![สีผิวที่แตกต่าง](https://i2.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2018/04/3-1-1024x680.jpg?resize=640%2C425)
บนเส้นทางอพยพตรงไหนสักแห่ง บางทีอาจเป็นตะวันออกกลาง นักเดินทางกลุ่มนั้นได้พบและผสมพันธุ์กับมนุษย์ชนิดพันธุ์อื่น นั่นคือนีแอนเดอร์ทัล และยังพบกับมนุษย์เดนีโซแวนซึ่งอยู่ไกลออกไปทางตะวันออกด้วย เชื่อกันว่ามนุษย์ทั้งสองชนิดพันธุ์วิวัฒน์ขึ้นในยูเรเชียจากมนุษย์ โฮโม ไฮเดลเบอร์เกนซิส ซึ่งอพยพออกจากแอฟริกาก่อนหน้านั้นนานแล้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนยังเชื่อว่า การอพยพครั้งใหญ่เมื่อ 60,000 ปีก่อน แท้จริงแล้วเป็นคลื่นระลอกที่สองของมนุษย์สมัยใหม่ที่ทิ้งแอฟริกาไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อพิจารณาจากจีโนมของเราที่ไม่ใช่ชาวแอฟริกันในทุกวันนี้ คลื่นผู้อพยพระลอกสองย่อมต้องมหาศาลกว่าระลอกแรกเป็นอันมาก
ลูกหลานของผู้อพยพเหล่านั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก พอถึง 50,000 ปีก่อน พวกเขาเดินทางถึงออสเตรเลีย 5,000 ปีต่อมาหรือ 45,000 ปีก่อน ได้ลงหลักปักฐานในไซบีเรีย และล่วงถึง 15,000 ปีที่แล้ว ก็เดินทางถึงอเมริกาใต้ ขณะเคลื่อนย้ายพวกเขาก่อร่างสร้างกลุ่มใหม่ๆซึ่งเริ่มโดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์จากกลุ่มอื่นๆ และได้รับชุดพันธุกรรมที่กลายพันธุ์อย่างเด่นชัดมาด้วย
การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่เกิดประโยชน์หรือให้โทษ แต่บางโอกาสการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อได้เปรียบในสิ่งแวดล้อมใหม่ ภายใต้แรงกดดันของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) การกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชากรท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างเช่นในพื้นที่สูงซึ่งมีระดับออกซิเจนต่ำ สำหรับกลุ่มคนที่อพยพสู่ที่ราบสูงเอธิโอเปีย ทิเบต หรือที่ราบสูงอัลติปลาโนบนเทือกเขาแอนดีส การกลายพันธุ์ชั้นเลิศช่วยให้พวกเขาเผชิญกับอากาศที่เบาบางได้ เช่นเดียวกับที่ชาวอินูอิตซึ่งได้รับอาหารจากทะเลที่อุดมด้วยกรดไขมัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่ช่วยให้พวกเขาปรับตัวกับอาหารประเภทนั้นได้
ทั่วโลกในปัจจุบัน สีผิวของคนเรามีความหลากหลายอย่างมาก ความแตกต่างส่วนใหญ่สัมพันธ์กับละติจูด บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีแสงแดดจัด ทำให้ผิวคล้ำมีประโยชน์ในการปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลต ส่วนบริเวณใกล้ขั้วโลกที่มีปัญหาเรื่องแสงแดดน้อยเกินไป ผิวสีซีดกว่าย่อมช่วยผลิตวิตามินดีได้ดีกว่า ยีนหลายชนิดทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดสีผิว และกลุ่มคนที่แตกต่างกันอาจมีส่วนผสมของการกลายพันธุ์ได้หลายแบบด้วย
![สีผิวที่แตกต่าง](https://i1.wp.com/ngthai.com/app/uploads/2018/04/2-2-1024x683.jpg?resize=640%2C427)
เมื่อคนเราพูดถึงเชื้อชาติ โดยทั่วไปมักจะอ้างอิงถึงสีผิว และในขณะเดียวกันก็หมายถึงบางอย่างที่มากกว่าสีผิว วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันบอกเราว่า ความแตกต่างที่มองเห็นระหว่างมนุษย์ล้วนเป็นอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนว่า บรรพบุรุษของเราจัดการกับการสัมผัสแสงอาทิตย์ได้อย่างไร ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
เรื่อง เอลิซาเบท โคลแบร์
ภาพถ่าย โรบิน แฮมมอนด์
อ่านเพิ่มเติม