รู้จัก เกาะแกร์ (Koh Ker) แห่ง ‘กัมพูชา’ มรดกโลกแห่งใหม่พร้อม ‘อุทยานฯ ศรีเทพ’ ของไทย

รู้จัก เกาะแกร์ (Koh Ker) แห่ง ‘กัมพูชา’ มรดกโลกแห่งใหม่พร้อม ‘อุทยานฯ ศรีเทพ’ ของไทย

เกาะแกร์ โบราณสถานแห่งนี้มีผลงานทางศิลปะที่หลากหลายและโดดเด่น ตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา ห่างจาก จ. เสียมราฐประมาณ 120 กิโลเมตร และครอบคลุมมีพื้นที่ประมาณ 81 ตารางกิโลเมตร

สำหรับประวัติความเป็นมา มีการสันนิษฐานกันว่า ‘เกาะแกร์’ ถูกสร้างขึ้นในช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โดยมีสถานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอมในช่วงปีคริตศักราช 928 ถึง 944 (พ.ศ.1464- พ.ศ.1487)

ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าอันเขียวขจี ระหว่างเทือกเขา พนมด็องเร็ค และ เทือกเขากุเลย (Dangrek and Kulen mountains) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติพนมกุเลน

เกาะแกร์ มีซากทางโบราณคดีหลายแห่ง รวมถึงวัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ตลอดจนโครงสร้างทางแพ่ง สระน้ำ เขื่อนกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ และถนนโบราณที่สะท้อนถึงอิทธิพลและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอม

สิ่งมหัศจรรย์ทางโบราณคดีแห่งนี้มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ ‘โครงการ’ ที่ได้รับการจัดการอย่างดีในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาภูมิภาค สังคม เศรษฐกิจ และสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง และโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ความโดดเด่นที่เป็นหัวใจสำคัญของ เกาะแกร์ คือปราสาทที่มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นมีลักษณะเป็นรูปแบบพีระมิดขั้นบันไดที่สูงกว่า 35 เมตรเหนือภูมิทัศน์โดยรอบ

ปราสาทสำคัญแห่งแรกมีชื่อว่า ปรำหรือปราม ซึ่งเป็นปราสาทรอบนอก นักประวัติศาสตร์คาดว่าสถานที่แห่งนี้อาจใช้เป็นเมรุเผาศพ หรืออาจใช้ประกอบพิธีทางศาสนาเกี่ยวกับไฟ เนื่องจากด้านบนมีปล่องระบายอากาศอยู่

ปราสาทสำคัญแห่งที่สองคือ ปราสาทธม เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเกาะแกร์ และยังเป็นพีรามิดที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา ความโดดเด่นคือมีฐานสูงขึ้นไปถึง 7 ชั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเขาไกรลาส แต่บางคนก็ระบุว่าอาจเป็นตัวแทนภูเขาสัตตบริภัณฑ์คีรีในสรวงสรรค์ตามความเชื่อ

นอกจากนี้ยังมีปราสาทอื่น ๆ เช่น ปราสาทลึงค์ ที่เป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก 3 หลังซึ่งมีความสำคัญในการทำพิธีเกี่ยวกับน้ำ หรือปราสาทเนียงเขมา ที่บ้างก็เรียกว่าปราสาทนางเขม่า/เนียงคเมาหรือปราสาทนางดำ

เชื่อกันว่าที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นศาสนสถานในชุมชน อีกทั้งยังมีชื่อเสียงพอสมควร เนื่องจากเป็นสถานที่ที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสพบภาพเขียนจิตกรรมฝาผนังจำนวนมาก แต่น่าเสียดายที่ภาพได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมือง

รวมแล้ว เกาะแกร์มีโบราณสถานกว่า 180 แห่ง ในพื้นที่ 81 ตารางกิโลเมตร แต่หลายส่วนยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามและมีทุ่นระเบิดที่ยังไม่เก็บกู้จำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวหรือผู้คนทั่วไปสามารถเยี่ยมชมได้เพียงประมาณ 24 แห่งเท่านั้น

การเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยวยังเกาะแกร์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับได้จากเมืองเสียมเรียบ โดยค่าเดินทางจะเป็นแบบเหมาอยู่ที่ประมาณ 2,800 บาทถึง 3,500 บาทขึ้นอยู่กับประเภทรถที่ใช้ เมื่อไปถึงแล้วจะมีค่าเข้าอยู่ราว 525 บาทสำหรับการเที่ยว 1 วันในเกาะแกร์

สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ “ที่แห่งนี้ยังมีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่” ดังนั้นไม่ควรออกนอกเส้นทางเดินหลัง รวมถึงควรมียากันยุงติดตัว เนื่องจากมียุงค่อนข้างมาก ทำให้อาจป่วยกับโรคที่มียุงเป็นพาหะได้

โดยสรุปแล้ว เกาะแกร์ มีความโดดเด่นในแทบทุก ๆ ด้านทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของผู้คนในสมัยโบราณ

และทำหน้าที่ส่งต่ออารยธรรมอันล้ำค่าให้กับผู้คนรุ่นต่อ ๆ เช่นเดียวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ได้รับการขึ้นทะเบียบเป็นมรดกโลกพร้อม ๆ กันในการประชุมของยูเนสโกครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo by Wikipedia

ที่มา

https://www.unesco.org/en/articles/unesco-commends-cambodia-inscription-koh-ker-world-heritage-list

https://whc.unesco.org/en/list/1667/

https://seaarts.sac.or.th/artwork/542

อ่านเพิ่มเติม “เมืองโบราณศรีเทพ” จ. เพชรบูรณ์ เป็น “มรดกโลก” ลำดับที่ 7 ของไทยอย่างเป็นทางการ

Recommend