นอกจาก เส้นทางสายไหม ที่เชื่อมประเทศจีนกับจักรวรรดิโรมันเข้าด้วยกันจะเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั่วทุกสารทิศแล้ว เส้นทางนี้ยังเป็นตลาดวิชาที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชื่อของเหล่านักเดินทาง
เส้นทางสายไหม – ผ้าไหม หรือผ้าที่มีสัมผัสนุ่มนวล มันวาว และทนทานซึ่งอยู่คู่ประเทศจีนมาอย่างยาวนาน ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราว ๆ ช่วงกลางของสหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ตามตำนานเชื่อกันว่า เมื่อประมาณ 2070 ปีก่อนคริสตกาล ศาสตร์และศิลป์ในการผลิตใยไหมขึ้นจากรังของผีเสื้อถูกค้นพบโดยพระนางเหลยจู่ พระอัครมเหสีในจักรพรรดิหวงตี้ บรรพบุรุษในตำนานของชาวฮั่นผู้ก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีนขึ้น ว่ากันว่าในขณะที่พระมเหสีเหลยจู่ทรงนั่งดื่มชาอยู่ใต้ร่มต้นหม่อน ได้มีรังไหมของผีเสื้อตกลงไปในถ้วยชาของพระนาง ทว่า แทนที่จะเทชาถ้วยนั้นทิ้ง พระนางเหลยจู่กลับพินิจพิจารณาสิ่งแปลกปลอมนั้น และได้ค้นพบว่า หากดึงสิ่งที่พันรังของผีเสื้อออกจนหมดจะได้เส้นใยไหมออกมา
ตามธรรมเนียมโบราณ นอกจากการผลิตผ้าไหมจะเป็นองค์ความรู้ที่สงวนไว้สำหรับหญิงสาวชาวจีนแล้ว ศาสตร์นี้ยังถูกรักษาไว้เป็นความลับของชาติ ผู้ที่ลักลอบนำวิธีการเลี้ยงไหมไปเผยแพร่จะถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต ทว่า หลายศตวรรษต่อมา ใยไหมเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ถักทอเครือข่ายการค้าขนาดใหญ่ซึ่งสามารถเชื่อมแผ่นดินจีนกับจักรวรรดิโรมันเข้าด้วยกันได้
ในศตวรรษที่ 19 เฟอร์ดินานด์ ฟอน ริชโธเฟน (Ferdinand von Richthofen) นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน เริ่มมองหาคำศัพท์ที่จะใช้ในการอธิบายเส้นทางการค้าสำหรับการขนส่งผ้าไหมและสินค้าหรูหราอื่น ๆ ระหว่างแถบตะวันออกไกลและเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงศตวรรษแรกก่อนคริสตกาลจนถึงช่วงยุคกลาง ท้ายที่สุด เฟอร์ดินานด์ก็ได้ตัดสินใจตั้งชื่อเส้นทางสายนี้ว่า “เส้นทางสายไหม” ตามสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งของโลกตะวันออกมากที่สุด
โลกภายนอกกำแพง
ในตอนแรก ชาวจีนไม่ได้มีความพยายามที่จะส่งผ้าไหมออกไปขายนอกประเทศ จนกระทั่งต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ทำเช่นนั้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิฉินฉื่อหวง (ครองราชย์ 221-210 ปีก่อนคริสตกาล) มีพระราชโองการให้ทุบป้อมปราการระหว่างแคว้นต่าง ๆ ทางชายแดนภาคเหนือออก แล้วให้สร้างกำแพงขึ้นแทน เพื่อเชื่อมแคว้นเหล่านั้นเข้าด้วยกัน และเพื่อหยุดการรุกรานของชนเผ่าเร่ร่อนอย่างชนเผ่าชงหนู (Xiongnu) การก่อสร้างในนั้นครั้งนั้นถือเป็นระยะแรกเริ่มของการสร้างกำแพงเมืองจีนอันยิ่งใหญ่ที่ยังตั้งตระหง่านอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป กำแพงกลับไม่เพียงพอที่จะป้องกันแคว้นต่าง ๆ จากผู้รุกรานได้ ด้วยเหตุนี้ ในปี 210 ก่อนคริสตกาลฮ่องเต้ฮั่นอู๋ตี้ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น จึงทรงพยายามมองหาหนทางอื่น และหนทางนั้นคือ การผูกมิตรกับชนเผ่าเยว่จือ (Yuezhi) ซึ่งเป็นปรปักษ์กับชาวชงหนู
จางเชียน หนึ่งในทหารรักษาพระราชวังของฮ่องเต้ฮั่นอู๋ตี้ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านักการทูตในภารกิจเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวเยว่จือ การจะไปเยือนดินแดนของเผ่าเยว่จือนั้นจำเป็นต้องเดินทางผ่านเขตแดนของศัตรูไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทว่าโชคกลับไม่เข้าข้างจางเชียน เขาถูกเผ่าชงหนูจับตัวไประหว่างทาง และถูกขังคุกนานถึง 13 ปีก่อนจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเมืองของตน
แม้จะทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ แต่จางเชียนก็ได้เรียนรู้เรืองราวมากมายระหว่างการผจญภัยในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปที่ตามมา เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับดินแดนลึกลับทางตะวันตกอย่างอินเดีย และจักรวรรดิพาร์เธีย ซึ่งในปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิหร่าน ระหว่างที่เขาเดินทางผ่านหุบเขาเฟอร์กานา (Fergana Valley) ในเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) เขาสังเกตเห็นม้าที่มีขนาดใหญ่กว่าม้าพันธุ์พื้นเมืองของจีนมาก และตระหนักได้ว่าสัตว์พันธุ์ใหญ่เช่นนี้จะเป็นกำลังเสริมทางทหารที่มีประโยชน์ต่อกองทัพจีน ต่อมา ในขณะที่จางเชียนอยู่ในจักรวรรดิพาร์เธีย เขาได้ติดต่อกับผู้คนในอารยธรรมเฮลเลนิสต์ (Hellenist culture) อารยธรรมในแถบเอเชียกลางที่ได้รับอิทธิพลจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในดินแดนนั้น จนเกิดเป็นการติดต่อครั้งสำคัญครั้งแรกที่เกิดขึ้นระหว่างจีนและอินโด-ยูโรเปียน แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จางเชียนได้เรียนรู้ระหว่างการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดคือ ความต้องการในผ้าไหมของจีนนั้นกระจายไปทั่วทุกหนแห่ง
เมื่อกลับไปถึงจีนแล้ว จางเชียนรายงานสิ่งที่พบเห็นและสิ่งที่ตนเห็นว่าดีกับประเทศชาติให้องค์จักรพรรดิได้ทรงทราบ หลังทราบข้อมูลต่าง ๆ แล้ว ราชวงศ์ฮั่นก็มองเห็นข้อดีของการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับโลกทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่จะได้รับม้าเฟอร์กานาที่เหนือกว่าม้าของตนมาครอบครอง เหล่าขุนนางเองก็ตระหนักได้ว่าพวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนผ้าไหมที่มีกับม้าเหล่านี้ได้ ต่อมาไม่นาน การแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้านี้ก็ได้กลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมจีนเข้ากับตลาดตะวันตกที่ทำกำไรได้มาก รวมไปถึงจักรวรรดิโรมันที่เริ่มเฟื่องฟู
เส้นทางในการค้าขายของจีนไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้ที่มาที่ไป ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล จักรวรรดิเปอร์เชีย (Persian Empire) ที่มีอาณาเขตกว้างไกลนั้นได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินทางไปยังเอเชียตะวันตกแล้ว ในขณะที่การขยายเขตการปกครองไปทางตะวันออกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็เข้ามามีส่วนช่วยในการวางรากฐานการค้าทั่วเอเชีย แต่ถึงกระนั้น การผจญภัยที่น่าตื่นตาตื่นใจของจางเชียนก็ยังถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อการสร้างเส้นทางสายไหม
การเดินทางฝ่าหิมะและพายุทราย
ฉางอานหรือซีอาน เมืองหลวงของจีนในยุคนั้น คือจุดเริ่มต้นทางทิศตะวันออกของเส้นทางไหม หากจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน เส้นทางนี้ไม่ได้เป็นเส้นทางการค้าสายใหญ่ที่มีเพียงเส้นเดียว แต่เป็นเส้นทางการค้าหลาย ๆ สายที่คดเคี้ยวไปมาจนมีจุดที่สามารถเชื่อมต่อดินแดนทางตะวันออกและดินแดนทางตะวันตกเข้าด้วยกันได้ ยกตัวอย่างเช่น มีเส้นทางหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองฉางอานที่สามารถเดินทางไปถึงปากแม่น้ำคงคาในอินเดียได้ สินค้าหรูหราราคาแพงที่ถูกนำไปขายทางตะวันตกคือ หยก กระดองเต่า ขนนก และที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือผ้าไหม นอกจากจะนำสินค้าไปขายแล้ว บรรดาพ่อค้าชาวจีนยังนำโลหะชนิดต่าง ๆ เช่น เงิน เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก และทองคำ รวมไปถึงอาหารต่าง ๆ เช่น หญ้าฝรั่น เครื่องเทศ ชา แคร์รอต และทับทิมจากอินเดียกลับไปขายที่จีนด้วย
ภายในปี 102 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนได้กลายเป็นชนชาติหลักที่เข้าควบคุมเส้นทางสายไหมไปจนถึงหุบเขาเฟอร์กานา แม้ว่าสินค้านานาชนิดจะเดินทางไปมาหลายพันกิโลเมตรระหว่างดินแดนทางตะวันออกและตะวันตก แต่ก็เป็นไปได้ว่าพ่อค้าอาจจะเดินทางไปตามเส้นทางสายสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อถึงจุดหมายต่อไป พ่อค้าเหล่านี้ก็จะขายสินค้าให้กับผู้คนในท้องถิ่นของเมืองนั้น และคนในท้องถิ่นที่ซื้อของกับพ่อค้าก็จะออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น และขายของที่ซื้อมาให้กับพ่อค้าในพื้นที่นั้นต่อไปเป็นทอด ในสมัยนั้นโอเอซิสตุนหวง (Dunhuang Oasis) เป็นศุลกากรหลักของจีน บรรดาพ่อค้าที่จะเดินทางผ่านเส้นทางสายไหมไปดินแดนทางตะวันตกจะต้องรอหลายวันเพื่อชำระภาษีขาออก และรอให้ทหารตรวจค้นสัมภาระอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครลักลอบขนหนอนไหมหรือรังไหมออกนอกประเทศ
ความแข็งขันของผู้ค้าผืนผ้านุ่ม
ในเวลาต่อมา เส้นทางมุ่งสู่โลกตะวันตกถูกแบ่งออกเป็นสามสาย สองสายแรกเป็นเส้นทางทางเหนือที่พาดผ่านเทือกเขาเทียนชาน (Tian Shan) ซึ่งมียอดเขาสูงถึง 7,315 เมตร และสายสุดท้ายเป็นเส้นทางทางใต้ที่ผ่านอาณาจักรโขตาน (Khotan) เมืองขึ้นชื่อด้านพรมไหมซึ่งปัจจุบันนี้คือเมืองโฮตันในซินเจียง เส้นทางนี้เป็นทางเลียบไปตามขอบทะเลทรายทากลามากัน (Taklimakan Desert) ทะเลทรายที่นอกจากอุณหภูมิสูงจัดและพายุทรายจะคร่าชีวิตพ่อค้าไปนักต่อนักแล้ว ยังแทบจะไม่มีเส้นทางที่สามารถเดินทางข้ามไปได้
เส้นทางสายเหนือและเส้นทางสายใต้จะบรรจบกันอีกครั้งในพื้นที่ใกล้กับเมืองคัชการ์ (Kashgar) ซึ่งในปัจจุบันเป็นชายแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศคีร์กีซสถาน เมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว ต่อไปเหล่าพ่อค้าจะต้องข้ามเทือกเขาปามีร์ (Pamir Mountains) ไปตามเส้นทางแคบ ๆ ที่ปกคลุมด้วยหิมะ ก่อนจะเดินลงไปยังหุบเขาเฟอร์กานา ที่ไหนสักแห่งไม่ไกลจากสถานที่พักระหว่างการเดินทางของพ่อค้าคือ สถานที่ที่ปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวอียิปต์ในศตวรรษที่ 2 กล่าวถึงว่าเป็น หอคอยหิน ซึ่งใช้ระบุตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างดินแดนตะวันออกและดินแดนตะวันตก
นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เชื่อกันว่า บริเวณที่ปโตเลมีคิดว่าเป็นจุดกึ่งกลางของเส้นทางสายไหม คือเขตปกครองตนเองทักซ์คอร์กาน (Taxkorgan) ในคัชการ์ ที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในจุดที่มีพ่อค้ามากมายจากทั่วเอเชียกลางมารอซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน รวมไปถึงพ่อค้าชาวซอกเดีย (Sogdian) พ่อค้าคนกลางระหว่างจีนและดินแดนตะวันตกที่มีชื่อเสียงที่สุดในเส้นทางสายไหม ซึ่งมาจากเมืองการค้าอย่างซามาร์กันต์ (Samarqand) ในแถบอุซเบกิสถาน ไกลออกไปทางตะวันตกจะพบพ่อค้าชาวพาร์เธียจำนวนมากที่เดินทางค้าขายอยู่ตามเส้นทางสายต่าง ๆ ที่ตัดผ่านดินแดนพาร์เธียซึ่งมีเมืองการค้าสำคัญอย่าง เมิร์ฟ (Merv) ตั้งอยู่ ในปัจจุบันนี้พื้นที่ของบริเวณนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิหร่าน อิรัก และเติร์กเมนิสถาน
จักรพรรดิพระองค์ต่าง ๆ ของจักรวรรดิพาร์เธียทรงสร้างที่พักจำนวนมากไว้ตามเส้นทางที่มุ่งไปสู่เมืองเทซีฟอน (Ctesiphon) เมืองหลวงในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลของจักรวรรดิ เพื่อรับรองพ่อค้าและอูฐขนของจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา เมื่อพ่อค้าเดินทางมาถึงเมืองเทซีฟอนแล้ว พวกเขาจะต้องเดินทางออกจากตัวเมือง และข้ามพื้นที่รกร้างในทะเลทรายของซีเรียไปทางเมืองแพลไมรา (Palmyra) เพื่อเดินทางไปเมืองท่าแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น เมืองไทร์ (Tyre) และเมืองแอนติออก (Antioch) ต่อ เมื่อถึงจุดหมายแล้ว สินค้าต่าง ๆ ที่นำมาจะถูกส่งไปยังโรมผ่านเรือ
ความสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดิโรมันกับผ้าไหมนั้นค่อนข้างที่จะซับซ้อน หนึ่งในข้อมูลที่เก่าแก่ที่สุดถูกบันทึกไว้ในช่วงที่ชาวโรมันขัดแย้งกับชาวพาร์เธีย ในบันทึกนั้นระบุไว้ว่า เมื่อ 53 ปีก่อนคริสตกาล นักธนูชาวพาร์เธียเอาชนะกองทหารโรมันได้อย่างราบคาบในยุทธการที่คาร์แร (Battle of Carrhae) ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ก่อนจะเริ่มการสู้รบ ภาพอันกล้าหาญและสวยงามของกองทัพชาวพาร์เธียที่มีธงรบสีสดจากผ้าไหมจีนโบกสะบัดอยู่ ทำให้ชาวโรมันรับรู้ได้ถึงพลัง ความไร้เทียมทาน รวมไปถึงความมีชั้นเชิงของทหารฝ่ายตรงข้าม ฟลอรัส (Florus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันในศตวรรษที่ 2 ได้อธิบายถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า “เมื่อใดที่นายพลชาวพาร์เธียปรากฏตัว จะมีธงผ้าไหมสะบัดกระพือไปมารอบชาวโรมัน” ก่อนจะบรรยายว่ากองทัพและผู้บัญชาการทหารชาวโรมันถูกสังหารอย่างไร
นับตั้งแต่โรมันพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศในศึกครั้งนั้น ผ้าไหมบนธงของศัตรูก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวโรมันทั้งเกลียดชังและหลงใหลในคราวเดียวกัน หนึ่งศตวรรษต่อจากนั้น ผ้าไหมกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน จุดอ่อนในการใช้เงินมากมายไปกับสินค้าหรูหราจากต่างประเทศเช่นนี้ถูกชาวโรมันที่เคร่งในศีลธรรมวิพากษ์วิจารณ์อย่างขมขื่น ในศตวรรษที่ 1 พลินีผู้อาวุโส เขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ในแต่ละปี เงินอย่างน้อยหนึ่งร้อยล้านเซสเตอเชสไหลออกจากอาณาจักรของเราไปเข้าอินเดีย จีน และอาระเบีย ความหรูหราเหล่านั้นคือจำนวนเงินที่เราต้องจ่ายให้กับผู้หญิง!”4
เส้นทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงโลก
ค.ศ. 220 หลังราชวงศ์ฮั่นสิ้นสุดลง ประเทศจีนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง และหลายศตวรรษต่อมา การผูกขาดผ้าไหมของราชวงศ์ฮั่นก็ได้สิ้นสุดลง หนอนไหมที่ชาวฮั่นเลี้ยงดูมาอย่างระมัดระวังและกระบวนการลับในการผลิตผ้าไหมเริ่มปรากฏให้เห็นได้ตามที่ต่าง ๆ นอกประเทศจีน ในศตวรรษที่ 6 แม้แต่ชาวโรมันเองก็ได้รับวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมด้วยตนเองมาจากหนอนไหมที่จักรพรรดิยุสตินิอานุสลักลอบนำกลับมายังประเทศได้สำเร็จ
นับตั้งแต่วินาทีที่หนอนไหมถูกนำออกจากเมืองฉางอาน จนถึงช่วงเวลาที่กรรมวิธีลับในการผลิตผ้าไหมถูกนำมาเผยแพร่ในสังคมชนชั้นสูงของโรมันในอีกหนึ่งปีให้หลัง รังไหมเล็ก ๆ นั้นจะต้องผ่านประเทศ ภาษา และวัฒนธรรมมากมายที่แตกต่างกัน ตลอดเส้นทางอันยาวไกลที่นำมันไปสู่อีกฟากหนึ่งของโลก ถึงแม้ว่าวิธีการผลิตผ้าไหมจะแพร่กระจายไปถึงดินแดนตะวันตกแล้ว แต่เส้นทางสายไหมก็ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมและการค้าเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี นอกจากเส้นทางสายนี้จะเป็นทางในการแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดแล้ว ยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดแนวคิด ความเชื่อ รวมไปถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมของผู้คน และเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายทางความคิดและความศรัทธาของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกในเวลาต่อมา
ศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลามที่เดินทางไปตามเส้นทางนี้พร้อมกับบรรดาพ่อค้าจากแหล่งต่าง ๆ จะถูกแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกับสินค้า กล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนในแต่ละพื้นที่จะค่อย ๆ ถูกอิทธิพลของแต่ศาสนาหล่อหลอมความเชื่อและแนวคิดด้านปรัชญาจนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น ในศตวรรษที่ 7 หลังจากที่จีนกลับมาเจริญเติบโตและรุ่งโรจน์อีกครั้งภายใต้ราชวงศ์ถัง เส้นทางสายไหมก็ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาพร้อมกับความต้องการสินค้าหรูหรา รวมไปถึงเทคนิคการทำเครื่องเงิน เก้าอี้ และเซรามิกจากโลกตะวันตกของจีน ราชวงศ์ถังเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลไปทางตะวันตกเพื่อป้องกันเส้นทางสายไหม ในช่วงเดียวกันนั้นเอง มิชชันนารีของศาสนาคริสต์กลุ่มแรกกำลังเดินทางมายังโลกตะวันออกโดยใช้เส้นทางนี้ และศาสนาอิสลามก็กำลังเฟื่องฟูในคาบสมุทรอาหรับ ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 8 อิทธิพลของศาสนาอิสลามก็เริ่มแผ่ตัวมาทางตะวันออกเรื่อย ๆ ผ่านเส้นทางสายนี้
เมื่อ ค.ศ. 751 เกิดการปะทะครั้งสำคัญระหว่างกองกำลังอับบาซียะฮ์ (Abassid) และกองทัพทหารจีนขึ้นในยุทธการที่ทาลัส (Battle of Talas) แม้ว่าการรบในครั้งนี้เป็นจะสาเหตุให้จีนขยายอำนาจไปทางตะวันตกไม่สำเร็จ แต่ชาวจีนที่ร่วมในยุทธการนี้กลับมีส่วนในการถ่ายทอดความรู้สำคัญให้แก่โลก ตามตำนานเล่าว่า บรรดานักโทษชาวจีนที่ถูกจับกุมในยุทธการที่ทาลัสได้ถ่ายทอดวิธีการทำกระดาษให้กับผู้คุมขังชาวอับบาซียะฮ์ ความรู้ใหม่นี้ก็ค่อย ๆ ถูกเผยแพร่ไปตามดินแดนมุสลิม และแพร่เข้าสู่ยุโรปตอนใต้ในที่สุด ความรู้ความสามารถเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของนักโทษชาวจีนเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการบันทึกประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล
เรื่อง การ์เลส บูเอนากาซา เปเรซ
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ