ปรากฏการณ์เทควันโด กีฬาส่งออกทางวัฒนธรรมชิ้นแรก ความสำเร็จของเกาหลีใต้

ปรากฏการณ์เทควันโด กีฬาส่งออกทางวัฒนธรรมชิ้นแรก ความสำเร็จของเกาหลีใต้

เทควันโดเป็นกีฬาส่งออกทางวัฒนธรรมชิ้นแรกที่ประสบความสำเร็จของเกาหลีใต้ กีฬาชนิดนี้พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นที่แพร่หลายในช่วงทศวรรษปี 1950 

ชาวไทยได้ยินดีกันอีกครั้งหลัง ‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้จากรีกประวัติศาสตร์เหรียญติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 ในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส จนหลายคนมองว่า ‘นี่คือนักเทควันโดที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์’ และอีกท่านหนึ่งที่ต้องพูดถึงซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการเทควันโดของประเทศไทยคือ ‘โค้ชเช’ ที่คอยสนับสนุนกีฬาประเภทนี้ในประเทศไทยเรื่อยมา

แม้จะไม่ได้เป็นกีฬาประจำชาติของไทยเอง ทว่าทุกครั้งที่เข้าแข่งขันระดับโลก สายตาของนานาชาติก็ต่างจับจ้องไทยอยู่เช่นเดียวกัน แต่อะไรทำให้ศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จและแพร่กระจายไปทั่วโลก แทรกซึมไปทุกที่ยิ่งกว่าดนตรีเค-ป๊อป หรือละครโทรทรรศน์

อันที่จริงแล้วนักวิชาการหลายคนมองว่านี่คือศิลปะการต่อสู้ของทุกคน ที่เข้าถึงทุกคน และเพื่อทุกคน

“สำหรับประเทศยากจนอย่างประเทศไนเจอร์ กีฬาชนิดนี้ถือเป็นกีฬาที่ดีที่สุด”  อิสซากะ อิเดะ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไนเจอร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสหพันธ์เทควันโดแห่งชาติกล่าวและว่า “แม้ว่ากีฬาชนิดนี้จะมาจากเกาหลีใต้ แต่เราก็ทำให้มันเป็นกีฬาของเรา เพราะสามารถฝึกได้ง่ายมากโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย”

ประวัติศาสตร์แห่ง ‘มือและเท้า’ 

เทควันโดเป็นกีฬาส่งออกทางวัฒนธรรมชิ้นแรกที่ประสบความสำเร็จของเกาหลีใต้ ก่อนกระแส K-pop ก่อนซีรีย์สุดโรแมนติก และก่อนกิมจิ กีฬาชนิดพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นที่แพร่หลายในช่วงทศวรรษปี 1950 ชาวเกาหลีใต้เรียกศิลปะการต่อสู้นี้ว่า ‘วิถีแห่งมือและเท้า’ ตามความหมายของคำว่า ‘เทควันโด’ ในภาษาเกาหลี

เชื่อกันว่ากระแสความนิยมเริ่มต้นขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อทหารเกาหลีใต้ได้สอนเทควันโดให้กับทหารฝ่ายตะวันตก ทาง นิวยอร์กไทม์ รายงานว่า ชัค นอร์ริส (Chuck Norris) นักแสดงแอ็คชั่นชาวอเมริกันซึ่งประจำอยู่ในฐานทัพอากาศที่เกาหลีใต้ก็ได้เรียนรู้กีฬาชนิดนี้เช่นเดียวกัน

และเมื่อโค้ชชาวเกาหลีใต้เริ่มสอนกีฬาชนิดนี้ไปต่างประเทศ มันก็ได้รับความนิยมมาอย่างรวดเร็ว แม้อาจจะไม่เท่าฟุตบอล ยิมนาสติก หรือมวย แต่กีฬาที่เป็นทั้งการป้องกันตัวเองนี้ก็มีผู้เล่นหลายสิบล้านคนโดยเฉพาะในแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือราคาแพงหรือสนามแข่งขันเฉพาะ

“โดยพื้นฐานแล้วเทควันโดไม่ต้องใช้อุปกรณ์จริงอื่นใดนอกจากร่างกายมนุษย์ ซึ่งทั้งประหยัดและง่ายต่อการใช้งาน” เว็บไซต์เทควันโดแห่งสหภาพยุโรป ระบุ

เมื่อความนิยมพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด ในปี 1988 เทควันโด ก็ได้รับการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในฐานกีฬาสาธิตที่โอลิมปิก ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามกว่าจะได้เป็นกีฬาชิงเหรียญอย่างเป็นทางการก็ต้องรออีก 12 ปีหรือในปี 2000 เทควันโดจึงถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกจนมาถึงปัจจุบัน

กีฬาของทุกคน

ปัจจุบันเทควันโดมีผู้ฝึกสอนประมาณ 80 ล้านคนใน 210 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง รวมถึงผู้ลี้ภัยด้วยเช่นกัน แม้แต่ในค่ายลี้ภัยอัซราคในจอร์แดน ที่ชาวซีเรียได้หลบเลี่ยงสงครามกลางเมืองมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ต่างก็ฝึกกีฬาชนิดนี้อย่างไม่ขาดสาย

พวกเขาอาจใช้มันเป็นวิธีป้องกันตัวเองจากอันตรายต่าง ๆ หรือบางคนก็อาจมองว่านี่เป็นหนทางที่จะเปลี่ยนชีวิตได้ นับตั้งแต่ปี 2000 ศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีใต้นี้ก็ได้มอบเหรียญให้กับประเทศต่าง ๆ มากมายแทบไม่ซ้ำกันเลย

ไอวอรีโคสต์และจอร์แดนได้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรกในกีฬาเทควันโด เช่นเดียวกับไต้หวัน ไนเจอร์ เวียดนาม และกาบองที่คว้าเหรียญเงินมาได้เป็นครั้งแรก แม้แต่อัฟกานิสถานเองก็ยังเคยคว้าเหรียญทองแดงเพียงเหรียญเดียวของประเทศจากเทควันโด

“อุซเบกิสถานไม่เคยมีแชมป์โอลิมปิกในกีฬาชนิดนี้เลย” ยูลุกเบก ราชิตอฟ (Ulugbek Rashitov) ชาวอุซเบกิสถานวัย 19 ปี ผู้ที่คว้าเหรียญทองประเภทชาย 68 กิโลกรัมในโอลิมปิกที่โตเกียว กล่าว “มันเหมือนความฝัน”

สำหรับเหรียญแต่ละเหรียญที่ทุกคนได้ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ค่อยได้รับรางวัลในการแข่งขันระดับนานาชาตินี้ ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่งในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแค่ 3 เดือนหลังจาก อามัด อบูกฮาอัช (Ahmad Abughaush) นักเทควันโดชาวจอร์แดนที่ได้รับเหรียญทองในโอลิมปิกที่ริโอ ก็ทำให้ชุดเทควันโดถูกขายไปทั่วประเทศถึง 50,000 ชุด

“มันเป็นการพุ่งขึ้นของเทควันโด” นาซเซอร์ มาจาลิ (Nasser Majali) เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกจอร์แดนกล่าว “เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์”

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งทั้งในทางตรงและทางอ้อม ผู้คนหันไปออกกำลังกายมากขึ้นซึ่งเป็นผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น และความนิยมที่สูงขึ้นก็กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ชัยชนะในเทควันโดจึงมีคุณค่ายิ่งกว่าเหรียญทองหรือสถิติใด ๆ มันเป็นแรงบันดาลใจและเป็นความหวังให้กับทุกคน

ปัจจุบัน ชาวเกาหลีใต้ยังคงเป็นกลุ่มหลักที่เผยแพร่กีฬาเทควันโดไปในทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะในค่ายผู้ลี้ภัยในจอร์แดน ตุรกี รวันดา และจิบูตี ซึ่งพื้นที่ระหว่างเต็นท์ที่เต็มไปด้วยฝุ่นก็สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับฝึกเทควันโดได้ มันได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยเล็ก ๆ ให้กับผู้คนที่ต้องเผชิญกับสงครามและความขัดแย้งทางการเมืองของผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

“เทควันโดเป็นกีฬาต่อสู้ แต่เราต้องการนำความรู้สึกของการมีส่วนร่วมอย่างสันติมาสู่การเคลื่อนไหวโอลิมปิก” ชเว ชุงวอน (Choue Chungwon) ประธานสมาคมเทควันโดโลกชาวเกาหลีใต้ กล่าว

ในโอลิมปิกที่โตเกียว มีนักสู้เทควันโด 3 คนที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย นักสู้สามคนที่ไม่มีใครรู้จักนั้นสวมหมวกกันน็อคเทควันโดลงต่อสู้อย่างมุ่งมั่น หนึ่งในนั้นคือ คิมิอา อาลิซาเดห์ (Kimia Alizadeh) นักสู้ชาวอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเหรียญรางวัลให้กับประเทศบ้านเกิดของเธอเมื่อปี 2016

“ทุก ๆ วัน มีประเทศใหม่ ๆ ที่ได้รับเหรียญรางวัล มีประเทศมากมายเหลือเกิน” ชุงวอน กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : สมาคมเทควันโด ประเทศไทย

ที่มา

https://www.nytimes.com

https://www.firstpost.com

https://www.britannica.com

https://www.usatkd.org

https://www.nbcolympics.com

https://europetaekwondo.org/taekwondo/

https://olympics.com/en/paris-2024/sports/taekwondo


อ่านเพิ่มเติม : โครโมโซม XY ในวงการมวยหญิง ความท้าทายของ ‘ชีววิทยา’ และ ‘กติกากีฬา’

Recommend