มนุษย์กลุ่มแรกในอเมริกาใต้ รอดชีวิตมาได้ด้วยการกินตัวนิ่มยักษ์

มนุษย์กลุ่มแรกในอเมริกาใต้ รอดชีวิตมาได้ด้วยการกินตัวนิ่มยักษ์

“มนุษย์ยุคโบราณ ล่าและเฉือนอาร์มาดิลโลยักษ์ด้วยหินเป็นอาหารเมื่อ 21,000 ปีก่อน

กระดูกของสัตว์ชนิดนี้เผยให้เห็นว่ามนุษย์เคยอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกามานานกว่าที่เคยเชื่อกัน”

นับตั้งแต่มนุษย์เดินทางออกนอกแอฟริกาและแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทว่ามีภูมิภาคแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนต้องใช้เวลายาวนานกว่ามนุษย์กลุ่มแรกจะเดินทางมาถึงนั่นคือ ทวีปอเมริกา ที่ได้กลายเป็นสถานที่สุดท้ายที่มนุษย์โบราณอาศัยอยู่ 

อย่างไรก็ตามคำถามที่ว่าพวกเขาเดินทางมาถึง ‘เมื่อไหร่’ กันแน่ยังเป็นที่ถกเถียงและไม่ค่อยเข้าใจดีนัก ก่อนหน้านี้มีการประเมินเบื้องต้นว่าน่าจะอยู่ที่ 13,000 ปีก่อนไปจนถึง 20,000 ปีก่อน กระนั้นก็ยังขาดหลักฐานทางโบราณคดีที่จะชี้ชัดลงไปว่าเป็นเวลาช่วงใดกันแน่ ทำให้ยังเกิดความสับสนอยู่เป็นจำนวนมาก

“จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ แบบจำลองดั้งเดิมระบุว่ามนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปนี้เมื่อ 16,000 ปีปฏิทินแล้ว” มิเกล เดลกาโด (Miguel Delgado) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาปลาตาในกรุงบัวโนสไอเรส กล่าว 

“ผลการศึกษาของเราร่วมกับหลักฐานอื่น ๆ ได้เสนอสถานการณ์ที่ชัดเจนสำหรับการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของมนุษย์ในทวีปอเมริกา นั่นคือ วันที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการเข้ามาของมนุษย์ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อระหว่าง 21,000 ถึง 25,000 ปีก่อนหรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ” เขาเสริม

ถกเถียงอย่างดุเดือด

แม้จะมีหลักฐานอยู่บ้างพอสมควร ช่วงเวลาของหลักฐานเหล่านั้นก็สร้างความสับสนอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น การค้นพบรอยเท้าที่กลายเป็นฟอสซิลที่ฝังอยู่ในโคลนเมื่อ 21,000 ถึง 23,000 ปีก่อนในนิวเม็กซิโก ซึ่งได้รับการบรรยายในปี 2021 ได้กลายเป็นหลักฐานล่าสุดที่ชี้ว่าผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกนั้นเดินทางมาถึงนานกว่าที่ใครเคยคิดไว้

อย่างไรก็ตามมันติดปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือช่วงเวลาดังกล่าวนั้นโลกยังอยู่ในยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อ 19,000 ถึง 26,000 ปีก่อน ในยุคนั้นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ 2 แผ่นได้ปกคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือและทอดยาวไปทางใต้สุดจนถึงนครนิวยอร์ก ซินซินแนติ และเดส์โมนส์ รัฐไอโอวา

แผ่นน้ำแข็งและอุณหภูมิที่เย็นจัดนี้ทำให้เชื่อกันว่าการเดินทางจากเอเชียไปยังอลาสก้า ซึ่งเป็นเส้นทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดนั้น กลายเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ กล่าวคือแผ่นน้ำแข็งยักษ์ได้ขวางทางเดินไว้ ดังนั้นมันจึงหมายความว่า หากมนุษย์อยู่มาก่อนหน้านี้ พวกเขาก็ต้องมาทีหลัง หลังจากน้ำแข็งละลายไปแล้ว

หลักฐานเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์งุนงงกับช่วงเวลาที่มนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแข็งที่สูญพันธุ์ไปแล้วจำนวนมาก ถือเป็น “หัวข้อที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือด” เดลกาโด กล่าว 

ทว่ากระดูกของอาร์มาดิโลยักษ์ในการศึกษาใหม่นี้ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของข้อมูล และอาจทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นภาพรวมของช่วงเวลาในอดีตได้ชัดเจนขึ้น 

“มนุษย์น่าจะปรากฏตัวในอเมริกาใต้เร็วกว่าที่เราคิดไว้มาก และเร็วกว่าที่คาดกันว่ามนุษย์จะเข้ามาในอเมริกาเหนือด้วยซ้ำ” นิโคลัส ราสโควัน (Nicolás Rascovan) นักชีววิทยาจากสถาบันปาสเตอร์ในฝรั่งเศสและหนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าว 

หลักฐานใหม่

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร PLOS ONE ทีมวิจัยได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตที่คล้ายอาร์มาดิลโลขนาดยักษ์ หลังจากที่รถขุดดินได้พบกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานของมันที่ริมฝั่งแม่น้ำเรกองกิสตาในเขตมหานครบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา 

การตรวจสอบเบื้องต้นให้ข้อมูลว่าสัตว์ชนิดนี้มีน้ำหนักราว 300 กิโลกรัม ยาว 1.8 เมตรและมีเกล็ดหุ้มเกราะปกคลุมอยู่เต็มตัว ทีมวิจัยระบุว่ามันคืออาร์มาดิลที่สูญพันธุ์ไปแล้วที่เรียกว่า ‘นีโอสเคลอโรคาลิปตัส’ (Neosclerocalyptus) ซึ่งเป็นอาร์มาดิลโลที่เล็กที่สุดในขณะนั้น แต่ก็ยังมหึมาเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

“สัตว์เหล่านี้มีความใกล้ชิดกับอาร์มาดิลโลที่ยังมีชีวิตอยู่” เดลกาโด กล่าว “ตัวอย่างที่เราพบนั้นเป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด” 

การระบุอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีชี้ว่าสัตว์ตัวนี้ตายไปเมื่อระหว่าง 20,811 ถึง 21,090 ปี ซึ่งในตอนแรกทีมวิจัยไม่พบหลักฐานว่ามันตายเพราะอะไรกันแน่ แต่ระหว่างการทำความสะอาดกระดูกอย่างระมัดระวัง พวกเขาก็พบรอยแผลตรง 32 รอย ซึ่งไม่ใช่การโดนกัดแทะจากสัตว์ฟันแทะ สัตว์กินเนื้อ หรืออุบัติเหตุอย่างแน่นอน 

ทีมงานจึงเปรียบเทียบรูปร่างของรอยแผลกับรอยที่น่าจะเกิดจากเครื่องมือหิน ไม่เพียงเท่านั้นร่องรอยเหล่านี้ดูเหมือนมุ่งเน้นไปยังบริเวณที่มีเนื้อของสัตว์อยู่มากที่สุด 

“รอยแผลไม่ได้กระจายอยู่แบบสุ่ม แต่เน้นไปที่โครงกระดูกที่มีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่เช่น กระดูกเชิงกรานและหาง” เดลกาโด กล่าว ดังนั้นจึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า มนุษย์อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มันตายหรืออย่างน้อยมนุษย์ก็เป็นผู้ตัดเฉือนเนื้อของอาร์มาดิลโลตัวนี้

“ผู้เขียนได้พิสูจน์ผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณว่ารอยตัดบนฟอสซิลอาร์มาดิลโลนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นฝีมือมนุษย์” บริแอนนา โพบิเนอร์ (Briana Pobiner) นักโบราณคดีมานุษยวิทยาและนักวิทยาศาสตร์วิจัยจากโครงการ Human Origins ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ให้ความเห็นว่าต้องมีการตีความอย่างระมัดระวัง เช่น เบน พ็อตเตอร์ (Ben Potter) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอลาสก้า แฟร์แบงก์ส ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาดังกล่าวว่า สิ่งที่น่าสังเกตก็คือไม่มีการพบหลักฐานเครื่องมือของมนุษย์ในบริเวณรอบ ๆ เลย

“ธงแดงคือการที่ไม่มีสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เกี่ยวข้องกับกระดูกเหล่านี้เลย” เขากล่าว ซึ่งปกติแล้ว “เครื่องมือหินและเศษซากนั้นควรจะมีอยู่ทั่วไปในแหล่งการทำงานของมนุษย์” 

ทีมวิจัยวางแผนต่อไปว่าจะขุดค้นบริเวณที่พบกระดูกดังกล่าวต่อไป โดยหวังว่าอาจจะเผยให้เห็นถึงหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่จริงต่อไป 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://journals.plos.org

https://www.earth.com

https://www.smithsonianmag.com

https://edition.cnn.com


อ่านเพิ่มเติม : ผลวิจัยใหม่ระบุ ชาวโคลวิสชนพื้นเมืองอเมริกันโบราณ

กินแมมมอธเป็นอาหารหลัก

 

 

Recommend