นานาชาติ – เพื่อนบ้าน – อาเซียน ไม่เอา แผนที่ประเทศจีน ฉบับใหม่ โวย! จีนอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่ไม่ใช่ของตัวเอง

นานาชาติ – เพื่อนบ้าน – อาเซียน ไม่เอา แผนที่ประเทศจีน ฉบับใหม่ โวย! จีนอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่ไม่ใช่ของตัวเอง

ไม่เอา แผนที่ประเทศจีน ฉบับใหม่ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่คัดค้านแผนที่แห่งชาติฉบับใหม่ของจีน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (Ministry of Natural Resources) ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของตนเองเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับมาเลเซียและอินเดียที่ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวหาว่าจีนกำลังอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่ไม่ใช่ของตน ขณะที่ทางรัฐบาลปักกิ่งโต้แย้งว่าแผนที่เดิมเป็น ‘แผนที่ที่มีปัญหา’ ซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขตแดน

ที่มาของความตึงเครียดครั้งใหม่นี้คือพรมแดนโดยพฤตินัยที่ยาวประมาณ 3,440 กิโลเมตรตามแนวเทือกเขาหิมาลัย โดยเรียกกันว่าเป็นแนวควบคุมแท้จริง หรือ LAC (Line of Actual Control) ซึ่งเกิดจากการแบ่งเขตที่ทับซ้อน ส่งผลให้มีการเผชิญหน้ากันอยู่เป็นประจำระหว่างจีนและอินเดีย

ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังอ้างสิทธิ์ในเส้นประรอบพื้นที่ขัดแย้งบนทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์ ทั้งที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินในปี 2016 ว่าการอ้างสิทธิ์ทางทะเลฟิลิปปินส์ของจีน “ผิดกฎหมาย” สิ่งเหล่านี้ทำให้นานาชาติที่อยู่รอบประเทศจีนร่วมกันโต้แย้งแผนที่แห่งชาติใหม่ฉบับนี้

อ่านเพิ่มเติม ซุนดาแลนด์ ภูมิภาคในอดีตที่อาเซียนเคยเชื่อมโยงเป็นผืนแผ่นดินเดียว

กระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ระบุว่า แผนที่ดังกล่าวเป็น “ความพยายามครั้งล่าสุดในการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจอธิปไตยและเขตอำนาจศาลของจีนที่อ้างสิทธิ์เหนือเขตทางทะเลของฟิลิปปินส์ โดยไม่อยู่ภายใต้พื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ”

โดยอินเดียเป็นประเทศแรกที่โต้แย้งแผนที่ฉบับนี้ และได้ยื่น ‘การประท้วงที่จริงจัง’ ต่อรัฐบาลจีน “วันนี้เราได้ยื่นประท้วงอย่างจริงจังผ่านช่องทางการทูตกับฝ่ายจีนต่อสิ่งที่เรียกว่า แผนที่มาตรฐานของจีน ปี 2023 ที่อ้างสิทธิ์ในดินแดนของอินเดีย” โดยดินแดนดังกล่าวคือรัฐอรุณาจัลประเทศและที่ราบสูงอัคไซจินทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม หวัง เหวินบิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ปฏิเสธข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยระบุว่าการแก้ไขแผนที่ถือเป็น ‘การใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมายปกติ’ พร้อมเสริมว่า “เราหวังว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังคงเป็นกลางและใจเย็น รวมถึงงดเว้นการตีความประเด็นนี้มากเกินไป”

นับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจของผู้นำ สี จิ้นผิง จีนพยายามเปลี่ยนให้ตัวเองกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกด้วยการผลักดันนโยบายต่างประเทศเชิงรุกมากขึ้น และสร้างความเคลื่อนไหวไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชีย รวมถึงอินเดียที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน

กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองระบุว่า ผู้นำทั้งจีนและอินเดียต่างเห็นพ้องที่จะลดความตึงเครียดที่บริเวณชายแดนข้อพิพาท และนำทหารที่ประจำอยู่ในพื้นที่นั้นออกมา แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

“อินเดียและจีนได้ใช้ทุกโอกาสเพื่อขจัดความแตกแยก แต่ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกเหมือนก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว แล้วก็กลับมาถอยหลังสองก้าว” อาคิล ราเมช (Akhil Ramesh) นักวิจัยอาวุโสจากแปซิฟิกฟอรัม (Pacific Forum) สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นศึกษาภูมิภาคอินโดแปซิฟิก กล่าว

“ในบรรยากาศเช่นนี้ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะแสดงความสนใจว่าต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดในที่สาธารณะ แต่ผมไม่เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ทั้งสองประเทศต่างกำลังทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเองในการเป็นผู้นำของซีกโลกใต้” ราเมช เสริม

ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศย่ำแย่ลงอย่างหนักในปี 2020 หลังเกิดการเผชิญหน้ารุนแรงในหุบเขากัลวาน ใกล้กับที่ราบสูงอักไซจิน โดยทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์ในดินแดนแห่งนี้ ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารอินเดียกับจีนจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งส่งผลให้มีทหารอินเดีย 20 นายและทหารจีน 4 นาย เสียชีวิต

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://edition.cnn.com/2023/08/31/india/india-china-map-protest-intl-hnk/index.html

https://www.washingtonpost.com/world/2023/08/31/china-india-map-protest

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-66669341

https://apnews.com/article/india-china-territorial-dispute-g20-xi-modi-c2585b3764b65270d67ecdcca0037afb

ดูแผนที่แห่งชาติจีน ฉบับปี 2023 ได้ที่ https://twitter.com/globaltimesnews/status/1696104724691570945?fbclid=IwAR0aMV1onTnbHsvpnTzz5nleg4nOkA2tEzcBoGb2_FbwgGrJFVBi9KoZ2jQ

อ่านเพิ่มเติม แผนที่กรุงโรม อายุเก่าแก่ 100 ปี ยังคงเป็นผังเมืองที่ดีในปัจจุบัน

Recommend