๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

การทำงานกับ กศส. อย่างมุ่งมั่นทุ่มเทหลังเรียนจบนาน 3-4 ปี แม้ยังมีงานด้านสังคมที่ต้องทำอีกมาก แต่ส่วนตัวก็ทำให้เกิดภาวะที่พระไพศาลเคยบรรยายไว้ว่า “เหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว เป็นความเหนื่อยล้าชนิดที่ไม่ยอมคิดหาความสงบนิ่ง แถมยังสงบนิ่งไม่ได้ด้วย เพราะใจร้อนรนอยู่ไม่สุข”  และก็เป็นอาจารย์สุลักษณ์นั่นเองที่ผลักดันให้ท่านลองบวช ซึ่งตั้งใจไว้แต่แรกเพียงสามเดือนเพื่อ “หวังให้หายเครียดเท่านั้นแหละ ไม่ได้หวังนิพพานอะไร”

ที่วัดป่ามหาวันหรือภูหลง กุฎิของพระไพศาลเต็มไปด้วยกองหนังสือมากมายซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับงานเขียนและการบรรยายธรรม นอกเหนือจากข้อมูลที่ค้นจากอินเทอร์เน็ต จนถึงปัจจุบัน พระไพศาลมีหนังสือที่เขียน แปล เป็นบรรณาธิการ ตลอดจนบทความที่ตีพิมพ์ลงในสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมกว่า 350 เล่ม

34 ปีก่อน ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดทองนพคุณ ย่านคลองสาน แล้วไปเรียนเจริญสติแบบเคลื่อนไหวกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดสนามในอยู่ห้าเดือน แล้วจึงไปจำพรรษาแรกที่วัดป่าสุคะโต ชื่อที่แปลว่า ผู้ไปดีแล้วบนเส้นทางอริยมรรค ไม่หวนกลับสู่กิเลสด้วยมัชฌิมาปฏิปทา พระไพศาลเมื่อบวชใหม่ปฏิบัติธรรมทั้งเต็มที่ทั้งซีเรียส แต่กลับไม่บรรลุผลใดๆ แถมยังกลายเป็นความเครียดคับแค้นและ “ล้มคว่ำคะมำหงาย” ครั้งแล้วครั้งเล่า  สองเดือนผ่านไป พอพระไพศาลถอดใจและอยู่เพื่อลาสิกขาในเดือนที่สาม  คราวนี้กลับกลายเป็นว่า “วางใจได้ดีขึ้น มีความผ่อนคลายเพราะปล่อยวาง สติและความรู้สึกตัวค่อยๆ เพิ่มพูน ทำให้รู้ทันความนึกคิดได้เร็วขึ้น และหลุดจากความฟุ้งซ่านได้ไว ทำให้ใจสงบและว่างจากความคิดได้นานขึ้น เป็นครั้งแรกที่เข้าใจว่าการอยู่อย่างมีสตินั้นหมายถึงอะไร และอดไม่ได้ที่จะซาบซึ้งในพลังแห่งสติ”

พระไพศาลมีงานอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบปีละ 14 ครั้ง เมื่อมีผู้นิมนต์ ท่านก็ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยและใช้ธรรมะ “ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย” ในการรักษาใจ

หน้าแล้งปี 2559 ภูหลงต้องเผชิญกับไฟป่าที่ต้นเพลิงจากข้างนอก ข้ามเขตแนวกันไฟมา นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษขนาดที่ทำให้สูญเสียต้นไม้ไปกว่า 2,000 ไร่ ทั้งป่าปลูกใหม่อายุกว่า 10 ปีด้านทิศเหนือและทิศใต้เกือบทุกแปลง รวมทั้งป่าดิบเขาที่เป็นไม้เก่าแก่อายุ 300-400 ปี ถือเป็นไฟที่ไหม้ตรงไข่แดงของป่าภูหลงซึ่งเป็นจุดที่เข้าถึงยาก ไฟป่าหนนี้ แม้เปลวเพลิงจะไหม้รุนแรงอยู่ไม่ถึงสัปดาห์ แต่ที่ทำให้ต้องเฝ้าระวังผลัดเวรดับไฟกันทั้งวันทั้งคืนอยู่เป็นเดือนก็เพราะมีไฟสุมขอนที่คอยจะปะทุและลามต่อไปเรื่อยๆ สำหรับป่าที่อยู่ห่างไกลกันดาร กำลังหลักที่ชวยกันดับไฟป่าหนีไม่พ้นพระวัดภูหลง ชาวบ้านตาดรินทองและหมู่บ้านใกล้ๆ และอุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟก็ยิ่งไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าถังน้ำพลาสติกกับรองเท้าแตะยางที่ถอดออกมาตบไฟที่ไหม้ตามพื้น

แม้จะรู้สึกเสียดายที่ป่าถูกไฟไหม้ไปมากและงานข้างหน้าคงยากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าถามพระไพศาลว่าหมดแรงไหม  “ไม่มี  โธ่เอ๊ย หมดแรงแบบเพลียน่ะมี อย่างอื่นไม่มี ทำต่อไป พยายามโหมกำลังเข้าไป ป่าเราไหม้ไป 2,000ไร่ ที่น่านโดนเผาไปทีเป็นแสนไร่ ของเราจิ๊บจ๊อย ถ้าเราคิดว่าป่าก็ต้องมีไฟ ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจและเห็นว่าปัญหามันเล็กน้อย” เสียงราบเรียบตอบเรื่อยๆ เหมือนเป็นคำสนทนาเรื่องจิปาถะ

“ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส” ที่เป็นทั้งชื่อหนังสือ ทั้งสโลแกนปิดท้ายหนังสือธรรมะหลายเล่มของพระไพศาลจึงไม่ได้เขียนออกมาคล้องจองเก๋ๆ แต่เป็นถ้อยคำที่เชื่อมโยงกับการทำงานในชีวิตจริงไม่เฉพาะแต่ตัวของท่าน หากยังขยายไปสู่คนทำงานใกล้ชิดอย่างวิชัย “อาจารย์บอกว่าปัญหาของภูหลงมีเยอะแยะ แต่ก็มีจุดคลายที่ทำให้เราเห็นชัดขึ้นมา  อาจารย์เคยถามว่าคุณรับได้ไหมถ้าภูหลงมีต้นไม้เหลือเพียงต้นเดียว ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ เราหวังให้ดีที่สุด แต่ว่าเราต้องยอมรับเหตุปัจจัยด้วย”

 

อ่านเพิ่มเติม : ฤาษีประหลาดแห่งหน้าผาศักดิ์สิทธิ์, จาริกแสวงบุญ : เพื่อศาสนา หรืออัตตา

Recommend