การผจญภัยสุดอัศจรรย์ของ ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน ชายผู้ล่องเรือเดินทางรอบโลกเป็นคนแรก

การผจญภัยสุดอัศจรรย์ของ ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน ชายผู้ล่องเรือเดินทางรอบโลกเป็นคนแรก

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน (Juan Sebastián Elcano) คือหนึ่งในนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ แต่เหตุใดเขาจึงไม่เป็นที่จดจำเท่า เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน นักเดินเรือชาวบาสก์ จากสเปน ร่วมในคณะของ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน ที่ไม่ได้ตั้งใจต้องการเดินทางรอบโลก แต่ต้องการหาเส้นทางเดินเรือไปยังหมู่เกาะโมลุกกะ หมู่เกาะเครื่องเทศในอินโดนีเซีย แล้วกลับทางเดิม

ทว่า หลังจากที่คณะของ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน ออกเดินทางไปจากเมืองเซบียาในสเปน มุ่งหน้าไปทางตะวันตก ผ่านอเมริกาใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ปี 1519 ด้วยกองเรือเรือ 5 ลำ รวมเจ้าหน้าที่และลูกเรือประมาณ 280 ชีวิต เมื่อเดินทางมาได้ครึ่งโลก เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน ต้องมาจบชีวิตที่ฟิลิปปินส์จากฝีมือของชาวพื้นเมืองที่เกาะมักตัน ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1521

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน จึงตกกระไดพลอยโจนรับหน้าที่นำเรือวิคตอเรียเดินทางกลับสเปน ผ่านทางมหาสมุทรอินเดียกับแอฟริกา เขานำเรือที่มีสภาพบอบช้ำยับเยินถึงบ้านเกิด ในปี 1522 โดย 16 เดือนหลังจากออกเดินทาง วิคตอเรีย คือเรือลำเดียวของคณะะสำรวจที่กลับมา และมีชาวคณะเหลือกลับมาพร้อมกับเรือเพียง 18 ชีวิตเท่านั้น ซึ่งลูกเรืออยู่ในสภาพขาดอาหารอย่างหนัก แต่สิ่งที่น่ายินดีคือพวกเขากลายเป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถเดินทางรอบโลกได้สำเร็จ

ประวัติ ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน เป็นนักเดินเรือชาวกัสติเลียน เกิดในค.ศ. 1486 ที่แคว้นบาสก์ ของประเทศสเปน มีพี่น้องสามคน เขาคือนักผจญภัย เคยนำกองกำลังต่อสู้กับกองทัพสเปนในแอลเจียร์และอิตาลี ก่อนที่จะตกต่ำลงมาเป็นกัปตันเรือและเจ้าของเรือเดินสมุทร

เอลคาโน ตั้งรกรากในเซบียาและกลายเป็นกัปตันเรือสินค้า ใน 1517 หลังจากติดหนี้ธนาคารจำนวนมากเรือของ ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน ถูกทางการสเปนยึด เขาต้องขอให้พระมหากษัตริย์ให้อภัยโทษ จักรพรรดิชาร์ลส์จึงเจรจากับ เอลคาโน ภายใต้เงื่อนไขว่า ลูกเรือและผู้เดินเรือที่มีทักษะต้องออกเดินทางหาแหล่งเงินทุน รวมถึงค้นหาเส้นทางใหม่ไปยังหมู่เกาะ Spice (ปัจจุบันเป็นเกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย) โดยการร่วมคณะที่มี เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน นำทาง

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน ได้รับตำแหน่งของนายเรือบน เรือคอนเซปซีออน หนึ่งในห้าลำของกองเรือที่นำโดย เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน เชื่อว่าโลกนี้มีขนาดเล็กกว่าที่เป็นอยู่จริง ส่วนเป้าหมายนอกจากการหาดินแดนใหม่ การนำเครื่องเทศอย่างอบเชยและกานพลูกลับไปสเปนถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ เพราะเป็นของลํ้าค่าที่มีคุณค่าอย่างมากในยุโรปในเวลานั้น

สำหรับ นายพล เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน เขาเชื่อว่าจะสามารถไปถึงตะวันออกไกลได้โดยการแล่นเรือไปทางตะวันตก เช่นเดียวกับที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เคยทำได้ แต่ทว่ากษัตริย์โปรตุเกสไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้ แมกเจลแลน จึงหันมาหาสเปน กราบทูลพระเจ้าชาร์ลส์ว่า อย่างน้อยที่สุดก็มีหมู่เกาะเครื่องเทศบางส่วนตั้งอยู่ในดินแดนที่ยังไม่ได้สำรวจในสเปนถึงครึ่งหนึ่ง พระเจ้าชาร์ลส์ จึงทรงสนับสนุน

การเดินทางรอบโลกของ ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน และกองเรือแมกเจลแลน

กองเรือแมกเจลแลน ที่ต้องการใช้เส้นทางใหม่เพื่อไปยังหมู่เกาะสไปซ์มีเรือในคณะ 5 ลำ คือ เรือวิกตอเรีย เรือซานอันโตนิโอ, เรือซานติเอโก, เรือทรินิแดด, , และ เรือคอนเซปซีออน พวกเขาออกเดินทางในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1519 ด้วยเส้นทางใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามระหว่างสเปนและโปรตุเกสในตอนนั้น

ในการเดินทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก การต่อต้านจากชนพื้นเมือง โดยมี อันโตนิโอ พิกาเฟตตา ขุนนางชาวอิตาลีคนหนึ่งบนเรือเป็นผู้บันทึกเรื่องราวการเดินทางว่า พวกเขาได้ข้ามเส้นศูนย์สูตร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1519 และเห็นบราซิลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม แต่ แมกเจลแลน คิดว่าเขาไม่ควรเดินทางเข้าใกล้อาณาเขตของโปรตุเกสมากไปกว่านี้ (ตอนนั้นบราซิลคือหนึ่งในดินแดนที่อยู่ในอาณานิคมของ โปรตุเกส) เพราะเขาเดินทางมาด้วยธงชาติสเปน เขาจึงทอดสมอใกล้กับบริเวณที่เป็นเมืองริโอเดอจานีโรในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม โดยได้รับการต้อนรับ จากชาวการ์รานี อินเดียน ซึ่งเชื่อว่าคนขาวคือพระเจ้า และจะนำแต่สิ่งดีๆ มายังพวกเขา เมื่อพวกเขาได้ตุนเสบียงไว้เพียงพอจึงเริ่มเดินเรือออกไปทางใต้ จนถึงพาตาโกเนีย (อาร์เจนตินา) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1520 แต่ก็เกิดเรื่องเศร้าเมื่อเรือซานติเอโกถูกส่งไปสำรวจทางใต้ล้วถูกพัดหายไปกับพายุโหมกระหน่ำ

เดือนสิงหาคม แมกเจลแลน ตัดสินใจเดินทางต่อไปทางใต้เพื่อหาเส้นทางไปสู่ ซีกโลกตะวันออก พวกเขาเริ่มเห็นช่องแคบในเดือนตุลาคม แต่แล้วในระหว่างการเดินทาง กัปตันเรือซานอันโตนิโอได้ตัดสินใจเลี้ยวเรือกลับสู่สเปน ซึ่งได้นำเสบียงจำนวนมากของกองเรือไปด้วย

เรือ 3 ลำคือ เรือวิกตอเรีย, เรือทรินิแดด และ เรือคอนเซปซีออน เดินทางผ่านช่องแคบไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนแมกเจลแลน เชื่อว่าหมู่เกาะเครื่องเทศนั้นอยู่ไม่ไกล แต่พวกเขากลับต้องเดินทางถึง 96 วันโดยไม่เห็นฝั่งเลย อีกทั้งบนเรือก็มีสภาพแย่มาก บรรดาลูกเรือมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินขี้เลื่อย เส้นหนัง และหนู ยังชีพ

ในที่สุด เดือนมกราคม ค.ศ. 1521 พวกเขาจึงแวะที่เกาะแห่งหนึ่งเพื่อกินอาหารมื้อใหญ่ และในเดือนมีนาคม พวกเขาก็เดินทางถึงกวม และเดินเรือต่อไปจนถึงฟิลิปปินส์ ในวันที่ 28 มีนาคม

หลังจากที่ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน เชื่อมสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ผู้ครองเกาะแห่งหนึ่ง เขาได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการรบระหว่างเผ่าโดยไม่จำเป็น และ เสียชีวิตจากการต่อสู้กับชนพื้นเมืองเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1521 จากนั้น ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองเรือแทน เขาตัดสินใจเผาเรือคอนเซปซีออนทิ้ง เพราะมีคนไม่พอในการควบคุมเรือ พร้อมพาผู้รอดชีวิตอีก 115 คน กับเรืออีก 2 ลำเดินทางไกลกลับบ้าน

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน พากองเรือแล่นเรือไปถึงหมู่เกาะโมลุกกะ (หมู่เกาะเครื่องเทศ) ในเดือนพฤศจิกายน และบรรทุกเครื่องเทศที่มีค่ามาในลำเรือจำนวนมาก เพื่อให้แน่ใจว่าอย่างน้อยจะมีเรือสักลำสามารถกลับไปสู่สเปนได้ เขาสั่งให้เรือทรินิแดดแล่นกลับไปทางตะวันออกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนเรือวิกตอเรียจะแล่นต่อไปทางตะวันตก แต่ต่อมาเรือทรินิแดดถูกชาวโปรตุเกสยึดไว้ ลูกเรือเกือบทั้งหมดถูกฆ่า

เรือวิกตอเรีย สามารถหนีการปล้นของกองเรือชาวโปรตุเกสในมหาสมุทรอินเดียได้ แล้วจึงแล่นเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1522 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 3 ปีที่เริ่มการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้ เรือวิกตอเรียและลูกเรืออีก 18 ชีวิต (รวม ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน กับ อันโตนิโอ พิกาเฟตตา) ได้เดินทางกลับถึงสเปน พวกเขาจึงได้ชื่อว่า เป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถแล่นเรือรอบโลกได้สำเร็จ

ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน ได้รับการยกย่องจาก จักรพรรดิชาร์ลส์ ด้วยการมอบเสื้อคลุมที่มีตราอาร์มลูกโลกอ่านว่า “primus circunddisti me” หรือ “You Went Around Me First” วลีที่หมายความว่า “คุณไปรอบ ๆ ตัวฉันก่อน” สื่อถึงการเดินทางครบรอบโลก

ต่อมา เอลคาโน ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำในการเดินเรือครั้งใหม่ของสเปน กับตำแหน่งแม่ทัพเรือ แต่การเดินทางรอบนี้กองเรือที่ยิ่งใหญ่ของเขาเจอโรคระบาด ลูกเรือล้มตายเป็นจำนวนมากหลังจากออกจากสเปนได้ไม่นาน

ตามบันทึก ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน เสียชีวิตด้วยโรคเลือดออกตามไรฟันใน วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1526 วันที่ 7 สิงหาคม ร่างของ เอลคาโน ถูกห่อด้วยผ้าห่อศพและมัดไว้กับกระดานด้วยเชือก หลังจากนั้นก็ถูกวางไว้บนดาดฟ้าของเรือ เมื่อทำพิธีศพเท่าที่พอจะทำได้เพื่อให้เกียรติ เอลคาโน แล้ว อลอนโซ เดอ ซาลาซาร์ แม่ทัพคนใหม่ ก็ให้กะลาสีเรือทิ้งศพของ เอลคาโน ลงทะเล เพราะกลัวเรื่องการแพร่ของโรคระบาด จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไป

ทำไม ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน จึงไม่มีชื่อเสียงเท่า เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน

แม้ว่า ฮวน เซบาสเตียน เอลคาโน จะมีรูปปั้นอยู่ในบ้านเกิดที่สเปน แต่ในระดับโลกเมื่อเทียบกับ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน น่าสงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่เป็นที่จดจำเท่านักเดืนเรือชื่อดังคนอื่นๆ ทั้งๆที่เขาพามนุษย์กลุ่มแรกเดินทางรอบโลกทางเรือได้สำเร็จ

ประการแรก น่าจะมาจากความโด่งดังของ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน นายพลผู้ยิ่งใหญ่ที่นำกองเรือฝ่าอุปสรรคในช่วงแรก หลายคนให้เครดิตเขาให้ฐานะที่เลือกใช้เส้นทางเดินเรือใหม่ และสามารถพาคณะเดินทางไกลได้กว่าครึ่งโลก ส่วน เอลคาโน สานต่อเพียงการพาคนที่เหลือกลับบ้าน ซึ่งสุดท้ายกลับมาเหยียบแผ่นดินสเปนได้ไม่ถึง 20 คน จุดนี้บางคนมองว่าเป็นความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ขณะที่ชื่อของ แมกเจลแลน ถูกนำไปใช้เรียก ช่องแคบแมกเจลแลน เนื่องจากเขาเป็นคนค้นพบเส้นทางเดินเรือนี้

ประการที่สอง ความขัดแย้งของ แมกเจลแลน กับ เอลคาโนว่ากันว่า ระหว่างอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เรือซานติเอโก หายไป เรือซานอันโตนิโอ ก่อกบฏหนีกลับ มีข่าวว่า เรือคอนเซปซีออน ที่มี เอลคาโน เป็นกัปตัน คิดจะเข้าร่วมกับ เรือซานอันโตนิโอ แต่ไม่ได้ทำ หลังจากนั้น แมกเจลแลน ก็ไม่ไว้ใจ เอลคาโน โดยบางคนสงสัยว่าการตายของ แมกเจลแลน นั้น เอลคาโน มีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ดังนั้นผู้คนจำนวนมากจึงเลือกที่จะเชิดชู แมกเจลแลน และหลงลืม เอลคาโน จุดนี้ไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ เนื่องจากคำบอกเล่าของ อันโตนิโอ พิกาเฟตตา อาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ด้วยความที่บันทึกของเขาต้องเกรงใจกัปตันคนใหม่ที่กลายเป็นแม่ทัพอย่าง เอลคาโน

ประการที่สาม การถูก ฟรานซิส เดรก นักสำรวจชาวอังกฤษที่เคยเป็นโจรสลัด ผู้ที่สามารถแล่นเรือรอบโลกครั้งที่สองได้สำเร็จในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1580 กลบรัศมี เพราะเรื่องราวของ ฟรานซิส เดรก น่าสนใจทั้งในแง่ของ เส้นทางเดินเเรือ ฟรานซิส เดรก พาเรือ 5 ลำเดินทางผ่านช่องแคบแมกเจลแลน ไปในโกลเดน ไฮนด์ ช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1579 เขาก็เดินทางถึงชายฝั่งที่เป็นรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปัจจุบัน และยังเดินเรือต่อไปทางเหนือจนถึงบริเวณที่เป็นพรมแดนของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในปัจจุบัน จากนั้นเขาก็มุ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกในเวลา 2 เดือน เดรกเดินทางผ่านแถบอินดีส ข้ามมหาสมุทรอินเดีย และอ้อมแหลมกู๊ดโฮป เขาเดินเรือกลับไปยังพลีมัธด้วยทองและเครื่องเทศ พร้อมลูกเรือที่รอดชีวิตจำนวนมาก

นอกจากนี้ ฟรานซิส เดรก ยังถูกยกย่องให้เป็นกัปตันเรือคนแรกที่แล่นเรือรอบโลก เพราะ เอลคาโน ถูกมองว่าเป็นแม่ทัพเรือของทางการสเปนมากกว่ากัปตันเรือพาณิชย์

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/this-man-was-actually-first-to-sail-around-the-world

https://en.wikipedia.org/wiki/Juan_Sebasti%C3%A1n_Elcano

https://th.eferrit.com/ชีวประวัติของ-juan-sebastian-elcano/

อ่านเพิ่มเติม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากผู้สร้างข้อพิพาทสนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส สู่ฆาตกรและสัญลักษณ์การเหยียดผิว

Recommend