โฮป: ความหวัง บนลาน กระเรียน

โฮป: ความหวัง บนลาน กระเรียน

โฮป: ความหวัง บนลาน กระเรียน

ในบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการพบเห็นนกกระเรียนพันธุ์ไทยจำนวนนับพันนับหมื่นตัวมาทำรังวางไข่ที่ทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา ครั้น 40 ปีให้หลังมีบันทึกการพบฝูงนกกระเรียนบินผ่านน่านฟ้าไทยเมื่อ พ.ศ. 2488 ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย นั่นคือการพบเห็นนกกระเรียนบินเป็นฝูงครั้งสุดท้าย

นกกระเรียนพันธุ์ไทยถูกขึ้นบัญชีในสถานะสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของไทยนานแล้ว แต่ที่น่าแปลกคือ ประเทศเพื่อนบ้านของเรากลับยังมีนกกระเรียนเดินทางและอาศัยอยู่ตามแหล่งธรรมชาติ

 

ภาพพฤติกรรมของคู่นกที่ปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ เริ่มจุดประกายความหวังให้นักวิจัย ทว่าหนทางข้างหน้าของพวกมันยังอีกยาวไกล และเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน
สังคมของนกกระเรียนชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จึงแยกออกจากฝูงเป็นคู่ๆ ไป

ข้อมูลจาก ดร.จอร์จ ดับเบิลยู. อาร์คิบาลด์ ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ลงพื้นที่ติดสัญญาณตามนกกระเรียนพันธุ์ไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ระบุว่า มีนกกระเรียนทำรังวางไข่และหากินอยู่บริเวณลุ่มนํ้าอิรวดีทางตอนกลางของประเทศเมียนมาร์ (พม่า) รวมทั้งที่ลาว เวียดนามและพื้นที่ชุ่มนํ้าในประเทศกัมพูชา ทั้ง ๆ ที่นกพวกนี้เป็นนกกลุ่มเดียวกัน เพราะเหตุใดจึงไม่เลือกพื้นที่ในไทย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางของเส้นทางโคจร

โครงการคืนนกกระเรียนสู่ธรรมชาติของไทย เริ่มจากการรับบริจาคลูกนกที่จับได้ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา โดยประชาชนผู้ครอบครองได้นำมามอบให้สวนสัตว์นครราชสีมาเป็นผู้ดูแลและเพาะเลี้ยง วันชัย สวาสุ หัวหน้าโครงการนกกระเรียนของสวนสัตว์นครราชสีมา เล่าว่า การขยายพันธุ์ในช่วงแรกไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะประสบผลสำเร็จต้องใช้เวลามากกว่าเจ็ดปีจึงได้ลูกนกสองตัวแรกเมื่อปี 2540 และจากนก 27 ตัว ในเวลาต่อมาได้เพาะขยายพันธุ์เป็นพ่อแม่พันธุ์ทั้งสิ้น 98 ตัว และลูกนกอีกนับร้อยตัว

การปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติและการปลดนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากบัญชีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว คือสิ่งที่ทีมสวนสัตว์นครราชสีมาหวังเป็นอย่างยิ่ง และรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้า (wetland) และพื้นที่ชุ่มนํ้าที่มีหญ้าขึ้นเป็นส่วนใหญ่ (marsh) และยังใกล้ถิ่นอาศัยของนกในประเทศกัมพูชามากที่สุด นี่คือเหตุผลที่เหมาะสมในการเลือกปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับนกในประเทศเพื่อนบ้าน

นกกระเรียนรอคอยคู่แท้ของกันและกัน และเมื่อเวลานั้นมาถึง พวกมันจะใช้เวลาที่เหลือร่วมกันไปตลอดชีวิต
อุปสรรคที่พบมากที่สุดคือการบาดเจ็บของนก เช่น จากสัตว์เลี้ยงของมนุษย์
กรงอนุบาลลูกนกก่อนเตรียมปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติเพื่อให้ออกหากินและโบยบินอย่างเสรี

จากการเฝ้าติดตามในระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 60 ของนกที่ปล่อยสู่ธรรมชาติสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดีในพื้นที่ จะมีปัญหาก็เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ กล่าวคือยังไม่สามารถกันพื้นที่จากฝูงสัตว์เลี้ยงที่เข้ามาหากิน และการเข้ามาจับปลาในเวลากลางคืนของชาวบ้านได้ ปัจจัยเหล่านี้รบกวนนกทุ่งและนกนํ้าในช่วงฤดูวางไข่เป็นอย่างมาก ผลที่ตามมาคือการย้ายถิ่นของนก และนกบางชนิดไม่หวนกลับมาอีกเลย

ในปีนี้นกอายุสี่ปีที่ปล่อยไปได้ผสมพันธุ์กันแล้วคู่หนึ่ง ปกตินกกระเรียนจะตกไข่ครั้งละสองฟอง โอกาสที่ลูกนกจะมีชีวิตรอดจัดว่าค่อนข้างน้อย สิ่งที่รบกวนช่วงฟักไข่ของนกกระเรียนคืออีกาที่มักจะมาขโมยไข่ ยังไม่ต้องพูดถึงศัตรูตามธรรมชาติอื่น ๆ และมนุษย์ ความหวังกับพ่อแม่นกกระเรียนหน้าใหม่ที่ยังอ่อนประสบการณ์ในการเลือกพื้นที่ทำรังวางไข่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในธรรมชาติ หากนกเลือกทำรังที่ไหน นั่นแปลว่าเขาจะมีแนวโน้มกลับมาที่เดิม คำถามคือเมื่อเราได้โอกาสนั้นอีกครั้ง เราจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซํ้ารอยอีกไหม

ลูกนกกระเรียนตัวนี้เพิ่งฟักจากไข่ได้เพียงสองชั่วโมงก็สิ้นใจโดยไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา นกกระเรียนพ่อแม่พันธุ์ในกรงเพาะเลี้ยงเริ่มฟักไข่อีกครั้ง

เรื่องและภาพ พงษ์ชัย มูลสาร

รางวัลชนะเลิศ จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งบุรีรัมย์ ที่ฟื้นคืนฝูงนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากการสูญพันธุ์

Recommend