กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ป้องกันศัตรูได้จริงหรือ?

กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ป้องกันศัตรูได้จริงหรือ?

ราชวงศ์หมิงสร้าง กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ยาวกว่า 21,200 กิโลเมตรเพื่อป้องกันผู้รุกราน แต่แท้จริงแล้วมันมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับศัตรูขนาดไหน?

กำแพงเมืองจีน เป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายกลยุทธ์เพื่อป้องกันประเทศ กำแพงเมืองจีนที่ทอดยาวออกไปกว่า 21,200 กิโลเมตรนี้ แทนที่จะเป็นกำแพงเดียวที่ต่อเนื่องกัน กลับประกอบไปด้วยส่วนเล็กๆ มากมาย ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์จีน

ป้อมปราการที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล แต่ส่วนที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีที่สุดถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) กำแพงเมืองจีน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม และชัยชนะในความเฉลียวฉลาดของมนุษยชาติ แต่คำตัดสินชี้ขาดที่แท้จริงอยู่ที่ว่ากำแพงเมืองจีนสามารถทำหน้าที่หลักคือการป้องกันศัตรูได้ดีแค่ไหน

 ภัยรุกรานจากทิศเหนือ

 ภัยรุกรานหลักของจีนนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือ นั่นคือเหล่าคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์ที่มีพรมแดนติดกันตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย ทำให้ผู้คนพออยู่รอดได้ แต่ไม่มีสิ่งอื่นมากนัก ชาวเหนือเหล่านี้ริษยาในสินค้าฟุ่มเฟือย และทรัพยากรที่เพื่อนบ้านทางใต้ของพวกเขาได้ใช้อย่างเพลิดเพลิน เช่น สิ่งทอชั้นดี และผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย

ป้อมปราการที่ไม่อาจพังทลาย พาดผ่านหกจังหวัดของจีน ส่วนตรงกลางของกำแพงเมืองจีนได้กำแพงด้านในและด้านนอกออกจากกัน แผนที่โดย EOSGIS.COM

ประชากรของชนเผ่าเร่ร่อนนั้นมีขนาดเล็กกว่าชาวจีนอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังเป็นภัยคุกคามทางทหารอย่างร้ายแรง พวกเขาสามารถขึ้นขี่ม้าทุ่งหญ้าทุ่งหญ้าสเตปป์ และติดอาวุธด้วยธนูและลูกธนูอันทรงพลัง มิหนำซ้ำนักรบของพวกเขายังสามารถบุกจู่โจมได้อย่างมีประสิทธิภาพในรัฐที่มีพรมแดนติดกับจีน และแย่งชิงสิ่งที่พวกเขาต้องการมา

จักรพรรดิจีนใช้กลยุทธ์มากมายเพื่อกันคนเร่ร่อนทางเหนือ ซึ่งรวมถึงด้านวิศวกรรม สงคราม และการทูต จนกระทั่งจักรพรรดิองค์แรกที่ผนวกประเทศจีนให้เป็นหนึ่งเดียว นั่นคือจิ๋นซีฮ่องเต้ (221-210 ปีก่อนคริสตกาล) ได้สร้างป้อมปราการที่รวมกันเป็นแนวแรกตามแนวพรมแดนทางตอนเหนือทั้งหมด โดยเชื่อมต่อจากโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐก่อนหน้านี้

จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉินที่ยึดอำนาจจากราชวงศ์ฮั่น พยายามใช้กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารเพื่อจัดการกับผู้รุกรานภายนอก พวกเขาจ่ายเงินอุดหนุนในขณะเดียวกันก็ดำเนินการรณรงค์บนทุ่งหญ้าสเตปป์ และสร้างกำแพงป้องกันใหม่ แต่กลยุทธ์เหล่านี้ล้มเหลวในการหยุดยั้งผู้รุกราน แทนที่จะยุติการโจมตี ชาวเหนือพบว่า ไม่เพียงแต่การโจมตีของพวกเขาทำให้สามารถเข้าถึงสินค้าของจีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังสามารถใช้เป็นภัยคุกคามในการเรียกร้องความช่วยเหลือจากจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กำแพงเมืองจีน, ชาวมองโกล, มองโกล
รวดเร็ว และรุนแรง ภาพวาดด้วยหมึกในศตวรรษที่ 15-16 นี้แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมองโกล นั่นก็คือม้าที่ว่องไว แข็งแกร่ง และนักธนูที่เก่งกาจ ภาพถ่าย BRIDGEMAN/ACI

ในอีกพันปีข้างหน้า ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ จากนั้น ในศตวรรษที่ 13 หัวหน้าชนเผ่าเร่ร่อนที่ถูกขานเรียกว่า เตมูจิน ได้รวบรวมชนชนเผ่ามองโกลเข้าด้วยกัน และได้เปลี่ยนสมดุลของอำนาจให้เข้าทางต่อชนเผ่าเร่ร่อนชาวเหนือ เตมูจินกลายเป็นจักรพรรดิแห่งมองโกลภายใต้ชื่อ เจงกิสข่าน และได้โจมตีดินแดนทางตอนเหนือของจีนในปี ค.ศ. 1211 และยึดเมืองหลวงได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1215 หลังจากนั้น กุบไลข่าน หลานชายของเจงกิสข่าน ประสบความสำเร็จในการยึดครองประเทศจีนทั้งหมด และสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นมาใหม่

ราชวงศ์หยวนอยู่ได้ไม่นานนักก็ถูกโค่นล้มโดยการประท้วงของชาวนาในปี ค.ศ. 1368 ราชสำนักมองโกลได้ย้ายหนีจากเมืองหลวง และลี้ภัยไปยังทุ่งหญ้าสเตปป์ ราชวงศ์หมิง (1368-1644) ราชวงศ์ที่ครองราชย์ใหม่ของจีน ได้เริ่มการรณรงค์เชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้พวกหยวนพยายามหวนคืนสู่อำนาจ แต่การตัดสินใจในการจู่โจมครั้งนี้ถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 1449 ราชวงศ์หมิงได้พ่ายแพ้อย่างย่อยยับในศึกถู่มู่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ราชวงศ์หมิงได้ปรับเข้าสู่การต่อสู้แนวรับมากขึ้นเรื่อยๆ

กำแพงเมืองจีน
การเผชิญหน้ากับทางเหนือ ขึ้นและลงจากเนินเขาทางตอนเหนือของจีน ช่วงปลายทศวรรษที่ 15 ในรัชสมัยของราชวงศ์หมิง กำแพงเมืองจีนทีเ่ห็นในปัจจุบันได้ถูกสร้างขึ้น ด้วยความพยายามอย่างสูงสุดในการปกป้องจีนจากชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ ภาพถ่ายโดย TOP PHOTO GROUP/AGE FOTOSTOCK

อิฐทีละก้อน

ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ ราชวงศ์หมิงได้ลงมือสร้างกำแพงเมืองจีน การก่อสร้างอย่างแพร่หลายเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 16 และ 17 แนวกั้นขนาดใหญ่ที่ทั้งคดเคี้ยวมากขึ้นและลงเนินยังคงตั้งตระหง่านจนถึงทุกวันนี้ ป้อมปราการก่อนหน้านี้อยู่ในรูปแบบของกำแพงดิน แต่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์หมิง พวกเขาจะทำฐานจากหินที่ปูด้วยอิฐ

ด้วยความยาวอันน่าอัศจรรย์กว่า 21,200 กิโลเมตร ป้อมปราการแห่งใหม่นี้แสดงถึงความทะเยอทะยานมากกว่าสิ่งที่ก่อสร้างก่อนหน้านี้อย่างมาก โดยกำแพงใหม่มีราคาสูงกว่ากำแพงก่อนหน้านี้ถึงร้อยเท่า อ้างอิงจากรายงานของนักประวัติศาสตร์บางท่าน ผู้ปกครองแห่งราชวงศ์ตั้งใจแน่วแน่ว่ากำแพงแห่งนี้จะต้านทานทั้งชนเผ่าเร่ร่อน และการสึกกร่อนอย่างช้าๆ จากสภาพอากาศ และเวลา

กำแพงเมืองจีน
ตะวันตกที่ห่างไกล ตั้งอยู่ในตำแหน่งทะเลทราบของมณฑลกานซู ด่านเจียยฺวี่เป็นประตูด่านแรกของกำแพงด้านทิศตะวันตก มันถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นป้อมปราการชายแดนในปี ค.ศ. 1372 โดยต่อมาได้รวมเข้ากับกำแพงเมืองจีนของราชวงศ์หมิง ภาพ PIXTAL/AGE FOTOSTOCK

จนถึงปัจจุบันนี้ชัยชนะของกำแพงเมืองจีนต่อการสึกกร่อนของเวลานั้นประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพทางการทหารของกำแพงเมืองจีนนั้นค่อนข้างยากที่จะประเมิน ชายแดนทางเหนือของจีนยังคงถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็ถูกจู่โจมด้วยกองทัพที่มีจำนวนกว่า 100,000 นาย ตลอดด้วยชนเผ่าเร่ร่อนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มอื่น ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นใน Wo Yan ในปี ค.ศ. 1555 เมื่อนักรบมองโกลจำนวนหนึ่งโจมตีหอคอยในตอนกลางคืนโดยใช้ตะขอเกี่ยวเพื่อปีนกำแพง แต่เมื่อขึ้นไปถึงยอด ม้าของพวกเขาดันส่งเสียงกึกก้องเตือนทหารยามชาวจีน

ผู้เฝ้าดูจากบนกำแพง

ชีวิตของทหารยามที่ประจำการอยู่ตามกำแพงนั้นยากลำบากแสนสาหัส ในปี ค.ศ. 1443 มีเอกสารจากกระทรวงกองทัพบกที่ยอมรับว่า “ทหารที่ชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือต้องเผชิญกับลม และความหนาวเย็น ไม่ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่เป็นยามของหอส่งสัญญาณ หรือยามในช่องทางเดิน พวกเขาจำต้องอยู่ห่างจากฐาน ครอบครัว และลูกๆ เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี มิหนำซ้ำพวกเขายังขาดแคลนอาหาร และเสื้อผ้า เป็นความจริงที่พวกเขาได้รับเงินเดือน แต่พวกเขามักจำเป็นต้องใช้เงินของพวกเขากับอาวุธ หรือม้า ความทรมานจากความหิวโหย และความหนาวของพวกเขานั้นเกินกว่าคำบรรยาย”

สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมกำลังใจของทหารถึงตกต่ำ มีหลักฐานความไม่ไว้วางใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และเหล่าทหารชายแดน ในปี ค.ศ. 1554 เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวหากองกำลังชายแดนว่าขี้ขลาด “เมื่อใดก็ตามที่ศัตรูเข้าใกล้กำแพง พวกเขาก็หนีไปโดยไม่ต่อต้านแม้แต่น้อย” เขาพูด ในปี ค.ศ. 1609 อีกแหล่งข้อมูลชี้ว่าการขาดทรัพยากรอาจเป็นความผิดพลาด เนื่องจากผู้คุมบนหอคอยรู้สึกไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ พวกเขาจะไม่ส่งสัญญาณเตือนหากพบชาวมองโกลอยู่ใกล้ ๆ โดยเลือกที่จะแสร้งทำเป็นไม่เห็นพวกศัตรู

ราชวงศ์แมนจูเรืองอำนาจ

เนื่องจากการอ่อนกำลังจากความขัดแย้งกับมองโกลที่ดำเนินมากว่าสองศตวรรษ ทำให้ราชวงศ์หมิงสูญเสียอำนาจภายใน พวกเขามอบอำนาจให้กับแมนจูหลังจากการจลาจลของประชาชนในปี ค.ศ. 1644 ราชวงศ์แมนจูหรือราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1912) ได้ขยายพรมแดนของจีนไปทางเหนืออย่างมหาศาล ทำให้กำแพงเมืองจีนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นสำหรับมาตรการป้องกันอีกต่อไป กำแพงเมืองจีนเป็นโครงสร้างทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกและภายหลังได้รับการกำหนดให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก มันยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวจีน ถึงกระนั้น อนุสาวรีย์ทางทหารอันโด่งดังของจีนก็ยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ในการป้องกัน และต่อสู้กับชนเผ่าเร่ร่อนจากทางเหนือ

เรื่อง กองบรรณาธิการ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (สหรัฐฯ)

แปล ปรมินทร์ แสงไกรรุ่งโรจน์

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม กองทัพดินเผาอันยิ่งใหญ่ของ สุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ สร้างขึ้นมาได้อย่างไร

 

 

Recommend