คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด โดยปกติแล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยทำให้โลกอบอุ่นขึ้น แต่จากกิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันทั้งการขยายตัวของยุคอุตสาหกรรม การใช้พลังงานฟอสซิลที่เพิ่มมากขึ้น ได้ปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา
ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ต้นไม้จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในการสร้างอาหารและเพิ่มผลผลิตมวลชีวภาพ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกเปลี่ยนมาเป็นคาร์บอน (C) ในเนื้อไม้ ซึ่งเนื้อไม้ทั่วๆ ไป มีค่าคาร์บอนอยู่ประมาณร้อยละ 50 ดังนั้นต้นไม้และป่าไม้มีคุณสมบัติที่ดีคือ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ก่อนที่จะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยาการ
การวัดการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ ทำให้เรารู้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมาเก็บไว้ปริมาณเท่าใด โดยที่การสร้างเนื้อไม้ขึ้นมา 1 ตัน จะสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1.81 ตันและยังปล่อยก๊าซออกซิเจนประมาณ 1.32 ตัน
เร็วๆ นี้ สถาบันลูกโลกสีเขียวได้เผยแพร่สูตรคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและค่าน้ำหนักแห้งอย่างง่ายในต้นไม้หลายชนิด เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องค่าคาร์บอนส่งเสริมการปลูกต้นไม้ การอนุรักษ์และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น
ผู้สนใจสามารถเข้าเว็บไซต์ https:// www.greenglobeinstitute.com เลือกหัวข้อ องค์ความรู้ >คำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและค่าน้ำหนักแห้ง
ต้นไม้ที่นำมาใช้ในการคำนวณมีให้เลือกทั้งหมด 6 ชนิด ป่า/พันธุ์พืช คือ
(1) ตระกูลไผ่ ประกอบด้วย ไผ่ลวก ไผ่บงดำ ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ และไผ่ผาก
(2) ต้นไผ่ (ทั้งกอ)
(3) ต้นไม้ในป่าดิบแล้ง
(4) ต้นโตนด
(5) ต้นไม้ในป่าชายเลน ประกอบด้วย ถั่วขาว โกงกางใบสุม โปรงแดง โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ แสมขาว ลำแพน ลำพู ตะบูนขาว ตะบูนดำ
(6) ต้นไม้ในป่าที่มีความชื้นต่างกัน ประกอบด้วย แห้งแล้ง (ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,500 มม.) ชุ่มชื้น (ปริมาณน้ำฝน 1,500-4,000 มม.) ชื้นแฉะ (ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 4,000 มม.)
นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้การคำนวณการกักเก็บค่าคาร์บอนในป่าแต่ละชนิดดูง่ายขึ้นเพียงแค่ระบุค่าเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอกก็จะทราบปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและน้ำหนักแห้งของป่าแต่ละชนิดได้โดยง่าย