เจาะลึก อัลฮัมบรา ในตำนาน ที่ซึ่งอาณาจักรมุสลิมแห่งสุดท้ายของสเปนปกครองอยู่เกือบ 300 ปี
เฆซุส เบร์มูเดซ ผูกพันกับ อัลฮัมบรา (Alhambra) อย่าง ลํ้าลึก เขาเกิดในป้อมปราการที่สร้างบนเนินเขาสูงตระหง่าน ในเมืองกรานาดาของสเปน และเติบโตขึ้นภายในกำแพง พระราชฐานแห่งนี้ เมื่อพ่อของเขารับตำแหน่งผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์อัลฮัมบราตอนกลางศตวรรษ ครอบครัวก็ย้าย เข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งภายในอัครสถานประวัติศาสตร์ แห่งนี้ ตามที่เขาบอก อัลฮัมบราคือ “เวที” ให้วันคืนของ เขาโลดแล่น ทำให้เขาเรียนรู้ตำนานและประวัติของที่นั่น ตั้งแต่เด็ก และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอุทิศตนทำงานใน เวลาต่อมา เกือบสี่สิบปีที่เบร์มูเดซเป็นนักโบราณคดีและ นักอนุรักษ์ของอัลฮัมบรา ซึ่งถือเป็นความรุ่งโรจน์สูงสุดของ ราชวงศ์มุสลิมผู้ปกครองคาบสมุทรไอบีเรียอยู่นานเกือบ 800 ปี
เบร์มูเดซคือมัคคุเทศก์ในฝันของนักท่องเที่ยวที่ชอบ เจาะลึกเบื้องหลัง (และเคยเขียนคู่มือท่องเที่ยวฉบับทางการ ด้วย) จากประตูแห่งความยุติธรรมซึ่งใหญ่ที่สุดในทางเข้า ทั้งสี่ของอัลฮัมบรา เราชื่นชมไม่เฉพาะลานและหอคอย อันเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น แต่รวมถึงหลายจุดที่น้อยคน ได้รับอนุญาตให้เข้าชมที่ซึ่งข้อเท็จจริงปะปนคละเคล้าไป กับตำนานและเรื่องเล่า ขณะที่นักวิจัยยังสำรวจและศึกษา ความลึกลํ้าต่าง ๆ เหล่านั้น อัลฮัมบราก็คงสถานะเป็นทั้ง แหล่งโบราณคดีและการฟื้นฟูบูรณะ รวมถึงการคืนชีวิต ให้งานศิลปะอันเป็นปริศนาที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จ หลังผ่านไปเกือบ 20 ปี
“เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด อัลฮัมบราคือศูนย์กลางอำนาจ ครับ” เขาบอกและเสริมว่า “นี่คือที่พำนักของประมุขแห่งรัฐ มีทั้งค่ายทหาร เมืองราชสำนัก และตำหนักน้อยใหญ่ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาสองร้อยห้าสิบปี” ป้อมปราการแห่งนี้เติบโตตามกาลเวลา จากอัลกาซาบาหรือป้อมปราการดั้งเดิมที่สุลต่านมุฮัมมัดที่หนึ่งทรงสร้างไว้ตั้งแต่ปี 1238 กลายเป็น หมู่ตำหนักที่สะท้อนความหรูหราของราชวงศ์นัสริดในเวลาต่อมา การสืบสันตติวงศ์ของสุลต่านตระกูลนาสร์ดำเนินมาถึงปี 1492 เมื่อที่มั่นสุดท้ายของสุลต่านมุสลิมบนคาบสมุทรถูกกษัตริย์สเปน ซึ่งเพิ่งผนึกกำลังกระชับอำนาจอีกครั้ง หลังพระนางอิซาเบลลาแห่งคาสตีลอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟอร์ดินานด์แห่งอารากอน โค่นล้ม
ตลอด 254 ปีที่ราชวงศ์นัสริดปกครองรัฐสุลต่านกรานาดา ซึ่งแผ่อาณาเขตออกไปไกลจากตัวเมืองมากบริเวณที่เป็นภูมิภาคอันดาลูเซียในปัจจุบันถูก “แช่แข็งใน กาลเวลา โดยคงสภาพสังคมระบบศักดินาที่แยกตัวอยู่ ในโอเอซิสอันสุขสราญ” ตามที่เบร์มูเดซอธิบาย กระนั้น อาณาจักรแห่งนี้ก็ยังทิ้งมรดกไว้ในอนุสรณ์สถานที่ได้รับ การยกย่องว่าเป็นจุดสูงสุดของความงามและความละเอียด ประณีตทางสถาปัตยกรรมที่ถือกำเนิดในอัลอันดะลุส ชื่อเรียกรวม ๆ ของภูมิภาคที่มุสลิมปกครองในสเปน
ครั้นกรานาดาล่มสลาย ผู้ปกครองชาวคาทอลิกที่ สืบทอดต่อมาใช้ป้อมปราการแห่งนี้จนถึงต้นศตวรรษที่สิบเก้า เมื่อกองทัพของพระเจ้านโปเลียนยึดครองและ ทุบทำลายก่อนจากไป ท้ายที่สุด กษัตริย์สเปนทรงยก อัลฮัมบราให้ทางการดูแล และได้รับการประกาศเป็น อนุ สรณ์ สถานแห่งชาติ ในปี 1870 ทุกวันนี้ นครแห่งอำนาจ ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งโดยมีข้าราชบริพารเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คอย บริหารจัดการและกำหนดระเบียบการเข้าชมที่เข้มงวด
อัลฮัมบราทำให้คนนอกตื่นตะลึงได้เสมอ เมื่อเดือนมกราคม ปี 1492 สมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาทรงม้านำขบวนทหารเดินฉลองชัยจากถนนกูเอสตาเดโกเมเรซขึ้นสู่อัลฮัมรา (Al Hamra – ชื่อภาษาอาหรับของอัลฮัมบรา) ซึ่งแปลว่า “สีแดง” สอดรับกับหินสีชมพูของป้อมปราการสงครามพิชิตคืน (The Reconquest) ที่กินเวลายาวนานกว่า 700 ปี ทวงคืนดินแดนมุสลิมบนคาบสมุทรไอบีเรียทีละแห่ง สมณโองการของสมเด็จพระสันตะปาปาให้ทำสงครามครูเสดครั้งสุดท้าย คือที่มาของสงคราม 10 ปี เพื่อยึดครองอาณาจักรกรานาดาที่ดื้อแพ่งไม่ยอมจำนน
หลังพิชิตอัลฮัมบราได้ในที่สุด นักจดหมายเหตุบันทึกความแปลกพระทัยของพระนางอิซาเบลลา ขณะทอด-พระเนตรรายละเอียดอันงดงามวิจิตรภายในป้อมปราการที่ซ่อนเร้นจากพระองค์มานาน ทั้งงานฉลุลายอันประณีต โครงสร้างทรงโค้งรูปรวงผึ้ง หรือมุก็อรนัศ กระเบื้องลายเรขาคณิตที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุด และบ่อรับนํ้าที่สะท้อนเงาอาคารโอ่อ่าสง่างาม
อัลฮัมบราเป็นป้อมปราการที่ตีไม่แตกตลอดระยะเวลาเกือบสามร้อยปี บางคนอาจคิดไปว่า ราชินีชาวคริสต์คงมี รับสั่งให้เผาที่นี่เป็นเถ้าถ่าน ทุบทำลายผนังที่จารึกบทสรรเสริญอัลลอฮ์ ทว่าพระองค์กลับมีพระเสาวนีย์ห้ามผู้ใดแตะต้อง ยิ่งไปกว่านั้น ทรงหมายมั่นให้ที่นี่เป็นที่พำนักชั่วนิรันดร์ของพระองค์ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1504 ณ พระราชวังที่ประทับในเมืองเมดีนาเดลกัมโป หีบพระศพของพระองค์ถูกอัญเชิญไปยังกรานาดาโดยใช้เวลาสามสัปดาห์ อัลฮัมบราที่ซึ่งราชวงศ์นัสริดถูกโค่นล้มเมื่อ 12 ปีก่อน จะกลายเป็นที่ฝังพระศพของราชินีคาทอลิก (พระศพของพระองค์และพระสวามี พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ถูกฝังอยู่ที่ป้อมปราการแห่งนี้ในตอนแรก ต่อมาในภายหลังจึงอัญเชิญเคลื่อนย้ายไปยังมหาวิหารแห่งกรานาดา)
หลายปีต่อมา ระหว่างเสด็จทรงดื่มนํ้าผึ้งพระจันทร์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ห้า พระนัดดาของพระนางอิซาเบลลา เสด็จเยือนเมืองที่พระอัยยิกาทรงพิชิตได้ พระองค์มีรับสั่งให้สร้างพระราชวังส่วนพระองค์ในอัลฮัมบราด้วยทรงเล็งเห็นคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งนี้ การก่อสร้างใช้เวลากว่าหนึ่งร้อยปี และถึงพระองค์จะไม่เคยประทับที่นั่น แต่เบร์มูเดซก็เห็นว่าไม่ใช่ประเด็น สิ่งนี้เสริมเรื่องเล่าใหม่ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงใช้สถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นฐานรองรับพระราชวังใหม่ ซึ่งเป็นอุปมาถึงการพิชิต และ “การวางพระองค์สูงกว่าเล็กน้อยครับ” เบร์มูเดซบอก อาคารรูปทรงจัตุรัสแข็งแกร่งของกษัตริย์สเปนที่ตั้งอยู่เคียงข้างพระราชวังสามแห่งของราชวงศ์นัสริด ได้แก่ เมกซัวร์ โกมาเรส และพระราชวังแห่งราชสีห์ ซึ่งรวมกันเป็นอัญมณียอดมงกุฎที่ไร้ข้อโต้แย้งในสายตาผู้มาเยือน จึงเป็นดั่ง “อุกกาบาต” ตามที่สถาปนิกคนหนึ่งเปรียบเปรยไว้
เรื่อง เอมมา ลีรา
ภาพถ่าย โฆเซ มานูเอล นาเบีย
ติดตามสารคดี ป้อมปราการแห่งศรัทธา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/594704