ท้าทายทฤษฎีดั้งเดิม การศึกษาซากมนุษย์อายุ 15,000 ปีชี้ให้เห็นว่า คนยุคหินกินพืชพอๆ กับเนื้อสัตว์

ท้าทายทฤษฎีดั้งเดิม การศึกษาซากมนุษย์อายุ 15,000 ปีชี้ให้เห็นว่า คนยุคหินกินพืชพอๆ กับเนื้อสัตว์

คนยุคหินส่วนใหญ่พึ่งพาการกินเนื้อสัตว์และล่าสัตว์หรือเก็บของป่า เพราะยังไม่มีการทำเกษตร แต่หลักฐานใหม่ๆ อย่างงานวิจัยชาวไอบีโรเมารูเซียนพบว่า คนยุคหินบางกลุ่ม โดยเฉพาะในแอฟริกาเหนือ กินพืชมากกว่าที่คิด

มีการศึกษาครั้งสำคัญที่ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสังคมก่อนยุคเกษตรกรรม โดยทีมวิจัยนานาชาติได้ค้นพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า นักล่าสมัยโบราณในโมร็อกโกกินพืชในปริมาณมากควบคู่ไปกับการกินเนื้อสัตว์ ขัดแย้งกับความเชื่อทั่วไปที่ว่านักล่าสมัยโบราณพึ่งพาการล่าสัตว์และการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นหลักอย่างเดียว

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์โดยนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ, ศูนย์ Géoscience et Environnement Toulouse และสถาบันวิทยาศาสตร์โบราณคดีและมรดกแห่งชาติของโมร็อกโก เผยให้เห็นแง่มุมใหม่ของวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เมื่อ 15,000 ปีก่อน ที่แตกต่างจากงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้า

ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่วัฒนธรรมไอบีโรเมารูเซียน (Iberomaurusian) มนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในแถบแอฟริกาเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ โมร็อกโก, แอลจีเรีย และ ตูนิเซีย ซึ่งมีการค้นพบซากชาวไอบีโรเมารูเซียนโบราณในถ้ำทาฟอรัลต์ (Taforalt) ในประเทศโมร็อกโก โดยพบว่านักล่าสมัยโบราณในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโมร็อกโก ทานอาหารที่เต็มไปด้วยพืชมากจนน่าประหลาดใจ (อาจคิดเป็นสัดส่วนสูงเกิน 50% ของอาหารทั้งหมด)

สำหรับอาหารประเภทพืชของพวกเขามาจากการเก็บของป่าเป็นพืชในเขตเมดิเตอร์เรเนียน อาทิ ลูกโอ๊ก ถั่วพิสตาชิโอ และข้าวป่าชนิดต่างๆ ซึ่งมีการค้นพบซากพืชโบราณในบริเวณแหล่งโบราณคดีดังกล่าวที่พบร่างของชาวไอบีโรเมารูเซียน โดยท้าทายแนวคิดเดิมที่เชื่อว่าอาหารของมนุษย์ยุคแรกมุ่งเน้นไปที่โปรตีนจากสัตว์เป็นหลัก

ในส่วนของวิธีการวิเคราะห์ไอโซโตรปหลายชนิด รวมถึงเทคนิคใหม่ๆ อย่างการวิเคราะห์ไอโซโตรปสังกะสีและสตรอนเชียมในเคลือบฟัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจำลองรูปแบบการบริโภคอาหารของมนุษย์โบราณกลุ่มนี้ได้อย่างแม่นยำในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสรุปว่า กลุ่มชาวไอบีโรเมารูเซียนที่อาศัยอยู่ในยุคหินตอนปลาย (ประมาณ 15,000 ถึง 13,000 ปีก่อน) มีการบริโภคอาหารที่มีสัดส่วนจากพืชสูง ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดที่เชื่อกันมานานว่า เนื้อสัตว์มีบทบาทสำคัญในอาหารของมนุษย์ยุคหิน

หลักฐานจากซากโบราณและการหย่านมด้วยพืช

ซิเน็บ มูบตาฮิจ (Zineb Moubtahij) หัวหน้าทีมวิจัยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้นพบครั้งนี้ว่า “การค้นพบของเราไม่เพียงแต่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มมนุษย์ก่อนยุคเกษตรกรรม แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของกลยุทธ์การดำรงชีพของมนุษย์ในแต่ละภูมิภาค การทำความเข้าใจรูปแบบเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการไขความลับเรื่องการวิวัฒนาการของมนุษย์ในวงกว้าง”

การวิเคราะห์ซากมนุษย์ที่แหล่งฝังศพในถ้ำทาฟอรัลต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไอบีโรเมารูเซียน เปิดเผยให้เห็นหลักฐานการบริโภคพืชหลากหลายชนิด ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า พืชบางชนิดถูกนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับทารก โดยมีบทบาทคล้ายกับการเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยหย่านม ด้วยการนำอาหารจากพืชที่มีแป้งสูงมาผสมกับนํ้านมแม่ให้ทารกที่มีอายุตั้งแต่อายุประมาณ 12 เดือนดื่ม

ข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงความสามารถในการปรับตัวและการใช้ทรัพยากรพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการค้นพบนี้บ่งชี้ว่า ชุมชนก่อนยุคเกษตรกรรมอย่างไอบีโรเมารูเซียนอาจเริ่มการหย่านมให้ทารกเร็วกว่าที่นักวิจัยเคยสันนิษฐานไว้ ในสังคมยุคหินที่ต้องการแรงงานในการล่าสัตว์และหาของป่า

อย่างไรก็ตาม การใช้ไอโซโตรปสังกะสีที่เก็บรักษาอยู่ในเคลือบฟันเพื่อตรวจสอบรูปแบบการบริโภคอาหารของประชากรโบราณในแอฟริกา ถือเป็นแนวทางบุกเบิกใหม่ในวงการวิจัย เนื่องจากแอฟริกาเหนือมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์และการกระจายตัวของมนุษย์ยุคใหม่ เครื่องมือใหม่นี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถสำรวจรูปแบบการบริโภคอาหารและการปรับตัวของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั่วทั้งภูมิภาคได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ยุคหินที่เปลี่ยนแปลงไป

การค้นพบนี้ท้าทายความเชื่อเดิมที่ว่ามนุษย์หันมากินพืชมากขึ้นจากการพัฒนาเกษตรกรรมจนสามารถปลูกผัก-ผลไม้เองได้ แต่มนุษย์ยุคหินมีแนวทางการยังดำรงชีวิตที่ซับซ้อนและสามารถปรับตัวได้ดีกว่าที่คิดไว้ แม้ว่าจะยังไม่ได้ทำเกษตรกรรม ทว่าพวกเขาเป็นนักเก็บของป่าในธรรมชาติ โดยเฉพาะการเก็บพืชตามฤดูกาล

ผลการวิจัยระบุว่า ชาวไอบีโรเมารูเซียนน่าจะมีการเก็บพืชป่าตามฤดูกาลที่เหมาะสมด้วย เช่น การเก็บลูกโอ๊กในฤดูใบไม้ร่วงและการเก็บถั่วในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน และพวกเขาอาจมีการเก็บสะสมพืชเหล่านี้ไว้เพื่อให้มีอาหารตลอดทั้งปีอีกด้วย

นอกจากนี้ ผลวิจัยดังกล่าวยังเปิดประเด็นคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาเหตุที่แอฟริกาเหนือไม่ได้มีการพัฒนาการเกษตรขึ้นในช่วงต้นของยุคโฮโลซีน (ประมาณ 11,650 ปีปรับเทียบก่อนปัจจุบัน) ทั้งที่สังคมก่อนยุคเกษตรกรรมดูเหมือนจะพึ่งพาอาหารจากพืชอย่างมาก อาจมาจากการที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาบริโภคพืชจากการเก็บของป่าในยุคนั้น ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเก็บกินได้ตลอดทั้งปี

อนึ่ง ทีมวิจัยยังคงดำเนินการศึกษาที่แหล่งโบราณคดียุคหินเก่าแห่งอื่นๆ ในภูมิภาค พวกเขาหวังว่าจะสามารถทำความเข้าใจวิถีการบริโภคอาหารของมนุษย์โบราณได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมถึงผลกระทบของมันต่อกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพ :  Farida Zeynalova

ที่มา

Nationalgeographic

Moroccoworldnews


อ่านเพิ่มเติม ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอะไรบ้าง โลกเราแบ่งช่วงเวลาแห่งยุคสมัยอย่างไร?

Recommend