แคนยอนเร้นลึกแห่งออสเตรเลีย

แคนยอนเร้นลึกแห่งออสเตรเลีย

แคนยอน
นักปีนหุบผาเดินฝ่าป่าดิบชื้นโคชวูดและซัสซาฟรัสที่รกเรื้อไปด้วยเถาวัลย์ เพื่อมุ่งหน้าสู่คลอสตรัลแคนยอน พวกเขาอาจต้องเดินป่าหลายชั่วโมงกว่าจะพบปากทางเข้า นักปีนหุบผาต้องแบกเป้บรรจุอุปกรณ์ต่างๆ น้ำหนักมากถึงเก้ากิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยเชือกปีนผา ชุดดำน้ำ อาหาร และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล

การปีนหุบผาของพวกคนผิวขาวตัวเกรียมแดดเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 แต่กว่าที่กลุ่มหุบผาขนาดใหญ่ที่สุดจะได้รับการสำรวจก็ล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 1960 เมื่อมีการนำเชือกและอุปกรณ์ปีนเขาสมัยใหม่มาใช้งานดานาอีบรูกแคนยอนที่ซ่อนตัวอยู่ในเขาวงกตใจกลางทิวเขาบลูเมาน์เทนส์ ได้ชื่อว่าเป็นหุบผาที่พิชิตยากที่สุดแห่งหนึ่งในหนังสือนำเที่ยวของเจมีสัน เขาบรรยายถึงหุบผานี้ไว้ว่าเป็น “วันที่แสนยาวนาน” เพราะนักปีนหุบผาต้องใช้เชือกโรยตัวอย่างยากลำบากถึงเก้าช่วงหรือมากกว่านั้น ทั้งเจมีสันและโนเบิลพิชิตหุบผานี้มาแล้ว แต่ไม่มีใครว่างไปกับผมเลย ยกเว้นจอห์น โรเบนส์ ชายร่างผอมแกร่งที่อยากลองดูสักครั้ง

เรานัดกันที่บ้านของเขาในซิดนีย์ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโรเบนส์ ชายผู้ไว้ผมยาวรุงรัง พูดเสียงเบา และทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์อิสระวัย 39 ปี ใช้เวลาสุดสัปดาห์ส่วนใหญ่หลีกหนีจากเมืองไปปีนหุบผากลางป่าแทน โรเบนส์ไม่ต่างจากโนเบิลตรงที่ชอบปั่นจักรยานไปทั่วเมืองอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม  เห็นได้ชัดจากต้นขาที่แกร่งราวกับของแลนซ์ อาร์มสตรอง นักแข่งจักรยานชาวอเมริกันเขาอยู่กับภรรยา ชูอิน นี อูอี นักปีนหุบผาชั้นแนวหน้าและโปรแกรมเมอร์มืออาชีพเช่นกัน บ้านกลางเมืองขนาดกะทัดรัดของพวกเขาระเกะระกะไปด้วยอุปกรณ์ปีนผาและเสื้อผ้าเปื้อนโคลนที่กระจัดกระจายปะปนอยู่กับคอมพิวเตอร์ฮาร์ดไดรฟ์ แผ่นดิสก์ ถ้วยกาแฟ และแกรนด์เปียโน

แคนยอน
กระโจนสู่ความเวิ้งว้าง มาร์ก เจนกินส์ นักเขียน ปีนหุบผาคานันกราเมนแคน-ยอนซึ่งต้องอาศัยการโรยตัวถึง 14 ช่วง

โรเบนส์กับผมขับรถไปทางตะวันตกของซิดนีย์เป็นเวลาสี่ชั่วโมง ตั้งแคมป์กันในอุทยานแห่งชาติคานันกราบอยด์  และออกเดินย่ำไปตามแนวเส้นทางกันไฟของเมานต์ทูแรต ในช่วงย่ำรุ่ง เรามีชุดดำน้ำ เชือก และอาหารกลางวันพร้อมอยู่ในเป้ หลังจากข้ามธารน้ำคานันกราครีก เราเดินดุ่มไปตามป่ารกที่ไม่มีทางเดินชัดเจน อาศัยแผนที่และจีพีเอสนำทางนักปีนหุบผามีพรสวรรค์ในการแทรกตัวผ่านพุ่มไม้หนาทึบ โรเบนส์พลิ้วตัวแทรกผ่านพุ่มไม้ทึบเหล่านี้อย่างคล่องแคล่วจนผมตามแทบไม่ทัน เรากระโดดข้ามไม้ล้มและกิ่งก้านระเกะระกะบนพื้นโดยอาศัยเข็มทิศบอกทิศทาง และลัดเลาะฝ่าป่าละเมาะ ใยแมงมุมขนาดมหึมา รวมทั้งแมงมุมตัวเท่าหนูที่วิ่งพรวดพราดผ่านต้นคอ

โรเบนส์อธิบายเสียงใสว่า “มีแต่แมงมุมที่อยู่บนดินเท่านั้นละครับที่กัดแล้วถึงตาย” ไม่ถึงชั่วโมงดี โรเบนส์ก็พาเรามาถึงยอดน้ำตกดานาอีได้อย่างแม่นยำ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมาที่นี่เลย สายน้ำไหลรี่ไปจนสุดทางก่อนจะทิ้งตัวลงสู่เบื้องล่าง “เราจะเริ่มโรยตัวกันตรงนั้น” โรเบนส์บอก พลางชี้ไปยังต้นไม้ที่ทอดตัวยื่นไปอย่างหมิ่นเหม่เหนือหน้าผา เราจัดแจงสวมชุดดำน้ำที่เหนียวหนืดติดตัว ใส่หมวกนิรภัย ผูกโยงเชือกเข้ากับลำตัว ก่อนจะทิ้งตัวลงสู่ความเวิ้งว้างเบื้องล่าง

ที่ระดับความสูงขนาดนี้ สายน้ำของดานาอีบรูกยังไม่กัดเซาะหน้าผาหินจนกลายเป็นช่องโพรง ทำให้เราต้องโรยตัวผ่านม่านละอองน้ำข้างน้ำตก ฝ่าเท้าลื่นไถลไปตามใบเฟินยักษ์ พอเรามาถึงจุดที่จะโรยตัวช่วงต่อไป ดานาอีบรูกแคนยอนถูกกัดเซาะเป็นรอยแยกกว้างกว่าหนึ่งเมตร แต่ลึกเข้าไปในเนื้อหินถึง 15 เมตร เราโรยตัวลงทางด้านหลังของรอยแยก สายตาจับจ้องไปยังท้องฟ้าที่ปรากฏผ่านร่องหิน

แคนยอน
“ผมรู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าสู่ใจกลางโลกเลยครับ” คาร์สเทน ปีเตอร์ ช่างภาพ เล่าถึงประสบการณ์ท่อง “หลุมดำแห่งกัลกัตตา” (Black Hole of Calcutta) ในคลอสตรัลแคนยอน นักปีนหุบผามากประสบการณ์มักหลีกเลี่ยงหุบผาแห่งนี้หลังฝนตกหนัก

เมื่อถึงจุดโรยตัวช่วงที่สาม เราอยู่ในร่องหินลึกอันมืดมิดพยายามทรงตัวเหนือชะง่อนหินลื่น ๆ ท่ามกลางสายน้ำตกที่ถั่งโถมลงมา โรเบนส์ตะโกนบอกว่า “ถ้าจะไม่ให้เชือกติดเราต้องแทรกตัวผ่านเข้าไปในหินเดี้ยงตัวแสบนั่นให้ได้ “หินเดี้ยงอะไรนะครับ” ผมตะโกนกลับ “ก็หินกลิ้งไง” โรเบนส์ยิ้มกว้าง พยักพเยิดไปทางก้อนหินใหญ่ขนาดเท่าตู้เย็นที่กลิ้งหล่นลงไปค้างอยู่ด้านล่าง นี่เป็นมุกตลกร้ายในแวดวงนักปีนหุบผาที่เรียก “หินกลิ้ง” (roll stone) ว่า “หินเดี้ยง” (ralstone) เพื่อหมายถึงแอรอน รอลสตัน ชาวอเมริกันที่ต้องยอมตัดแขนตัวเอง เพราะถูกก้อนหินใหญ่กลิ้งทับแขนในหุบผาของรัฐยูทาห์

แคนยอน
จอห์น โรเบนส์ มัคคุเทศก์ผู้คร่ำหวอด (ทางซ้ายสุด) นำทีมสำรวจที่เนื้อตัวเปียกโชกเดินผ่านเส้นทางที่ปกคลุมไปด้วยมอสส์ในคลอสตรัลแคนยอน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินป่าที่ใช้เวลาสองสามชั่วโมงจากปากทางออก เขาย้ำว่า การปีนหุบผาเป็นเรื่องของโชคช่วยในการค้นพบทั้งสิ้น “คุณเดินมาไม่รู้กี่กิโลเมตร แล้วจู่ๆ ก็พบพื้นที่อันน่าอัศจรรย์นี้ครับ”

ผนังหินช่วงนี้ปกคลุมไปด้วยมอสส์ การแทรกตัวเข้าสู่ด้านในของก้อนหินใหญ่กลายเป็นเหมือนการเบียดตัวเข้าช่องลิฟต์แคบ ๆ ที่สูงร่วมสิบชั้นท่ามกลางสายน้ำที่เทลงมาไม่ขาดสาย เราต้องเหวี่ยงตัวเข้าหาสายน้ำตกเชี่ยวกราก การเคลื่อนไหวเก้ ๆ กัง ๆ เช่นนี้เหวี่ยงเราทั้งคู่เข้าไปในก้อนหินได้ในที่สุด

ต่ำลงไปจากก้อนหินยักษ์นี้หุบผาเริ่มแคบลง สายน้ำที่ต่อเนื่องราวแพรไหมทอดตัวไปตามโพรงถ้ำแล้วไหลสู่ริมหน้าผา จากตำแหน่งนี้เรายังเหลือระยะทางอีกร่วม 300 เมตร เราโรยตัวผ่านสายน้ำตก เมื่อลงมาได้ครึ่งทาง ผมทำผิดมหันต์โดยการเงยหน้าขึ้นไปมอง สายน้ำที่ถาโถมลงมาทำเอาผมเกือบหัวขาดเสียแล้ว

 

Recommend