ย้อนรอยการเดินทัพทางไกล รำลึกถึงการเดินทางอันยากเข็ญ ของกองทัพแดง เมื่อ 90 ปีก่อน

ย้อนรอยการเดินทัพทางไกล รำลึกถึงการเดินทางอันยากเข็ญ ของกองทัพแดง เมื่อ 90 ปีก่อน

ขณะยังคงเดินเท้าข้ามโลกเพื่อบอกเล่าเรื่องราว  ผู้สื่อข่าว พอล ซาโลเพก รำลึกถึงการเดินทางอันยากเข็ญของกองทัพแดง เมื่อ 90 ปีก่อน และประจักษ์ถึงพลังต่างๆ  ที่กำลังเปลี่ยนโฉมประเทศจีนในปัจจุบัน

เป็นเวลาร่วมสามปีแล้วที่ผมเดินเท้าข้ามประเทศจีน เมื่อสิ้นสุดลง ผมจะเก็บระยะทางได้ราว 6,760 กิโลเมตร เริ่มจากแถบตะวันตกเฉียงใต้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 แล้วเดินเนิบช้าขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ

ผมเลาะคร่าวๆ ไปตามเส้นสมมุติทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า เส้นหู หรือเส้นเฮย์เหอ-เถิงชง ซึ่งแบ่งภูมิภาคตะวันออกที่เขียวชอุ่มกว่าและมีประชากรหนาแน่น จากภูมิภาคตะวันตกที่แห้งแล้งและมีผู้คนเบาบางกว่า ผมไม่พบเห็นชาวจีนขับขี่ยวดยานผ่านเส้นทางเดินเท้าของผมเท่าไรนัก  ในประเทศที่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน บางทีก็รู้สึกแปลก ชอบกลที่โลกจรดเส้นขอบฟ้าเป็นของผมคนเดียว นั่นไม่ได้หมายความว่า ผมไม่ได้พบพานผีสางวิญญาณจากอดีตเลย

เมื่อคุณเดินเท้าท่องโลก และผมก้าวเดินจากแอฟริกามุ่งหน้าสู่อเมริกาใต้มาเกือบ 12 ปีติดต่อกันแล้ว เพื่อตามรอยเส้นทางที่บรรพบุรุษยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเราใช้บุกเบิกออกจากแอฟริกา คุณจะเริ่มอ่านภูมิประเทศเหมือนแผ่นจารึกทับซ้อน ประเทศจีนเป็นเช่นนั้น ภูมิทัศน์ที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวเล่าขาน

ในมณฑลยูนนาน ผมย่ำเดินไปตามถนนพม่า (Burma Road) ที่ชะล้างด้วยหยาดเหงื่อและเลือดของแรงงานชาวบ้าน 200,000 คนในสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นผมไล่ตามหาถนนเรียงหินที่หลงเหลืออยู่ของเส้นทางสายไหมอายุนับก็คือฉางเจิง หรือการเดินทัพทางไกล (The Long March)

เด็กนักเรียนจีนทุกคนรู้เรื่องเล่าขานนี้ดี ย้อนหลังไปเมื่อปี 1934 ซึ่งจะครบ 90 ปีในเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ โซซัดโซเซฝ่าสงครามกลางเมืองอันเลวร้าย พรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งก่อตั้งและกองทัพแดงที่ประกอบด้วยชาวไร่ชาวนาเป็นส่วนใหญ่ ถอยทัพจากฐานที่มั่นทางภาคใต้ของจีน หลังพ่ายแพ้อย่างหนักต่อรัฐบาลจีนชาตินิยมของเจียงไคเช็ก เพื่อหลบหนีการถูกทำลายล้างจนสิ้นซาก เหล่าสหายคอมมิวนิสต์พากันเดินเท้า พวกเขาออกเดินทางล่าถอยเป็นระยะทางรวม 9,650 กิโลเมตร ผ่านเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก ข้ามแม่น้ำลำธารที่มีปืนใหญ่คุ้มกัน ฝ่าหนองบึงที่ผู้คนและสัตว์บรรทุกสัมภาระถูกกลืนหาย ขบวนอพยพมีกองทหารและผู้สนับสนุนทั้งชายหญิงและเด็กกว่า 80,000 คนในตอนแรก หนึ่งปีต่อมา มีเพียง 8,000 คนที่ยังไม่ล้มตาย หลังหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตามถ้ำในมณฑลชานซี ผู้อยู่รอดเหล่านี้ฟื้นฟูขบวนการปฏิวัติของตนขึ้นมาใหม่ และพอถึงปี 1949 พวกเขาจะครอบงำจีนทั้งแผ่นดิน เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศนี้และโลกไปตลอดกาล

ระหว่างถูกไล่ล่าโดยกองทัพจีนชาตินิยมเมื่อปี 1935 กองทหารยาจกของเหมาต้องยึดสะพานหลูติ้งเหนือแม่น้ำต้าตู้ ให้ได้เพื่อใช้เป็นช่องทางหลบหนีสู่ความปลอดภัย พวกเขาทำสำเร็จ ปัจจุบัน สะพานคนเดินแห่งนี้เป็นจุดท่องเที่ยว ยอดนิยมบนเส้นทางการเดินทัพอันยาวไกล
เหมาเจ๋อตงซึ่งกระชับอำนาจในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างการเดินทัพอันยาวไกล เฝ้ามองเหล่าลูกค้า สูงวัยที่โรงน้ำชาแห่งหนึ่งในเมืองเผิงเจิ้น ขณะที่ประชากรสูงอายุของประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติทางประชากรก่อเค้าขึ้นแล้ว

“เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่มีการเดินทัพยาวไกลเทียบเท่าพวกเรา ไม่มีหรอก ไม่เคยมี” เหมา เจ๋อตง โอ้อวด เขาพลิกการล่าถอยของเหล่าสหายคอมมิวนิสต์ให้เป็นเรื่องราวของการเกิดใหม่อันเกรียงไกร          

ผมออกจากมณฑลยูนนานในช่วงวันแรกๆ ของปี 2022  ผ่านทางหมู่ยอดเขาห่มหิมะของเทือกเขาเหิงตว้าน ช่องเขาเตี้ยที่สุดยังสูงแตะ 4,200 เมตร และมีหิมะท่วมสูงถึงหน้าแข้ง เบื้องล่าง มณฑลเสฉวนทอดตัวแผ่กว้าง ผมกระเด้งกระดอนไปตามเนินหินลาดชันสู่อารามชื่อ มู่หลี่ ซึ่งมีพระชาวทิเบตพื้นเมืองชูตบาสกัน พวกท่านสวมจีวรกับรองเท้าบาสเก็ตบอลอเมริกัน ป้ายสีแดงขนาดยักษ์ที่แขวนทาบอยู่กับวัดเชิญชวนให้ “นับถือพุทธศาสนาที่มีแนวทางเฉพาะแบบจีน”

ประธานเหมากับสหายเดินทัพทางไกลของเขา เผชิญการต่อต้านดุเดือดที่พรมแดนพร่องออกซิเจนแห่งนี้ สำหรับพลพรรคคอมมิวนิสต์ผู้มาจากที่ราบลุ่มร้อนชื้นของจีน เทือกเขาที่เป็นพรมแดนของทิเบตเหล่านี้ไม่ต่างจากปราการอันแปลกแยก เป็นบ้านของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาวฮั่น หากเป็นส่วนผสมของชาวชนบทหลายชาติพันธุ์

ที่บ้านบนภูเขาห่างไกลของหม่าตู้จี้ล่ามู่กับสามี เปี้ยนตู้จี้ นักต้อนสัตว์ชาวทิเบตรุ่นที่สี่คู่นี้มีรายได้จากการผลิตชีสและเนยจามรีมากพอจะส่งลูกสองคนเรียนวิทยาลัยได้ แผนของเด็กทั้งสองหลังเรียนจบแล้วคือย้ายไปอยู่ในเมือง
ประเพณีวันมงคลสมรสของชาวจีนรวมถึงการละเล่นและการกลั่นแกล้ง ในภาพนี้ ไจ๋รุ่ย ผู้เป็นเจ้าบ่าว ขอจ้านเฉินซิน ผู้เป็นเจ้าสาว แต่งงานต่อหน้าครอบครัวและมิตรสหาย (เธอตอบตกลง) เช่นเดียวกับผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวนับล้านคนในจีน บ่าวสาวคู่นี้ทิ้งบ้านเกิดในชนบทไปทำงานในเมือง

การหยิบยื่นไมตรีจิตตามแบบฉบับกองทัพแดงว่าด้วยการนำสินทรัพย์ของขุนนางศักดินามาจัดสรรใหม่ ไม่ดึงดูดใจเท่าไรนักในหมู่ชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน

“ทหารกองทัพแดงเผชิญหน้าเป็นครั้งแรกกับประชากรที่ผนึกพลังเป็นปรปักษ์ต่อพวกเขา และความทุกข์เข็ญในช่วงนี้ของเส้นทางก็สาหัสกว่าทุกอย่างที่ประสบมา” เอ็ดการ์ สโนว์ เขียนไว้ใน ดาวแดงเหนือแผ่นดินจีน (Red Star Over China) หนังสือทรงอิทธิพลที่ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทัพทางไกลแก่ผู้อ่านในโลกตะวันตก 

ในฤดูใบไม้ผลิ ผมเดินไปจนถึงสะพานหลูติ้ง ฉากของศึกที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทัพทางไกล ศึกนี้เปิดฉากขึ้นเมื่อปี 1935 สิ่งที่ต้องช่วงชิงคือสะพานโซ่เหล็กที่ทอดข้ามแม่น้ำต้าตู้  ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เอ็ดการ์ สโนว์ บรรยายไว้อย่างลุ้นระทึกว่า “ทีละคน ทหารกองทัพแดงก้าวออกไปเสี่ยงชีพ และในจำนวนที่อาสาออกไปรบ สามสิบคนได้รับเลือก ระเบิดมือกับปืนยาวเมาเซอร์เหน็บอยู่กับหลังพวกเขา และในไม่ช้า พวกเขาก็ออกไปโหนอยู่เหนือแม่น้ำเชี่ยวกราก ยื่นมือสลับกันไปทีละข้าง เพื่อสาวเกาะสายโซ่เหล็ก”

ปัจจุบัน สะพานนี้เป็นจุดหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวเขตสีแดง หรือตามรอยประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์  (Red Tourism) 

ประธานเหมากับผมแยกทางกันชั่วคราวที่หุบผาแม่น้ำต้าตู้ ขบวนวิญญาณนักปฏิวัติของเขาเดินทัพขึ้นไปทางเหนือเพื่อหลบหลีกกองทัพจีนชาตินิยม  โดยหายตัวไปในทุ่งหญ้าและหนองน้ำกลางป่าเขาของมณฑลกานซู ผมหักเลี้ยวไปทางตะวันออก มุ่งหน้าสู่เฉิงตู เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน 

“ไม่มีผู้ใดอ้างสิทธิ์ในความยิ่งใหญ่ได้ หากยังไม่ได้พิชิตความสูงอันน่าเกรงขามของมหากำแพง” ประธานเหมาเขียนไว้ในช่วงใกล้สิ้นสุดการเดินทัพอันยาวไกลเมื่อปี 1935 ปัจจุบัน กังหันลมยาตราทัพบนแนวสันเขา ตรงข้ามกำแพงผุกร่อนช่วงพาดผ่านเขากวงอู้
ผิวน้ำใสราวกระจกของอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งใกล้กรุงปักกิ่ง สะท้อนภาพทิวเขาเสียดฟ้าและตุ๊กตาเป่าลม น้ำจากพุน้ำ บนเขาห่างไกลถูกผันมาหล่อเลี้ยงกรุงปักกิ่งหลายศตวรรษแล้ว ทุกวันนี้ แม่น้ำห่างไกลต่างๆ กำลังถูกเบี่ยงมาบรรเทาความกระหายของอภิมหานครแห่งนี้

หกเดือนต่อมา ในนครซีอาน ศูนย์กลางเมืองใหญ่แห่งถัดมาของผม การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีน ในช่วงโควิดถูกยกเลิกอย่างฉับพลัน ผมค้นพบเรื่องนี้เมื่อตกใจตื่นขึ้นมาในเช้าอันเงียบงันวันหนึ่งของเดือนธันวาคม   ไม่มีเสียงลำโพงตอนหกโมงเช้าเร่งเร้าให้ประชาชนออกไปตรวจพีซีอาร์ที่ดำเนินการโดย ต้าไป๋ หรือ “พี่ขาวตัวใหญ่”ในชุดพีพีอีป้องกันเชื้อโรค ผมกะพริบตามองอย่างง่วงๆ ออกไปนอกหน้าต่าง ในลานโรงแรมราคาถูกของผม แขกโรงแรมที่ผมเผ้ายังไม่หวีกำลังร้องรำทำเพลงอยู่  การประท้วงต่อต้านนโยบายการกักกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้นปะทุขึ้นตามเมืองใหญ่น้อยของจีนอยู่หลายวัน  ในยุคของเหมาเจ๋อตง เช่นเดียวกับสมัยของสีจิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบันของจีน การเสพติดระบอบรวมศูนย์อำนาจยังคงใช้ได้ผล จนกระทั่งมันไม่ได้ผลอย่างน่าหวาดหวั่น

ฤดูหนาวที่สองในประเทศจีน ผมออกจากนครซีอาน แล้วเดินเข้าสู่จักรวาลของเนินเขากับหุบห้วยแห้งแล้ง ทุกแห่งหนมีฝุ่นสีเหลืองสดปกคลุม บนถนน บนขนตาผม กระทั่งแสงอาทิตย์เองก็ฉาบฝุ่น มันคือดินลมหอบที่ถูกพัดพามาฝนละอองธุลีที่โปรยปรายมาตลอดหลายล้านปีจากทุ่งหญ้าสเตปป์ของมองโกเลีย นี่คือที่ราบดินลมหอบ (Loess) หรือที่ราบดินเหลือง (Yellow Earth Plateau) อันเลื่องลือ

ที่นี่ ผมเริ่มเห็นบ้านถ้ำที่เรียกว่า เหยาต้ง นับร้อยนับพันแห่ง

“อบอุ่นในฤดูหนาว เย็นสบายในฤดูร้อน” ถงเยว่ ชาวสวนแอปเปิ้ลอารมณ์ดีจากหมู่บ้านไป่ยเช่อ บอกจุดขาย ที่น่าจะเก่าแก่ย้อนไปถึงสมัยไพลสโตซีน “ค่าก่อสร้างก็ถูกด้วยค่ะ”

ที่พักของถงมองไม่เห็นจากระดับพื้นดิน ผมเกือบเดินผ่านเลยไปด้วยซ้ำ จากการขุดด้วยมือลึกตรงลงไปหกเมตร มันดูเหมือนลานบ้านที่ยุบลงไป มีประตูเจาะเข้าไปในฐานผนังแนวตั้งแต่ละด้าน โครงสร้างดังกล่าวเป็นผลผลิตอันชาญฉลาดของความยากจนและนวัตกรรม เหยาต้งจำนวนมากในปัจจุบันไร้คนอยู่อาศัย ผู้พำนักเดิมของพวกมันอพยพขึ้นจากหลุมไปอยู่ในเมืองกันแล้ว ด้วยมองโลกในแง่ดี ถงจึงดัดแปลงถ้ำของเธอเป็นโมเต็ลชนบท ผมเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกของเธอ

ห้องหับใต้ดินของเธอสะอาดสะอ้าน เย็นยะเยือก ละม้ายหลุมหลบภัย รุ่งสาง หลังอาหารเช้าเป็นบะหมี่บักวีตของถง ผมสวมเสื้อหนาว ยกเป้ขึ้นสะพาย แล้วก้าวออกมาข้างนอก ท้องฟ้าเบื้องบนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เจิดจ้าในเฉดสีเหล็กกล้าแวววาว

ที่บ้านในหมู่บ้านชาวทิเบตแห่งหนึ่งในมณฑลเสฉวน คุณปู่เกาอุ้มหลานสาวก่อนกินมื้อเที่ยงกับครอบครัว ขณะที่อัตราการเกิดในจีนดิ่งลง และแรงงานหดตัวลง ชาวจีนกำลังเดินบนเส้นทางที่ไม่แน่นอนสู่อนาคต

สองร้อยหกสิบกิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือ ประธานเหมาก้มหน้าก้มตาอยู่กับโต๊ะทำงานในบ้านถ้ำของเขาอยู่หลายปีเพื่อคิดค้นลัทธิมาร์กซ์-เลนินที่มีแนวทางเฉพาะแบบจีน ผู้สื่อข่าวหญิงชาวอเมริกันใจห้าวชื่อ แอกเนสสเมดลีย์ เคยเป็นเยี่ยมประธานเหมาที่นั่นครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1930 และชกภรรยาของเหมาระหว่างเกิดเหตุทะเลาะถกเถียง

ผมอ่านเรื่องเล่าน่าสนใจเรื่องนี้บนแล็ปท็อปในร้านไก่ทอดเคนทักกี ขณะมีตำรวจนอกเครื่องแบบเฝ้ามองอยู่ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองเหยียนอันบนที่ราบสูงห่างไกล ซึ่งเป็นที่มั่นที่กองทัพแดงยึดได้หลังเดินมาแล้ว 368 วัน    ฝ่าเทือกเขามาแล้ว 18 เทือก  ข้ามแม่น้ำ 24 สาย และหลังสู้รบกับกองทหารของเหล่าขุนศึกกับกองทัพแห่งชาติของ  เจียงไคเช็กมาแล้ว 10 ครั้ง ที่นี่คือสถานีสุดท้ายของการเดินทัพทางไกล

 

เรื่อง พอล ซาโลเพก

ภาพถ่าย จอห์น สแตนเมเยอร์

แปล อัครมุนี วรรณประไพ


อ่านเพิ่มเติม : “กอบกู้ประวัติศาสตร์” เมื่อเรื่องเล่าของกลุ่มชนเสี่ยงต่อการสูญหาย ใครกันจะก้าวเข้ามารักษาไว้

Recommend