131 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เจ้าของวลี พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว

131 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เจ้าของวลี พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว

วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวัน ศิลป์ พีระศรี คือวันเกิดของศาสตราจารย์ชาวอิตาลีผู้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย เขาคือผู้ที่เดินทางข้ามนํ้าข้ามทะเลมาไกลเพื่ออุทิศชีวิตให้กับศิลปะในชาติเล็กๆ ของเอเชีย ซึ่งท่านเป็นเจ้าของวลีดังอย่าง พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว และ ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น

ประวัติ ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ท่านเป็นลูกชายของนายอาตูโด เฟโรชีและนางซานตินา เฟโรชี ที่ประกอบธุรกิจการค้า โดยชื่อเดิมของ ศิลป์ พีระศรี คือ คอร์ราโด เฟโรชี

สำหรับในวัยเด็กด้วยความที่ท่านเกิดในเมืองฟลอเรนซ์ นครแห่งการกำเนิดศิลปะเรอเนซองส์ชื่อดังของอิตาลี เด็กชายคอร์ราโดจึงมีความสนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่แรก โดยเขาชื่นชอบในผลงานประติมากรรมของมิเกลันเจโลและโลเรนโซ กีแบร์ตีในมหาวิหารฟลอเรนซ์เป็นอย่างมาก จึงสมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆ ของเมืองฟลอเรนซ์ และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาวิชาศิลปะเพื่อเป็นศิลปินให้ได้ แต่ครอบครัวไม่ให้การสนับสนุน เนื่องจากต้องการให้มาสืบทอดธุรกิจของครอบครัวมากกว่า

ทว่า คอร์ราโด มีความตั้งใจที่จะศึกษาศิลปะอย่างแรงกล้า จึงได้เก็บสะสมเงินด้วยตัวเอง จนสามารถเข้าศึกษาในสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ หลักสูตร 7 ปี ในปีพ.ศ. 2451 และจบการศึกษาในปีพ.ศ. 2458 เมื่ออายุ 23 ปี ด้วยเกียรตินิยมอันดับที่หนึ่ง รวมถึงได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน

ต่อมา คอร์ราโด ได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง เขาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง อาทิ ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา เป็นต้น

เดินทางสู่ดินแดนสยามประเทศ

ศาสตราจารย์คอร์ราโด แต่งงานกับ นางแฟนนี วิเวียนนี มีลูกสาวชื่อ อิซซาเบลล่า โดยในปี พ.ศ. 2466 คอร์ราโด เขาชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรปและยังมีความต้องการแสวงหาสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่ รวมถึงในช่วงเวลานั้นซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตกเพื่อที่จะเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในแผ่นดินไทยและทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้

รัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกศาสตรจารย์คอร์ราโดให้มาปฏิบัติงานในสยาม ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์คอร์ราโดจึงเดินทางสู่แผ่นดินสยามพร้อมกับภรรยาและบุตรสาวโดยทางเรือ เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 เมื่ออายุได้ 32 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2469

แรกเริ่มเข้ารับราชการ ศาสตาจารย์คอร์ราโด ทำสัญญารับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท แต่ช่วงแรกก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าใดเพราะยังไม่มีใครได้เห็นฝีมือของท่าน จนเมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยได้ประทับทดลองเป็นแบบปั้นให้กับศาสตราจารย์คอร์ราโด ปรากฏว่าศาสตราจารย์คอร์ราโดสามารถปั้นได้อย่างสมจริงเป็นอย่างมาก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงกราบบังคมทูล เชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จมาเป็นแบบจริงให้แก่ศาสตราจารย์คอร์ราโด ซึ่งปั้นหุ่นเฉพาะพระพักตร์ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยและเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวง แรกเริ่มศาสตราจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมาจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ โดยต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการได้ขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปะในยุโรป

ก่อตั้งสถานศึกษาศิลปะในไทย

ศาสตรจารย์คอร์ราโด วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้น เพื่อใช้ในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ที่พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ก่อตั้งขึ้น ภายหลังได้รวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา

กระทั่งในปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ อธิบดีกรมศิลปากร ตอนนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตรกรรมควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอน

ห้องเรียนในช่วงแรกของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของไทยเป็นห้องบริเวณตึกชั้นล่างของกรมศิลปากรในขณะนั้นและห้องทำงานของอาจารย์ศิลป์เอง หลักสูตรเป็นแบบ 4 ปีตามแบบอะคาเดมีของฟลอเรนซ์บ้านเกิดของท่าน

ที่มาของชื่อไทย ศิลป์ พีระศรี

ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอิตาลีเป็นหนึ่งในกลุ่มอักษะซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีและญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ชาวอิตาลีในประเทศไทยถูกญี่ปุ่นที่ยังไม่ยอมแพ้จับเป็นเชลยไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมทีท่านต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้าง ทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยพยายามเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นขอให้ทางการไทยเป็นผู้ควบคุมตัว และหลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการทำเรื่อให้ท่านโอนสัญชาติมาเป็นไทย และเปลี่ยนชื่อจาก คอร์ราโด เฟโรจี เป็น ศิลป์ พีระศรี ในปี พ.ศ. 2487 ด้วยสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามมีค่าครองชีพสูงขึ้น อาจารย์ศิลป์ ตัดสินใจส่งภรรยาและลูกสาวกลับไปอิตาลี แต่ตัวท่านยื่นเรื่องขอปรับเงินเดือนที่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 800 บาท ค่าเช่าบ้าน 80 บาท นับตั้งแต่ พ.ศ.2466 ซึ่งอัตราใหม่ที่ทางการปรับให้ก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจนทำให้ ในพ.ศ. 2492 อาจารย์ฝรั่งแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรต้องจากเมืองไทยที่ท่านผูกพันและใช้ชีวิตมาเกือบ 30 ปีกลับไปบ้านเกิดที่อิตาลี

หวนคืนสู่ประเทศไทย

แม้ว่าจะกลับมาถึงอิตาลีได้ไม่ถึงปี ศิลป์ พีระศรี ก็ตัดสินใจเดินทางกลับมารับราชการและรับตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในไทยอีกครั้ง โดยครั้งนี้ นางแฟนนี ภรรยา อิซาเบลลา ลูกสาว และ โรมาโน ลูกชายที่ถือกำเนิดในไทย ไม่ได้เดินทางมาด้วย ท่านตัดสินใจหย่าร้างเพื่อทุ่มเทเวลาในการสานต่อภารกิจพัฒนาวงการศิลปะไทย

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้แต่งงานใหม่กับ นางมาลินี เคนนี่ ในปีพ.ศ. 2502 แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ก่อนที่หลังจากนั้นท่านจะล้มป่วยลงและถึงแก่อนิจกรรมในวันที่14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว สิริอายุได้ 69 ปี 241 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่17 มกราคม พ.ศ. 2506

ด้านอัฐิของท่านถูกแยกไปสามส่วนด้วยกันคือที่สุสานชิมิเตโร เดญลี อัลลอรี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองถูกบรรจุในอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ณ ลานศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร

ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี

ผลงานของ ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นศิลปินชาวอิตาลีที่ฝากผลงานเด่นๆ ไว้ในประเทศไทยมากที่สุดท่าหนึ่ง อาทิ อนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เกาะเอลบา ประเทศอิตาลี ,ปั้นแบบและควบคุมการหล่อ ปฐมบรมราชานุสรณ์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กับ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

รวมถึงยังปั้นแบบประติมากรรมและควบคุมงานก่อนสร้างทงหมดของ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย , อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

ขณะเดียวกัน ยังมีผลงานชิ้นอื่นๆ อีกดังนี้

– สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เฉพาะพระเศียร) – ทำจากสำริด ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่ทำให้ศาสตราจาย์ศิลป์เป็นที่รู้จัก
– พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะพระเศียร) – พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากหลังได้เห็นพระบรมรูปของพระองค์
– พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครึ่งพระองค์) – ทำปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
– พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2 องค์ – ทำปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์
– พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า – เป็นประติมากรรมนูนต่ำด้วยปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
– สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ครึ่งพระองค์) – ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
– สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส (ครึ่งองค์) – ปัจจุบันอยู่ในกรมศิลปากร
– พระญาณนายก (ปลื้ม จันโทภาโส มณีนาค) วัดอุดมธานี จังหวัดนครนายก – เป็นประติมากรรมนูนสูง ทำจากปูนพลาสเตอร์
– หลวงวิจิตรวาทการ (ครึ่งตัว) – ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กรมศิลปากร
– ม.ร.ว.สาทิศ กฤดากร (เฉพาะศีรษะ) – ทำจากบรอนซ์
– นางมาลินี พีระศรี (เฉพาะศีรษะ) – ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรุงเทพมหานคร
– โรมาโน (ลูกชาย ภาพร่างไม่เสร็จ) – ปัจจุบันอยู่ที่กรมศิลปากร
– นางมีเซียม ยิบอินซอย (รูปเหมือนครึ่งตัว) – ทำจากบรอนซ์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
– พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (เฉพาะพระเศียร)
– พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช – ครึ่งพระองค์ ปั้นไม่เสร็จ เพราะเสียชีวิตก่อน

วลีและคำสอนของ อาจารย์ฝรั่ง ศิลป์ พีระศรี

ตลอดชีวิตของ อาจารย์ฝรั่ง ศิลป์ พีระศรี ท่านทำตัวเป็นครูที่ดีมากในการสอนลูกศิษย์ ไม่เฉพาะเรื่องศิลปะ แต่รวมถึงแนวคิด ปรัชญาการใช้ชีวิตที่ลึกซึ้งผ่านประโยคสั้นๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น

“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

“นายไม่อ่านหนังสือนายจะรู้อะไร”

“ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต”

“ทุกคนมีความงามนายต้องค้นให้พบ แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจมีความงามซ่อนอยู่”

“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนแล้วจึงค่อยเรียนศิลปะ”

“อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองยังคงศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา อย่าหลงคิดว่าเก่งแล้ว ไม่ต้องเรียน เพราะการหยุดหาความรู้ ไม่ต่างจากการที่เราทิ้งขว้างชีวิตเลย”

“ถ้าฉันตาย นายคิดถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน”

ดังนั้น ทุกวันที่ 15 กันยายนของทุกปีชาวศิลปากรจะร่วมระลึกถึงอาจารย์ศิลป์ในวันศิลป์ พีระศรี ที่เป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ กิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ การถ่ายทอดประสบการณ์จากศิลปินรุ่นใหญ่หรือผู้ที่ได้เกี่ยวข้องกับอาจารย์ศิลป์ ซึ่งในยามค่ำคืนเหล่าศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจะร่วมจุดเทียนร้องเพลง Santa Lucia และนักศึกษานิยมยืนรายล้อมรูปปั้นของอาจารย์ศิลป์กันอย่างอบอุ่น

นอกเหนือจากการรำลึกที่เกิดขึ้นแล้ว กิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหาลัยยังคงอบอวลไปด้วยคำสอนของอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนหน้าโรงอาหาร งานศิลปะในสวนแก้ว หอศิลป์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงลานอาจารย์ศิลป์หน้าคณะจิตรกรรมฯ ต่างก็มีร่องรอยและกลิ่นอายของศิลปากรที่อาจารย์หมายมั่นปั้นขึ้นมาทั้งสิ้น

กิจกรรมในวันศิลป์ พีระศรี จากฟลอเรนซ์สู่สยาม

ในปีนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรสถาบันที่อาจารย์ศิลป์ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งก็เตรียมจัดกิจกรรมในงาน “131 ปี ศิลป์ พีระศรี | จากฟลอเรนซ์สู่สยาม” โดยหอสมุดวังท่าพระ มี 3 กิจกรรมหลักให้ทุกคนได้เข้าร่วมทั้งในรูปแบบของนิทรรศการรวบรวมประวัติ ผลงานและคำสอน นอกจากนี้ก็ยังมี The Play Silpatation เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์และมหาวิทยาลัยศิลปากรผ่านเกม และสุดท้ายคือตั๋วบินไปอิตาลีบ้านเกิดของอาจารย์ศิลป์ผ่านเนื้อหาภาพยนตร์ที่มีฉากหลังเป็นประเทศอิตาลี โปรแกรมฉายจัดยาวๆ ตั้งแต่ 12 กันยายน-12 ตุลาคมนี้

ใน 3 กิจกรรมหลัก หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม The Play Silpatation เกมที่จะมา Re-check ความรู้รอบตัวฉบับพื้นฐานสำหรับชาวศิลปากร อย่าง

• Silpa Selection เพราะคำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เลือกคำตอบที่ถูกต้องจากจากโจทย์ที่สุดแสนจะคุ้นเคย

• PuzzSilpa Game เพิ่มความท้าทายในชีวิตไปกับเกมที่ต้องลุ้น !! เพราะทุกใบที่คุณเปิด ไม่ได้เผยคำตอบในภาพปริศนาเสมอไป

• Art Photo Hunt มาร่วมการทดสอบสายตาไปกับการจับผิดภาพงานศิลปะในคลังสะสมศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เกมที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาใครที่ยังไม่เคยเล่น พลาดไม่ได้

พร้อมลุ้นรับ Magnetic bookmark ของที่ระลึกสุดคิ้วท์ Designed by CHICKENMEW ศิลปินที่ค้นหาตัวตนจากการทดลองลายเส้น จนได้เป็นภาพวาดที่เกิดจากจุดเล็ก ๆ ที่สื่อสารถึงความสงบแต่ทรงพลัง และยังเป็นศิลปินที่มีผลงานในนิทรรศการ Artists’ Books ที่ห้องสมุดจัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ขอบคุณภาพจาก กรมศิลปากร และ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ข้อมูลอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/ศิลป_พีระศรี#หมายเหตุ

https://www.nationtv.tv/original/378840019

https://www.sarakadeelite.com/ faces/silpa-bhirasri/

https://www.facebook.com/SUlibrary

อ่านเพิ่มเติม สืบ นาคะเสถียร 33 ปีแห่งการจากไปของชายที่อุทิศชีวิตให้ผืนป่าและผองสัตว์ ผู้ผลักดันห้วยขาแข้งจนเป็นมรดกโลก

Recommend