การที่ชายผู้ลึกลับอย่าง รัสปูติน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาประจำราชวงศ์ ซึ่งได้รับความนับถือจากผู้ปกครองรัสเซีย ทำให้เขามีศัตรูจำนวนไม่น้อยที่จ้องจะเอาชีวิต
ท้ายที่สุด ในคืนวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1916 รัสปูติน ก็ถูกศัตรูเหล่านั้นลอบสังหาร การฆาตกรรมในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นักประวัติศาสตร์ต้องนำหลักฐานที่ถูกบันทึกไว้มาวิเคราะห์ว่า เรื่องราวส่วนใดเป็นเรื่องจริง ส่วนใดเป็นเรื่องที่ถูกแต่งเติม
ในคืนวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1916 เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ณ วังยูซูปอฟ (Yusupov Palace) หนึ่งในวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซีย แผนการลอบสังหารอันโหดเหี้ยมในครั้งนั้นเกิดจากความร่วมมือระหว่างชนชั้นสูงและกลุ่มผู้มีอำนาจที่ต่อต้านทั้งเหยื่อ ในการฆาตกรรม และชนชั้นปกครองของรัสเซียที่ให้การสนับสนุนเหยื่อผู้นั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อชนชั้นสูงที่สนับสนุนพระเจ้าซาร์ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังทำลายยุโรป และการปฏิวัติที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในรัสเซีย
วิธีการที่ชาวนาผู้ต่ำต้อยอย่าง รัสปูติน ใช้เข้าถึงราชวงศ์ที่รักสันโดษอย่าง โรมานอฟ จนสำเร็จ สร้างความตื่นกลัวในหมู่สมาชิกคนอื่น ๆ ในราชวงศ์ จนชนชั้นสูงเหล่านั้นกล่าวหาว่า รัสปูตินและผู้ติดตามของเขาเป็นบุคคลชั่วร้าย ร้อยกว่าปีต่อมา สื่อต่าง ๆ รายงานถึงการฆาตกรรมกริกอรี รัสปูติน (Grigory Rasputin) ชายที่ถูกสร้างภาพจำผิด ๆ ว่าเป็นนักบวชวิกลจริต โดยการบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างรัสปูตินกับพระเจ้านิโคลัสที่ 2 และพระนางอเล็กซานดรา ซาร์และซารีนาองค์สุดท้ายของรัสเซีย เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ที่ได้รับฟังหรือรับชมข่าว
จากชายทุ่งมุ่งสู่เมืองหลวง
กริกอรี ยิฟีเมอวิช รัสปูติน (Grigory Yefimovich Rasputin) เกิดเมื่อปี 1869 ในครอบครัวชาวนา เขาเติบโตขึ้นในพอครอฟสกอย ( Pokrovskoye) หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแถบตะวันตกของไซบีเรีย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก (St. Petersburg) กว่า 2,574 กิโลเมตร ไม่มีใครทราบว่าเขาถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เพราะแทบจะไม่มีข้อมูลในส่วนนี้บันทึกไว้
เมื่ออายุได้ 19 ปี รัสปูตินแต่งงานกับปราสคอฟยา เฟโอโดรอฟนา ดูโบรวินา (Praskovya Fyodorovna Dubrovina) และมีบุตรด้วยกัน 4 คน ต่อมาในปี 1892 เขาตัดสินใจละทิ้งครอบครัวและออกจากบ้านเกิดเพื่อเดินทางแสวงบุญ ว่ากันว่ารัสปูตินเคยได้รับนิมิตจากพระแม่มารีย์ และใช้เวลา 3 เดือนอยู่ที่โบสถ์แม้จะไม่เคยบวชเป็นนักบวชเลยก็ตาม เขาเลือกที่ใช้เวลาหลายปีในการออกตระเวนไปทั่วรัสเซียเพื่อแสวงหาการตรัสรู้ทางจิตวิญญาณของตนเองตามวิถีของนักบวชพเนจร
ในปี 1905 รัสปูตินเริ่มตั้งตัว ณ กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิญญาณและการเยียวยา ในช่วงที่ความสนใจในการแพทย์ทางเลือกและไสยศาสตร์กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของรัสเซีย ขณะที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ เขาได้รวบรวมกลุ่มสาวกซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่รักและนับถือเขาในฐานะคนของพระเจ้าขึ้นมา ทว่าต่อมาไม่นานนัก กลับมีข่าวลือเกี่ยวกับพฤติกรรมฉาวโฉ่วของรัสปูติน ทั้งเรื่องการดื่มเหล้าเมามาย และความมักมากในกามแพร่ไปทั่วเมือง
การก้าวเข้าสู่แวดวงของราชวงศ์
รัสปูตินมีชีวิต 2 ด้านที่ทั้งแปลกและตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เมื่ออยู่ต่อหน้าบุคคลที่ยกย่อง รัสปูตินจะแสดงบุคลิกที่ที่สุขุม รอบรู้ และคอยชี้แนะเรื่องความบริสุทธิ์ของร่างกายและจิตใจ ทว่าลับหลังคนเหล่านั้น ในบางครั้ง เขากลับดื่มเหล้าเมามายจนอาละวาดไปทั่วและร่วมกิจกรรมทางเพศอย่างหยาบโลน การแสดงภาพลักษณ์ที่เคร่งศาสนาอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง เพราะรัสปูตินผู้มีความขัดแย้งในตัวนั้นไม่สามารถเลือกระหว่างความเชื่อทางศาสนาที่ลึกซึ้ง และความต้องการในการกระทำผิดศีลธรรมซึ่งอยู่ลึกในจิตใจได้
สาธารณชนชาวรัสเซียรู้สึกเคลือบแคลงในตัวรัสปูตินตั้งแต่ตอนที่เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับพระเจ้าซาร์และซารีนาในปี 1905 ชื่อเสียงด้านการเยียวยาคือปัจจัยหลักที่ทำให้รัสปูตินได้เข้าไปใกล้ชิดกับราชวงศ์มากขึ้น เพราะในขณะนั้น ซาเรวิชอเล็กเซย์ (Tsesarevich Alexei) พระโอรสองค์สุดท้องซึ่งเป็นรัชทายาทที่ซาร์และซารีนาเฝ้าคอยมานาน กำลังเผชิญกับโรคฮีโมฟีเลีย (hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุดอยู่ ในปี 1908 รัสปูตินได้กล่าวอ้างว่า ความสามารถในการเยียวยาของเขาสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยรุนแรงขององค์ชายอเล็กเซย์ได้ ซารีนาอเล็กซานดราที่เชื่อในพลังการรักษานั้นจึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้เขาดูแลองค์ชาย
อิทธิพลที่อันตรายต่อราชวงศ์
หลังได้รับตำแหน่งในพระราชวัง บทบาทของรัสปูตินกลับไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องสุขภาพและจิตวิญญาณ เพราะในเวลาต่อมา เขาได้เริ่มให้คำแนะนำทางการเมืองแด่ทั้งพระเจ้านิโคลัสที่ 2 และพระนางอเล็กซานดรา อย่างไรก็ดี การเพิ่มบทบาทหน้าที่ให้ตนเองเช่นนี้ทำให้ชนชั้นสูงและรัฐบาลรัสเซียในขณะนั้นตั้งตัวเป็นศัตรูกับรัสปูติน ในขณะที่สมาชิกคนอื่น ๆ ในราชวงศ์โรมานอฟเองก็ดูถูกเขาว่าเป็นนักต้มตุ๋นที่หวังปอกลอกซาร์และซารีนา พระนางอเล็กซานดราถึงกับหมางเมินแกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนา (Grand Duchess Elizabeth Fyodorovna) หรือน้องสาวของพระองค์เอง หลังจากที่ถูกตักเตือนเกี่ยวกับรัสปูติน สถานการณ์ภายในพระราชวังเลวร้ายขึ้นจนแม้แต่ซารีนาอเล็กซานดราก็ไม่สามารถปกป้อง “คุณพ่อกริกอรี” อันเป็นที่รักของเธอ จากความเกลียดชังของครอบครัวและคนรอบตัวได้
ในปี 1915 สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสจึงเสด็จไปแนวหน้าเพื่อควบคุมกองกำลังของรัสเซียด้วยพระองค์เอง ในช่วงนั้นเอง ซารีนาอเล็กซานดราที่ทั้งเปล่าเปลี่ยวและทุกข์ระทมก็เริ่มหันไปใช้เวลากับรัสปูตินมากขึ้น ณ เวลานั้น รัสปูตินมีคนขับรถส่วนตัวซึ่งมีหน้าไปส่งเขาที่พระราชวังในเมืองซาร์สโคเย เซโล (Tsarskoye Selo) เพื่อร่วมสวดอธิษฐานเป็นการส่วนตัวกับซารีนา
ข่าวซุบซิบนินทาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งสองอื้อฉาวขึ้นเรื่อย ๆ จนทางราชวงศ์โรมานอฟมีความกังวลว่า พระนางอเล็กซานดราจะสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ราชวงศ์ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข่าวฉาวแพร่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางอเล็กซานดราและรัสปูตินแปรเปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เนื่องจากมีภาพอนาจารของทั้งคู่ถูกปล่อยไปทั่วกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในช่วงนั้น ทั้งรัสปูตินและซารีนาอเล็กซานดราถูกกล่าวถึงว่าเป็น ภัยชั่วร้ายที่จะนำรัสเซียไปสู่ความพินาศ
ตำแหน่งที่อันตรายต่อรัสเซีย
รัสปูตินเคยถูกลอบทำร้ายมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่หลังข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเขาและซารีนาแพร่ออกไปไม่นาน ความต้องการที่จะกำจัดรัสปูตินออกจากราชวงศ์ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม และการเรียกร้องให้ถอดรัสปูตินออกจากตำแหน่งกลับเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย ในปี 1914 รัสปูตินได้รับบาดเจ็บบริเวณท้องจนเกือบถึงแก่ชีวิต เพราะถูกหญิงคนหนึ่งเข้าไปทำร้ายด้วยมีด หลังจากเหตุการณ์นั้น เขาจำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปด้วยทุกที่ เพื่อคุ้มกันตนเองอย่างระมัดระวังอยู่เสมอ จากนั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครสามารถเข้าถึงตัวรัสปูตินได้ใกล้พอที่จะทำร้ายหรือฆ่าเขาได้
อิทธิพลของรัสปูตินที่มีต่อซารีนาก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากในหมู่สมาชิกอาวุโสของราชวงศ์โรมานอฟ จนในที่สุด สมาชิกเหล่านั้นก็ให้การสนับสนุนแผนการลอบสังหารรัสปูตินของเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ (Prince Felix Yusupov) อย่างลับ ๆ
เจ้าชายหนุ่มวัย 29 ปีที่ทั้งใจร้อนและยังขาดประสบการณ์ผู้นี้คือ พระสวามีของเจ้าหญิงอิรินา อเล็กซานดรอฟนา (Princess Irina Alexandrovna of Russia) พระราชนัดดาในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งมาจากตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่งของรัสเซีย เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงถือว่าการกำจัดรัสปูตินออกจากราชวงศ์เป็นหน้าที่ที่พระองค์ต้องทำเพื่อประเทศชาติ เจ้าชายเฟลิกซ์หวังไว้ว่า หากกำจัดรัสปูตินได้สำเร็จ พระองค์จะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของซาร์และราชวงศ์ รวมไปถึงสามารถทำให้พระเจ้านิโคลัสหันมาเชื่อใจสมาชิกคนอื่น ๆ ในราชวงศ์ เครือญาติ ขุนนาง และสภาดูมาได้มากขึ้น
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1916 เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงชักชวนให้แกรนด์ดยุกดมิทรี ปาฟโลวิช (Grand Duke Dmitri Pavlovich) วัย 25 ปี พระสหายซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าซาร์นิโคลัส มาวางแผนลอบสังหารรัสปูตินร่วมกับพระองค์ ต่อมา ในช่วงท้ายเดือนพฤศจิกายน เจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ทรงรับนายวลาดิเมียร์ ปูริชเควิช (Vladimir Purishkevich) หนึ่งในสมาชิกของสภาดูมาแห่งรัสเซียที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัสปูตินอย่างเปิดเผยให้เข้าร่วมในแผนการนี้ นอกจากนี้ยังรับผู้เชี่ยวชาญอีก 2 คนเข้ามาช่วยหลังแผนการเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีร้อยโทเซอร์เกย์ ซูโฮติน (Sergei Sukhotin) จากกรมทหารรักษาพระองค์มาเป็นผู้ช่วยคนแรก และมี ดร.สตานิลัส ลาโซเวิร์ต (Stanislaus Lazovert) แพทย์ชาวโปแลนด์ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยจัดการกับยาพิษ หรือโพแทสเซียมไซยาไนด์จากเจ้าชายเฟลิกซ์ มาเป็นผู้ช่วนคนที่สอง
คืนลอบสังหาร
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1916 หรือเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของรัสปูตินที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด มาจากหนังสือเรื่อง La Fin de Raspoutine งานเขียนของเจ้าชายเฟลิกซ์ซึ่งถูกตีพิมพ์หลังรัสปูตินเสียชีวิตประมาณ 10 ปี และบันทึกความทรงจำ Lost Splendor ซึ่งถูกตีพิมพ์ตามหลังในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เนื้อหาในหนังสือบรรยายรายละเอียดแผนการลอบสังหารอันโด่งดังเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเจ้าชายเฟลิกซ์ทรงเริ่มต้นแผนการจากการสร้างความสนิทสนมกับรัสปูตินหลายอาทิตย์ก่อนลงมือลอบสังหาร ผ่านการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ 2 ถึง 3 ครั้ง
สถานที่ที่เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงเลือกใช้เป็นสถานที่ลอบสังหารรัสปูตินคือ วังริมคลองมอยคาในเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กของตระกูลยูซูปอฟ ตามแผนการ เจ้าชายเฟลิกซ์จะเชิญรัสปูตินไปที่วังของตนเพื่อเข้าพบเจ้าหญิงอิรินา พระชายารูปงานของตน และตามคำเชิญ รัสปูตินจะเดินทางไปถึงวังในช่วงดึกของวันที่ 30 ธันวาคม เพื่อปกปิดการเดินทางและหลบเลี่ยงผู้คุ้มกันความปลอดภัยของเขา
เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงจัดเตรียมห้องใต้ดินเล็ก ๆ ไว้เพื่อรับรองรัสปูติน โดยตกแต่งห้องด้วยบรรดาของหรูหรา เช่น งานศิลปะ ของหายาก เก้าอี้ไม้โอ๊คแกะสลัก ตู้ไม้มะเกลือ พรมเปอร์เซีย พรมหนังหมีขาว รวมไปถึงแสงสลัวจากโคมไฟสีสันต่าง ๆ และเปลวไฟจากเตาผิง โต๊ะอาหารเองก็ถูกจัดวางด้วยกาน้ำชาซาโมวาร์ บิสกิต และเค้กหรูหราซึ่งเจ้าชายเฟลิกซ์ตรัสไว้ว่า เป็นชนิดที่รัสปูตินโปรดปราน ก่อนรัสปูตินจะมาถึงห้องนี้ ลาโซเวิร์ตได้นำผงโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่ซูโฮตินบดจนละเอียดไปโรยไว้ตามเค้ก นอกจากนั้น เจ้าชายเฟลิกซ์ยังทรงมอบโพแทสเซียมไซยาไนด์ละลายน้ำให้กับแกรนด์ดยุกดมิทรีและปูริชเควิชเพื่อนำไปผสมในไวน์ของรัสปูตินด้วย
หลังเที่ยงคืน ลาโซเวิร์ตซึ่งปลอมตัวเป็นคนขับรถได้พาเจ้าชายเฟลิกซ์ไปยังบ้านพักของรัสปูติน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนโกโรโฮวายา 64 ลูกสาวของรัสปูตินจำได้ว่า ในคืนนั้นพ่อของเธอดูอารมณ์ดี ทว่าในขณะเดียวกันกลับมีท่าทีที่ดูประหม่ามาก ราวกับรับรู้ได้ว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล ในคืนนั้น รัสปูตินสวมเสื้อเชิ้ตผ้าไหมปักลายดอกคอร์นฟลาวเวอร์ ซึ่งซารีนาอเล็กซานดราทรงทำขึ้นเพื่อเขาโดยเฉพาะ กางเกงขายาวกำมะหยี่ และรองเท้าบูทขัดเงา นอกจากนั้น เขายังเขาสระและหวีผมจนเรียบร้อย ตามที่เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงจำได้ ในวันนั้นรัสปูตินมีกลิ่นเหมือนสบู่ราคาถูก
อีกด้านหนึ่ง แกรนด์ดยุกดมิทรีและปูริชเควิชซึ่งอยู่ที่วังก็ได้จัดฉากให้ดูเหมือนว่ามีงานเฉลิมฉลองอยู่ที่ห้องชั้นบน ขณะที่รัสปูติน ลาโซเวิร์ต และเจ้าชายเฟลิกซ์เดินเข้าวังผ่านทางเข้าด้านข้าง พวกเขาก็ได้ยินเสียงดนตรีจากเครื่องบันทึกเสียงที่อยู่ชั้นบน และในขณะเดียวกันก็มีหญิงสาว 2 คนเดินทางมาถึงพอดี เมื่อถึงจุดหนึ่ง รัสปูตินก็เชื่อว่า เจ้าหญิงอิรินาจะเสด็จลงมาพบตนในห้องใต้ดินจริง ๆ ทว่าในความเป็นจริงนั้น เจ้าหญิงอิรินากลับปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในแผนการลอบสังหารที่จะเกิดขึ้นในคืนนั้น และเลือกที่จะประทับอยู่ที่วังของตระกูลยูซูปอฟในเมืองไครเมีย
ความพยายามที่จะปลิดชีพ
เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงยื่นเค้กให้รัสปูติน ในตอนแรกเขาปฏิเสธ ก่อนจะรับเค้กชิ้นแรกมาอย่างลังเล และรับเค้กชิ้นที่สองมารับประทานต่อ ทว่าหลังจากที่รัสปูตินรับประทานเค้กเข้าไปแล้วกลับไม่อะไรเกิดขึ้น เจ้าชายเฟลิกซ์ไม่เข้าพระทัยว่าเพราะเหตุใดยาพิษที่โรยไว้บนเค้กจึงไม่ออกฤทธิ์ จึงชวนให้แขกคนสำคัญลองชิมไวน์มาเดราจากจากไร่องุ่นในไครเมียของพระองค์ต่อ แม้เจ้าชายเฟลิกซ์จะทรงพยายามแอบใส่ยาพิษลงในแก้วไวน์ของรัสปูติน แต่เขากลับชิมไวน์ด้วยด้วยความชำนาญ และยังดื่มต่อได้ปกติราวกับว่าพิษในแก้วไม่มีผลใด ๆ ต่อร่างกาย
เหตุการณ์ในห้องใต้ดินดำเนินต่อไปเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง จนรัสปูตินเกลี้ยกล่อมให้เจ้าชายเฟลิกซ์เล่นกีตาร์ให้ตนเองฟังเพื่อความเพลิดเพลิน หลังจากที่ดื่มชาเข้าไปอีก หัวของรัสปูตินก็ฟุบอยู่ที่โต๊ะ ตาของเขาปิดลง เขามีท่าทีอ่อนเพลีย ทว่า แม้เวลาจะผ่านไปมากกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ยาพิษที่ใส่ลงไปในอาหารทั้งหมดก็ยังไม่ออกฤทธิ์
ผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่น ๆ ของเจ้าชายเฟลิกซ์รออยู่บนห้องข้างบนในขณะที่พระองค์ทรงรอให้ยาพิษทำงาน จนท้ายที่สุด เจ้าชายที่กระวนกระวายขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตัดสินใจขึ้นไปปรึกษาหารือกับพวกเขา ปูริชเควิชจำได้ว่า เจ้าชายเฟลิกซ์บอกกับพวกเขาว่า “อาการจากพิษของไซยาไนด์เพียงอาการเดียวที่ฉันเห็นคือ การเรอและมีน้ำลายไหลเล็กน้อย”
หลังจากปรึกษาหารือกัน ทั้ง 3 คนก็ตัดสินใจได้ว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นในการกำจัดรัสปูติน นอกจากการยิงเขา ด้วยเหตุนี้เจ้าชายเฟลิกซ์จึงทรงหยิบปืนพกบราวนิงของพระองค์ออกมาจากลิ้นชักก่อนจะเดินกลับลงไปยังห้องใต้ดิน ณ เวลานั้น รัสปูตินที่หายใจแรงขึ้นก็ได้บ่นว่า เขาหนักหัวและปวดแสบปวดร้อนในท้อง ทันทีที่รัสปูตินลุกขึ้นยืน เจ้าชายก็ทรงยกปืนขึ้นและยิงเข้าที่บริเวณหน้าอกของเขา แกรนด์ดยุกดมิทรีและปูริชเควิชที่รีบวิ่งลงมาสมทบจึงได้เห็นร่างคนสนิทของซารีนานอนอยู่บนผืนพรม หลังจากที่ลาโซเวิร์ตประกาศว่ารัสปูตินเสียชีวิตแล้ว ผู้ร่วมแผนการทุกคนก็หายกลับขึ้นไปบนห้องชั้นบน
เจ้าชายเฟลิกซ์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยจึงลงไปตรวจสอบร่างของรัสปูตินให้แน่ใจอีกครั้ง เมื่อพระองค์ขยับกายเข้าไปใกล้ร่างของบุคคลที่ควรจะไร้ลมหายใจไปแล้ว ตาของรัสปูตินกลับเบิกกว้างขึ้นในทันที “ดวงตาที่เย็นชาราวกับอสรพิษร้ายกำลังจ้องมองมาที่ฉันด้วยความเกลียดชังและเคียดแค้น”
ทันใดนั้น รัสปูตินก็พุ่งตัวขึ้นมาด้วยความพยายามเหนือมนุษย์ แล้วร้องคำรามอย่างดุร้ายในขณะที่พยายามจะวิ่งมาคว้าคอของเจ้าชายเฟลิกซ์ แม้ว่าร่างกายของเขาจะได้รับบาดเจ็บจากทั้งยาพิษและกระสุนปืน แต่รัสปูตินกลับยังมีเรี่ยวแรงมหาศาลอยู่ อย่างไรก็ดี เขามีแรงอยู่เพียงชั่วครู่ก่อนจะหงายหลังล้มลงไปกับพื้น เนื้อหาของเรื่องราวในช่วงนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของเจ้าชายเฟลิกซ์ลดลง เพราะพระองค์ทรงบรรยายให้ชายอายุมากที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงเช่นนี้มีพลังผิดมนุษย์
หลังถูกรัสปูตินพยายามจะทำร้าย เจ้าชายที่รู้สึกกลัวจนถึงขีดสุดก็วิ่งขึ้นไปห้องด้านบนเพื่อขอความช่วยเหลือ ปูริชเควิชจึงเข้าควบคุมสถานการณ์แทน เขาขึ้นลำปืนเตรียมพร้อมและลงไปที่ห้องใต้ดิน ก่อนจะพบว่า รัสปูตินได้หนีออกไปทางประตูด้านข้างของอาคารและเดินโซเซด้วยความเจ็บปวดไปทางลานหน้าวังที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ
กระสุนนัดแรกที่ปูริชเควิชยิงออกไปนั้นไม่ถูกตัวรัสปูติน นัดที่สองที่เขายิงในขณะวิ่งก็พลาดเป้าเช่นกัน แม้รัสปูตินจะบาดเจ็บจากบาดแผล แต่เขาก็สามารถที่จะคลานเข่าไปจนถึงรั้วของลานได้ ปูริชเควิชที่วิ่งตามมาใกล้จะถึงตัวเป้าหมายจึงยิงกระสุนนัดที่สามเข้าที่หลัง และยิงกระสุนนัดที่สี่เข้าที่จุดตายบริเวณหน้าผากของรัสปูติน
จากนั้นแกรนด์ดยุกดมิทรี ซูโฮติน และลาโซเวิร์ตจึงตามมากำจัดร่างของรัสปูติน พวกเขาห่อร่างอดีตคนสำคัญของซาร์และซารีนาที่เต็มไปด้วยบาดแผลด้วยผ้าผืนหนาและมัดด้วยเชือก จากนั้นจึงลากห่อศพขึ้นไปบนรถแกรนด์ดยุก ขับไปโยนศพทิ้งบนสะพานเปตรอฟสกี (Petrovsky Bridge) ริมแม่น้ำน้ำเนวาที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง แล้วจึงขับรถกลับไปยังวังของยูซูปอฟตอนรุ่งสาง
ข่าวลือเรื่องการหายตัวไปของรัสปูตินและการคาดการณ์ว่าเขาถูกฆาตกรรมแพร่สในเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ซารีนาอเล็กซานดราซึ่งประทับอยู่ ณ พระราชวังอเล็กซานเดอร์ (Alexander Palace) ในเมืองซาร์สโคเย เซโล ทรงรอฟังข่าวระหว่างตำรวจเริ่มการค้นหาร่างของรัสปูตินอย่างร้อนรนใจ ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1917 ร่างของรัสปูตินในสภาพที่แขนถูกแช่แข็งอยู่เหนือศีรษะในท่าทางน่าสยดสยอง ถูกพบในบริเวณใกล้กับเกาะเครสตอฟสกี (Krestovsky Island) โดยตำรวจน้ำ หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของรัสปูติน ประชาชนต่างก็ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนเพื่อแสดงความยินดี อธิษฐานขอบคุณพระเจ้าในโบสถ์ และจุดเทียนหน้ารูปเคารพต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้ว เจ้าชายเฟลิกซ์และแกรนด์ดยุกดมิทรียังถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติ
ร่างของรัสปูตินถูกนำขึ้นรถของสภากาชาดเพื่อส่งไปยังบ้านพักทหารผ่านศึก เนื่องจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีคำสั่งให้มีการชันสูตรพลิกศพในเย็นวันนั้น ดมีตรี โคโซโรตอฟ (Dmitry Kosorotov) แพทย์ผู้ทำการชันสูตรได้ตรวจสอบและยืนยันว่า รัสปูตินถูกยิงด้วยกระสุน 3 นัดที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เท่ากัน โดยเขาถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านซ้าย 1 นัด ที่หลัง 1 นัด และถูกยิงในระยะเผาขนด้วยปืนลูกโม่ขนาด .455 เข้าที่จุดตายบริเวณศีรษะ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบกลับพบว่า ไม่มีสารพิษใด ๆ ในร่างกายรัสปูติน นอกจากแอลกอฮอล์
บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแผนการลอบสังหารรัสปูตินของเจ้าชายเฟลิกซ์เป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี แม้จะมีใครหลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องแม่นยำของเนื้อหา หนึ่งในประเด็นที่ถูกถกเถียงมากที่สุดคือประเด็นที่ว่า เค้กในห้องใต้ดินถูกวางยาพิษจริงหรือไม่ ความจริงนั้นถูกเปิดเผยไม่นานก่อนที่ลาโซเวิร์ตจะเสียชีวิต เขากล่าวว่า ในคืนวันลอบสังหาร เขาเปลี่ยนใจไม่วางยารัสปูติน และได้นำสารอย่างอื่นที่ไม่อันตรายมาใช้แทนโพแทสเซียมไซยาไนด์ ถึงกระนั้นเรื่องราวคืนลอบสังหารรัสปูตินที่ถูกเล่าด้วยความตื่นเต้นเร้าใจโดยเจ้าชายเฟลิกซ์ก็ยังเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้คน ไม่ว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม
ผลกระทบที่ตามมา
เชื่อกันว่าซารีนาอเล็กซานดราทรงนำเสื้อเชิ้ตปักลายดอกไม้ของรัสปูตินมาเก็บรักษาไว้เป็นเครื่องราง หลังการชันสูตรเสร็จสิ้นลง ร่างของรัสปูตินถูกนำไปเตรียมฝังโดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ของราชวงศ์โรมานอฟวางไว้บนอก ในช่วงคืนของวันที่ 3 มกราคม ปี 1917 โลงศพสังกะสีที่บรรจุร่างไร้วิญญาณของรัสปูตินถูกนำไปฝังอย่างลับ ๆ ต่อหน้าพระเจ้าซาร์นิโคลัส พระนางอเล็กซานดรา และผู้ติดตามอีกไม่กี่คนที่สวนอเล็กซานเดอร์ในเมืองซาร์สโคเย เซโล ณ บริเวณที่จะมีการสร้างโบสถ์แห่งใหม่ขึ้น
เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดในแผนการลอบสังหารรัสปูตินอย่างรวดเร็วและคุมขังพวกเขาไว้ในที่พัก และเพื่อเป็นการลงโทษสมาชิกในราชวงศ์ทั้ง 2 คน พระเจ้าซาร์ได้เนรเทศเจ้าชายเฟลิกซ์ไปอยู่ในที่พักของตระกูลในแคว้นเบลโกรอด และเนรเทศแกรนด์ดยุกดมิทรีออกจากราชสำนัก จากนั้นจึงส่งไปร่วมสู้รบในสงครามที่แนวหน้าเปอร์เซีย พระเจ้าซาร์ทรงได้รับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในราชวงศ์จากการลงโทษแกรนด์ดยุกดมิทรี อย่างไรก็ดี การตัดสินใจส่งแกรนด์ดยุกดมิทรีไปร่วมรบกลับเป็นการช่วยชีวิตของพระองค์จากอันตรายที่เกิดกับราชวงศ์โรมานอฟ เนื่องจากต่อมาไม่นานก็เกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบซาร์เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ปี 1917
ผู้สมรู้ร่วมคิดในแผนการฆาตกรรมต่างก็อ้างว่า การฆ่ารัสปูตินเป็นการรักษาราชวงศ์โรมานอฟให้ดีขึ้น แต่อาชญากรรมที่พวกเขาก่อนั้นกลับไม่ได้มีส่วนช่วยให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ได้ในระยะยาวแม้แต่น้อย รัสเซียต้องเผชิญกับความตึงเครียดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และความวุ่นวายในประเทศที่ปะทุขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนหลังการเสียชีวิตของรัสปูติน หนึ่งเดือนอหลังการปฏิวัติล้มล้างระบอบซาร์ในปี 1917 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ทรงสละราชบัลลังก์ เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการปกครองอันยาวนานกว่า 3 ศตวรรษของราชวงศ์โรมานอฟ ต่อมาพระเจ้านิโคลัส พระนางอเล็กซานดรา และพระราชบุตรทั้ง 5 พระองค์ถูกรัฐบาลชั่วคราวรัสเซียคุมขังและเนรเทศให้ไปอยู่ที่ไซบีเรียจากนั้นจึงย้ายไปที่เมืองเยคาเตรินเบิร์ก (Yekaterinburg) ก่อนที่ครอบครัวโรมานอฟทั้งหมดจะถูกสังหารที่นั่นในเดือนกรกฎาคม ปี 1918
ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 1917 มีการค้นพบหลุมฝังศพของรัสปูตินในเมืองซาร์สโคเย เซโล รัฐบาลชั่วคราวในขณะนั้นเกรงว่าหลุมศพนี้จะถูกใช้เป็นสถานที่แสวงบุญจึงสั่งให้ทำลายบริเวณนั้น จากนั้นจึงขุดโลงศพของรัสปูตินขึ้นมาอย่างลับ ๆ และนำร่างของเขาไปเผาทำลายทิ้ง สำหรับประชาชนชาวรัสเซียที่เกลียดชังรัสปูตินอย่างรุนแรง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นจุดจบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชายผู้นี้
เรื่อง เฮเลน ราปพาพอร์ต
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ
อ่านเพิ่มเติม ชะตากรรม-จุดจบที่ ราชวงศ์โรมานอฟ ต้องเผชิญ เมื่อระบอบกษัตริย์ล่มสลาย