อารยธรรมโรมัน จักรวรรดิศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลก

อารยธรรมโรมัน จักรวรรดิศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลก

อารยธรรมโรมัน หรือ โรมันโบราณ หมายถึงอารยธรรมของชาวโรมันตั้งแต่การก่อตั้งเมืองโรมในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 5

โรมัน หรือ โรม ก่อตัวจากหมู่บ้านทางภาคกลางของอิตาลี อุปนิสัยของโรมันคือ ความเคร่งขรึมและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างช้าๆ แต่มั่นคง ความสามารถทางทหารของโรมันอยู่ที่ความอดทนมากกว่ายุทธวิธีที่ฉลาดปราดเปรื่อง

ประวัติศาสตร์โรมช่วงแรกมีข้อมูลไม่แน่ชัด คาดว่าเมื่อราว 750 ปีก่อน ค.ศ. มีผู้อพยพมาตั้ง ถิ่นฐานแถบภูเขาพาเลนไตน์ใกล้แม่น้ำไทเบอร์ ต่อมาประมาณ 600 ปี ก่อน ค.ศ. บรรดาผู้อพยพต่างรวมตัวกันตั้งนครรัฐแห่งโรมขึ้น ทำเลของนครรัฐตั้งอยู่ในที่ซึ่งเหมาะสม เหมาะสำหรับความเจริญของโรมในอนาคตทางเหนือของโรมติดต่อกัยดินแกนที่เรียกว่า อีทรูเรีย คือ ทัสคานีปัจจุบัน อีทรูเนียเป็นที่อยู่อาศัยของพวกที่มีอารยธรรมสูงเรียกว่า อีทรัสกัน ซึ่งเป็นพวกที่วางรูปวัฒนธรรมของชาวโรมันแต่เริ่มแรก

ต่อมาอารยธรรมโรมันก็เจริญเติบโตเรื่อยมา สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุคใหญ่ๆ คือ ยุคราชอาณาจักรโรมัน (753–509 ปีก่อนคริสตกาล), ยุคสาธารณรัฐโรมัน (509–27 ปีก่อนคริสตกาล) และ ยุคจักรวรรดิโรมัน (27 ปีก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 476)

ยุคราชอาณาจักรโรมัน

ยุคราชอาณาจักรโรมัน เริ่มต้นจากการตั้งถิ่นฐานของชนชาวอิตาลิกในปี 753 ก่อนคริสตกาล บริเวณริมแม่น้ำไทเบอร์บนคามสมุทรอิตาลี เกิดการขยายถิ่นฐานเป็นเมืองจนสามารถควบคุมดินแดนเพื่อนบ้านผ่านสนธิสัญญาและยุทธการ กระทั่งในที่สุดสามารถปกครองทั้งคาบสมุทรอิตาลีและยึดครองดินแดนขนาดใหญ่และผู้คนในทวีปยุโรปและรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน

อาณาจักรโรมัน ถือเป็นเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคโบราณ โดยมีประชากรประมาณ 50 ถึง 90 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรโลกในขณะนั้น และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ล้านตารางกิโลเมตร (1.9 ล้านตารางไมล์) ในช่วงที่เรืองอำนาจที่สุดเมือง ค.ศ. 117

ราชอาณาจักรโรมัน คืออาณาจักรที่มีผู้ปกครองเป็นกษัตริย์แห่งโรมซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เผ่าพันธุ์ที่เคยมีอำนาจเหนือดินแดนคือชาวอีทรัสกันเป็นพวกที่รับอารยธรรมกรีกมาผสมผสานกับอารยธรรมของตนและส่งต่อให้กับโรม ทว่าต่อมากลุ่ม อินโดยูโรเปียน ย้ายเข้ามาอยู่ใน แหลมอิตาลี กลุ่มที่อพยพเข้ามา เรียกรวมๆว่า อิตาลิก ส่วนใหญ่คือ พวกลาติน ซึ่งเอาชนะชาวพื้นเมืองอีทรัสกัส และสร้างอาณาจักรโรมขึ้นมา รวมถึงกรุงโรมด้วย

การปกครองของโรมในระยะแรกอยู่ภายใต้การปกครองแบบกษัตริย์ ความเป็นผู้นำที่มีความสามารถ มีนิสัยเด่น คือ ชอบทำการรบ และการปกครอง เป็นพวกมีวินัย เป็นนักคิด นักปฏิบัติ ทำให้ชาวโรมันเป็นชาติที่ทรงอิทธิพลเหนือชนชาติอื่นๆ ในยุคนั้น ชุมชนโรมันเจริญทั้งกำลังและความมั่งคั่ง มีการสร้างวิหารใหญ่โตตามแบบสถาปัตยกรรมของอีทรัสคันขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่งสำหรับเทพเจ้าจูปีเตอร์ของชาวโรมัน ก่อนคริสต์ศักราชมาสิ้นสุดลงด้วยการโค่นราชบัลลังก์และการก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 509 ก่อนคริสต์ศักราช

ยุคสาธารณรัฐโรมัน

ยุคสาธารณรัฐโรมัน คือยุคสมัยของอารยธรรมโรมันโบราณขณะมีรัฐบาลเป็นสาธารณรัฐ เริ่มต้นจากการโค่นล้มราชาธิปไตยโรมัน โดยมักถือว่าเมื่อประมาณ 509 ปีก่อน ค.ศ. และแทนที่ด้วยรัฐบาลซึ่งนำโดยกงสุลสองคน ซึ่งพลเมืองเลือกตั้งทุกปีและได้รับคำแนะนำจากวุฒิสภา

นอกจากนี้ยังมีรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนค่อยๆ ได้รับการพัฒนา โดยมีศูนย์กลางอยู่บนหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบและถ่วงดุล ยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของประเทศ ตำแหน่งราชการถูกจำกัดไว้ที่หนึ่งปี เพื่อที่ในทางทฤษฎีจะไม่มีปัจเจกบุคคลใดสามารถครอบงำพลเมืองได้ ในช่วงแรกของสาธารณรัฐโรมันสงครามสำคัญคือ สงครามกับชาวกอล , สงครามพิวนิก และ สงครามคาร์เทจ

อย่างไรก็ตาม ในยุคสาธารณรัฐโรมัน มีผู้นำคนสำคัญ คือ จูเลียส ซีซ่า ซึ่งมีความสามารถด้านการรบมากสามารถแผ่ขยายอณาเขต รบชนะ กรีก อียิปต์ เอเชียไมเนอร์ แอฟริกา และ สเปน ได้หมด โครงสร้างประชากรในตอนนั้น แบงเป็น พวกแพทริเชียน กับ พวกเพลเบียน ขณะที่การปกครอง พัฒนาจาก กงสุล 2 คน (อยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี มีอำนาจเด็ดขาดในทางการเมือง กงสุลมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพยามสงครามและยามฉุกเฉิน) เป็นสภาขุนนาง และ สภาประชาชน

ส่วนการต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์ นักสู้ติดอาวุธที่มีหน้าที่ต่อสู้เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมก็เริ่มต้นในยุคสาธารณรัฐโรมัน โดยได้รับนิยมมากที่สุดในช่วง 100 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 จนเสื่อมความนิยมลงในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 5 ภายหลังจากการที่จักรวรรดิโรมันได้ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำรัฐใน ค.ศ. 380 แต่การสู้กับสัตว์ก็ยังคงดำเนินมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6

ยุคจักรวรรดิโรมัน

ยุคจักรวรรดิโรมัน คือ ยุคแหงความสงบสุข นำโดยจักรพรรดิออกัสตัส จักรพรรดิองค์แรกที่สร้างมรดกอารยธรรมที่สําคัญหลายอย่างทั้ง ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน การนับถือศาสนาคริสต์อย่างจริงจัง การบูชาเทพเจ้าหลายพระองค์ การผ่าตัด และสถาปัตยกรรมการสร้างประตูโค้งโดม

จักรวรรดิโรมันเคยมีดินแดนอยู่ในการครอบครองมากมาย ได้แก่ อังกฤษและเวลส์ ยุโรปส่วนใหญ่ (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์และทางใต้ของเทือกเขาแอลป์) ชายฝั่งของแอฟริกาเหนือ บริเวณมณฑลใกล้เคียงของอียิปต์ แถบบอลข่าน ทะเลดำ เอเชียไมเนอร์ และส่วนใหญ่ของบริเวณลิแวนต์ ซึ่งดินแดนเหล่านี้ จากตะวันตกสู่ตะวันออกในปัจจุบันได้แก่ โปรตุเกส สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี แอลเบเนียและกรีซ แถบบอลข่าน ตุรกี ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของเยอรมนี ทางภาคใต้จักรวรรดิโรมันได้รวบรวมตะวันออกกลางไว้ ปัจจุบันคือ ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล จอร์แดน จากนั้นในภาคตะวันตกเฉียงใต้ จักรวรรดิได้รวบรวมอียิปต์โบราณไว้ทั้งหมด

ต่อมาได้ทำการยึดครองต่อไปทางตะวันตกซึ่งเป็นบริเวณชายฝั่งทะเลซี่งในปัจจุบันคือประเทศลิเบีย ตูนิเซีย แอลจีเรียและโมร็อกโก จนถึงตะวันตกของยิบรอลตาร์ ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิโรมันเรียกว่าชาวโรมัน และดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายโรมัน การขยายอำนาจของโรมันได้เริ่มมานานตั้งแต่ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรืองอำนาจสูงสุดในสมัยจักรพรรดิทราจัน ด้วยชัยชนะเหนือดาเซีย (ปัจจุบันคือประเทศโรมาเนียและมอลโดวา และส่วนหนึ่งของประเทศฮังการี บัลแกเรียและยูเครน) ในปี ค.ศ. 106 และเมโสโปเตเมียในปี ค.ศ. 116 (ซึ่งภายหลังสูญเสียดินแดนนี้ไปในสมัยจักรพรรดิฮาดริอานุส)

ถึงจุดนี้ จักรวรรดิโรมันได้ครอบครองแผ่นดินประมาณ 5,900,000 ตารางกิโลเมตร (2,300,000 ตารางไมล์) และห้อมล้อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งชาวโรมันเรียกทะเลนี้ว่า mare nostrum (“ทะเลของเรา”) อิทธิพลของโรมันได้ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านภาษา ศาสนา สถาปัตยกรรม ปรัชญา กฎหมายและระบบการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งจักรวรรดิถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในสมัยของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน  ในปี ค.ศ. 285 ซึ่งกรุงโรมยุติความเป็นเมืองหลวงชั่วคราว

จักรวรรดิโรมันตะวันออก หรือ จักรวรรดิไบแซนไทน์ คือจักรวรรดิที่สืบทอดโดยตรงจากจักรวรรดิโรมันในปลายสมัยโบราณ และยุคกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ส่วน จักรวรรดิโรมันตะวันตก ย้ายไปตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมดิโอลานัม (ปัจจุบันคือมิลาน) และย้ายอีกครั้งไปยังราเวนนาในปี ค.ศ. 402

หลังจากจักรวรรดิโรมันก็รุ่งเรืองอยู่เป็นช่วง ๆ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยใช้ระบบการปกครองแบบของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน และการรวมตัวโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 และจักรพรรดิจูเลียนเดอะอโพลเตท จักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 ทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ทรงปกครองจักรวรรดิโรมันที่รวมตัวกัน แต่หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์ในปี ค.ศ. 395 จักรวรรดิโรมันก็แยกตัวกันอย่างเด็ดขาด จักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นสุดลงเมื่อโรมิวลัส ออกัสตัสสละราชสมบัติโดยการบีบบังคับของโอเดเซอร์เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 476 และอย่างเป็นทางการหลังจากการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิจูเลียส เนโพส (Julius Nepos) ในปี ค.ศ. 480

การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

จักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในช่วงเวลาประมาณวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 476 เมื่อจักรพรรดิโรมุลุส เอากุสตุส จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกขับไล่และเกิดการจลาจลขึ้นในโรม

ทั้งนี้ จักรวรรดิโรมันตะวันออก ได้รักษากฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบกรีก-โรมัน รวมถึงศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ไว้ได้ในอีกสหัสวรรษต่อมา แม้ว่าความแข็งแกร่งของจักรวรรดิโรมันจะลดลงจากเดิม แต่ก็ยังคงฐานะมหาอำนาจของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก จนถึงการล่มสลายเมื่อเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลให้กับจักรวรรดิออตโตมัน ในปีค.ศ. 1453

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับการกู้คืนโดยจักรวรรดิโรมันตะวันออกในช่วงหนึ่ง จักรวรรดิโรมันตะวันตกก็มิได้ฟื้นตัวขึ้นอีก เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสมัยประวัติศาสตร์ของยุโรปก็เข้าสู่สมัยต่อมาที่เรียกว่ายุคกลางหรือที่เรียกกันว่ายุคมืด อุดมการณ์และชื่อของจักรวรรดิโรมันตะวันตกได้รับการรื้อฟื้นมาใช้เป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จนอารยธรรมโรมันมาสิ้นสุดลงจริงๆ ในปี ค.ศ. 1806

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก DAVID HERRAEZ CALZADA

ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Roman_Empire

www.trueplookpanya.com


อ่านเพิ่มเติม : ชุบชีวิต ถนนแอปเปียน ถนนโบราณที่มาสำนวน ‘ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม’ 

 

Recommend