พบเงื่อนงำคร่าชีวิตชาวแอซเท็ก

พบเงื่อนงำคร่าชีวิตชาวแอซเท็ก

พบเงื่อนงำคร่าชีวิต”ชาวแอซเท็ก”

จากปีคริต์ศักราช 1545 – 1550 ชาวแอซเท็ก ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นภูมิภาคทางตอนใต้ของเม็กซิโกในปัจจุบัน ต้องเผชิญกับมหันตภัยครั้งใหญ่ ที่ส่งผลให้ผู้คนจำนวน 5 – 15 ล้านคนเสียชีวิต เป็นที่รู้กันว่าสาเหตุของการเสียชีวิตครั้งใหญ่ในตอนนั้นเกิดจากโรคระบาด (คำว่าโรคระบาดในภาษานาวาตล์ ใช้คำว่า cocoliztli ) แต่สาเหตุหรือรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงเป็นปริศนามานานกว่า 500 ปี

ณ ตอนนี้ ผลการศึกษาครั้งใหม่ที่เผยแพร่ลงในวารสาร Nature Ecology and Evolution ชี้ว่า สาเหตุของโรคระบาดน่าจะมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ซาลโมเนลลา (salmonella) ประเภท  Paratyphi C ถูกพบอยู่ภายในดีเอ็นเอของร่างจำนวนสิบร่างที่ถูกฝังอยู่ภายในแหล่งโบราณคดี Teposcolula-Yucundaa ซึ่งเคยเกิดภัยพิบัติขึ้น

รายงานจาก Åshild Vågene ผู้วิจัยจากสถาบัน Max Planck ระบุว่าผลข้างเคียงจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะส่งผลให้ร่างกายป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้น, อาเจียน และเกิดผื่นแดงบนผิวหนัง ซึ่งสายพันธุ์ของแบคทีเรียดังกล่าวนั้นพบหาได้ยากในปัจจุบัน Vågene ระบุว่าเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายในน้ำและอาหาร จนนำไปสู่การระบาดครั้งใหญ่ และการเสียชีวิตในเวลาต่อมา

(ชมวิถีชีวิตของ ชาวแอซเท็ก ผ่านแผนที่เก่าได้ ที่นี่)

 

สกัดดีเอ็นเอโบราณ

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า การเสียชีวิตหมู่ครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 16 ของชาวแอซเท็ก น่าจะเกิดจากโรคระบาด จากบันทึกของชาวสเปนที่เดินทางมายังดินแดนอเมริกากลางในช่วงเวลานั้นรายงานว่า บรรดาชนพื้นเมืองที่ติดเชื้อมีอาการเลือดไหลออกจากจมูกและไอเป็นเลือด ในขณะที่หลักฐานทางกายภาพแสดงความเจ็บป่วยของโรคโดยตรงนั้น ค่อนข้างหายาก

“นี่คือหนึ่งในโรคที่ไม่เหลือร่องรอยใดไว้บนโครงกระดูก” Vågene กล่าว ดังนั้นหากจะมองหาหลักฐานการเกิดของโรค นักวิจัยจึงตรวจจากดีเอ็นเอของฟันอายุ 500 ปี ของบรรดาชนพื้นมืองที่ยังหลงเหลืออยู่

“หนึ่งในประเด็นสำคัญของการวิจัยเรื่องนี้ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องตั้งสมมุติฐานใดๆ” Alexander Herbig นักวิจัยจากสถาบัน Max Planck เช่นกันกล่าว ซึ่งนักวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบดีเอ็นเอ ไปเทียบกับฐานข้อมูลที่พวกเขามีอยู่

จากตัวอย่าง 24 ตัวอย่าง มีจำนวน 10 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของดีเอ็นเอติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา นอกเหนือจากการตรวจสอบว่าชนพื้นเมืองเหล่านี้มีการติดต่อกับบรรดาชาวยุโรปหรือไม่แล้ว ทีมนักวิจัยยังเข้าตรวจสอบร่างจำนวน 5 ร่างที่เสียชีวิตและถูกฝังก่อนการมาถึงของชาวยุโรปอีกด้วย ซึ่งตัวอย่างทั้ง 5 ไม่มีสัญญาณบ่งบอกของแบคทีเรียซาลโมเนลลา

ชาวแอซเท็ก
นักโบราณคดีเข้าสำรวจโบราณสถาน Grand Plaza ซึ่งเคยเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่เมื่อช่วงปี 1545 – 1500 สิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสุสานรวมขนาดใหญ่ หลักฐานยืนยันว่าในอดีตเคยเกิดหายนะขึ้น
ภาพถ่ายโดย Christina Warinner

 

เป็นความผิดของชาวยุโรป?

เมื่อชาวยุโรปเดินทางมาถึงแผ่นดินอเมริกา จากบันทึกประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าพวกเขานำพาโรคติดต่อมาด้วย เช่น โรคไข้ทรพิษ และโรคหัด โรคต่างถิ่นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชนพื้นเมืองอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน

Vågene และ Herbig กล่าวว่า สำหรับแบคทีเรียซาลโมเนลลา กรณีการระบาดของมันน่าจะไม่แตกต่างกัน

ในผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากนักวิจัยระบุว่าพวกเขาพบร่องรอยของแบคทีเรียซาลโมเนลลา ในดีเอ็นเอของผู้หญิงชาวนอร์เวย์ ที่เสียชีวิตเมื่อคริสต์ศักราช 1200 นั่นหมายความว่าเจ้าแบคทีเรียสายพันธุ์เฉพาะที่คร่าชีวิตชาวแอซเท็กนั้น ดำรงอยู่มาก่อนแล้ว 300 ปี ก่อนที่พวกมันจะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมา

อีกทฤษฎีหนึ่งที่มีความเป็นไปได้เช่นกัน Vågene กล่าวว่า เจ้าเชื้อแบคทีเรียนี้อาจมีอยู่แล้วในเม็กซิโก แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

 

จุดเริ่มต้นของการระบาด

เพื่อที่จะยืนยันว่าแบคทีเรียซาลโมเนลลาเป็นสาเหตุของโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จริง นักวิทยาศาสตร์ต้องตรวจสอบดีเอ็นเอเพิ่มเติม จากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ

“จากสัญชาตญาณ ฉันเชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดครั้งนั้น” Caitlin Pepperrell นักวิจัยผู้ศึกษาเกี่ยวกับการระบาดของโรค จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยกล่าว

“มันยากค่ะ ที่จะรู้ให้แน่ชัด” Anne Stone ผู้ศึกษาด้านวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากมหาวิทยาลัยอริโซนากล่าว “โดยส่วนตัวฉันเชื่อว่าแบคทีเรียนี้มีถิ่นกำเนิดในยุโรป และมันเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างผลกระทบรุนแรงมากๆ แก่ชนพื้นเมือง”

ทั้งนี้ Stone กล่าวว่า ตัวอย่างดีเอ็นเอจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ จะช่วยยืนยันทฤษฎีนี้ได้

ด้าน Vågene เองก็เห็นด้วย ล่าสุดนักโบราณคดีค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ที่เคยเกิดโรคระบาดเช่นกัน ซึ่งช่วยให้ข้อมูลแก่นักวิจัยได้ว่าอะไรคือสาเหตุ โดย Herbig ระบุว่า ในขั้นตอนต่อไปพวกเขาจะหาคำตอบจากดีเอ็นเอเหล่านี้ว่าโรคที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบมากแค่ไหน และอย่างไรแก่ประวัติศาสตร์มนุษย์เรา

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

เผยโฉมใบหน้าวัยรุ่นมนุษย์โบราณ

ติดตามข้อมูลดีๆที่นี่

Recommend