กรุงปารีสจากอุโมงค์ต้องห้ามไปจนถึงสุสานใต้ดินในตำนานที่ฝังศพของผู้คนกว่า 6 ล้านศพ เมืองหลวงฝรั่งเศสแห่งนี้มีทั้งด้านสว่างและด้านที่ลึกรวมถึงมืดมนซ้อนทับกันอยู่
หลายคนอาจไม่ทราบว่า อนุสาวรีย์ โบสถ์อันงดงาม สถาปัตยกรรมต่างๆ และสถานที่อันเป็นเอกลักษณ์ของปารีสถูกสร้างขึ้นจากหินปูนที่ขุดขึ้นมาจากเขาวงกตอันกว้างใหญ่ของเหมืองใต้ดินตั้งแต่สมัยยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15)
อุโมงค์ขนาดยาวแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมายาวนาน ไม่ได้อนุญาตให้ใครเข้าไปยุ่ง แต่ต่อมาก็มีนักสำรวจแอบบุกเมืองใต้ดินผ่านทางท่อระบายน้ำและหาประตูเข้าไปได้ เรื่องราวของเมืองใต้ดินจึงกลายมาเป็นตำนานเมืองที่มีเรื่องเล่าถึงมากมาย แต่ก็ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวฝรั่งเศส เด็กวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวที่สนใจไคร่รู้ โดยมีคำเรียก เด็กนักเรียน หรือ กลุ่มวัยรุ่น ที่ชอบลงไปท้าทายความมืดในอุโมงค์ใต้ดินว่า Cataphile
ต่อมากำแพงเหมืองเก่าถูกพ่นสีเป็นกราฟฟิตี้ มีนักจัดอีเวนท์ลงไปเนรมิตดิสโก้เธคตอนกลางคืน มีการแสดงงานศิลปะที่ผิดกฎหมาย และการทำโรงภาพยนตร์ลับใต้ดิน
อนึ่ง คำว่า Cataphile ตั้งชื่อตามสุสานใต้ดินที่เป็นส่วนหนึ่งของเหมืองร้าง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งของสุสานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สุสานใต้ดินแห่งนี้ทอดยาวเกือบ 1 ไมล์ใต้เขตที่ 14 ทางตอนใต้ของกรุงปารีส เป็นที่ฝังศพของชาวปารีสประมาณ 6 ล้านคน
สุสานใต้ดินปารีส Catacombs อาณาจักรแห่งความตาย
ในช่วงศตวรรษที่ 18 สุสานใต้ดินปารีส หรือ Catacombs ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึง Les Innocents สุสานที่ใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่ชาวเมืองประสบปัญหาไม่มีพื้นที่เพียงพอในการฝังศพ มีการร้องเรียนเรื่องการฝังศพที่ไม่ถูกต้อง ปากหลุมถูกเปิดทิ้ง ศพที่ไม่ได้รับการฝัง จนส่งกลิ่นเหม็นและเกิดเชื้อโรคมากมาย กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งในปี 1780 เกิดฝนตกหนักยาวนาน กำแพงของสุสาน Les Innocents ถล่มลง ส่งผลให้ศพที่เน่าเปื่อยไหลทะลักไปรอบบริเวณ ทางการฝรั่งเศสต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 1786 เจ้าของเหมืองถ่านหินผู้ศรัทธาในคริสตศาสนาได้มอบเหมืองใต้ดินให้ใช้เป็นสุสานแห่งใหม่ การขุดเคลื่อนย้ายศพจากสุสานต่างๆ ทั่วปารีสมาไว้ที่เหมืองจึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะในตอนนั้นใต้ดินคือสถานที่ฝังศพถูกกฎหมายเพียงแห่งเดียว
ทั้งนี้ การออกแบบของสุสานใต้ดินปารีสได้รับแรงบันดาลใจจากสุสานใต้ดินแห่งกรุงโรม เวลาผ่านไปนับสิบปี จำนวนร่างไร้วิญญาณที่ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ที่นี่ก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนต้องใช้วิธีการวางเรียงซ้อนกันขึ้นจนเป็นผนังหัวกะโหลกและกระดูกสูงท่วมหัว ส่วนศพของผู้เสียชีวิตใหม่ก็ถูกนำมาไว้ในนี้เช่นกัน จนการเคลื่อนย้ายเสร็จสิ้นในปี 1860
หลังจากกลายเป็นสุสานใต้ดินอย่างสมบูรณ์ เหมืองใต้ดินแห่งนี้ก็หยุดรับศพเพิ่ม และถูกปิดตายนานกว่า 7 ปี ทว่าต่อมาทางการฝรั่งเศสก็ตัดสินใจเปิดให้เข้าไปเยี่ยมชมได้ในพื้นที่เล็กๆ ของอุโมงค์เหมืองที่ยาวกว่า 300 กิโลเมตร จนต่อมากลายเป็น 1 ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมประจำกรุงปารีส แต่ก็มีปัญหาตามมาคือ เกิดความพยายามบุกรุกเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามซึ่งไม่เปิดให้เข้าชม และมีการเข้าไปดัดแปลงใช้ประโยชน์ในพื้นที่บางส่วน จนในปี 1955 ทางการฝรั่งเศสได้ออกข้อบังคับใหม่ให้การบุกรุกพื้นที่เหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย ทางการฝรั่งเศสได้เริ่มโครงการบูรณะสุสานใต้ดินครั้งใหญ่ โดยโครงการนี้เริ่มต้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้สาธารณชนเข้าชมประมาณปี 2026
Metro โครงข่ายรถไฟและเมืองใต้ดิน
Metro หรือเครือข่ายรถไฟใต้ดินของกรุงปารีสถือเป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนหลักในประเทศ และได้ชื่อว่าเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่หนาแน่นที่สุดในโลก มีเส้นทางทั้งหมด 16 สาย ส่วนมากมักจะอยู่ใต้ดินและมีความยาวทั้งสิ้น 213 กิโลเมตร และมีสถานีประมาณ 298 แห่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวปารีสนับตั้งแต่มีการเปิดเส้นทางแรก ระหว่าง Neuilly และ Vincennes ในปี 1900 เครือข่ายนี้ไม่เพียงแต่เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนเมืองใต้ดินขนาดย่อม รวมถึงเป็นสะพานเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมและศิลปะ
ด้านล่างของสถานีต่างๆ ในกรุงปารีสเต็มไปด้วยงานศิลปะ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาสวยๆ เช่น สถานี Lourve-Rivoli ที่เป็นเส้นทางหลักไปสู่
พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ จัดแสดงรูปปั้นจำลองมากมาย แม้เพียงเดินในสถานีก็เหมือนกับได้ชมแกลเลอรีในพิพิธภัณฑ์แล้ว ส่วนสถานี Arts et Métiers สาย 11 ก็เรียงรายไปด้วยทองแดงซึ่งมีลักษณะคล้ายภายในของเรือดำน้ำจากเรื่อง Twenty Thousand Leagues Under the Sea และ สถานี Cité ศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของปารีส อยู่บริเวณใต้แม่น้ำแซน มีโครงสร้าง-การตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ก็มีชาวปารีเซียงจำนวนมากที่ไม่ชอบสถานีรถไฟใต้ดินของปารีส ทั้งจากความล่าช้าของรถไฟ รวมทั้งบางสถานีที่เก่าแก่ ทรุดโทรม มีกลิ่นเหม็น และมีหนูให้เห็น
การนั่งรถไฟใต้ดินที่ปารีสจึงสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ ทั้งสวยงามเต็มไปด้วยงานศิลปะและดีไซน์บนกำแพง กระนั้นก็มีด้านมืดมิดนากลัว อาทิ สถานีผีสิง ที่ถูกเล่าเป็นตำนานเมืองว่ามีวิญญาณสิงอยู่ โดยบริเวณใกล้กับ Théâtre de la Renaissance มีบันไดชุดหนึ่งลงไปยังประตูที่มีลายกราฟฟิตี้ เพื่อไปสู่สถานีผีสิง (แซงต์-มาร์ติน) ที่อยู่ระหว่างสถานีรถไฟใต้ดินสาย 8 และ 9 ซึ่งสถานีนี้เลิกใช้งานแล้ว แต่บน ชานชาลาของสถานีรถไฟใต้ดินสาย 9 ไม่เคยถูกปิดกั้น สามารถมองเห็นสถานีรถไฟร้างบรรยากาศสุดวังเวงแห่งนี้ได้
จนถึงปัจจุบัน ทางการฝั่งเศสก็ยังให้ความสำคัญกับรถไฟใต้ดินอย่างมาก ซึ่งเมื่อปี 2017 ปารีสเปิดตัวดีไซน์สถานีรถไฟใต้ดินใหม่รูปวงแหวนข้ามแม่น้ำ โดย 2 บริษัทออกแบบ Bjarke Ingels Group (เดนมาร์ก) และ Silvio D’ascia Architecture (ฝรั่งเศส) ร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างสถานีรูปวงแหวน (loop-shaped) ณ บริเวณสะพาน Bondy (Pont de Bondy) ให้เป็นสถานีเมโทรขนาดใหญ่ที่พร้อมตอบรับกับกิจกรรมเมืองอันหลากหลาย และตั้งเป้าว่าสถานีเมโทร Pont de Bondy จะเปิดให้บริการจริงได้ก่อนปีค.ศ. 2030
นอกจากนี้ ในช่วงโอลิมปิกที่ผ่านมา ระบบขนส่งสาธารณะแห่งกรุงปารีสของฝรั่งเศส หรือ RATP ได้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์แปลภาษา รองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ให้กับเจ้าหน้าที่กว่า 3,000 คน เพื่อช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนชาวต่างชาติจำนวนมาก ที่จะเดินทางผ่านเครือข่ายรถไฟใต้ดินในเมืองหลวงของฝรั่งเศส ในระหว่างมหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกปารีส 2024
ท่อระบายน้ำเชื่อมโยงทุกสิ่ง
ใกล้กับระดับถนน ท่อระบายน้ำได้สร้างความประทับใจให้กับสาธารณชนมาเป็นเวลานาน “ผู้มาเยือนเยี่ยมชมท่อระบายน้ำเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2410 ระหว่างงานนิทรรศการสากล” มิเกล “มิกา” แบร์ริชง égoutier (คนงานท่อน้ำทิ้ง) ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ที่พิพิธภัณฑ์ Paris Sewer Museum กล่าว “พวกเขาเอาเรือไปไว้ในคลองบางแห่ง” ความต้องการมีสูงมากจนต่อมามีการสร้างเกวียนอันหรูหราเพื่อใช้รับส่งสาธารณะที่อยากรู้อยากเห็นใต้ดิน
การปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำของกรุงปารีส เริ่มต้นจากพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้มีพระบัญชาให้ J.J. Berger ผู้ว่าราชการจังหวัดแซน พัฒนาระบบการสุขาภิบาลและการไหลเวียนของน้ำ หลังมีปัญหาอหิวาตกโรคระบาดนานถึงหกเดือน คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 19,000 ราย โดย บารอน George Eugene Haussmann ผู้ว่าราชการจังหวัดแซน และ Eugène Belgrand วิศวกรเป็นผู้ออกแบบท่อระบายน้ำ-น้ำประปาในกรุงปารีส ได้รับงานต่อจาก J.J. Berger ลงมือก่อสร้างระบบประปาในปารีสให้เป็นระบบประปาแบบท่อคู่ รวมถึงระบบท่อน้ำทิ้ง โดยใช้หลักแรงโน้มถ่วง ทำให้ใช้เครื่องสูบน้ำไม่มากนัก ก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ.1851-1854 กระทั่งในปี ค.ศ.1878 สามารถสร้างสำเร็จเป็นระยะทางถึง 600 กิโลเมตร ต่อมาลูกศิษย์ของ Belgrand ก็ได้สานการก่อสร้างต่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 ถึง 1977 ได้เป็นความยาว 1,000 กิโลเมตร
ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมมากในเรื่องประสิทธิภาพว่าไม่มีเมืองใดในโลกที่มีเครือข่ายท่อระบายน้ำที่ยอดเยี่ยมเท่ากรุงปารีส ปัจจุบันระบบประปาและระบบน้ำทิ้งของกรุงปารีสมีความยาวถึง 2,100 กิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียได้ถึงวันละ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอุโมงค์มีทั้งท่อน้ำดื่ม ท่อน้ำใช้ และท่อระบายน้ำ รวมทั้ง ยังมีสายไฟ สายเคเบิลโทรคมนาคม และการจัดการสายไฟจราจร และการสร้างท่อระบายน้ำที่เป็นเลิศทางวิศวกรรมเช่นนี้ทำให้กรุงปารีสไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1910 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงปารีสไม่สามารถรองรับฝนตกหนักได้ เช่นเดียวกับหลายเมืองใหญ่ของยุโรปที่มีระบบบำบัดน้ำเสียอายุมากกว่าศตวรรษก็กำลังประสบปัญหาเดียวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลให้ฝนตกหนักขึ้นบ่อยครั้ง จนสถานการณ์การระบายนํ้าในยุโรปเลวร้ายกว่าเดิม เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องความสะอาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ง่าย และรังหนูที่มีหนูตัวขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในระบบท่อระบายน้ำของเมืองซึ่งสร้างปัญหาให้ชาวบ้านพอสมควร
ปัจจุบันเครือข่ายท่อน้ำทิ้งและอุโมงค์ใต้ดินกรุงปารีสมีระยะทางรวมถึง 1,662 ไมล์ เทียบเท่ากับการเดินทางไปกลับสองครั้งระหว่างเมืองปารีสถึงเมืองมาร์กเซย์ ตอนนี้ต้องมีเจ้าหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและถือเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับก๊าซพิษ ดูแลความปลอดภัยตามจุดต่างๆ นำทางในเขาวงกตใต้ดิน ผู้เสียสละเหล่านี้ทำให้เมืองใต้ดินแห่งนี้มีชีวิตชีวา ทั้งสำหรับชาวปารีสและนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทั่วโลก
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพโดย Stephen Alvarez
ข้อมูลอ้างอิง
อ่านเพิ่มเติม : ชุบชีวิต ถนนแอปเปียน ถนนโบราณที่มาสำนวน ‘ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม’