โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ

โครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ

กล้องถ่ายภาพ Leica เอกลักษณ์แห่งความประณีตดุจงานศิลปะ สู่รุ่นพิเศษเป็นที่ระลึกในโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ระดับโลก และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็เช่นกัน

ศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ (ราชบัณฑิต) ผู้ประพันธ์หนังสือ ‘กษัตริย์กับกล้อง’ เขียนข้อความไว้ในคำนำ สรุปใจความว่า “ข้าพเจ้าได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า ‘กษัตริย์กับกล้อง’ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการฉายภาพเป็นอย่างมาก และเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีที่ทรงวางรากฐาน สนพระราชหฤทัย ทรงพัฒนา ทรงอนุรักษ์ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการถ่ายภาพมาอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 147 ปีแล้ว”

ข้อความนี้เป็นแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาของโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 โดยกล้องถ่ายภาพ Leica นับเป็นกล้องถ่ายภาพจากเยอรมนีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี รวมทั้งในโอกาสสำคัญของนานาอารยประเทศ มักจะจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่นพิเศษเป็นที่ระลึกในจำนวนจำกัด เพื่อจารึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า

ในวโรกาสนี้ กล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก จัดทำขึ้นทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ ชุดสองเลนส์ ประกอบด้วยกล้องดิจิทัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์​ APO Summicron-M1:2/50 ASPH และเลนส์​ Summilux M1:1.4/35 ASPH จำนวน 10 ชุด และชุดหนึ่งเลนส์ ประกอบด้วยกล้องดิจิทัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์​ Summilux M1:1.4/35 ASPH จำนวน 20 ชุด

ความพิเศษของกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก ตัวกล้องและเลนส์เป็นชุบทองคำแท้แบบไม่มันวาว สลักตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หุ้มด้วยหนังจระเข้ที่แต่ละชิ้นมีความเฉพาะตัวสูง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของเทคนิคการหุ้มหนังที่ต้องผ่านกระบวนการทดสอบหนังไม่ให้ยืดหดหรือแตกร้าว เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานสูงสุดของ Leica เมื่อรวมกันกับเลนส์ APO50 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเลนส์​ 50 mm. ที่ดีที่สุดในโลก ในเปลือกเลนส์แบบวินเทจ หรือที่เรียกกันว่าเวอร์ชั่น 1 (v1) มะเฟือง พร้อมหมายเลขกำกับ 1/10 ถึง 10/10 และ 1/20 ถึง 20/20 เหล่านี้จึงเป็นมอบคุณค่าในแง่การสะสม และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สำคัญของโลก

การจัดทำกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก เริ่มต้นวางแผนตั้งแต่ปี 2560 ในขั้นตอนการเตรียมการกับ Leica ประเทศเยอรมนี ต่อมาในปี 2562 หลังจากทางรัฐบาลกำหนดตราสัญลักษณ์และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรียบร้อยแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางไทยเบฟได้รับอนุญาตนำตราสัญลักษณ์มาประดิษฐานบนตัวกล้อง พร้อมกันกับการเริ่มต้นลงรายละเอียดการจัดทำกล้อง ถึงแม้จะล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กล้องทั้งหมดก็สำเร็จลุล่วงในปี 2565 จนกระทั่งเป็นตัวกล้องที่จัดแสดงให้ชมในงานครั้งนี้

กล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้ ส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี่ และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลือง 1,500,000 บาท และชุดสีเขียว 1,000,000 บาท และเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมไทย ทางบริษัทฯ จึงได้ซื้อกล้องถ่ายภาพทั้งหมด นำเงินรายได้จากการนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวัตถุประสงค์ตั้งต้นเรียบร้อยแล้ว และจะนำกล้องถ่ายภาพจำนวน 22 ชุด เป็นกล้องสีเหลือง 4 ชุด และสีเขียว 18 ชุด มอบให้กับองค์กรการกุศล 22 องค์กรเพื่อร่วมจัดการประมูลขึ้นภายในงาน SX2022 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 18.00 น.

มูลนิธิทั้ง 22 องค์กร พร้อมสลักหมายเลขกำกับบนตัวกล้อง ประกอบด้วย มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  / มูลนิธิราชประชานุเคราะห์   รวมไปถึงไตรโครงการ ที่ประกอบด้วย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ / มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย / มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) / มูลนิธิชัยพัฒนา / มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ / มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า / มูลนิธิจุฬาภรณ์  / มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE / ศิริราชมูลนิธิ / มูลนิธิรามาธิบดี / มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ / มูลนิธิคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ /  มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า /  มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ / มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ / องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) / สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ / มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

การประมูลจะอำนวยการโดย Christies ด้วยวิธี Written Bid Form เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับท่านที่ต้องการประมูลแต่ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ ผู้สนใจสามารถติดต่อและแสดงความจำนงได้ที่มูลนิธิทั้ง 22 แห่งโดยตรง หรือทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทางทีมงานจะเก็บข้อมูลและรายละเอียดสำหรับใช้ในวันประมูลจริงวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสามารถรับ Catalog ได้ที่ Christies และต้องส่งใบตอบรับล่วงหน้า 7 วันก่อนวันประมูล ในส่วนของการประมูลแบบออนไลน์ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิธีการประมูลเพื่อให้เข้าถึงได้ทุกคน

การผสานความร่วมมือกันระหว่าง 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศลหลักของประเทศครั้งนี้ ก่อกำเนิดเป็นโครงการที่แบ่งปันคุณค่าให้กับสังคม ประเทศชาติ ไปพร้อมกับการสร้างสรรค์ชิ้นงานทรงคุณค่า อันจารึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์นักสะสมกล้อง เพื่อประโยชน์และความสุขสูงสุดให้กับองค์กร สังคม และผู้คนอย่างยั่งยืนสืบไป

Recommend