ไม่มีไอน์สไตน์ อาจไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ บทบาท และความเสียใจชั่วชีวิตเขา

ไม่มีไอน์สไตน์ อาจไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ บทบาท และความเสียใจชั่วชีวิตเขา

นักฟิสิกส์ในตำนาน ผู้เร่งให้สหรัฐฯ สร้างอาวุธนิวเคลียร์ที่มีพลังทำลายล้างรุนแรงขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดและความเสียใจจากระเบิดที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างไปตลอดชีวิต “ผมไม่เห็นทางออกทางอื่นเลย”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) อาจจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดจากการเผยแพร่สมการ E=mc² หรือทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity Theory) ให้โลกรู้ กล่าวคือ เขาเป็นผู้ค้นพบว่า พลังงานและมวลสามารถเปลี่ยนรูประหว่างกันได้ ซึ่งในภายหลังสมการนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของทั้งพลังงานนิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์

บทบาทของไอน์สไตน์ในสงครามนิวเคลียร์คงจะจบลงเพียงเท่านั้น หากเขาไม่เข้าไปมีส่วนในการสร้างตู้เย็นธรรมดา ๆ หลังหนึ่งขึ้น

ช่วงทศวรรษที่ 1920 ในขณะที่ไอน์สไตน์อาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เขาได้ร่วมมือกับลีโอ ซีลาร์ด (Leo Szilard) บัณฑิตผู้ช่วยชาวฮังการีของเขา ในการพัฒนาตู้เย็นประหยัดพลังงานขึ้นเพื่อจดสิทธิบัตร แม้ว่าตู้เย็นที่พวกเขาคิดค้นจะไม่ถูกผลิตและวางจำหน่าย แต่ผลงานการออกแบบของทั้งสองกลับทำให้ไอน์สไตน์ผู้รักความสงบได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขันสร้างระเบิดนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามสงบลง ไอน์สไตน์ใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาไปกับการคัดค้านไม่ให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในโลก ในขณะที่ตัวเขาเองรู้สึกเสียใจและรู้สึกผิดกับผลจากโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เขามีส่วนในการสร้าง

“ความฉลาดของไอน์สไตน์กลายเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายตัวเขา” อาริ บีเซอร์ (Ari Beser) นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวขึ้น และเสริมว่า “การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดพร้อมกับกระบวนการนิวเคลียร์ฟิชชันนั้น ควรจะมีการปฏิวัติทางศีลธรรมเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยครับ”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ระหว่างการมาเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงทศวรรษ 1920 PHOTOGRAPH BY HARRIS & EWING, LIBRARY OF CONGRESS

จดหมายจากไอน์สไตน์ถึงโรสเวลต์

ซีลาร์ดและไอน์สไตน์ยังคงติดต่อกันหลังจากที่ทั้งสองตัดสินใจยุติความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องใช้ประหยัดพลังงาน ในปี ค.ศ. 1933 ปีเดียวกันกับที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ซีลาร์ดค้นพบปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ (Nuclear chain reaction) ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในนิวเคลียสของอะตอมออกมา เพื่อสร้างการระเบิดขนาดมหึมา ต่อมาในปี 1939 ซีลาร์ดมีความเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์เยอรมันเองก็อาจจะกำลังใช้ทฤษฎีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เหล่านี้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่เช่นกัน

ดังนั้น เขาจึงติดต่อไอน์สไตน์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ไปเพื่อขอให้อดีตเพื่อนร่วมงานคนสำคัญเตือนเรื่องนี้กับประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt)

ซีลาร์ดเดินทางไปหาไอน์สไตน์ที่นิวยอร์กพร้อมกับเพื่อนผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวฮังการีอีก 2 คนคือ เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) และยูจีน วิกเนอร์ (Eugene Wigner) เมื่อทั้ง 3 คนเล่าถึงความเป็นไปได้ของปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ให้ไอน์สไตน์ฟัง เขาก็ตกใจหลังจากตระหนักได้ถึงอันตรายจากทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของตนเองที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเมื่อปี 1905

“เห็นได้ชัดว่า ไอน์สไตน์ไม่ได้คิดจะนำทฤษฎีนี้มาสร้างอาวุธ แต่เขาก็เข้าใจแนวคิดของกระบวนการนั้นได้อย่างรวดเร็วค่ะ” ซินเธีย เคลลี (Cynthia Kelly) ประธานมูลนิธิมรดกจากนิวเคลียร์ (Atomic Heritage Foundation) องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งเธอก่อตั้งเพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project) และตีความมรดกจากโครงการนี้ให้กว้างขึ้น กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ไอน์สไตน์จึงร่างจดหมายถึงประธานาธิบดีโรสเวลต์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ เพื่อเตือนถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหากนักวิทยาศาสตร์ของนาซีสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จก่อนสหรัฐฯ

“เป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์อาจสามารถสร้างความสำเร็จให้แก่สหรัฐฯ ได้ในอนาคตอันใกล้นี้” เขาเขียนอธิบายพร้อมส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับ “ระเบิดชนิดใหม่ที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา” และแนะนำให้โรสเวลต์มอบทุนสนับสนุนแก่โครงการริเริ่มนี้ เพื่อให้การวิจัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้นจริง

ประธานาธิบดีโรสเวลต์ให้ความสำคัญกับคำเตือนจากไอน์สไตน์อย่างจริงจัง โดยในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งนับเป็นเวลา 2 เดือนหลังได้รับจดหมาย และเป็นเวลาไม่กี่วันหลังนาซีเยอรมนีเข้ารุกรานโปแลนด์ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านยูเรเนียมที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรสเวลต์ก็ได้จัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งแรก และการประชุมในครั้งนั้นก็กลายเป็นต้นกำเนิดของโครงการแมนแฮตตัน โครงการลับสุดยอดของสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาและสร้างอาวุธพลังงานนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

เมฆผุดสูงขึ้นเป็นรูปดอกเห็ดหลังระเบิดถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิในปี ค.ศ. 1945 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ต้องเผชิญกับความขัดแย้งในจิตใจจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ และความหายนะจากระเบิดที่สหรัฐฯ ทิ้งลงในฮิโรชิมะและนางาซากิ ภาพถ่ายโดย U.S ARMY AIR FORCE VIA LIBRARY OF CONGRESS

มรดกร้ายจากอาวุธนิวเคลียร์

ในระยะแรก คณะกรรมการด้านยูเรเนียมได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเพียง 6,000 ดอลลาร์ หรือราว ๆ 215,000 กว่าบาทเท่านั้น ไอน์สไตน์จึงเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีโรสเวลต์ต่อไปเรื่อย ๆ โดยมีซีลาร์ดเป็นผู้ช่วยเขียนเนื้อหาส่วนใหญ่ หนึ่งในจดหมายหลายฉบับที่ส่งไปถึงโรสเวลต์เขียนเตือนว่า หากทางรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนโครงการไม่มากพอ ซีลาร์ดอาจจะนำข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ค้นพบไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์

“การเขียนจดหมายเช่นนั้นทำให้ไอน์สไตน์มีส่วนช่วยให้โครงการแมนแฮตตันสามารถเริ่มดำเนินการได้ จริง ๆ แล้ว เขามีบทบาทและส่วนร่วมในโครงการนั้นน้อยมากค่ะ” เคลลีอธิบาย อย่างไรก็ดี เอกสารลับจากสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ หรือเอฟบีไป (FBI) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไอน์สไตน์ที่วิพากษ์วิจารณ์การเหยียดเชื้อชาติ ทุนนิยม และสงครามอย่างเปิดเผย เอาไว้มากกว่า 1,800 หน้า

ทางเอฟบีไอได้บันทึกข้อมูลไว้ว่า “เมื่อพิจารณาถึงภูมิหลังทางความคิดที่แตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ แล้ว สำนักงานสอบสวนกลางไม่แนะนำให้จ้างดร. ไอน์สไตน์ทำงานในตำแหน่งที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เป็นความลับ” สุดท้ายแล้ว ไอน์สไตน์จึงไม่เคยได้รับสิทธิ์ให้เข้าถึงข้อมูลลับสุดยอดและเข้าทำงานในโครงการแมนแฮตตัน

อย่างไรก็ตาม ชื่อของไอน์สไตน์ยังคงเกี่ยวโยงกับอาวุธที่ถูกคิดค้นขึ้นจากการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาอย่าง ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ตลอดไป เขารู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากกับข่าวการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะ และรู้สึกอับอายกับหน้าปกนิตยสาร TIME จากปี 1946 ซึ่งวาดภาพหน้าของเขาไว้ด้านหน้าเมฆรูปเห็ด ที่มีสมการอันโด่งดังของตัวเองเขียนประดับไว้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าไอน์สไตน์จะใช้เวลาตลอดชีวิตที่เหลือไปกับการพยายามเตือนโลกเกี่ยวกับอันตรายจากการแพร่กระจายของนิวเคลียร์ เขากลับยังไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น จากการมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอดีตที่ติดค้างอยู่ในใจได้

“เขาคือบิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์” บีเซอร์ หลานชายของทหารช่างชาวอเมริกาเพียงคนเดียวซึ่งได้อยู่บนเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ซึ่งบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไปทิ้งในญี่ปุ่น กล่าว

บีเซอร์ใช้ทักษะในการเล่าเรื่องที่เขามี มาอธิบายผลจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ให้ผู้ที่ได้รับฟังสามารถจินตนาการภาพตามได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เขาไปเยี่ยมชมค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) พร้อมกับผู้รอดชีวิตจากนางาซากิ เขาได้เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันข้อเท็จจริงและเรื่องราวส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับสงครามให้ผู้รอดคนนั้นฟัง จนเพื่อนร่วมทางของเขารู้สึกประหลาดใจกับความเชื่อมโยงระหว่างระเบิดนิวเคลียร์ที่คร่าชีวิตพลเรือนนับแสนคน และฮอโลคอสต์ (Holocaust) หนึ่งในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2

ในปี 1952 ไอน์สไตน์ได้เขียนถึงพัฒนาการของระเบิดนิวเคลียร์ไว้ในนิตยสารญี่ปุ่นว่า “ผมตระหนักดีถึงอันตรายอันใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ หากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เหล่านี้สำเร็จ ผมไม่เห็นทางออกทางอื่นเลย”

ทว่าสำหรับบีเซอร์นั้น ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของไอน์สไตน์กลับแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์คนหนึ่ง “การแบ่งแยกนิวเคลียสของอะตอมในกระบวนการนิวเคลียร์ฟิชชันเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นวิธีที่เราคิดหรือทัศนคติที่เรามีต่อสงครามและความขัดแย้ง” เขาคร่ำครวญ

เรื่อง เอริน เบลกมอร์

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – ชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ระเบิดปรมาณู

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์

Recommend