมชีพอยู่นั้น พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งให้ทำงานพระเมรุมาศของพระองค์แต่พอเผา กล่าวคือให้ตัดทอนการพระบรมศพและพระเมรุมาศให้เล็กลงพอแค่ถวายพระเพลิงได้ ไม่ต้องใหญ่โตเกินความจำเป็นเพราะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและทรัพยากรชาติอย่างสูง อีกทั้งพระเมรุมาศนั้นสร้างครั้งเดียวแล้วก็รื้อ ไม่ใช่ถาวรวัตถุแต่อย่างใด ครั้นพอถึงงานพระเมรุมาศของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงสนองพระราชประสงค์ในพระบรมชนกนาถ และได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย
พระเมรุมาศสมัยปัจจุบัน
ในรัชกาลปัจจุบัน การก่อสร้างพระเมรุมาศยังคงยึดหลักการตามแนวพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้มีการเพิ่มแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากโบราณราชประเพณีให้คุ้มค่าสูงสุดอีกด้วย การก่อสร้างจึงคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างประหยัด และสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อได้อีกด้วย อย่างพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานหลักการสำคัญแก่กรมศิลปากรว่า หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว วัสดุต่างๆต้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีก ซึ่งแนวพระราชดำรินี้กรมศิลปากรได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อมา สำหรับพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เรียกว่า “พระเมรุ” มีลักษณะเช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับพระพิธีพระศพ พระราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”) ก็ได้มีการเลือกใช้วัสดุที่ก่อสร้างได้ง่าย ไม่เปลืองทรัพยากร และก่อประโยชน์สูงสุด จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ เพื่อสนองแนวพระราชดำริ อาทิ โครงสร้างของเรือนต่างๆ โดยรอบมณฑลพิธีนั้น จากเดิมที่ใช้ไม้ในการสร้างก็ปรับเปลี่ยนเป็นเหล็ก ซึ่งเป็นการลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว

พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น เป็นกุฎาคารลักษณะเป็น ”เรือนยอด” หรือเรือนที่มีหลังคาต่อเป็นยอดแหลม เป็นพระเมรุทรงยอดปราสาทจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาวเจ็ดชั้น) อันเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศ รูปแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมนั้นคล้ายพระเมรุของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ฐานพระเมรุจัดทำเป็นสองระดับ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมประทีปแก้ว ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สองหรือฐานบนเรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้งสี่ทิศ ที่เชิงบันไดมีรูปสัตว์หิมพานต์ตั้งประกอบอยู่ด้านละหนึ่งคู่ แสดงความเป็นป่าหิมพานต์ตามคติไตรภูมิ

พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอกประดับตกแต่งด้วยลวดลายใกล้เคียงกับพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่วิจิตรสวยงามเรียบง่าย ทำด้วยผ้าทองย่นฉลุลายซ้อนทับกระดาษสี ซึ่งใช้สีทองและสีแดงเป็นหลัก
ตัวพระเมรุนั้นจะตั้งอยู่ศูนย์กลาง รายล้อมด้วยอาคารต่างๆภายในขอบรั้วราชวัติ สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยมีพระที่นั่งทรงธรรมอยู่ด้านหน้า ส่วนสถาปัตยกรรมอันเป็นอาคารประกอบต่างๆมีดังนี้
อาคารประกอบที่ตั้งในบริเวณเดียวกับพระเมรุ / พระเมรุมาศ
๐ ซ่างหรือสำส้าง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างขึ้นที่มุมทั้งสี่บนชาลาพระเมรุ (ฐานชาลา) ที่ตรงนี้ใช้สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมตลอดงานพระเมรุโดยจะมีพระพิธีธรรม ๔ สำรับนั่งอยู่ประจำซ่าง และจะผลัดกันสวดทีละซ่างเวียนกันไป
๐ หอเปลื้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกตรงมุขด้านหลังของพระเมรุ โดยหันหน้าเข้าหาพระเมรุ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยมีฝากั้นโดยรอบ ใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บพระโกศทอง (ชั้นนอก) หลังจากที่ได้เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และยังใช้สำหรับเป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในการพระราชพิธีด้วย
อาคารประกอบโดยรอบพระเมรุ / พระเมรุมาศ
๐ พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถงยาว ตั้งอยู่ตรงข้ามมุขด้านหน้าของพระเมรุมาศ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุ นอกจากนั้นพระที่นั่งทรงธรรมยังเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ และที่นั่งของคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
๐ ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีกพระที่นั่งทรงธรรมทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ
๐ ทับเกษตร เป็นอาคารที่ปลูกริมแนวรั้วราชวัติสร้างเป็น อาคารโถงหลังคาทรงปะรำ (หลังคาแบน) ใช้เป็นสถานที่สำหรับข้าราชการพักและฟังสวดพระอภิธรรม
๐ ทิม เป็นอาคารหลังคาปะรำ ด้านหน้าเปิดโล่งที่สร้างติดรั้วราชวัติจำนวน ๘ หลัง ใช้สำหรับเจ้าพนักงานพระสงฆ์ แพทย์หลวง ไว้พัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมพระศพด้วย
๐ พลับพลายก ในงานพระเมรุมีทั้งหมด ๓ หลัง พลับพลายกสนามหลวง (ตั้งอยู่นอกรั้วราชวัติ) สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จรับพระศพลงจากราชรถ
พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จส่งพระศพขึ้นราชรถ
พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับทอดพระเนตรกระบวนและถวายบังคมพระศพ
๐ รั้วราชวัติ เป็นแนวรั้วที่กั้นเป็นเขตปริมณฑลของพระเมรุทั้งสี่ด้าน

เทวดาและสัตว์หิมพานต์
เทวดารอบพระเมรุนั้นเปรียบเสมือนเหล่าทวยเทพในแต่ละชั้นภูมิที่จะคอยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยพระเมรุมาศครั้งนี้จัดสร้างเทวดาจำนวน ๔๒ องค์ เป็นเทวดานั่งถือบังแทรกที่มีโคมประทีปแก้วอยู่ตรงกลางรายล้อมพระเมรุจำนวน ๒๒ องค์ สลับกับเทวดายืนถือฉัตรผ้าลายฉลุทองจำนวน ๒๐ องค์ ใบหน้าและภูษาเขียนลายตามแบบไทย
สัตว์หิมพานต์เปรียบเสมือนสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีหลายเผ่าพันธุ์และฤทธิ์ต่างกัน ในครั้งนี้ได้เลือกสัตว์ทวิบาทผสมสัตว์ปีกและนางสวรรค์ จำนวน ๖ รูป หรือ ๓ คู่ ได้แก่ ”กินรี” ตั้งอยู่หัวบันไดทางทิศตะวันตก ”อัปสรสีหะ” (รูปครึ่งคนครึ่งสิงห์) ตั้งอยู่หัวบันไดทางทิศเหนือ และ ”นกทัณฑิมา” (ครุฑยืนถือกระบองหรือไม้เท้าที่คอยปกป้องไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามา) ตั้งอยู่หัวบันไดทางทิศใต้

พระโกศจันทน์
เป็นพระโกศที่สร้างด้วยไม้จันทน์หอมนำมาแปรรูปให้เป็นแผ่นบางโกรกฉลุเป็นลวดลายต่างๆ ให้มีขนาดและสีต่างๆกัน (เป็นสีไม้ตามธรรมชาติ) แล้วนำลายไม้นั้นมาซ้อนติดกันเป็นชั้น ซึ่งจะเกิดเป็นลวดลายต่างๆ เป็นศิลปะงานซ้อนไม้ที่เป็นเอกลักษณ์อันวิจิตรราวกับงานแกะสลักเสร็จแล้วจึงนำทั้งหมดไปประกอบกับโครงหลัก (โครงเหล็ก) เป็นพระโกศไม้จันทน์ที่ถอดแบบและความงดงามมาจากพระโกศทอง
ในสมัยโบราณการประดิษฐ์พระโกศจันทน์ขึ้นก็เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งพระโกศจันทน์นี้จะเผาไปพร้อมกันด้วยแต่ในปัจจุบันไม่ได้มีการเผาพระโกศจันทน์ไปพร้อมกันแต่ยังคงตั้งอยู่ที่พระจิตกาธานขณะถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงเช่นเดิม โดยจะเลี้ยงน้ำที่พระโกศจันทน์ให้ชุ่มตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเผานั่นเอง อย่างพระโกศจันทน์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) นั้นภายหลังได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ริ้วกระบวนกับงานพระเมรุ
ริ้วกระบวนนั้นถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของงานพระบรมศพหรือพระศพ เพราะตลอดพระราชพิธีนั้นจะมีการจัดริ้วกระบวนในขั้นตอนต่างๆ อยู่หลายครั้ง องค์ประกอบสำคัญในการจัดกระบวนก็คือเครื่องอัญเชิญต่างๆ ที่มีรูปแบบและหน้าที่ที่ต่างกันดังนี้
พระมหาพิชัยราชรถ
ราชรถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๘) ใช้สำหรับทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นสำหรับพระศพพระบรมวงศ์ที่มีการออกพระเมรุนั้นก็ให้เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ พระมหาพิชัยราชรถนั้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้งแรกนั้นพระมหาพิชัยราชรถใช้ทรงพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เพื่อเชิญออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๙ และได้เคยใช้ทรงพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ กระทั่งพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสำหรับงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในครั้งนี้ก็จะนำพระมหาพิชัยราชรถมาใช้ในการเชิญพระศพด้วย
พระเวชยันตรราชรถ
ราชรถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นกัน ใช้สำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงราชศักดิ์สูง พระเวชยันตรราชรถนั้นมีความคล้ายคลึงพระมหาพิชัยราชรถแทบจะทุกประการ แตกต่างกันที่รายละเอียดและความสูงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในรัชกาลที่ ๑ พระเวชยันตรราชรถได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่พระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุในคราวเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๒
ในคราวงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่๘ นั้น ได้เชิญพระเวชยันตรราชรถมาเชิญพระบรมศพแทนพระมหาพิชัยราชรถที่ทรุดโทรมและอยู่ระหว่างการบูรณะ แต่ก็ได้ออกหมายเรียก ”พระมหาพิชัยราชรถ” ตามโบราณราชประเพณี
ราชรถน้อย
ราชรถน้อยมีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีทั้งหมด ๓ องค์ ซึ่งการจัดริ้วกระบวนในอดีตนั้น องค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับทรงสวดนำกระบวน องค์ที่สองเป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศหรือพระโกศ และอีกองค์ใช้สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับเพื่อโปรยทาน ในรัชกาลปัจจุบันจัดริ้วกระบวนราชรถน้อยเพียง ๑ องค์สำหรับ สมเด็จพระสังฆราชประทับทรงสวดนำกระบวนเท่านั้น
พระยานมาศสามลำคาน
เป็นพระราชยานชั้นสูงฐานย่อมุมไม้สิบสอง ๓ ชั้น ใช้กำลังแบก ๖๐ นาย พระยานมาศสามลำคานนี้ใช้เชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระมหาพิชัยราชรถ และใช้อีกครั้งในการเชิญพระโกศจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนรอบพระเมรุมาศ
เกรินบันไดนาค
เป็นเกรินเครื่องเลื่อนเชิญพระโกศพระบรมศพหรือพระศพขึ้นสู่ที่สูงหรือลงสู่ที่ต่ำ เรียกกันทั่วไปว่า เกรินกว้าน หรือกว้านเกริน มีลักษณะเป็นเกรินชักรอกทำด้วยไม้ประกอบกว้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เกรินบันไดนาคนั้นมีอยู่ 2 ชุด ชุดหนึ่งใช้เลื่อนเชิญพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นสู่บุษบกของพระมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และอีกชุดหนึ่งใช้เลื่อนเชิญพระโกศลงจากบุษบกของพระมหาพิชัยราชรถมาประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคานที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

พระที่นั่งราเชนทรยาน
เป็นพระที่นั่งราชยานทรงบุษบก สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทอง มีคานหามประจำ ๔ คาน องค์บุษบกประกอบด้วยฐาน ๒ ชั้น มีเครื่องประดับอันเป็นองค์ประกอบสำคัญแสดงถึงพระราชอำนาจคือรูปครุฑยุดนาค ๑๔ ตัวโดยรอบ พระที่นั่งราเชนทรยานใช้เชิญพระโกศพระอัฐิจากพระเมรุมาศกลับสู่พระบรมมหาราชวัง
พระวอสีวิกากาญจน์
เป็นพระราชยานประเภทมีหลังคา เป็นพระวอไม้แกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ทรงหลังคาคฤห์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สำหรับเชิญผอบพระสรีรางคาร จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง
เทคโนโลยีกับพระเมรุ
การสร้างพระเมรุแต่ละยุคสมัยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมไปตามกาลเวลา ในยุคปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงานพระเมรุ ซึ่งรวมถึงงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในครั้งนี้ด้วย
ลิฟต์
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางวิศวกรรมของการก่อสร้างพระเมรุที่มีการติดตั้งระบบลิฟต์ในพระเมรุ เพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ เนื่องจากบันไดพระเมรุมีความชัน โดยการออกแบบและก่อสร้างลิฟต์จะทำให้สวยงามกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมไทยของพระเมรุที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : ๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ราชาแห่งราชัน, พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ
Recommend
ชีวิตครึ่งเดียว แต่คุ้มค่า
ชีวิตครึ่งเดียว แต่คุ้มค่า อารอน วอลลิน เป็นชายผู้มีสองบทบาท บนเวทีเขาคือคนบ้าระห่ำที่ตัวเล็กที่สุด จากฉายา…
ชมกรรมวิธีการผลิตซีอิ๊วแบบญี่ปุ่น ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้กว่า 750 ปี
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 13 พระภิกษุชาวญี่ปุ่นเดินทางกลับมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และตัดสินใจอาศัยอยู่ในเมืองท่าเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า ยุอะสะ ในจังหวัดวะกะยะมะ…
ทำความรู้จักกับ “สนูส” ตัวช่วยลดบุหรี่ ในสวีเดน
ผู้สูบบุหรี่ในสวีเดน และผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ระบุว่า Snus คือตัวช่วย ด้านหน่วยงานทางการแพทย์เองยังไม่มั่นใจว่ายาสูบแบบไร้ควันนี้จะนำไปสู่การก่อมะเร็งอื่นๆ ในอนาคตหรือไม่
ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช กับการปฏิบัติธรรมอันเบิกบาน
เมื่อพุทธธรรมและการปฏิบัติธรรมอันเก่าแก่ของทิเบตได้รับการถ่ายทอดด้วยศาสตร์สมัยใหม่