๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

เหมือนกับหลักสูตร “เผชิญความตายอย่างสงบ” ที่พระไพศาลและทีมงานเสนอให้สังคมไทยรู้จักมานานกว่า 10 ปี ก็เริ่มต้นจากหลักการและแนวคิดของพุทธทิเบตในหนังสือที่ท่านแปล และอาศัยการลองผิดลองถูกจนกลายเป็นกระบวนการ เริ่มจากการทบทวนความตายว่าทำไมคนถึงกลัว การตายดีเป็นอย่างไร ฝึกเจริญมรณสติ โดยเลือกใช้เทคนิคบางอย่างของวัชรยานที่ไม่มีในเถรวาทเข้ามาผสมผสานประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์  อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยที่ตื่นตัวยอมรับและเริ่มต้นพูดถึงความตายอย่างเปิดเผยเป็นธรรมดากว่าเดิม ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานของพระไพศาลและ “ทีมความตาย” อย่างแข็งขันต่อเนื่อง  แม้แต่งานแซยิด 60 ปีของท่านก็ยังถือเป็นโอกาสจัดงาน Happy Death Day และยังมีการเปิดพินัยกรรมของพระไพศาลเป็นตัวอย่างของการจัดการร่างกายเมื่อเจ็บป่วยขั้นสุดท้ายและหลังจากมรณภาพแล้วด้วย

ภายในวัดป่าสุคะโต นอกจากความเงียบสงบแล้ว ยังเต็มไปด้วยต้นยางนาร่มรื่นเต็มพื้นที่ 500 ไร่ ยังประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ใจปฏิบัติธรรม ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้อาศัยเก็บเห็ดระโงกที่พบมากในป่ายางนาซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนด้วย

ด้วยพื้นเพมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่เห็นความสำคัญของการศึกษา พระไพศาลสมัยเป็น “เด็กเนิร์ด” ชั้น ม.ศ. 3 ที่อัสสัมชัญเริ่มอ่านหนังสือที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนและวารสารที่เป็นบรรณาธิการ จากนักเรียนที่เคยอ่านแต่หนังสือ สารคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ได้อ่าน “งานเขียนที่วิจารณ์บ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หากยังคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และคณะสงฆ์ ก็ช่วยให้หูตากว้างขึ้น และเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม” เกิดความสำนึกในสังคมพร้อมกับความนึกคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังได้รู้จักและอ่านงานของนิโคลัส เบนเนตต์ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติและที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งนอกจากจะเป็นผู้มีส่วนกระตุ้นให้ไทยมีการปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังเป็นนักยุทธวิธีด้านสันติวิธี เป็นพุทธศาสนิกชน และเป็นครูด้านสันติวิธีที่พระไพศาลเรียนรู้เมื่อทำงานด้วยกันในเวลาต่อมาว่า วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน และสันติสุขต้องเกิดจากสันติวิธีเท่านั้น  แต่เด็กเนิร์ดไม่ได้อ่านแค่หนังสือ แต่เริ่มทำงานด้านสังคมสงเคราะห์กับกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนาและยังสนใจเรื่องบทบาทของเยาวชนต่อการพัฒนาสังคมด้วย

ปีถัดมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไพศาลอายุ 16 ปี เริ่มสนใจเช เกวารา ฟิเดล คาสโตร และจิตร ภูมิศักดิ์ ในบทความ “สองทศวรรษกับ ส. ศิวรักษ์” ที่ท่านเขียน พระไพศาลเล่าว่าช่วงนั้น “หลายคนพูดถึงการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ และการยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชน โค่นล้มนายทุนขุนศึกศักดินาให้สิ้นซาก ข้าพเจ้าเองก็พลอยได้รับอิทธิพลกระแสนี้ไปด้วย” กระนั้นก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากขบวนการฝ่ายซ้าย ตั้งคำถามกับความรุนแรง และเริ่มเรียนรู้สันติวิธี ซึ่งสมัยนั้นใช้คำว่า “อหิงสา” อันเป็นแนวทางที่อาจารย์สุลักษณ์และกลุ่มเพื่อนๆ สนใจ  มีหัวข้อในวงสนทนาว่าด้วยพุทธศาสนา เต๋า และชีวิตภายใน

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ไพศาลได้รับทุนภูมิพล แต่ก็สนใจงานกิจกรรมมากกว่า และคลุกคลีในหมู่เพื่อนที่กำลังแปลหนังสือปรัชญาศาสนากันอย่างคึกคัก  ในปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัย ท่านรับหน้าที่สาราณียกรของ ปาจารยสาร ซึ่งเปลี่ยนแนวทางจากที่เคยมุ่งเน้นด้านการศึกษามาเป็นอหิงสาสายพุทธศาสนาเพื่อสังคม  “เราก็เห็นว่าการปฏิวัติด้วยอาวุธนี่ก่อความเสียหายเยอะ ใจก็เลยเอียงมาทางสันติวิธี”  ขณะอายุ 18 ปี ไพศาลตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ทำร้ายใคร และถึงแม้มีโอกาสก็จะไม่ทำ  ถ้าจะตายก็ขอให้ได้ตายแบบไม่ทำร้ายหรือผูกใจเจ็บใครเลย  ความตั้งใจดังกล่าวเป็นจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขณะที่ท่านและเพื่อนชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีกำลังอดอาหารคัดค้านกรณีสามเณรถนอมอุปสมบทถูกจับกุม  สามวันหลังนั้น ท่านและเพื่อนนักศึกษาได้รับการปล่อยตัว และฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) สร้างเครือข่ายและผลักดันให้เกิดกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในอีกสองปีถัดมา  ชีวิตในมหาวิทยาลัยของพระไพศาลกินเวลาสี่ปีครึ่ง ซึ่ง “มีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน การเรียนรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย”

Recommend