สถาปนิกไทยคนหนึ่งร่วมงานกับองค์กรอนุรักษ์โบราณสถานระหว่างประเทศ ในการอนุรักษ์ วัดไชยวัฒนาราม ผลงานชิ้นเอกของศิลปะอยุธยา และได้เรียนรู้ความหมายใหม่ของการอนุรักษ์
รถแบกโฮขนาดใหญ่ค่อย ๆ เคลื่อนตัว ออกจากซากปรักของ วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา ไปทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับแม่นํ้าเจ้าพระยา เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นจนกลบเสียงแม่ค้าร้านเช่าชุดไทยที่ต่างตะโกนร้องเรียกนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศซึ่งเดินขวักไขว่ริมถนนหน้าวัดด้านทิศเหนืออยู่เป็นระยะ
แม้จะเป็นเวลาเที่ยงวันที่เราคุ้นเคยกับแดดจ้าร้อนระอุ ยามเข้าฤดูฝนในช่วงกลางเดือนตุลาคมเช่นนี้ เมฆดำทะมึน ตั้งเค้ามาแต่ไกล อากาศครึ้มสลัวชวนอึดอัด ป้ายไวนิล สีขาวยาวหกเมตรที่แขวนอยู่บนนั่งร้านสูงกว่าแปดเมตร สกรีนโลโก้สามองค์กร นั่นคือ World Monuments Fund สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และกรมศิลปากร กระพือไปตามลมที่กระโชกแรงดังพึ่บพั่บ ด้านล่างของป้ายมีข้อความภาษาอังกฤษที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีขาว แต่มาบัดนี้ กลับเหลืองซีด เขียนว่า U.S. Ambassadors Fund for Cultural Preservation (AFCP) “Preservation of the 17th-century Wat Chaiwatthanaram at Ayutthaya” ซึ่งแปลได้ว่า กองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทาง วัฒนธรรม อนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา
เงาที่เห็นวูบไหวหลังป้ายไวนิลผืนยาว ซึ่งเมื่อยืนมอง อยู่ไกลๆดูคล้ายกับตัวละครหลังฉากหนังใหญ่เคลื่อนไหว ไปมานั้น แท้จริงแล้วคือเหล่าช่างอนุรักษ์ที่ขะมักเขม้นทำงาน กันอยู่บนนั่งร้าน เหงื่อชุ่มเต็มหลังเปียกเสื้อเชิ้ตแขนยาว สีเทาเข้ม อันเป็นเครื่องแบบที่พวกเขาสวมใส่
บรรดาแท่งซีเมนต์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เคยวางราบลง เสมอพื้นไว้ใช้เป็นทางเดินริมแม่นํ้า ถูกยกขึ้นช้าๆ ออกมา กองรวมกันไว้ รถแบกโฮขยับต่อไปข้างหน้า แล้วยกแผ่นพื้นซีเมนต์ขึ้นไปเรื่อยจนครบตลอดแนวทางเดิน เบื้องใต้ แท่งซีเมนต์ที่ยกออกแล้วนั้น เผยให้เห็นแผ่นเหล็กกว้าง ขนาด 1.2 เมตร สูงราวสองเมตร ซึ่งนอนหลับใหลนาน แรมปี และจะตื่นขึ้นมายืนตั้งตรงเรียงต่อกันเหมือนเป็น ปราการอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์นํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาและ พื้นที่โดยรอบเริ่มน่าเป็นกังวล
แผ่นยักษ์พวกนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ประตูกั้นนํ้า ชั่วคราว (swing gate flood wall) แต่ละแผ่นที่วางเรียง ต่อกันสามารถพับลงหรืองัดขึ้นมาตั้ง เพื่อประกอบร่างรวมกันเป็นแนวกำแพงกั้นนํ้าที่มีความสูงสองเมตร และยาว ถึง 165 เมตร ดูตระหง่านตลอดริมฝั่งแม่นํ้า ทำหน้าที่เป็น ปราการปกป้องวัดไชยวัฒนารามให้พ้นจากอุทกภัย
หลังเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 ชาวอยุธยา ก็ไม่เคยไว้ใจหน้าฝนและกระแสนํ้าอีกเลย นํ้ามาแรงและเร็ว แถมถี่ขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าสังเกตคือปกติการยกประตูกั้นนํ้าขึ้น ป้องกันนํ้าท่วมนั้น จะทำก็ต่อเมื่อมีข้อมูลจากกรมชลประทาน ว่านํ้าที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น จนอาจ เข้าท่วมพื้นที่ภายในวัดไชยวัฒนาราม ในอดีต เหตุการณ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อพิจารณาดูไทม์ไลน์ของการยก ประตูกั้นนํ้าเหล่านี้แล้ว ก็น่าตกใจไม่น้อย หากไล่เรียงมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และช่วงสามปีหลังที่ผ่านมา (2564– 2566) จะเห็นว่าระดับนํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาสูงขึ้น และเกิด ถี่ขึ้นมากกว่าที่เคยเป็น คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ประตูกั้นนํ้าที่แม้จะมีความสูงถึงสองเมตรนี้ อาจไม่เพียง พอที่จะป้องกันนํ้าท่วมที่วัดไชยวัฒนารามได้อีกต่อไป
รอบๆชุมชนวัดไชยวัฒนาราม นอกเหนือจากวิกฤติ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น การจัดการที่ดิน และ การระบายนํ้าที่ไม่เหมาะสม ทำให้อยุธยา อดีตเมืองหลวง เก่าของประเทศ กลายมาเป็นพื้นที่รับนํ้าซํ้าซาก การก่อสร้าง บ้านและอาคารสมัยใหม่ขวางทางนํ้าส่งผลให้สถานการณ์ เลวร้ายลง ข้อพิพาทระหว่างชุมชนอันเนื่องมาจากการผลักไสและผันนํ้าเข้าพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของชาวบ้าน โดยเฉพาะอำเภอเสนา จนต้องกลายเป็นแหล่งรับนํ้าให้ กรุงเทพฯ อยู่รํ่าไปนั้น เหมือนหนังเรื่องเดิมที่ฉายซํ้าทุกปี
จำได้ว่าเห็นภาพนํ้าท่วมวัดไชยวัฒนารามจากภาพข่าวทาง อินเทอร์เน็ต ตอนนั้นฉันเพิ่งเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ความที่ผูกพันกับวัดกับวา มาตั้งแต่สมัยเรียน ภาพดังกล่าวจึงยังติดอยู่ในความทรงจำ ตั้งแต่นั้น ระดับนํ้าที่ท่วมสูงถึงตัวอาคาร เกินกว่าจะประเมิน ค่าความเสียหายทางกายภาพและความสะเทือนใจของผู้คนได้ เรื่องราวดังกล่าวกลายมาเป็นบทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างวัน ของฉันกับเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมไทย มาด้วยกัน และต่างเพิ่งเริ่มทำงานในฐานะสถาปนิกฝึกหัด ที่กรุงเทพฯ
วัดไชยวัฒนารามเข้ามาอยู่ในการรับรู้ของฉันอีกครั้ง แต่คราวนี้ในฐานะสถานที่ถ่ายทำละครชื่อดังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ตอนนั้นฉันใกล้เรียนจบปริญญาโทจากคณะ และมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ด้วยความหลงใหลในวิชา ประวัติศาสตร์และการก่อสร้างในอดีต ฉันจึงผันตัวจาก สถาปนิกที่เน้นเรียนด้านการออกแบบอาคารในระดับปริญญา ตรี มาเรียนด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมแทน
เมื่อ พ.ศ. 2560 ขณะที่ยังคลุกคลีอยู่ในคณะ ฉันได้รับ การติดต่อจาก รศ.ดร.นวลลักษณ์ วัสสันตชาติ อาจารย์ ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่า กองทุนโบราณสถานโลก หรือดับเบิลยูเอ็มเอฟ (World Monuments Fund: WMF) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวง ผลกำไร กำลังทำงานบูรณะฟื้นฟูวัดไชยวัฒนาราม หรือที่ เรียกกันย่อ ๆว่า “วัดไชยฯ” และต้องการสถาปนิกที่มีความรู้ด้านสถาปัตยกรรมไทยมาเก็บข้อมูลและเขียนแบบอนุรักษ์
“ที่นี่เป็นโครงการระยะสั้น แต่ก็ทำงานกันละเอียดมาก เราจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆจากที่นี่ด้วย” อาจารย์นวลลักษณ์บอก
คำว่า “โอกาส” ที่อาจารย์พูดถึงในตอนนั้น น่าจะเป็น เหตุผลเดียวที่ฉันตอบรับงานนี้โดยไม่ลังเล ทำไมต่างชาติ ถึงได้มาซ่อมวัดไชยวัฒนาราม วัดที่ได้ชื่อว่าเป็นผลงานชิ้นเอก ของศิลปะอยุธยา เป็นคำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจ
จำได้ว่าสมัยเรียนอยู่ปริญญาตรีชั้นปีที่สอง สถานที่ แห่งนี้ได้รับการพูดถึงครั้งแล้วครั้งเล่าในคาบเรียนวิชาประวัติ- ศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ค่าที่เป็นตัวอย่างของงาน ออกแบบที่แหวกแนวและลํ้าสมัยแห่งยุค โดยเฉพาะลักษณะ การวางผังที่มีปรางค์องค์ใหญ่ ล้อมรอบด้วยเมรุทิศเมรุราย เมรุทั้งแปดองค์นี้เป็นงานเครื่องปูนที่ทำเลียนแบบเครื่องไม้ ซึ่งไม่พบว่าเคยปรากฏในที่ใดมาก่อน ภายในเมรุประดิษฐาน พระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะอยุธยาตอนปลาย
ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริงว่า เหตุใดพระเจ้าปราสาททอง จึงทรงเลือกเอารูปแบบดังกล่าวมาสร้างวัดไชยวัฒนารามทันที หลังขึ้นครองราชย์ บางตำรากล่าวว่าสร้างเพื่อเฉลิมฉลองการ เป็นกษัตริย์หลังรัฐประหาร หรือเพื่อเป็นการแสดงชัยชนะ ที่มีต่อกัมพูชา บ้างว่าทรงสร้างเพื่ออุทิศบุญกุศลถวายแด่ พระราชมารดาเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นนิวาสถานเดิมของ พระองค์มาก่อน หรือดังข้อสันนิษฐานที่แม้จะไม่แพร่หลาย นัก แต่ก็เป็นไปได้ว่า ทรงต้องการให้วัดแห่งนี้เป็นปราสาท บูชาบรรพบุรุษในรูปแบบเดียวกับที่กษัตริย์กัมพูชาทรงกระทำ เป็นพระราชประเพณีหลังขึ้นครองราชย์
การที่พระเจ้าปราสาททองทรงเคยเป็นแม่ทัพนายกอง เคยเสด็จและทอดพระเนตรเห็นปราสาทนครวัดด้วยพระองค์ เอง ทั้งยังโปรดฯให้ส่งช่างอยุธยาไปดูงานและเก็บแบบ ปราสาทที่กรุงกัมพูชาเพื่อนำมาเป็นต้นแบบการก่อสร้าง เผยให้เห็นถึงพระราชนิยมที่มีต่อศิลปะและความเชื่อแบบ เทวราชของอาณาจักรดังกล่าว ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยทรงอรรถาธิบายไว้
วัดไชยวัฒนารามจึงเป็นตัวแทนความลํ้าสมัยของ กระบวนการก่อสร้าง ที่ไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวอาคารที่สร้างเสร็จ แล้ว แต่เป็นความลํ้าหน้า นับแต่วิธีคิด ไปจนถึงการรับเอา ศิลปะหลากรูปแบบเข้ามาผสมผสานเมื่อลงมือก่อสร้างจริง ที่เห็นได้ชัดคือการทำซุ้มประตูโค้งแบบศิลปะเปอร์เซีย พระอารามหลวงแห่งนี้จึงสะท้อนความเป็นอยุธยาในยุคที่การ ค้าเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด การเป็นศูนย์กลางการค้าที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาค แต่กว้างขวางระดับโลกด้วย ด้วย เหตุนี้ วัดไชยวัฒนารามจึงมีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างไม่มี ที่ไหนเสมอเหมือน
เป็นที่รับรู้ในหมู่นักเรียนสถาปัตยกรรมว่า วัดไชยวัฒนารามเป็นสถานที่สำหรับการจบทริปทัศนศึกษาวัดต่างๆ ในอยุธยา โดยถูกวางเป็นสถานที่สุดท้ายให้ได้ชมพระอาทิตย์ ตกดินก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ตอนนั้นวัดไชยวัฒนาราม ยังเงียบสงบร่มรื่น แทบไม่มีใครมาเยือน และยังไม่มีกฎ ห้ามนักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปบนปรางค์ประธานเช่นในปัจจุบัน
ไม่มีสัญญาณใดๆล่วงหน้าว่า การไปพบกับทีมดับเบิลยู เอ็มเอฟที่วัดไชยวัฒนารามเพื่อคุยงานเบื้องต้นในครั้งนั้น ซึ่งถือเป็นการไปครั้งที่สอง หลังจากไปครั้งแรกเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นที่ทำงานประจำวันของ ฉัน ในฐานะที่เป็นสถาปนิกและผู้จัดการโครงการ มานาน หกปีจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
ตัวละครหลักของโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ที่ฉันได้เจอเป็นคนแรกคือ เจฟฟ์ อัลเลน ผู้อำนวยการ โครงการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทุน โบราณสถานโลก เจฟฟ์จบการศึกษาด้านการวางแผนงาน อนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นทำงานที่วัดไชยวัฒนารามเมื่อ พ.ศ. 2555 หลัง เหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่เพียงหนึ่งปี ก่อนหน้านี้ เจฟฟ์ มีประสบการณ์ในการทำงานอนุรักษ์โบราณสถานโชกโชน มาแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะในอิรัก อิยิปต์ และ เมียนมา ที่เรียกว่าโหดหิน ทั้งสภาพอากาศ และสถานการณ์ทางการเมือง
สำหรับวัดไชยวัฒนาราม เจฟฟ์เล่าว่า ที่วัดแห่งนี้มี แผนการป้องกันและจัดการนํ้ามาก่อนหน้าเหตุการณ์นํ้าท่วม แล้ว มีการสร้างประตูกั้นนํ้าด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับแม่นํ้า เจ้าพระยามาก่อนแล้ว และสามารถป้องกันนํ้าท่วมเมื่อ พ.ศ. 2554 ได้ แต่ที่นํ้าท่วมวัดในครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะกำแพงทางทิศใต้ ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับฐานรากอยู่เดิม ไม่อาจรับ แรงของมวลนํ้ามหาศาลและพังลงมา จนนํ้าทะลักเข้าท่วม ภายในพื้นที่วัดไชยวัฒนาราม
ในระยะแรก ดับเบิลยูเอ็มเอฟจึงร่วมกับกรมศิลปากร จัดทำแผนการจัดการนํ้าและบรรเทาภัยพิบัติเบื้องต้น ภายใต้ งบประมาณสนับสนุนของสถานทูตสหรัฐฯ โดยออกแบบ กำแพงด้านทิศใต้ขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นจึงเป็นการวางแผน การระบายนํ้า ปรับปรุงผังบริเวณโดยรอบ ออกแบบและ สร้างกำแพงคอนกรีตทางด้านทิศตะวันตก เพื่อให้วัดไชยฯ มีปราการที่แข็งแรงรอบด้านป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัย ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
จากนั้น งานของดับเบิลยูเอ็มเอฟจึงเข้าสู่ระยะที่สอง นั่นก็คือการอนุรักษ์ตัวอาคาร โดยเริ่มงานที่เมรุทางทิศใต้ เป็นเมรุนำร่อง หรือเมรุต้นแบบ ในการทำงานร่วมกับ กรมศิลปากรและช่างฝีมือในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม สำหรับดับเบิลยูเอ็มเอฟนั้น “การอนุรักษ์” มีความหมายที่ต่างออกไปจากที่รับรู้กัน เมื่อพูดถึงการ ซ่อมแซมโบราณสถาน โดยทั่วไป เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “บูรณปฏิสังขรณ์” (restoration) ซึ่งแปลว่า ซ่อมแซม ปรับปรุง การทำให้คืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา ส่วนการ อนุรักษ์ (preservation/conservation) คือการดูแลรักษา ไว้ตามสภาพเดิมเท่าที่เป็น และป้องกันไม่ให้เกิดความ เสียหายมากขึ้นต่อไป
เจฟฟ์ไม่ได้มองโบราณสถานในฐานะอาคารที่เคยสวย หรือเคยใหม่ แต่ยังมองลึกซึ้งไปถึงภัยคุกคามรอบๆที่อาคาร ต้องประสบ สภาพลมฟ้าอากาศที่จะทำให้อาคารเสื่อมลง อย่างช้าๆ และอาจไม่มีใครทันสังเกต
ที่สำคัญ การอนุรักษ์ตามแนวคิดนี้ยอมรับสภาพที่ ไม่สมบูรณ์ของโบราณสถาน และจัดการอนุรักษ์เท่าที่ ควรจะเป็น โดยไม่ต้องพยายามทำให้โบราณสถานกลับไป สวยงามสมบูรณ์ หรือดูเหมือนใหม่ดังเมื่อแรกสร้าง โบราณสถานเป็นของมนุษยชาติ ทุกคนเป็นเจ้าของอย่าง เท่าเทียมกัน หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการรักษาและส่งต่อ ด้วยวิธีที่เรียบง่ายและธรรมดาที่สุด นั่นคือส่งต่อความเป็น ของจริงและของแท้ (authenticity) ให้แก่คนรุ่นต่อไป ได้รับมาอย่างไร ก็ส่งต่อไปอย่างนั้น
การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมอนุรักษ์ที่นี่ ทำให้ฉัน เข้าใจแล้วว่า กาลเวลาทำให้โบราณสถานมีคุณค่า เปรียบ เหมือนคนชราที่ต้องการเพียงความแข็งแรง เพื่อส่งสารว่า ตนคือใครและผ่านอะไรมาบ้าง ในแง่นี้ การอนุรักษ์จึงเป็นการยืดอายุคุณค่านั้นไว้ให้นานที่สุด ไม่ใช่เป็นไปเพื่อให้ คนชราย้อนกลับไปสู่วัยหนุ่มสาวอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝืน ธรรมชาติ และเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น แนวคิดในการอนุรักษ์ โบราณสถานที่ไม่ได้มีการใช้งานอย่างในอดีตอีกแล้ว คือการ ทำให้อาคารเก่ามีความมั่นคงแข็งแรง เพราะถึงที่สุดแล้ว สสารย่อมเสื่อมสลายได้ การอนุรักษ์เป็นเพียงกลวิธีในการ ยืดอายุเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระบวนการเสื่อมสลายนั้น เกิดขึ้นช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ใช่ว่าโบราณสถานทุกแห่งในโลกจะมีสภาพหรือเงื่อนไข เดียวกัน ดับเบิลยูเอ็มเอฟจึงปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้อง กับพื้นที่นั้นๆ ในกรณีของวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างในอดีตอีกแล้ว นั่นคือไม่มี พระภิกษุจำพรรษา สภาพภายในอาคารไม่เอื้อให้นั่งกราบไหว้ หรือปฏิบัติธรรมทำสมาธิดังเช่นวัดวาอารามที่ยังคงทำหน้าที่ นั้น ที่นี่เป็นโบราณสถานที่เหลือเพียงซากอิฐปูน เมื่อเป็น เช่นนี้ การอนุรักษ์จึงต้องใช้หลักการรักษาสภาพและสร้าง ความมั่นคงแข็งแรงซึ่งเป็นกฎบัตรสากลในการอนุรักษ์
ในขณะที่อารามชเวนันดอว์เจาง์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์อีกโครงการหนึ่ง ของดับเบิลยูเอ็มเอฟในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บูรณะ ตามหลักการอนุรักษ์อาคารที่ยังมีการใช้งานอยู่ เราจึงได้เห็น การแกะสลักไม้ใหม่ทดแทนงานแกะไม้เดิมที่เสื่อมสภาพหรือ สูญหายไป จะเห็นว่าการทำงานอนุรักษ์ต้องใช้ทั้งทฤษฎีที่ เข้มแข็งบวกกับประสบการณ์การทำงานที่เข้มข้น จึงจะ สามารถวางแผนงานอนุรักษ์ได้ถูกต้องและเหมาะสมว่าควร จะดำเนินไปในทิศทางใด
ปัญหาหลักที่วัดไชยวัฒนารามประสบคือความชื้น ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรวดเร็ว ความชื้นตามธรรมชาติ มาจากนํ้าฝน อากาศ และนํ้าใต้ดิน โดยจะเคลื่อนจากที่ตํ่า ขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้น หากเป็นวัสดุส่งผ่านความชื้นได้โดยไม่มี สิ่งใดกักเอาไว้ ความชื้นจะสามารถระเหยออกไปเอง และไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ถึงอย่างนั้น เมื่อพ.ศ. 2535 มีการ ใช้ซีเมนต์ในการซ่อมแซมวัดไชยวัฒนาราม โดยเฉพาะการปูพื้นทางเดินและการก่ออิฐใหม่รอบองค์เมรุ ส่งผลให้ ความชื้นไม่สามารถระเหยออกได้ตามปกติและคั่งค้างอยู่ในวัสดุโบราณ
แม้ซีเมนต์จะมีคุณสมบัติทำให้ปูนแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอน ประหยัดเวลา และงบประมาณในการ ทำงาน แต่ซีเมนต์เป็นวัสดุที่มีความแข็งและมีเกลือ (efflorescence) ที่ส่งผลกระทบให้วัสดุโบราณเปื่อยยุ่ยและ เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วด้วย หากไม่มีการระงับใช้ซีเมนต์ อย่างเด็ดขาดจริงจัง การอนุรักษ์ที่ต่อให้ทุ่มเทงบประมาณ และระยะเวลาไปมากมายเพียงใด ก็เรียกได้ว่าแทบไม่มี ประโยชน์ เนื่องจากปัญหาเดิมๆจะกลับมาเกิดซํ้าอีก
ดังนั้น ความพยายามของดับเบิลยูเอ็มเอฟคือการผลักดัน งานอนุรักษ์ที่เรียกว่า “ซีเมนต์0%” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องซีเมนต์ในวัดไชยวัฒนารามนั้น เริ่มต้นด้วยการกะเทาะซีเมนต์เดิมออก และหันกลับไปใช้ กระบวนการแบบโบราณแทน
ทำไมเราถึงมั่นใจว่าวิธีดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพอย่างนั้น หรือ ก็เพราะวัดไชยฯ ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 ด้วยอิฐ และปูนที่ใช้กรรมวิธีก่อสร้างแบบโบราณ แต่ยังคงตั้งตระหง่าน ยืนยงเป็นที่ประจักษ์มาได้จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ในการอนุรักษ์อาคารโดยทั่วไป คือการถูกจำกัดด้วยงบประมาณและระยะเวลา โดย ส่วนใหญ่ บริษัทรับเหมาจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามา ทำงานอนุรักษ์โบราณสถานด้วยวิธีเดียวกับการก่อสร้าง ทั่วไป ซึ่งคือการประมูล บริษัทใดที่ยื่นซองประมูล โดยเสนอระยะเวลาการทำงานและงบประมาณน้อยที่สุด จะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก วิธีนี้อาจใช้กับการก่อสร้าง อาคารใหม่ๆทั่วไปได้ แต่ไม่ควรเป็นวิธีที่ใช้กับการทำงาน อนุรักษ์ โดยเฉพาะกับโบราณสถานที่มีปัจจัยด้านอายุ ความเสื่อมสภาพ และความซับซ้อนอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่เป้าหมายของดับเบิลยูเอ็มเอฟคือความปรารถนาให้ วัดไชยวัฒนารามเป็นตัวอย่างงานอนุรักษ์ที่ทลายข้อจำกัด ด้านงบประมาณ เวลา และบุคลากร รวมถึงการได้เสนอ แนวคิดที่ว่างานอนุรักษ์คือส่วนหนึ่งของงานบริการชุมชน ที่ ต้องคำนึงเรื่องการเสริมสร้างหลักสูตรทางการศึกษา ไซต์ งานอนุรักษ์ต้องทำหน้าที่เหมือนโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนด้วย
ความฝันที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร มากมาย จนทำให้แผนการทำงานที่วางไว้อย่างครอบคลุม ในทุกด้าน เป็นจริงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะการซ่อมองค์เมรุ ที่ไม่มีปัจจัยด้านเงินเข้ามาบีบบังคับ เราสามารถเลือกวัสดุ และวิธีการที่ดีที่สุดให้กับวัดไชยวัฒนาราม เพื่อเป็นตัวอย่าง โบราณสถานที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ผู้ที่เข้ามารับหลักการการซ่อมวัดไชยวัฒนารามด้วย ซีเมนต์0% และช่วยทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นห้องเรียนอนุรักษ์ คือตัวละครสำคัญคนที่สอง โจเซฟีน ดิลลาริโอ ชาวอิตาลี ผู้เป็นหัวหน้านักอนุรักษ์ประจำดับเบิลยูเอ็มเอฟ แม้โจเซฟีน จะล่วงลับไปเกือบสองปีแล้ว แต่ที่วัดไชยฯ บทบาทของเธอ ในฐานะนักอนุรักษ์ต้นแบบยังคงได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ
โจเซฟีนจบการศึกษาด้านอนุรักษ์จากประเทศอิตาลีและ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เธอ เคยทำงานที่อิรัก ซีเรีย เยเมน มาลี และเมียนมา
ทุกเช้าและเย็นก่อนที่ช่างทุกคนจะกลับบ้าน โจเซฟีน จะขึ้นไปตรวจงานบนนั่งร้านและพูดคุยกับช่าง เป็นอย่างนี้ วันแล้ววันเล่า แต่ละวัน แม้ช่างจะทำงานเต็มที่สุดกำลัง แต่ผลงานกลับคืบหน้าไปได้ไม่มากนักเพราะงานอนุรักษ์เป็น งานละเอียดที่ต้องอาศัยเวลา ซึ่งเธอเข้าใจดีและไม่ได้รีบเร่ง อะไร เธอเน้นให้การทำงานมีระเบียบแบบแผน ไม่ข้าม ขั้นตอน เน้นความสะอาดประณีต เพื่อให้วัสดุเก่าและใหม่ ยึดเกาะกันได้อย่างดี
หากงานไหนไม่ได้มาตรฐาน โจเซฟีนจะสั่งให้รื้อและ ทำใหม่ทันทีโดยไม่รีรอ เธอบอกว่า “ขึ้นชื่อว่าเป็นนักอนุรักษ์ต้องยึดมั่นในหลักการอนุรักษ์ให้เข้มแข็งก่อน แล้วการ ประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวจะไม่ยากเลย นักอนุรักษ์ที่ดี ต้องรู้ว่าเมื่อไรควรจะหยุด ไม่ต่อเติมอะไรเกินจำเป็น เพราะ ถ้าทำต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจหลักฐานที่พบหรือความเป็น ของแท้ สุดท้ายแล้วเราจะได้ของใหม่ที่ไม่มีคุณค่า เมื่อใด ที่เริ่มรู้สึกว่ากำลังจะคาดเดากับงานที่ทำอยู่ตรงหน้า การ ยั้งมือยั้งใจให้ได้นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก”
หลังจากกะเทาะซีเมนต์เดิมออกแล้ว ช่างจะใส่ปูน ชนิดใหม่เข้าไป ในงานสถาปัตยกรรม ปูนทำหน้าที่เป็นตัว ประสานวัสดุเข้าด้วยกัน ปูนชนิดใหม่ที่ว่าเป็นปูนที่โจเซฟีน คิดค้นสูตรร่วมกับช่างในท้องถิ่น บนพื้นฐานข้อมูลที่ได้จาก ผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการ อนุรักษ์ กรมศิลปากร ซึ่งเข้ามาทำงานร่วมกับดับเบิลยู เอ็มเอฟ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการวิเคราะห์จะแสดงผล ที่ชัดเจนว่า ชิ้นส่วนวัสดุโบราณมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ก่อนจะใช้ปูนสูตรคิดค้นนี้ เราจึงต้องแน่ใจว่าวัสดุใหม่จะเข้า กับวัสดุโบราณ และอยู่ร่วมกันได้ดี
ปัจจุบันที่วัดไชยฯ มีปูนใช้มากถึง 13 สูตร ทุกสูตร ผ่านการทดสอบและทดลองมาจนมั่นใจแล้ว การที่ต้อง มีปูนหลากหลายถึง 13 สูตร เนื่องจากแต่ละพื้นที่ของการ อนุรักษ์ย่อมมีความพิเศษเฉพาะตัว อย่างเช่นปูนสำหรับ ก่ออิฐจะต้องแข็งแรง มีส่วนผสมของทรายมากกว่าปูนที่ใช้ใส่ ระหว่างร่องอิฐ ปูนฉาบใหม่จะต้องใส่ขี้เถ้าเล็กน้อยเพื่อให้ได้ สีที่กลมกลืนกับปูนเก่า ในขณะที่ปูนซ่อมพระพุทธรูปภายใน อาคารจะต้องมีเนื้อเนียนละเอียด จึงมีการผสมดินสอพอง เข้าไปด้วย ดังนี้เป็นต้น
ปูนที่ดับเบิลยูเอ็มเอฟเลือกใช้ จึงเป็นปูนคุณภาพดีจาก สระบุรี ผลิตมาจากหินปูนบดละเอียด ก่อนนำมาใช้ ต้อง หมักไว้นานกว่าหกเดือน เพื่อให้เนื้อปูนมีความเนียนและ ข้นเหนียวจนมีลักษณะเหมือนกาว ส่วนทรายที่ใช้ผสม จะต้องผ่านการล้างทำความสะอาดจนนํ้าที่ล้างใส ร่อนให้ได้ ขนาดที่เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท และอิฐที่ใช้ก็สั่งซื้อ จากชาวบ้านที่ยังผลิตด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ คือใช้เท้า ยํ่าดินผสมแกลบ ผึ่งให้แห้งก่อนจะสุมไฟเผา อิฐที่ได้จึง แข็งแรงแต่ไม่แกร่งจนเกินไป เหมาะกับการอยู่ร่วมกับวัสดุ โบราณในงานอนุรักษ์
ยังมีเคล็ดลับสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งโจเซฟีนนำมาใช้ เธอบอกว่าเป็นภูมิปัญญาการก่อสร้างโบราณที่ไม่ได้พบแค่ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมีในโลกตะวันตกด้วย นั่นคือการใส่ผงอิฐที่บดและร่อนจนเป็นฝุ่นลงไปผสมกับปูน สูตรใหม่ด้วย กลุ่มสารผงอิฐจัดเป็นปอซโซลาน (pozzolanic material) ที่เมื่อผสมลงไป จะช่วยให้ปูนแห้งตัวได้ ในที่ที่ไม่มีอากาศ โดยเฉพาะผนังด้านใน เพราะวัสดุหลัก อย่างปูนกับทรายจะแห้งตัวได้ ก็ต่อเมื่อสัมผัสกับออกซิเจน หรืออากาศเท่านั้น ในขณะเดียวกันเมื่อปูนแข็งตัวแล้วก็จะ สามารถระบายอากาศและความชื้นได้ดีอีกด้วย หากต้องการ ฉีดปูนนี้เข้าไปบริเวณใด ช่างจะเจาะรูเล็กๆที่ผนังและใช้เข็ม ฉีดยาฉีดนํ้าปูนเข้าไป
แน่นอนว่าปูนดังกล่าวย่อมแห้งช้ากว่าซีเมนต์ แต่งาน อนุรักษ์ไม่เหมือนการก่อสร้างอื่นที่เล็งเห็นแต่ประสิทธิภาพ สูงสุดเป็นตัวชี้วัด ยิ่งเร็วไม่ใช่ยิ่งดี ยิ่งแข็งแกร่งไม่ได้แปลว่า ยิ่งเหมาะกับงานอนุรักษ์ แม้แต่วัสดุที่นำมาใช้ก็ต้องมีความ แข็งแรงในระดับที่เข้ากันได้กับวัสดุดั้งเดิม ธรรมชาติของ วัสดุนั้นย่อม “หายใจ” ถ่ายเทอากาศ และยืดหดขยายตัว ตามอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือ การเข้าใจธรรมชาติเหล่านี้ และหาวิธีทำให้วัสดุเก่ากับใหม่ อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
การ “หาจุดสมดุลอยู่เสมอ” นี่เองที่นับเป็นความยาก และความละเอียดอ่อนของงานอนุรักษ์ เราไม่ใช่แค่ต้องหา จุดสมดุลระหว่างตัววัตถุเองเท่านั้น แต่ต้องหาจุดสมดุล ระหว่างตัววัตถุที่กำลังบูรณะกับวัตถุที่อยู่รายรอบด้วย เช่น การอนุรักษ์ฝ้าเพดานจะทำมากน้อยเพียงใด ก็ควรให้ สอดคล้อง (consistent) ในระดับเดียวกับที่ทำกับ พระพุทธรูป บัวหัวเสา และผนังจิตรกรรม ซึ่งอยู่ภายใน อาคารเดียวกันด้วยนั่นเอง
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการทำงานอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนาราม คือการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเห็นการ ทำงานอนุรักษ์ของทีมช่างได้สะดวก โดยเฉพาะที่ระเบียงคด ซึ่งเป็นพื้นที่เปิด ในบริเวณดังกล่าว มีการสร้างนั่งร้านอย่างปลอดภัยและรัดกุมมากพอที่จะเปิดให้ผู้มาเยือนได้ชมการ ทำงานของช่างได้ จะปิดกั้นพื้นที่บางจุดก็ต่อเมื่องานอนุรักษ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลภายนอกเท่านั้น
จะว่าไป การทำงานอนุรักษ์โบราณสถานถือเป็นหนึ่งใน ภารกิจบริการชุมชน ประชาชนควรได้รู้ว่าวัดไชยวัฒนาราม มีกระบวนการอนุรักษ์เช่นไร และดำเนินไปอย่างไร หลาย ครั้งนักท่องเที่ยวถามด้วยความสงสัยว่า เหตุใดเราจึงไม่เติม เศียรพระที่สูญหายไปให้ครบสมบูรณ์ การได้ทำงานใกล้ชิด กับนักท่องเที่ยวจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้อธิบายถึงหลักการ อนุรักษ์โบราณสถานอย่างที่เป็นสากลโดยรักษาความเป็น ของแท้ดั้งเดิมให้มากที่สุด เน้นสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้ กับวัสดุโบราณเป็นหลัก มากกว่าเติมของใหม่ลงบนของเก่า
การได้พูดคุยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวจึงไม่ได้เป็นเพียง การให้ความรู้ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความ คิดกันอย่างมีวุฒิภาวะด้วย แม้หลายคนจะบอกว่า “รับ ไม่ได้” กับการอนุรักษ์ที่เป็นเพียงการทำความสะอาดและ รักษาสภาพ โดยให้เหตุผลว่า ก็น่าจะทำให้“เหมือนเดิม” ก็ตามที เมื่อเป็นเช่นนี้ การหาจุดสมดุลร่วมกันระหว่างนัก อนุรักษ์กับนักท่องเที่ยว จึงกลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของ ดับเบิลยูเอ็มเอฟในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจ กับประชาชนว่า เราซึ่งเป็นผู้ดูแลมรดกของชาติไม่มีสิทธิ์ เปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคาร เมื่อโบราณสถานนั้นได้เปลี่ยน รูปแบบการใช้งานไปเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์แล้ว โจทย์คือจะทำอย่างไรให้แหล่งเรียนรู้นี้มีชีวิตชีวามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ต่างหาก
ส่วนการทำให้เป็น “เหมือนเดิม” อย่างที่คนทั่วไปอยาก เห็นนั้น อาจเป็นไปได้ส่วนหนึ่งด้วยการทำภาพสถาปัตยกรรมสันนิษฐาน (reconstruction) เรื่องนี้ฉันติดต่อให้ พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน สถาปนิกและนักทำภาพ ประกอบสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรม ลงมือทำภาพ ฝ้าเพดาน พระพุทธรูป และภาพจิตรกรรมภายในเมรุ วัดไชยวัฒนาราม และเผยแพร่สู่สาธารณะทางออนไลน์
(ชมภาพสันนิษฐานได้ที่นี่)
กระบวนการและขั้นตอนการทำภาพสันนิษฐานนี้เปิด โอกาสให้ฉันได้เข้าไปสังเกตและขุดคุ้ยร่องรอยของเมรุ วัดไชยวัฒนารามที่ช่างสมัยอยุธยาทิ้งไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน เป็นการไขความลับงานช่างโบราณที่ยิ่งค้นหาก็ยิ่งสนุก ยิ่งได้รู้ ก็ยิ่งตื่นเต้น ยิ่งเมื่อเราเดินไปตามระเบียงคดอย่างพินิจพิเคราะห์ หลักฐานที่แสดงว่าเมรุวัดไชยวัฒนารามทั้งแปดองค์นี้ น่าจะสร้างโดยช่างแปดกลุ่มที่ต่างสกุลช่างกันก็เผย ให้เห็นอย่างช้าๆ เรียกว่าจริตจะก้านเทียบกันไม่ได้
ที่เห็นเด่นชัดคือซุ้มเรือนแก้ว (ซุ้มไม้ที่หุ้มด้วยปูนปั้น ประดับกระจกที่อยู่ด้านหลังของพระพุทธรูป) ของเมรุแต่ละ องค์ มีลักษณะการเข้าไม้ที่แตกต่างกัน และปูนปั้นประดับ ที่องค์พระพุทธรูปก็ต่างกันด้วย นอกจากนี้ ที่ฐานเขียง ด้านหน้าพระพุทธรูปมีร่องรอยการต่อเติมสองครั้งสองครา เป็นไปได้ว่าเดิมอาจเคยสร้างเป็นพระพุทธรูปที่ขนาดเล็กกว่า และอาจเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่ยังไม่ได้ทรงเครื่อง
ส่วนเมรุทิศตะวันตก พบร่องรอยการร่างภาพจิตรกรรม ที่ยังเป็นเพียงเส้นร่างเอาไว้ เตรียมจะลงสี ในขณะเดียวกัน เมรุทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าวัดไชยวัฒนารามกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ แต่ยังทำไม่สำเร็จดี ก็ต้องถูกทิ้งร้างไป นั่นคือมีร่องรอยการใช้ดินสอถ่านหรือ ชาร์โคล เขียนเส้นร่างรูปกลีบบัวลงบนหัวเสาภายในเมรุ ร่องรอยดังกล่าวนี้อยู่สูงระดับเกือบชิดกับฝ้าเพดาน ซึ่งเป็น ระดับที่คนทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้
ไม่เพียงเท่านั้น ฉันยังได้เห็นการเลือกวิธีแก้ปัญหาของ ช่างโบราณในยามต้อง “อุด” พื้นที่ว่างส่วนเกิน ซึ่งแทนที่ จะใช้ปูนในปริมาณมาก พวกเขาก็อัดแผ่นกระเบื้องดินเผา ลงไประหว่างร่องอิฐเพื่อประหยัดเวลาและเพิ่มความแข็งแรง
พูดได้ว่า หากเราทำงานอนุรักษ์อย่างค่อยเป็นค่อย ไป นอกจากจะได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังทำให้เรามี เวลาสังเกตเบาะแสร่องรอยและตรึกตรองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ตั้งคำถาม สนทนา และถกเถียง เกิดเป็นการต่อยอด ข้อค้นพบและความรู้ใหม่ๆทางประวัติศาสตร์ต่อไปด้วย
สำหรับฉัน การมีเวลาให้นักอนุรักษ์ตั้งคำถามและสนทนา กับสิ่งที่ตนเองทำงานด้วย ย่อมช่วยต่อยอดข้อค้นพบและ ความรู้ใหม่ๆทางประวัติศาสตร์แบบที่คนภายนอกไม่สามารถ ทำได้ ความที่นักอนุรักษ์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนชุดแรกๆที่ได้สัมผัสและใช้เวลาคลุกคลีกับหลักฐานทางศิลปกรรมโบราณ เหล่านี้ เราจึงเป็นเสมือนผู้แกะรอยและส่งสารจากช่างโบราณมาสู่คนในยุคปัจจุบันนั่นเอง
ขั้นตอนการทำงานหนึ่งที่ฉันโปรดปรานมากเป็นพิเศษ จึงเป็นการค้นหาร่องรอยต่างๆ ผ่านคราบไคลของกาลเวลา ร่องรอยการฉาบปูนทับฐานเดิม การได้พบไม้เชิงกลอนที่ยังมี รอยบากไม้จากเครื่องมือโบราณสมัยอยุธยาให้ความรู้สึก เสมือนเจอสมบัติลํ้าค่าก็มิปาน พาให้คิดไปถึงช่างโบราณ ในสมัยนั้นด้วยว่า พวกเขาคิดอะไรกันอยู่หนอ
การให้เวลากับการเก็บข้อมูลด้วยการสเก็ตช์ภาพด้วย ดินสอหรือปากกาหมึกลงบนกระดาษ แทนที่จะถ่ายรูปหรือ การใช้เทคโนโลยี เช่น โดรนและการทำแผนที่จากภาพถ่าย ทางอากาศ ยังเป็นความเบิกบานเนิบช้าที่ให้คุณค่าแก่ฉัน เป็นอย่างมาก การได้ปีนขึ้นไปบนนั่งร้านชั้นที่ 11 เพื่อ ยืนอยู่บนยอดสูงสุดของเมรุวัดไชยวัฒนาราม ได้เห็น ทัศนียภาพไกลสุดลูกหูลูกตา ให้ความรู้สึกที่แปลกประหลาดและเกิดจินตนาการได้ไม่รู้จบว่า อยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2173 ซึ่งเป็นปีที่วัดไชยวัฒนารามถูกสร้างขึ้นนั้น มีหน้าตา อย่างไร เหล่าช่างยุคโบราณจะทำงานกันเช่นไร
ฉันนึกภาพการก่อสร้างเมรุวัดไชยวัฒนารามที่กลุ่มช่าง ทั้งแปดรับคำสั่งจากนายช่างใหญ่ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายไป สร้างเมรุทั้งแปดทิศแปดมุมรอบปรางค์ประธานด้วยรูปแบบ ศิลปะที่เป็นแบบฉบับของตนพร้อมๆกันนั้น จะเป็นโครงการ ก่อสร้างที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดไหน ฉันนึกไปถึงการใช้หุ่น จำลองไม้ประกอบการอธิบาย การสั่งงานของช่างแต่ละกลุ่ม กระทั่งรายละเอียดเช่นนั่งร้านไม้ไผ่ที่ใช้กันในสมัยนั้น รูปร่าง หน้าตาจะเป็นแบบไหน น่าพิศวงเพียงใด
อย่างน้อยในความเป็นจริงตรงหน้า การฉาบปูนที่ผนัง ซํ้าแล้วซํ้าเล่าเหมือนจะเป็นเบาะแสที่บอกว่ามีการแก้ไขอยู่ รํ่าไปกว่าจะได้รูปทรงที่พอใจ บางแห่งมีร่องรอยการพอกปูน ซํ้าๆถึงสามครั้ง อาจเพราะตั้งใจปรับรูปทรงให้ได้สัดส่วน และยากจะตอบว่าเกิดขึ้นในยุคสมัยของกษัตริย์พระองค์ เดียวกันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การสร้างเมรุวัดไชยวัฒนารามน่าจะเป็นของตื่นตาตื่นใจของทั้งกษัตริย์ผู้ดำริ เหล่าช่าง ผู้สร้างสรรค์ ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย และชาวบ้าน อยุธยาอย่างแน่แท้ เพราะไม่เคยปรากฎการออกแบบและ ก่อสร้างเมรุปูนในลักษณะของการเลียนแบบเครื่องไม้เช่นนี้ มาก่อนเลยตลอดกาลสมัย
ที่สำคัญ การตวัดปลายกระหนกของปูนปั้นที่ซุ้มประตู แต่ละซุ้มที่แม้ไม่เน้นความสมบูรณ์แบบ แต่เต็มไปด้วย ความมั่นใจ บ่งบอกว่าช่างเหล่านี้ทำงานด้วยความรู้สึกถึง ตัวตน และมีอิสระ การพบร่องรอยการหมกปูนในช่องไม้ คานหลังคา การทิ้งปลายไม้ของคานฝ้าเพดานอย่างหยาบๆ นี้ ทีมช่างโบราณอาจทำไปอย่างมั่นใจแล้วว่า สายตาที่มอง ขึ้นมาจากเบื้องล่าง จะไม่มีใครเห็นความไม่เรียบร้อยนี้อย่าง แน่นอน การเทพื้นเหนือฝ้าเพดานเพื่อความคงทนที่ทำบ้าง ไม่ทำบ้างในแต่ละองค์เมรุ แสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบ แข่งขันกัน ไม่เน้นความเรียบร้อยในภาพย่อย แต่คงไว้ ซึ่งระเบียบทางสายตาในภาพใหญ่ ฉันสัมผัสได้ถึงความ สนุกสนาน และเต็มไปด้วยความกล้าหาญในการสร้างสรรค์ งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
วัดไชยวัฒนารามจึงไม่ได้เป็นเพียงวัดประจำรัชกาลของ ช่างสำนักปราสาททองในสมัยนั้น หรือเป็นโบราณสถาน สำคัญในสมัยนี้ แต่ยังเป็นหลักฐานแห่งยุคสมัยที่สะท้อน การเปลี่ยนผ่านสำคัญทางความคิดอัน “เปิดกว้าง” และ “เล่นสนุก” ในการรับเอารูปแบบศิลปะแขนงต่างๆมาปรับใช้ สอดคล้องกับยุคสมัยที่อยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนจากทุกภูมิภาค
หลังจากเมรุทิศใต้ ซึ่งเป็นเมรุต้นแบบการอนุรักษ์สำเร็จ ลงด้วยดี งานจึงขยับมาสู่เมรุองค์ที่สองคือเมรุตรงมุมทาง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเมรุองค์ที่สามคือเมรุทิศตะวันตก วนไปตามเข็มนาฬิกา หลังจากเริ่มงานอนุรักษ์มานานแปดปี ปัจจุบันงานอนุรักษ์ของดับเบิลยูเอ็มเอฟที่วัดไชยวัฒนาราม ดำเนินไปถึงเมรุทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นเมรุองค์ที่สี่ และถือเป็นเมรุองค์สุดท้ายของโครงการ ก่อนที่ดับเบิลยู เอ็มเอฟจะหมดสัญญา และส่งมอบวัดไชยวัฒนารามให้กับ กรมศิลปากร เพื่อดำเนินการอนุรักษ์เมรุอีกสี่องค์ที่เหลือ และปรางค์ประธานเป็นลำดับต่อไป
เมื่อมองย้อนกลับไป การทำงานในสองปีแรกขององค์กร ต่างประเทศอย่างดับเบิลยูเอ็มเอฟกับช่างท้องถิ่นนับเป็นช่วง แสวงหาแนวทางการทำงานร่วมกัน ทั้งการหาวัสดุและวิธีการ ที่เหมาะสม และถือเป็นเรื่องท้าทาย พูดได้ว่า นอกจากความเข้ากันได้ของวัสดุยุคใหม่กับวัสดุสมัยโบราณแล้ว ความเข้ากันได้ของผู้ปฏิบัติงานทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก ต่างฝ่ายต่างต้องปรับตัวเข้าหากัน
ตัวอย่างเรื่องพื้นฐานที่ไม่อาจมองข้ามได้คงเป็นเรื่อง สายตาที่มอง “โบราณสถาน” ที่แตกต่างกัน เจฟฟ์มองว่า อาคารเหล่านี้มีคุณค่าในฐานะที่เป็นตัวแทนทางประวัติศาสตร์ และบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัย แต่สำหรับช่างอนุรักษ์ พื้นถิ่นที่วัดไชยวัฒนาราม วัดยังคงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณ ให้โทษกับพวกเขาได้ ครั้งหนึ่งเจฟฟ์คุยงานอยู่บนนั่งร้านและ ใช้เท้าชี้ไปที่บันแถลงและกระจังมุมของเรือนธาตุเมรุ ทำเอา ป้ามะลิ ชุ่มชูบุญ หัวหน้าช่างก่ออิฐถึงกับเคือง ไม่คุยด้วย ไปหลายวัน หลังจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อเข้าใจต้นสายปลายเหตุแล้ว เจฟฟ์จึงต้องระมัดระวังที่จะไม่ใช้เท้าชี้ไปที่ สิ่งใดๆอีก
สำหรับฉันแล้ว ยังไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่า หกปีที่ทำงานที่วัดไชยวัฒนาราม ฉันมองหมู่อาคารเหล่านี้ พ้นไปจากความศักดิ์สิทธิ์แล้วหรือไม่ ไม่เคยสังเกตด้วยว่า “ความเป็นพุทธ” ในตัวเองมีมากน้อยเพียงใด เมื่อก่อน ฉันเคยเชื่อว่าคนสามารถสร้างหรือซ่อมอาคารทางศาสนา ให้ได้ผลงานที่ดี จะต้องมีความศรัทธาในศาสนาหรือใน ตัวบุคคลสำคัญอย่างแรงกล้า ถึงขั้นอุทิศชีวิตทำงานและ สร้างงานที่ยิ่งใหญ่ได้
มาวันนี้ ฉันได้ตระหนักแล้วว่า เราต้องมีความเชื่อและ ความมุ่งมั่นอย่างยิ่งยวดก็จริง แต่อาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องกับศาสนาหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ หากเป้าหมาย คือการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมและมนุษยชาติ ก็นับเป็น คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ และช่วยขับเคลื่อนกำลังกายกำลังใจ เพื่อ ให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงได้ไม่แพ้กัน
เมื่อเอ่ยถึงป้ามะลิ ชุ่มชูบุญ ฉันอยากเล่าเรื่องราวของ เธอสักหน่อย ป้ามะลิเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มงานก่อสร้างและซ่อมอาคารมาตั้งแต่อายุ19 ก่อนหน้านั้น มะลิทำงานรับจ้างทั่วไป ด้วยความที่เรียนมาน้อยจึงไม่ได้มี ตัวเลือกด้านอาชีพมากนัก
วันหนึ่ง มะลิเห็นคนงานกำลังก่ออิฐซ่อมวัด จึงรู้สึก อยากทำบ้าง แม้จะรู้ดีว่า ในสมัยนั้นแรงงานผู้หญิงจะได้ ค่าตอบแทนน้อยกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว ด้วยความที่มีใจรัก มะลิจึงอดทนทำงานอย่างขันแข็ง ครูพักลักจำเก็บเกี่ยววิชา ความรู้เรื่อยมา ต่อมาเธอก็เข้าทำงานเป็นช่างในสังกัดกรม ศิลปากร เรียกได้ว่าวัดในอยุธยามากกว่า 30 แห่ง ล้วนผ่านมือการซ่อมแซมของป้ามะลิมาแล้วแทบทั้งสิ้น
จนเมื่อกรมศิลปากรมีโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ป้ามะลิได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมความรู้เพิ่มเติม และ ร่วมงานกับดับเบิลยูเอ็มเอฟ ตอนนั้นป้ามะลิมาพร้อมกับ ช่างของกรมศิลปากรอีกสามคน ได้แก่ ป้าลิ้นจี่ พุมมา ป้าบรรจง สว่างอารมณ์ และพี่พรเจตร์ บุญญเขตร์ รวม ทั้งช่างรุ่นใหม่อีกหลายคน ปัจจุบันป้ามะลิอายุ 71 ปี และ ยังคงทำงานให้กับดับเบิลยูเอ็มเอฟที่วัดไชยวัฒนารามในฐานะ หัวหน้าช่างที่ช่วยวางแผนงานการอนุรักษ์ร่วมกับเจฟฟ์ ซึ่ง เป็นผู้อำนวยการโครงการ ตลอดจนควบคุมการทำงานให้ ออกมามีคุณภาพตามมาตรฐานและกำหนดเวลาที่วางไว้
ที่นี่ แม้ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกันคือทำงานให้มี คุณภาพและเสร็จทันตามกำหนด แต่ดับเบิลยูเอ็มเอฟก็ให้ คุณค่าของปัจเจก นั่นคือทำงานอย่างเป็นระบบในภาพใหญ่ แต่คงเอกลักษณ์เฉพาะตัวในภาพย่อย แต่ละคนสามารถ แสดงความคิดเห็น เลือกวิธีการ หรือแม้กระทั่งประดิษฐ์ เครื่องมือเล็กๆขึ้นใช้เอง เพื่อทำงานได้ถนัดในแบบฉบับของ ตัวเอง เช่น ป้าลิ้นจี่ พุมมา ใช้อุปกรณ์เล็กๆที่เรียกว่า “ร่องมิเตอร์” ลักษณะเป็นไม้เล็กๆปาดให้ปูนในร่องอิฐเรียบ งามเสมอกัน ป้าบรรจง สว่างอารมณ์ มีขวดบรรจุนํ้าผสม ทรายสีออกเหลืองไว้สำหรับใช้ทาลงที่ผิวปูน ในกรณีที่สีปูน ใหม่ดูแตกต่างจากสีปูนเก่ามากเกินไป
เทคนิคเฉพาะตัวเหล่านี้ เหล่าช่างท้องถิ่นคิดสร้างสรรค์ ขึ้นมาเองโดยไม่มีใครบอก ในตอนแรก ช่างหลายคนอาจ ไม่คุ้นชินเพราะติดอยู่กับระบบที่ทำงานแบบรับคำสั่งมาตลอด คือมองตัวเองเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆที่ทำหน้าที่ตาม เป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งใด แต่เจฟฟ์บอกเสมอว่า นั่นไม่ใช่แผนพัฒนาศักยภาพคนใน ท้องถิ่นแบบที่เขาวางไว้
สำหรับเจฟฟ์แล้ว ทุกคนคือเพื่อนร่วมงาน ส่วนตำแหน่ง คือสิ่งที่กำหนดไว้เพื่อให้ทุกคนมีบทบาทหน้าที่ในทีมเท่านั้น เราอาจมาจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างอายุ ต่างเพศ ต่างวัยและ การศึกษา แต่ที่นี่ ทุกคนมีเสียงเท่ากันและต้องให้เกียรติ ซึ่งกันและกันเสมอ
ฉันยังจำภาพในงานสัมมนาที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2561 ได้ งานนั้นเป็นการ เผยแพร่โครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม แขกที่มาในงาน ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่อยู่ในแวดวงการศึกษา มีผู้สนใจ เข้าร่วมงานเต็มหอประชุม
เก้าอี้แปดตัวถูกเตรียมไว้หน้าเวทีเป็นพิเศษสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง เจฟฟ์ขึ้นกล่าวต้อนรับแขกที่มาในงาน ช่วงหนึ่ง เขาได้ขอให้คนที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้แปดตัวนั้นลุกขึ้นยืน และกล่าว ว่า “ผมขอเสียงปรบมือให้กับช่างที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ผู้อยู่เบื้องหลังงานอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนาราม”
สิ้นเสียงพูดของเจฟฟ์ เสียงปรบมือดังกึกก้องหอประชุม ช่างท้องถิ่นทั้งแปดคนค่อยๆ ลุกขึ้นยืน รอยยิ้มเขินอายฉาบ อยู่เต็มใบหน้า
การเกิดใหม่ของวัดไชยวัฒนารามหลังมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 จึงเป็นไปพร้อมกับการเกิดใหม่ในทางศักยภาพ ของบุคคลที่อยู่รายรอบโบราณสถานแห่งนี้ ปัจจุบัน ทีม ดับเบิลยูเอ็มเอฟที่ทำงานอนุรักษ์ แบ่งเป็นช่างแปดคน นัก อนุรักษ์สามคน และสถาปนิกอีกหนึ่งคน ฉันถือว่าเป็นทีมที่เล็กมากๆ แต่นับเป็นความเล็กที่เรียกได้ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว”
แม้วัดไชยวัฒนารามในวันนี้คือโบราณสถานที่เหลือเพียง ซากอิฐปูน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ต่ออดีต แต่เป็น ร่องรอยของประวัติศาสตร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นที่ตั้งค่าย เพื่อรบกับพม่ายามสงคราม เคยถูกทิ้งร้างกว่าสองศตวรรษ หลังการเสียกรุง เคยเป็นที่ขุดและขนอิฐไปยังกรุงเทพฯ ในช่วงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
วัดไชยฯ ผ่านมาทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ เรื่องน่าละอาย เพราะสถานที่แห่งนี้ได้ทำหน้าที่อย่างสำคัญ คือการเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวแห่ง ยุคสมัย และซากอิฐปูนที่เห็นในวันนี้ ผ่านอดีตและกาลเวลามาอย่างไร ยังคงเป็นคำตอบที่น่าค้นหา
“วัดไชยฯ มีกรุสมบัติไหม ถ้ามีจะเอาเสียมไปขุด” เป็น คำถามหยอกล้อของเพื่อนที่ฉันได้ยินอยู่เสมอ หากกรุที่ว่านี้ จะหมายถึงความรู้ที่มาจากการค้นหาร่องรอยการก่อสร้างของ ช่างโบราณ ที่สำหรับฉันถือเป็นลายแทงสมบัติลํ้าค่าแล้วละก็ วัดไชยวัฒนารามต้องมีกรุสมบัติอย่างแน่นอน
เรื่อง วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ภาพสันนิษฐาน พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน
ที่ปรึกษาภาพสันนิษฐาน สุรเชษฐ์ แก้วสกุล
ติดตามสารคดี บันทึกการอนุรักษ์มิติใหม่ ที่วัดไชยวัฒนาราม ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2567
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/601207