ค้นพบ”อาณาจักรมายา”ซ่อนตัวใต้ผืนป่ากัวเตมาลา
การค้นพบครั้งล่าสุดนี้นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมมายา ทีมนักวิจัยประกาศการค้นพบซากปรักหักพังของบ้านเรือนกว่า 60,000 หลัง, พระราชวัง, ทางหลวง และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ โดยทั้งหมดนี้ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนป่าทางตอนเหนือของกัวเตมาลา
ด้วยเทคโนโลยี ไลดาร์ (LiDAR ย่อมาจาก Light Detection And Ranging) ลำแสงเลเซอร์ที่ช่วยฉายภาพของภูมิทัศน์แบบปราศจากผืนป่าและต้นไม้ทั้งหมด ภาพที่ทีมวิจัยได้นั้นเผยให้เห็นถึงร่องรอยและซากปรักหักพังของอาณาจักรมายาที่มีเครือข่ายอันซับซ้อนมากกว่าที่เคยคิดกันไว้
“ภาพถ่ายจากไลดาร์ช่วยให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ในอดีตเคยมีการตั้งถิ่นฐานที่หนาแน่นมากขนาดไหน รวมทั้งจำนวนของประชากรที่เราเคยประมาณตัวเลขเอาไว้นั้นก็ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก” Thomas Garrison นักโบราณคดีจากสถาบันวิจัย Ithaca และหนึ่งในนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว ตัวเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลสำหรับงานด้านโบราณคดีโดยเฉพาะ โดยโครงการสำรวจครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ PACUNAM องค์กรในกัวเตมาลาที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยเฉพาะ
โครงการดังกล่าวได้สร้างแผนที่ขนาด 2,100 ตารางกิโลเมตร ของอารยธรรมมายาที่ถูกค้นพบในภูมิภาค Petén ของกัวเตมาลาขึ้น และนับเป็นแผนที่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีไลดาร์
ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า อาณาจักรมายาที่เกิดขึ้นในอเมริกากลางนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 1,200 ปีก่อน และมีความยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับอารยธรรมกรีกและจีน แทนที่ผู้คนจะอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายบางเบาเช่นที่เคยเข้าใจกันมาเมื่อในอดีต
นอกเหนือจากซากของสิ่งปลูกสร้างจำนวนหลายร้อยแห่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแล้ว ภาพถ่ายจากไลดาร์ยังฉายให้เห็นถึงร่องรอยของทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างศูนย์กลางของเมืองกับเหมืองหิน ทั้งยังมีระบบชลประทานที่ซับซ้อนสำหรับการเกษตรหรือหล่อเลี้ยงคนงานจำนวนมากมายภายในเมือง