เปิดหลักฐานหายาก เมื่อชาวมายาไม่ได้ใช้ยาสูบเพื่อสูบเท่านั้น แต่พวกเขายังดื่มกินมันด้วย

เปิดหลักฐานหายาก เมื่อชาวมายาไม่ได้ใช้ยาสูบเพื่อสูบเท่านั้น แต่พวกเขายังดื่มกินมันด้วย

“แจกันหลายใบซึ่งถูกค้นพบในประเทศกัวเตมาลา

เป็นหลักฐานหายากที่พิสูจน์ให้เห็นว่าชาวมายาโบราณ

ไม่ได้ใช้ยาสูบเพียงเพื่อสูบและสูดดมเท่านั้น”   

การขุดค้นบริเวณพื้นที่ราบแถบชายฝั่งแปซิฟิกของประเทศกัวเตมาลา ได้พบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวมายามีการใช้ยาสูบในรูปแบบสารละลาย หรือของเหลว ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การเซ่นสังเวยบูชายัญ การชำระล้างร่างกาย และการคลอดบุตร

ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทำงานในแหล่งโบราณคดีเอล บาอุล (El Baúl) ที่ เมืองคอตซูมัลฮัวปา (Cotzumalhuapa) ประเทศกัวเตมาลา ได้ตรวจหาร่องรอยของโกโก้จากกลุ่มภาชนะใส่ของเหลวเซรามิกซึ่งขุดพบจากแหล่งที่สันนิษฐานกันว่า น่าจะเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมบางอย่างในช่วงวัฒนธรรมมายา นอกจากจะสามารถกำหนดอายุกลุ่มภาชนะเซรามิกนี้ได้ว่า น่าจะอยู่ในช่วงท้ายยุคคลาสสิกของชาวมายา (ระหว่างค.ศ. 600-900) แล้ว ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ยังมีการตรวจหาสารตกค้างอื่นๆ รวมทั้งยาสูบในกลุ่มภาชนะดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย  

ทันทีที่ห้องปฏิบัติการส่งผลผลวิเคราะห์สารตกค้างซึ่งพบในกลุ่มภาชนะเซรามิกมาให้ นั่นทำให้ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์  ต้องประหลาดใจไม่น้อย ออสวัลโด ชินชิยา มาซาริเอกอส (Oswaldo Chinchilla Mazariegos)หัวหน้าทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร History ว่า “พวกเราไม่คาดคิดมาก่อนว่า จะพบร่องรอยของสารนิโคตินในแจกันทรงกระบอกที่ออกแบบมาสำหรับใช้ดื่มกิน”  

พิธีกรรมเสี่ยงอันตราย 

รากเหง้าของวัฒนธรรมมายาสามารถสืบย้อนกลับไปได้ราว 2,600 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะแผ่ขยายอำนาจไปยังภูมิภาคอเมริกากลางดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเป็นประจักษ์พยานหลายแห่ง จนกระทั่งนครรัฐของชาวมายาถูกกองทัพสเปนเข้ารุกรานและพ่ายแพ้ตกเป็นอาณานิคมของประเทศสเปนในที่สุดเมื่อช่วงศตวรรษที่ 16 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมายาจะไม่เคยรวมตัวกันเป็นรัฐเดียวอย่างเป็นทางการ แต่ชาวมายาที่อาศัยอยู่ในนครรัฐต่างๆ ของภูมิภาคนี้ต่างก็มีสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงถึงกันไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา  

ข้อมูลและความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับชาวมายาโบราณ หลักๆ แล้วจะมาจากภาพวาด ภาพสลัก และข้อความที่พบบนเครื่องปั้นดินเผา เปลือกไม้ และจารึกตามแหล่งต่างๆ ในบรรดาหลักฐานเหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวมายาโบราณใช้ยาสูบในวิถีชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ซึ่งโดยปกตินิยมนำใบยาสูบมามวนเพื่อสูบและสูดควัน 

สำหรับชาวมายา การใช้ยาสูบแบบสูดดมจะพบได้บ่อยกว่าการบริโภคในรูปแบบสารละลาย หรือของเหลว ดังที่เห็นได้จากภาพวาดบนแจกันของชาวมายา ที่มีอายุในช่วงศตวรรษที่ 7 หรือ 8 จากเมืองติกัล ประเทศกัวเตมาลา

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างข้อมูลในช่วงศตวรรษที่ 16 ที่กล่าวถึงขี้ผึ้งสีดำชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “teotlaqualli”  ซึ่งมีความหมายว่า “อาหารของเทพเจ้า” ทำให้รู้ว่า ชาวมายาใช้ยาสูบในกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เพราะจากการศึกษาส่วนผสมของขี้ผึ้งสีดำนี้ นักวิชาการพบว่า ประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่าง ได้แก่ สัตว์มีพิษหลายชนิด ยาสูบ และเมล็ดพืชหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท สันนิษฐานกันว่า ชาวมายาใช้ขี้ผึ้งสีดำนี้เพื่อสื่อสารทางจิตวิญญาณด้วย 

แม้จะเคยมีการค้นพบร่องรอยของสารนิโคตินในภาชนะของชาวมายามาก่อนเมื่อปี 2012  แต่จากการค้นพบครั้งล่าสุดที่แหล่งโบราณคดีเอล บาอุล นี้ ก็ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้หลักฐานการใช้ยาสูบในรูปแบบสารละลาย หรือของเหลวเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเมโสอเมริกา  (Meso-american) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมตั้งแต่ตอนกลางของประเทศเม็กซิโก จนถึงตอนเหนือของประเทศคอสตาริกาในยุคก่อนการมาถึงของสเปน  

ด้วยความที่การดื่มกินยาสูบในรูปแบบสารละลาย หรือของเหลวนั้น มีพิษรุนแรงซึ่งมากพอที่จะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า ชาวมายาน่าจะใช้ยาสูบรูปแบบนี้ในพิธีกรรมบางอย่างที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ร่วมพิธีเกิดเกิดภาวะมึนงงเหมือนตกอยู่ในภวังค์ซึ่งเอื้อต่อการสื่อสารกับเทพเจ้า รวมถึงอาจนำมาใช้ลดความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ต้องถูกนำมาบูชายัญเซ่นสังเวยแด่เทพเจ้า  

การศึกษาที่ผ่านมายังพบว่า นอกจากการใช้ยาสูบแล้ว ชาวมายายังใช้สารอีกหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ภายใต้การควบคุมของนักบวช นัยว่า ให้สารเหล่านี้เป็นประตูเชื่อมต่อมนุษย์กับโลกแห่งวิญญาณ ตัวอย่างพืชที่ชาวมายาให้ความสำคัญ ได้แก่  

พืชลอยน้ำ (floating plant) ซึ่งเป็นพืชที่ลำต้น ใบ ดอก ลอยอยู่บนผิวน้ำและอากาศ ส่วนรากจะเจริญอยู่ใต้น้ำ เป็นพืชที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงการมีชีวิตอยู่และความตาย ด้วยเหตุนี้บัวสาย (water lilies) จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อดังกล่าว  บัวสายที่ไม่เพียงแต่รูปลักษณ์งดงาม กลีบดอกเรียวแหลม แต่ยังมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอันทรงพลัง ที่หากดื่มกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการมึนงงเหมือนตกอยู่ในภวังค์ได้  

ประติมากรรมสลักหินรูปเห็ดของชาวมายาเป็นอีกหลักฐานที่ช่วยยืนยันว่า ก่อนออกไปทำสงคราม การสู้รบ หรือทำพิธีกรรมบางอย่าง ชาวมายาจะมีการบริโภค “เห็ดวิเศษ” (Psilocybe cubensis) หรือที่เรียกในภาษามายาว่า “k’aizalaj okox”    

ต้นยาสูบ (Nicotiana tabacum) ได้รับการเพาะปลูกมาตั้งแต่ช่วงต้นของวัฒนธรรมชาวมายา คำว่า tobaco ในภาษาสเปนอาจมีรากศัพท์มาจากคำว่า tobako (หมายถึง กล้องสูบยา) ในภาษาของชนเผ่าไทโน (Taino) แถบแคริบเบียนที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว

บูชาแด่เทพเจ้า 

แจกันจำนวนหนึ่งที่ขุดพบใกล้ห้องอบไอน้ำโบราณสร้างความประหลาดใจให้นักวิจัยได้ไม่น้อย เมื่อมีการตรวจพบว่า ร่องรอยของสารนิโคตินตกค้างอยู่ด้วย  หลักฐานเหล่านี้อาจแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการใช้สารนิโคตินในการรักษาโรค และใช้ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างของชาวมายา 

สำหรับชาวมายาแล้ว ไม่ว่าจะอดีต หรือปัจจุบัน โลกก็คือ สิ่งมีชีวิตทางจิตวิญญาณที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ความหมายนี้ยังรวมถึงอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัยได้ หากพวกเขาไม่ได้สักการะบูชาเทพเจ้าด้วยแจกันเหล่านี้  

ด้วยเหตุนี้ห้องอบไอน้ำแบบโบราณในวัฒนธรรมมายาจึงน่าจะสัมพันธ์กับความเชื่อในเทพเจ้าแห่งการผดุงครรภ์ อีกทั้งยังอาจเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาโรค หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการคลอดบุตรด้วย ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับการพบว่า แจกันบางใบมีใบมีดที่ทำจากหินภูเขาไฟ (obsidian) อยู่ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นมีดที่ใช้ตัดสายสะดือทารกแรกเกิดนั่นเอง  

มาซาริเอกอสหวังว่า การค้นพบนี้จะช่วยกระตุ้นการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาสูบในรูปแบบสารละลาย หรือของ เหลวในภูมิภาคเมโสอเมริกา (Meso-america) มากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายฝั่งแปซิฟิกซึ่ง “มักถูกมองข้าม หรือละเลยไป เพียงเพื่อสนับสนุนการศึกษาแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมมายาอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่า”

เรื่อง Anna Thorpe

แปลและเรียบเรียง ญาณิศา ไชยคำ

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : วาเลเรียนา เมืองมายาที่สาบสูญ

ถูกค้นพบโดยบังเอิญที่ป่าในเม็กซิโก

 

Recommend