ไทยเบฟขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030

ไทยเบฟขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่ม”) เผยแผนงาน PASSION 2030 ซึ่งต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มในการเสริมความแข็งแกร่งสถานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร พร้อมทั้งวางเป้าหมายและแผนการเติบโตในช่วงห้าปีข้างหน้าเพื่อ ‘สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน’ (Enabling Sustainable Growth)

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะแถลงว่าเรามีความคืบหน้าที่ดีในการสรรสร้างความสามารถ เสริมแกร่งตำแหน่งในตลาดและตราสินค้าของเรา รวมทั้งนำศักยภาพของไทยเบฟที่มีอยู่มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดในทุกธุรกิจของเรา แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย โดยความทุ่มเทร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มไทยเบฟทำให้เรามีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม” 

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ตามพันธกิจขององค์กร ไทยเบฟต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า

ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต (Digital for Growth)

กลุ่มมีความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า อีกทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

ในเดือนกันยายน 2567 ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (“IBIL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด (“TCCAL”) โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (“FPL”) ทั้งหมดร้อยละ 28.78 ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) ร้อยละ 41.30 ให้แก่ IBIL

ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.61 โดยกลุ่มจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ซึ่งจะเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม พร้อมทั้งสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายยิ่งขึ้น

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวม  217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

กลุ่มยังได้ดำเนินการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของโรงงานผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีการจัดการด้านดิจิทัลมาใช้ ส่งผลให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตและกระจายสินค้า เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตและเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมของไทยเบฟให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มความคล่องตัวของห่วงโซ่อุปทานด้วยการปรับขนาดทีมขายให้เหมาะสม รวมถึงปรับขนาดยานพาหนะขนส่งให้เหมาะกับแต่ละเส้นทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วย

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะที่โลกเผชิญความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และสภาพภูมิอากาศ ไทยเบฟยังคงยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในอาเซียน เราตระหนักดีว่าหน้าที่ของผู้นำอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีเพียงการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความเป็นเลิศในการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ป้องกันผลกระทบทางสังคม และส่งเสริมธรรมาภิบาลด้วย”

กลุ่มไทยเบฟได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” และ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาผสานเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านความยั่งยืนของกลุ่ม

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ภายในปี 2583 โดยไทยเบฟได้พัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินโครงการในประเทศไทยหลากหลายโครงการ ซึ่งในปี 2566 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้

  • บรรลุระยะที่ 1-3 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมโรงงาน 40 แห่งของกลุ่มในประเทศไทย เมียนมา และเวียดนาม รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 42.48 เมกะวัตต์
  • ขยายโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระยะที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยจะติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารและแผงแบบลอยน้ำที่โรงงานเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
  • สร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ถึงปีละ 1.5 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์กรแทนแหล่งพลังงานเดิมได้ร้อยละ 37 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • ลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 61.6 กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ไม่รวมเวียดนาม)
  • เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วได้ร้อยละ 97 ของจำนวนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล
  • มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73 

ในปี 2566 ไทยเบฟได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุด “Top 1% S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) Score” ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ และสังคม และได้คะแนนเป็นอันดับสองในหมวดสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดัชนีระดับโลกอย่างกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (“DJSI”) โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World Index) เป็นปีที่ 7 และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมโครงการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบการประเมินของ Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก ซึ่งไทยเบฟได้รับคะแนนระดับ A- ในด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) จากการประเมินในปี 2566

กลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับพันธกิจของไทยเบฟที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ไทยเบฟประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

Recommend