ภาพโมเสก 1,600 ปี จาก ” สุเหร่ายิว ” ใน “อิสราเอล” แสนงามวิจิตร

ภาพโมเสก 1,600 ปี จาก ” สุเหร่ายิว ” ใน “อิสราเอล” แสนงามวิจิตร

การขุดค้น สุเหร่ายิว ยุคโรมันที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อไม่นานมานี้ เผยให้เห็นงานโมเสกงามวิจิตรและพลิกความเชื่อที่มีมายาวนานเกี่ยวกับชีวิตชาวยิวโบราณ

สุเหร่ายิว – ตอนที่นักโบราณคดี โจดี แมกเนสส์ ปีนถึงยอดเนินเขากลางแดด มองลงไปเห็นทะเลแกลิลี เมื่อฤดูร้อนปี 2010 เธอไม่แน่ใจว่าอาจจะพบเจออะไรที่นั่น หมู่บ้านชาวยิวโบราณที่รู้จักกันในชื่อ ฮูคุก เคยตั้งอยู่ในแหล่งขุดค้น ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิสราเอลแห่งนี้ แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่เหนือพื้นดินมีเพียงกองหินที่ใช้สร้างอาคาร สุมอยู่ระเกะระกะ เศษซากปรักสมัยใหม่ และดงมัสตาร์ดป่า

แมกเนสส์ ศาสตราจารย์ด้านศาสนายูดาห์ยุคต้นที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา วิทยาเขตแชเปิลฮิลล์ และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นหัวหน้าโครงการขุดค้นในอิสราเอลมาหลายปีแล้ว และสงสัยว่ายอดเนินลูกนี้น่าจะมีอะไรให้สำรวจ ในฤดูร้อนปีต่อมา เธอกับทีมงานค้นพบกำแพงหินทอดตัวในแนวเหนือใต้ลึกลงไปใต้ดินราวสองเมตร หลักฐานหลายชิ้น รวมถึงทางเข้าหลักที่หันหน้าไปทางเยรูซาเลม เผยให้รู้ว่าเป็นปริมณฑลของโบสถ์หรือสุเหร่ายิว (synagogue) ที่สร้างขึ้นเมื่อราว 1,600 ปีก่อน หรือในช่วงต้นศตวรรษที่ห้า สิ่งก่อสร้างคล้ายคลึงกันจากยุคนี้มักมีพื้นปูด้วยหินแผ่น แต่เมื่อทีมงานขุดต่อไป พวกเขากลับเจอหินโมเสกชิ้นเล็กๆ เรียกว่า กระเบื้องเทสเซรา มากขึ้นเรื่อยๆ บอกเป็นนัยว่า อาจมีบางสิ่งที่พิเศษอย่างแท้จริงฝังอยู่เบื้องล่าง

ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี 2012 ไบรอัน โบซัง บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยบริกแกมยัง กำลังขุดดินจากหลุมขุดค้นอย่างระมัดระวัง ตอนที่เขาขูดโดนของแข็งบางอย่างที่ชั้นพื้นดินของอาคาร เขาแจ้งให้แมกเนสส์ทราบ และเมื่อเธอใช้แปรงปัดดินที่เหลืออยู่ออกไป ทั้งสองถึงกับตะลึงเมื่อเห็นใบหน้าสตรีผู้หนึ่งที่ร่างเค้าโครงด้วยกระเบื้องเทสเซรา จ้องมองขึ้นมาที่พวกเขา นี่คือส่วนแรกของภาพโมเสกแผงหนึ่งที่ผุดขึ้นมา

สุเหร่ายิว
นักศึกษาอาสาสมัคร แอนนา ลาเฟลอร์ ปัดดินออกจากกำแพงที่เพิ่งขุดพบใหม่ เธออาศัยอยู่ในแคนาดา แต่เกิดที่นี่ ในกาลิลี “เมื่อโอกาสที่จะได้ทำงานขุดค้นเข้ามา ฉันรู้เลยค่ะว่าตัวเองอยากเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้” เธอบอก
ภาพโมเสก, สุเหร่ายิว
คริสเตียน เดอเบรียร์ นักบูรณะประจำแหล่งโบราณคดี ค่อยๆ แซะดิน เกลือ และปูนสอ จากแผงขนคอของสิงโต ตัวหนึ่ง ศิลปินโมเสกผู้รังสรรค์แผงภาพนี้น่าจะไม่เคยเห็นสัตว์เช่นนี้มาก่อน แต่นำลายประดับซึ่งเป็นที่นิยมมาทำซ้ำ อีกทอดหนึ่ง

ตลอดทศวรรษถัดมา แมกเนสส์กลับมาที่หมู่บ้านฮูคุกทุกเดือนมิถุนายน พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติและนักศึกษาอาสาสมัคร เดิมทีเธอวางแผนจะใช้เวลาเพียงห้าฤดูกาลขุดค้นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณคดีดังกล่าว แต่ก็ตระหนักอย่างรวดเร็วว่า เธอเจองานที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้นมาก ตอนนี้เป้าหมายของโครงการต้องรวมถึงการอนุรักษ์อะไรก็ตามที่หลงเหลือจากพื้นโมเสกนั้นด้วย และสิ่งที่หลงเหลืออยู่ที่ว่านั้น ซึ่งเผยให้เห็นทีละน้อยปีแล้ว ปีเล่า ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่พิเศษอย่างยิ่ง

โครงร่างของสุเหร่ายิวแห่งนี้เมื่อเผยให้เห็นทั้งหมดแล้วมีความยาว 20 เมตร และกว้าง 15 เมตร พื้นอาคารกว้างใหญ่ทั้งหมดปูด้วยแผงโมเสกที่ก่อเรียงเป็นภาพอย่างเชี่ยวชาญ แต่ราวครึ่งหนึ่งของพื้นดั้งเดิมเท่านั้นที่ยังคงสภาพสมบูรณ์

“ปกติแล้วในโบสถ์ทั่วไปหรือสุเหร่ายิว คุณจะได้เห็นการนำเสนอเพียงหนึ่ง สอง หรือสามฉาก แต่ที่นี่คุณเห็นเยอะกว่านั้นมากครับ” กีเดียน อัฟนี หัวหน้านักโบราณคดีประจำสำนักงานโบราณวัตถุอิสราเอลหรือไอเอเอ (Israel Antiquities Authority: IAA) กล่าวและเสริมว่า “น่าจะเป็นงานโมเสกที่สวยงามที่สุด หนาแน่นหลากหลายที่สุดในประเทศนี้แล้วละครับ”

“เราเห็นภาพความรุนแรงมากมายในงานโมเสกเหล่านี้ ทั้งเลือดและการฆ่าฟัน” แมกเนสส์บอก “แต่ก็มีอารมณ์ขันเจืออยู่ด้วย” ในบรรดาฉากสยดสยองที่สุดฉากหนึ่งได้แก่ ภาพเล่าเรื่องจากหนังสือพระธรรมผู้วินิจฉัย ซึ่งมีสตรีชาวเคไนต์ นามว่ายาเอล ใช้ค้อนตอกสมอบกลงไปในศีรษะของนายพลซิเซราชาวคานาอัน ในทางตรงข้าม การหักมุมแบบขำขันในเรื่องราวของโยนาห์ บรรยายถึงผู้เผยพระวจนะผู้เคราะห์ร้ายถูกกลืนเป็นทอดๆ โดยปลาสามตัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ

แสงแรกของวันเผยให้เห็นนักโบราณคดีที่เริ่มทำงานกันใต้เต็นท์ให้ร่มเงากับการขุดค้น “ที่นี่เป็นดินแดนแห่งน้ำนมและน้ำผึ้งอย่างแท้จริงค่ะ” ผู้อำนวยการ โจดี แมกเนสส์ กล่าว โดยบรรยายถึงเนินเขาใกล้เคียงที่อุดมไปด้วย สวนผลไม้ ปศุสัตว์ และรวงผึ้ง
สุเหร่ายิว, ภาพโมเสก
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ โยนาห์ผู้เผยพระวจนะปฏิเสธที่จะเทศนากล่าวโทษนครนีเนเวห์ที่เต็มไปด้วยคนบาป ตามที่พระเจ้าทรงบัญชา เขากลับหนีลงเรือลำหนึ่ง พระเจ้าจึงทรงเสกพายุรุนแรงขึ้นมาลูกหนึ่งซึ่งเสี่ยงจะทำให้เรือล่ม เมื่อโยนาห์สารภาพกับลูกเรือว่า พายุดังกล่าวเกิดจากเขาเป็นต้นเหตุอย่างแน่นอน พวกเขาก็โยนโยนาห์ลงน้ำ เพื่อกอบกู้เรืออันเปราะบาง เมื่ออยู่ใต้น้ำ โยนาห์ถูกปลาตัวมหึมากลืนเข้าไป ซึ่งมักถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาฬ ตัวหนึ่ง การตีความที่หมู่บ้านฮูคุก ตามที่เห็นในภาพ ถือเป็นการถ่ายทอดนิทานเรื่องนี้ในบริบทของวัฒนธรรมยิวโบราณเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบ และมีจุดหักมุมอยู่ด้วยจุดหนึ่ง ซึ่งปรากฏต่อมาในแหล่งข้อมูลลายลักษณ์อักษรของชาวยิวและอิสลาม กล่าวคือโยนาห์ถูกกลืนโดยปลาสามตัวต่อเนื่องเป็นทอดๆ (ภาพถ่าย: โอเด็ด เบไลล์ตี)

งานโมเสกเหล่านี้ยังหยิบยืมแม่ลายต่างๆ จากศิลปะยุคคลาสสิก ซึ่งรวมถึงคิวปิด หน้ากากละคร และเฮลิออส สุริยเทพของกรีก ขณะทรงรถม้าล้อมรอบด้วยสัญลักษณ์ของจักรราศี ฮูคุกฮุคกอาจเป็นหมู่บ้านในชนบท แต่ไม่ได้ตัดขาดโดดเดี่ยว เดนนิส มิซซี ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการขุดค้น และอาจารย์ด้านภาษาฮีบรูและศาสนายูดาห์โบราณ ที่มหาวิทยาลัยมอลตา กล่าวและเสริมว่า “มันเชื่อมโยงกับโลกภายนอกของเมดิเตอร์เรเนียน”

ตลอดการขุดค้น แมกเนสส์กับทีมงานใช้วิธีเปิดโมเสกเป็นส่วนๆ เพื่อทำระเบียนและถ่ายภาพไว้ ก่อนกลบฝังอีกครั้งเพื่อปกป้องให้อยู่ที่เดิม แมกเนสส์เชื่อว่า งานออกแบบอันอลังการในฮูคุกอาจเป็นหลักฐานบ่งบอกถึง การแข่งขันระหว่างชาวยิวด้วยกันเอง “ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ต่างสร้างสุเหร่ายิว แล้วทุกแห่งก็ค่อนข้างน่าตื่นตาตื่นใจค่ะ” เธอบอกและเสริมว่า “แต่ชาวบ้านที่นี่ตัดสินใจสร้างมารดาแห่งสุเหร่ายิวทั้งปวง” ด้วยความสูงที่เชื่อว่าน่าจะสองชั้น และตั้งอยู่ในจุดซึ่งเป็นที่สูงของหมู่บ้าน อาคารนี้คงมองเห็นได้จากที่ไกลมากพอสมควร

โครงสร้างเชิงโอ้อวดเช่นนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยงบน้อยนิด บางทีอาจมีผู้อุปถัมภ์ที่มั่งคั่งช่วยรับภาระค่าใช้จ่าย แต่เป็นไปได้มากกว่าว่า ชาวบ้านที่ร่ำรวยน้อยกว่าอาจช่วยกันลงขันในกองทุนก่อสร้าง อย่างน้อยในช่วงศตวรรษที่ห้า ชาวยิวในพื้นที่ห่างไกลจากจักรวรรดิแห่งนี้ดูจะมั่งคั่งรุ่งเรืองกันอยู่

สุเหร่ายิว, ภาพโมเสก
ฟริตซ์ คลินกรอท (ทางขวา) จากวิทยาลัยวูสเตอร์ในรัฐโอไฮโอ และนักบูรณะ ลินดา ราวนด์ฮิลล์ ศึกษาภาพโมเสก รูปกระต่ายป่าตัวหนึ่งกับสิ่งที่อาจเป็นสุนัขจิ้งจอกกำลังแทะเล็มองุ่น ซึ่งเป็นฉากที่น่าจะเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
ตามหนังสือปฐมกาล หอบาเบลถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สูงเทียมสวรรค์ สุเหร่ายิวที่หมู่บ้านฮูคุกแสดงภาพหอนี้ขณะกำลังก่อสร้าง พร้อมกลุ่มคนงานหลากแขนงกำลังทำงาน คนงานเหมืองแบกหามก้อนหิน ช่างไม้ขึ้นรูปไม้ด้วยเลื่อย กบไสไม้ และขวานถากไม้ ส่วนช่างก่ออิฐใช้ระบบรอกที่ซับซ้อนชักหินก่ออาคารขึ้นไปข้างบน แต่พระเจ้าทรงลงโทษการกระทำอวดดีเยี่ยงนี้ของมนุษย์ โดยสาปให้พวกเขาพูดภาษาที่ไม่อาจเข้าใจกันได้ ความไม่ลงรอยที่ตามมาเห็นได้ชัดเจน ในการต่อสู้ระหว่างคนงานสองคนตรงกลางภาพทางซ้าย (ภาพถ่าย: โอเด็ด เบไลล์ตี)

“ฉันคิดว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับความจริงที่ว่า พวกเขาอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อย่างรวดเร็ว” บริตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานโมเสก กล่าวและเสริมว่า “หนทางหนึ่งในการแสดงออกถึงเรื่องนี้ก็คือบอกว่า คราวนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากยุคสมัยต่างๆ ในอดีต เมื่อชาวอิสราเอลต้องต่อกรกับมหาอำนาจต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาว ฟีลิสเตีย คานาอัน บาบิโลน กรีก โรมัน และตอนนี้ก็พวกโรมันนับถือคริสต์ศาสนา”

บูสทาน นักประวัติศาสตร์ศาสนายูดาห์ เห็นพ้องด้วยและเสริมว่า “แนวคิดที่ว่าพระเจ้าจะนำมาซึ่งทางรอด ผ่านทางนักรบผู้เป็นมนุษย์ในยามเผชิญการครอบงำโดยต่างชาติ เป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนมาก”

กระนั้น หลายชั่วอายุคนต่อมาหลังสร้างขึ้น สุเหร่ายิวแห่งนี้กลับถูกทิ้งร้างอย่างเป็นปริศนา หากพิจารณาจากประวัติอันยาวนานของการเกิดแผ่นดินไหวระดับหายนะในภูมิภาคแถบนี้ ก็ไม่ยากที่จะคิดจินตนาการถึง เหตุธรณีพิบัติภัยที่ทำให้สุเหร่ายิวแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ท้ายที่สุดบางส่วนของอาคารก็ถล่มลงมาทำลายหลายส่วนของพื้นโมเสก เหตุสั่นไหวอีกคำรบอาจส่งให้มันถูกละทิ้งอย่างสมบูรณ์

ในฉากหนึ่งจากหนังสือพระธรรมผู้วินิจฉัย แซมซันใช้พละกำลังอันยิ่งใหญ่ของเขาสังหารทหารชาวฟิลิสเตียซึ่งถือโล่ อยู่ในภาพนี้ จนทรุดลงไปกองกับพื้น นอกจากนี้ยังมีอีกสองฉากที่แซ่ซ้องผู้นำระดับตำนานผู้นี้

“มันไม่ได้ถูกเผา ไม่ได้ถูกรื้อทิ้ง” มาร์ติน เวลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมประจำโครงการ จากวิทยาลัยออสตินในรัฐเท็กซัส กล่าว “ผมเดาว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวครับ”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ราว 800 ปีหลังสุเหร่ายิวนี้ถูกสร้างขึ้น ภูมิภาคดังกล่าวตกอยู่ใต้การปกครองของ พวกมัมลุกซึ่งเป็นราชวงศ์มุสลิมจากอียิปต์ เมื่อพื้นที่แถบนี้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ชาวยิวที่ยังอยู่ทำการซ่อมแซมสุเหร่ายิวจากศตวรรษที่ห้าดังกล่าว พร้อมทั้งขยายให้ใหญ่ขึ้น และเสริมฐานคล้ายคอนกรีตชั้นหนา ซึ่งนับเป็นโชคดี ของพื้นโมเสกที่ได้รับการปกป้องไว้ เริ่มจากศตวรรษที่สิบห้า กระแสการค้าในบริเวณนี้ชะลอตัวลง สุเหร่ายิวดังกล่าวดูเหมือนจะถูกทิ้งร้างอีกครั้ง แล้วค่อย ๆ พังทลายลง กระทั่งนักโบราณคดีมาถึง

สิบสองปีหลังขุดค้นครั้งแรก แมกเนสส์กับทีมงานเสร็จสิ้นงานภาคสนามในฤดูร้อนปี 2023 แหล่งโบราณคดีนี้ยังคงถูกถมกลับเพื่อปกป้องงานโมเสก ก่อนส่งมอบให้ไอเอเอและกองทุนชาวยิวแห่งชาติ เพื่อพัฒนาแผนสำหรับ การท่องเที่ยว อัฟนี หัวหน้านักโบราณคดีของไอเอเอ ทำนายว่า “อัญมณียอดมงกุฎ” ของมรดกทางวัฒนธรรมอิสราเอลแห่งนี้จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

การขุดค้นอาจเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ยังมีวัตถุที่ขุดพบอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้เก็บรักษาไว้ในเยรูซาเลม เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์ และยังมีปริศนารอให้คลี่คลายอีกหลายประการ แมกเนสส์ทิ้งท้ายว่า “ฉันกับทีมงานคงต้องกลับมาอีกหลายปีเลยค่ะ”

เรื่อง แอนน์ อาร์. วิลเลียมส์

ภาพถ่าย เปาโล แวร์โซเน

แปล อัครมุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี ฉากไม่คาดคิดบนแผ่นหิน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/605937


อ่านเพิ่มเติม อัลฮัมบรา อาณาจักรมุสลิมแห่งสุดท้ายของสเปน

อัลฮัมบรา

Recommend