การค้นพบ มัมมี่ฟาโรห์ สภาพสมบูรณ์ร่างแรก 125 ปีก่อน และปริศนามัมมี่ที่หายไป

การค้นพบ มัมมี่ฟาโรห์ สภาพสมบูรณ์ร่างแรก 125 ปีก่อน และปริศนามัมมี่ที่หายไป

นักโบราณคดีต่างรู้สึกยินดีกับการขุดพบ มัมมี่ฟาโรห์ ในสภาพที่สมบูรณ์ ทว่าพวกเขากลับอดสงสัยไม่ได้ว่ามัมมี่อีก 12 ร่างที่ถูกฝังอยู่ในสุสานเดียวกันนั้นคือใครกันแน่

มัมมี่ฟาโรห์ – โดยปกติแล้ว สุสานหลวงแต่ละแห่งในหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) จะสร้างขึ้นเพื่อรองรับฟาโรห์เพียงพระองค์เดียว ห้องในสุสานเหล่านี้ถูกสร้างลึกเข้าไปในเขาหินใกล้กับที่ตั้งของเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นที่พำนักและเป็นสถานที่ป้องกันภัยให้แก่สมาชิกของราชวงศ์อียิปต์แต่ละพระองค์ในระหว่างการเดินทางไปสู่โลกหลังความตาย

ทว่าในปี ค.ศ. 1881 สุสานแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสุสานดีร์ เอล บาฮารี (Deir el-Bahari) บนเนินเขาธีบันกลับมีหลักฐานที่ขัดแย้งกับสมมุติฐานนี้ แทนที่จะพบมัมมี่เชื้อพระวงศ์เพียงร่างเดียวในสุสาน นักโบราณคดีกลับพบว่า ณ ที่แห่งนี้ยังมีมัมมี่อีกหลายร่างที่ถูกค้นพบ โดยนักอียิปต์วิทยาระบุไว้ว่าพบพระศพของฟาโรห์ในยุคจักรวรรดิอียิปต์ไม่น้อยกว่า 11 ร่าง ในจำนวนนั้นพบว่ามีมัมมี่ของฟาโรห์เซติที่ 1 ซึ่งร่างหายไปจากสุสานส่วนพระองค์ที่สร้างขึ้นอย่างงดงาม และมัมมี่ของฟาโรห์แรเมซีสที่  2 ผู้ยิ่งใหญ่

สุสานที่ถูกเรียกว่าสุสานลับของราชวงศ์แห่งนี้ (ผู้เชี่ยวชาญรู้จักในนามสุสานหมายเลข TT320 หรือ DB320) เดิมทีเป็นสถานที่เก็บร่างของมหาปุโรหิตแห่งอามุนและครอบครัวซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 960 ปีก่อนคริสตกาล ในปี ค.ศ. 1881 มีการค้นพบมัมมี่มากกว่า 50 ร่างในช่วงที่นักอียิปต์วิทยาเข้าไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากสุสานนี้ จากข้อมูลพบว่ามัมมี่หลายร่างที่ขุดพบนั้นเป็นร่างของฟาโรห์และราชินีที่หายไปจากสุสานส่วนพระองค์ที่สร้างไว้ แม้การค้นพบสุสานดีร์ เอล บาฮาจะทำให้ทราบว่ามัมมี่เชื้อพระวงศ์ที่หายสาบสูญไปนั้นแท้จริงแล้วถูกเก็บรักษาไว้ที่ใด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีมัมมี่จากแต่ละราชวงศ์อีกจำนวนมากที่ยังค้นหาร่างไม่พบ การค้นพบร่างฟาโรห์ที่ถูกนำไปซ่อนเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1898 ณ สุสานของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 หนึ่งในผู้ปกครองที่เกรียงไกรที่สุดของอียิปต์

มัมมี่ฟาโรห์, สุสานฟาโรห์
สถานที่พักผ่อนของมัมมี่เชื้อพระวงศ์: บริเวณพื้นห้องที่ลดระดับลงคือจุดที่โลงศพของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ตั้งไว้ ในปี ค.ศ. 1898 การค้นพบโลงศพที่ยังมีมัมมี่ของฟาโรห์บรรจุอยู่นั้นสร้างความประหลาดใจให้กับคณะสำรวจสุสานเป็นอย่างมาก Photograph by KENNETH GARRETT/NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

การตามหาร่าง มัมมี่ฟาโรห์ ที่สูญหาย

ในปี ค.ศ. 1897 หลังวิคเตอร์ โลเร็ต นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการขององค์การโบราณวัตถุสถานแห่งอียิปต์ ชายที่มีชื่อเสียงด้านอียิปต์วิทยาผู้นี้ก็ทุ่มความสนใจและแรงกายของเขาให้กับพื้นที่รอบ ๆ หุบเขากษัตริย์ซึ่งเป็นสุสานใต้ดินที่เก็บรักษา มัมมี่ฟาโรห์ พระองค์ต่าง ๆ ในยุคจักรวรรดิอียิปต์เอาไว้

ผ่านไปไม่นานนัก ความพยายามของเขาก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1898 โลเร็ตและคณะได้ค้นพบสุสานของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 3  หนึ่งในกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ของอียิปต์ จากการสำรวจพบว่าสุสานแห่งนี้ก็เคยถูกปล้นเช่นเดียวกับสุสานหลวงแห่งอื่น ๆ แต่ยังพอมีสมบัติของฟาโรห์นักรบองค์นี้หลงเหลือภายในสุสานอยู่บ้าง ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ 9 มีนาคม  หนึ่งในคณะขุดสำรวจสุสานของโลเร็ตก็สังเกตเห็นปากทางเข้าของสุสานอีกแห่งหนึ่ง ณ บริเวณเชิงเขาของแนวเขาหินที่โค้งรอบหุบเขากษัตริย์แห่งนี้ เมื่อทราบดังนั้นแล้วโลเร็ตจึงตัดสินใจเข้าไปสำรวจสุสานแห่งนั้นโดยมีราอิส (rais) หรือหัวหน้าคนงานซึ่งเป็นคนในพื้นที่คอยให้ความช่วยเหลือ

วิคเตอร์ โลเร็ต นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส ถ่ายเมื่อราวปี 1920 Photograph by ALAMY/ACI

เขาจุดเทียนก่อนจะเดินเข้าไปในสุสานที่เพิ่งค้นพบ ภายใต้แสงสลัวของเทียน โลเร็ตและราอิสพบอูชับติ (Ushabti) หรือรูปแกะสลักขนาดเล็กอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของสุสาน บนตัวของอูชับติที่พบนั้นมีการสลักชื่อของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรชายของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 3 เอาไว้ เบาะแสที่พบนั้นน่าสนใจไม่น้อย ทว่าชื่อบนรูปสลักนั้นยังไม่ชัดเจนพอที่จะระบุตัวตนของเจ้าของสุสานนี้ได้ ปากทางเข้าของสุสานและทางเดินที่ลาดชันทอดยาวเข้าไปในตัวภูเขา นำชายทั้งสองไปสู่โถงแคบ ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่เก็บสมบัติล้ำค่ามากมายไว้ แต่ในตอนที่พวกเข้าไปสำรวจกลับเหลือเพียงซากข้าวของเครื่องใช้เอาไว้ เห็นได้ชัดว่าสุสานแห่งนี้เคยถูกปล้นเอาสมบัติออกไปเมื่อนานมาแล้วเช่นเดียวกับสุสานของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 3 ด้วยเหตุนี้โลเร็ตที่ผิดหวังจากการสำรวจครั้งนี้จึงสันนิษฐานว่าคงไม่พบเจอสิ่งที่น่าสนใจในสุสานแห่งนี้

การสำรวจลึกเข้าไปในสุสาน

เมื่อสำรวจลึกเข้าไปตามเส้นทางของสุสาน โลเร็ตและราอิสก็พบว่าพวกเขาเดินมายังห้องโถงลักษณะสี่เหลี่ยมแนวยาวที่มีเสาตั้งอยู่สองต้น แสงสลัวจากเปลวเทียนช่วยให้ทั้งสองคนมองเห็นรูปร่างของ “เรือบรรทุกศพ” ที่ตั้งอยู่ในโถงนี้ได้  หลังจากนั้นโลเร็ตได้เห็นสายตาอันน่าสยดสองของสิ่งที่นอนอยู่บนเรือ เขาจดบันทึกไว้ว่า “ร่างของผู้ที่นอนอยู่บนเรือมีลักษณะดำคล้ำและน่าเกลียดน่ากลัว ใบหน้าที่บิดเบี้ยวของมันหันมาทางผม ราวกับว่ามันจ้องมองผมอยู่ บนกะโหลกมีผมยาวสีน้ำตาลเป็นกระจุกประปรายอยู่รอบหัว” โจรที่เข้ามาปล้นสมบัติดึงผ้าห่อตัวของมัมมี่ออก จากนั้นจึงนำเครื่องรางและเครื่องประดับต่าง ๆ ออกไป เหลือทิ้งไว้เพียงร่างเปลือยเปล่าของมัมมี่ในสภาพสมบูรณ์ไว้บนเรือ

การเคลื่อนย้ายมัมมี่เชื้อพระวงศ์: การวาดนี้คือการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1881 เมื่อสมาชิกขององค์การโบราณวัตถุสถานแห่งอียิปต์นำโดยกาสตัน มาสเพอโรขนย้ายมัมมี่ออกจากสุสานดีร์ เอล บาฮารีและเคลื่อนย้ายไปสู่กรุงไคโร Photograph by MARY EVANS/CORDON PRESS. COLOR: JOSÉ LUIS RODRÍGUEZ

ส่วนท้ายของห้องนี้มีบันไดที่นำไปสู่ห้องโถงขนาดใหญ่อีกห้อง ชายทั้งสองที่เดินลงไปอย่างระมัดระวังพบว่าพวกเขากำลังเดินอยู่ในโถงทางเดินสั้น ๆ ที่เป็นทางเชื่อมไปยังห้องโถงขนาดใหญ่ ภายในห้องนี้มีเสาหินเรียงกันอยู่หกเสา ผนังแต่ละด้านเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่สีค่อนข้างซีดและเริ่มจางลงแล้ว โลเร็ตและราอิสตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพบว่ามีชื่อของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 เขียนเอาไว้บนผนัง ชื่อบนผนังนี้เองที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าสุสานแห่งนี้อาจจะเป็นสถานที่พักผ่อนของหนึ่งในฟาโรห์ที่ทรงอำนาจที่สุดในยุคจักรวรรดิอียิปต์

หลังจากที่ทั้งสองเดินผ่านเศษไม้ เครื่องปั้นดินเผา และข้าวของเครื่องที่แตกกระจายตามพื้นมาได้ ลอเร็ตและราอิสก็พบกับบริเวณของห้องที่พื้นลดระดับลง ในบริเวณนั้นมีโลงหินขนาดใหญ่ที่ไร้ฝาปิดตั้งอยู่ ภายในโลงหินนั้นมีโลงศพปิดสนิทที่มีมงกุฎใบไม้แห้งวางอยู่ที่ท้ายโลงและมีมงกุฎดอกไม้วางไว้ที่หัวโลง หากมองข้ามความเละเทะที่โจรปล้นสุสานทำทิ้งไว้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าสิ่งที่โจรหลงเหลือไว้ให้พวกเขาคือสิ่งที่ยังไม่มีนักอียิปต์วิทยาคนไหนค้นพบมาก่อนอย่างมัมมี่ฟาโรห์ ในสภาพสมบูรณ์ที่ยังบรรทมอยู่ในโลงศพหินส่วนพระองค์

การยินยอมต่อพระเจ้า: รูปปั้นของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 แสดงท่าทางการขอพรจากเทพเจ้า ซึ่งทำได้โดยการนั่งคุกเข่าลงอย่างนอบน้อมต่อหน้าบรรดาทวยเทพและถวายเครื่องบูชา Photograph by ADAM EASTLAND ART + ARCHITECTURE/ALAMY

โลเร็ตทำการสำรวจสุสานต่อไปเรื่อย ๆ มัมมี่ถึงสามร่างในห้องที่อยู่ติดกับโถงนี้ทำให้เขาประหลาดใจมาก เมื่อเขาเข้าไปตรวจสอบมัมมี่พวกนั้นก็พบว่าผ้าที่ห่อหุ้มร่างทั้งสามนั้นถูกฉีกออกโดยโจรที่เข้ามา ใบหน้าและร่างกายของมัมมี่จึงไม่มีอะไรห่อไว้ ทว่าสุสานนี้ยังมีเรื่องที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้น โลเร็ตพบว่าที่หน้าประตูของอีกห้องหนึ่งมีก้อนหินขนาดใหญ่ขวางทางเข้าไว้ เขายกเทียนในมือขึ้นมาส่องดูว่าอะไรกันแน่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในห้องนี้ แสงสลัว ๆ ของเทียนทำให้เขามองเห็นโลงศพอีกเก้าโลง และห้าในเก้าโลงนั้นยังไม่ถูกเปิดออก

การเก็บรักษา มัมมี่ฟาโรห์

สุสานที่เพิ่งค้นพบซึ่งต่อมาถูกกำหนดชื่อไว้ว่าสุสาน KV35 นั้นอยู่เหนือความคาดหมายของทุกคนอย่างมาก โลเร็ตกลับมาที่สุสานนี้อีกครั้งเพื่อดำเนินการขุดและย้ายสิ่งของต่าง ๆ ออกมาจากสุสาน กล่องที่บุด้วยผ้าฝ้ายถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนย้ายร่างของมัมมี่ออกไป จากนั้นโลเร็ตจึงเคลื่อนหินที่ขวางห้องด้านข้างออกแล้วเริ่มตรวจสอบมัมมี่อีกเก้าร่างในห้อง

ผู้ช่วยของฟาโรห์: อูชับติที่ถูกสลักชื่อของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ตัวนี้นอกจากจะถือสัญลักษณ์อังก์ไว้ทั้งสองมือแล้วยังสวมเนเมสหรือผ้าคลุมศีรษะไว้ และใส่อูเรอุสหรือมงกุฎฟาโรห์แห่งอียิปต์ทับ Photograph by ALAMY/ACI

หลังจากปัดชั้นฝุ่นหนาที่เกาะอยู่ทั่วฝาโลงที่อยู่ใกล้ที่สุดออกได้ โลเร็ตอ่านชื่อของฟาโรห์แรเมซีสที่ 4 ที่ถูกสลักไว้บนฝาโลงนั้นด้วยความประหลาดใจ หลักจากที่ตรวจสอบโลงศพครบทุกโลงแล้ว โลเร็ตจึงแจ้งว่ามัมมี่ที่พบในสุสานนี้คือฟาโรห์ทั้งหมด 8 พระองค์ โดยพบร่างของฟาโรห์แรเมซีสที่ 4 ฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ฟาโรห์เมร์เนปทาห์ ฟาโรห์เซติที่ 2 ฟาโรห์ซิพตาห์ ฟาโรห์แรเมซีสที่ 5 และฟาโรห์แรเมซีสที่ 6 ในส่วนของโลงศพโลงที่เก้านั้นโลเร็ตแจ้งว่าเป็นมัมมี่ของหญิงสาวที่ไม่ทราบที่มาที่แน่นอน

สิ่งที่ทำให้นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศสคนนี้ค้นพบมัมมี่ฟาโรห์ที่ทั้งทรงอำนาจและมีชื่อเสียงในยุคจักรวรรดิอียิปต์ซึ่งถูกย้ายจากสุสานของตนมายังสุสานแห่งนี้คือความบังเอิญ เช่นเดียวกับการค้นพบมัมมี่ที่ถูกนำไปซ่อนในสุสานดีร์ เอล บาฮารีเมื่อ 16 ปีก่อน

มัมมี่ฟาโรห์
เสาต้นนี้คือเสาหนึ่งในหกต้นจากโถงห้องพระศพของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ซึ่งถูกตกแต่งด้วยภาพขณะฟาโรห์ได้รับชีวิตคืนจากโอไซริสหรือเทพแห่งความตาย ในส่วนของเพดานด้านบนนั้นตกแต่งด้วยภาพวาดดาวเพื่อสื่อถึงท้องฟ้ายามค่ำคืน Photograph by KHALED DESOUKI/AFP VIA GETTY IMAGES

การตรวจสอบมัมมี่ฟาโรห์

ถ้าหากสุสานนี้กลายเป็นที่ซ่อนของมัมมี่เชื้อพระวงศ์ทั้ง 8 พระองค์แล้ว มัมมี่ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ยังจะถูกเก็บไว้ในสุสานนี้อยู่หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้อยู่ในโลงหินซึ่งตั้งอยู่บริเวณห้องเก็บพระศพ ในตอนที่โลเร็ตพบโลงศพครั้งแรกนั้นเขาไม่ได้แตะต้องมัน แต่ในตอนนี้เขาพร้อมที่จะตรวจสอบมันนั้นอย่างละเอียดแล้ว

เมื่อโลเร็ตนำมงกุฎใบไม้แห้งออกจากท้ายโลงศพ เขากลับตกใจเมื่อพบว่ามงกุฎนั้นปิดรูบนฝาไม้ของโลงไว้ มีความเป็นไปได้ว่าแม้ทุกอย่างจะอยู่ในสภาพเดิมแต่จริง ๆ แล้วโจรได้นำร่างของมัมมี่ออกไปแล้ว หลังจากที่โลเร็ตเอื้อมมือเข้าไปในรูนั้นแต่สัมผัสได้เพียงความว่างเปล่า บรรยากาศตึงเครียดก็เริ่มก่อตัวขึ้นในขณะที่เขาและเพื่อนร่วมงานค่อย ๆ เปิดฝาของโลงออก และแล้วโลเร็ตก็ได้พบกับมัมมี่ในสภาพสมบูรณ์ที่อยู่ตรงหน้า

เขาพบว่าโลงศพที่บรรจุมัมมี่มีขนาดยาวว่าร่างที่อยู่ข้างในมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงสัมผัสไม่โดนอะไรขณะที่เอื้อมมือเข้าไปในรูที่ปลายโลง ท้ายที่สุดแล้วมัมมี่ร่างนี้ก็ได้รับการระบุว่าเป็นฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ผู้สินพระชนม์ไปเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาลหลังจากปกครองอียิปต์มาเกือบสามทศวรรษ

มัมมี่ฟาโรห์
การพักผ่อนของฟาโรห์: ร่างมัมมี่ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 บรรทมอยู่ในโลงศพของพระองค์ในสุสาน KV35 ต่อมาพระศพของฟาโรห์พระองค์นี้ถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโรในปี ค.ศ. 1931 และถูกย้ายไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมอียิปต์แห่งชาติในปี ค.ศ. 2021 Photograph by ALAMY/ACI

การตามหามัมมี่ฟาโรห์เชื้อพระวงศ์ที่หายไป

ร่างพระศพส่วนใหญ่ที่พบในสุสานของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 นั้นเป็นฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 18 (ประมาณ 1549 – 1292 ปีก่อนคริสตกาล) นอกจากนั้นยังพบว่ามีอีกหลายพระองค์ที่เคยเป็นฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 19 และ 20 ยุคจักรวรรดิอียิปต์สิ้นสุดลงในรัชสมัยของฟาโรห์แรเมซีสที่ 11 เมื่อประมาณ  1077 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ที่ 20 แห่งอียิปต์

การใช้สุสานที่มีอยู่แล้วในการปกป้องมัมมี่เชื้อพระวงศ์ในรัชสมัยก่อน ๆ นั้นเริ่มในช่วงการปกครองของราชวงศ์ที่ 21 (ประมาณ 1,077 – 950 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งนักอียิปต์วิทยาได้ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่มีการย้ายพระศพเช่นนี้เป็นเพราะในขณะนั้นสุสานของฟาโรห์แต่ละพระองค์ต่างถูกปล้น ด้วยความพยายามที่จะปกป้องบรรพบุรุษจากโจรเหล่านั้น นักบวชแห่งราชวงศ์ที่ 21 จึงเลือกย้ายพระราชศพไปยังสุสานดีร์ เอล บาฮารีซึ่งแต่เดิมเป็นสุสานสำหรับนักบวชชั้นสูง เมื่อสุสานแห่งแรกไม่สามารถรองรับบรรดามัมมี่เชื้อพระวงศ์ได้แล้ว สุสาน KV35 จึงกลายเป็นสถานที่ซ่อนแห่งต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี เห็นได้จากการที่ร่างของฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอียิปต์ได้ใช้ชีวิตหลังความตายที่สุสานนั้นโดยปราศจากการรบกวน จนโลเร็ตเริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่นี้ในปี ค.ศ. 1898

มัมมี่ฟาโรห์
หุบเขาแห่งความตาย: หุบเขากษัตริย์ในภาพเป็นสถานที่พำนักสุดท้ายของเหล่าฟาโรห์ผู้เคยปกครองอียิปต์ สุสานของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 หรือที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่า KV35 เองก็เป็นที่เก็บรักษามัมมี่เชื้อราชวงศ์จำนวนไม่น้อย Photograph by FERNANDO ESTRADA

มัมมี่ส่วนใหญ่ที่พบในสุสาน KV35 ถูกส่งต่อไปยังพิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร แต่มัมมี่ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ยังถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งในสุสานอยู่ อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1901 ได้มีกลุ่มโจรบุกเข้าไปในพื้นที่ของสุสานแล้วทำลายเรือบรรทุกพระศพ ทำลายมัมมี่ที่ถูกวางไว้บนเรือนั้น และขโมยชิ้นส่วนของร่างกายฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 ไป ฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักอียิปต์วิทยาผู้ที่ค้นพบสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมนในภายหลังได้ตามหาตัวผู้กระทำความจนพบและได้บูรณะร่างของมัมมี่ฟาโรห์ที่ได้รับความเสียหายในระหว่างการปล้น หลังจากนั้นมัมมี่ของฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ก็ถูกส่งกลับคืนสู่สุสาน เฉพาะในปี ค.ศ. 1931 เท่านั้นที่ร่างของอดีตฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 จะถูกขนย้ายไปที่กรุงไคโร

มัมมี่ฟาโรห์
มัมมี่สามตัวที่โลเร็ตพบในช่วงแรกของการสำรวจสุสาน KV35 นั้นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากทั้งสามร่างนี้ถูกดึงผ้าพันตัวออกจนเกือบหมดและถูกนำออกมาวางไว้นอกโลงศพ Photograph by BRIDGEMAN/ACI
มัมมี่ฟาโรห์
มัมมี่ชายอายุน้อยที่โกนหัวและมีปอยผมหนึ่งข้างตามแบบที่เด็กในสมัยนั้นทำได้ถูกระบุตัวตนไว้อย่างหลากหลาย บ้างก็ระบุว่าเป็นเจ้าชายเวเบนเซนู พระราชโอรสของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 2 บ้างก็ระบุว่าเป็นทุตโมส พระราชโอรสพระองค์โตของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 Photograph by BRIDGEMAN/ACI
มัมมี่ฟาโรห์
• มัมมี่ที่มีศีรษะเกลี้ยงเกลาซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นมัมมี่เพศชาย แท้จริงแล้วเป็นมัมมี่เพศหญิงที่มีชื่อเล่นว่า “หญิงสาววัยเยาว์” ในปี ค.ศ. 2010 เธอได้รับการระบุว่าเป็นพระราชมารดาของฟาโรห์ตุตันคาเมนผ่านงานวิจัยที่ใช้ดีเอ็นเอในการวิเคราะห์หาความเกี่ยวข้องทางสายเลือด Photograph by BRIDGEMAN/ACI

การค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนที่มีสภาพสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1922 โดยฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาการค้นพบเกี่ยวกับอียิปต์ แต่ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากการสำรวจสุสาน KV35 และสุสานดีร์ เอล บาฮารีที่โลเร็ตนำมาเปิดเผยก็มีส่วนช่วยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ทับซ้อนกันไปมาของตุตันคาเมนและบรรพบุรุษของพระองค์อย่างมาก เมื่อนำทั้งสองสิ่งนี้รวมเข้าด้วยกันแล้ว การค้นพบอย่างต่อเนื่องของอียิปต์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 และต้นทศวรรษที่ 1900 นั้นมีส่วนทำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องราวชีวิตและความสัมพันธ์ของฟาโรห์ที่เรืองอำนาจในอดีตที่ผ่านมาได้ดียิ่งขึ้น

เรื่อง ไมเต มัสคอร์ต (Maite Mascort)

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม หลุมศพที่ไร้การแตะต้องอายุ 4,400 ปี ในอียิปต์

Recommend