นักประดิษฐ์อุปกรณ์กล้อง ผู้อยู่เบื้องหลังสุดยอดภาพถ่าย National Geographic

นักประดิษฐ์อุปกรณ์กล้อง ผู้อยู่เบื้องหลังสุดยอดภาพถ่าย National Geographic

สําหรับช่างภาพเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก  การจะได้มาซึ่งช็อตที่สมบูรณ์แบบมักต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของนักประดิษฐ์อุปกรณ์ประจําสํานักงานของเรา

ทอม โอ’ไบรอัน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามลำพังในห้องปฏิบัติการของเขาซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในชั้นใต้ดินที่สำนักงานใหญ่ ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก รอบตัวเขามีโต๊ะทำงานกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ปิดป้ายเตือนอันตรายจากไฟฟ้าช็อตและการสูญเสียอวัยวะที่อาจเกิดขึ้นได้ แถมยังมีกล้องถ่ายภาพมากมายเต็มไปหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นข้างล่างนั้นส่วนใหญ่มีแต่โอ’ไบรอันเท่านั้นที่รู้ดี ถ้าเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นหนังเจมส์บอนด์ เขาต้อง เป็น “คิว” นักประดิษฐ์อุปกรณ์ให้สายลับอังกฤษ แต่ในกรณีของโอ’ไบรอัน เขาจัดหาอุปกรณ์ให้เหล่าช่างภาพ เพื่อที่พวกเราจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของโลกใบนี้

โอ’ไบรอัน ระดมสมองกับบรรดาช่างภาพว่า พวกเขาต้องการถ่ายภาพอะไร แล้วแปลงไอเดียเหล่านั้นให้เป็นจริงด้วยจินตนาการ การค้นคว้า การออกแบบคอมพิวเตอร์สามมิติ การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว และการประกอบให้เป็นอุปกรณ์ แทบไม่มีครั้งไหนที่เขาจะไม่มีทางออก

“ถ้าคุณฝันถึงมันได้ เขาก็คงสร้างมันได้แหละครับ” ปีเตอร์ กวิน พูดถึงวิศวกรผู้นี้ในรายการพอดแคสต์ชื่อ Overheard at National Geographic (ซีซัน 6, อีพี6)

เป็นเวลากว่าร้อยปีมาแล้วที่เหล่าวิศวกรออกแบบและประกอบสร้างกล้องถ่ายภาพตามสั่งเพื่อช่วยให้ได้ภาพที่เล่าเรื่องต่างๆ แก่ช่างภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โอ’ไบรอันเรียกวิศวกรรุ่นก่อนหน้าเขาว่า “บรรพบุรุษ” และคนเหล่านั้นมีส่วนช่วยในการสำรวจที่โด่งดังที่สุดหลายครั้งแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ

ลองดูฌาก กุสโต เป็นตัวอย่างก็ได้ ในทศวรรษ 1950 กุสโตทำให้ท้องทะเลมีชีวิตชีวาด้วยวิธีใหม่เอี่ยม ในยุคที่การแข่งขันทางอวกาศขึ้นถึงจุดสูงสุด กุสโตกลับสนใจ “อวกาศภายใน” หรือมหาสมุทรต่างๆ อันเป็นเขตแดนไพศาลของโลกมากกว่า เขาเชื่อว่ามหาสมุทรเต็มไปด้วยสมบัติที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน กุสโตขอความช่วยเหลือจากแฮโรลด์ เอดเกอร์ตัน เมื่อกล้องและหลอดไฟแฟลชในยุคนั้นไม่สามารถถ่ายภาพในความมืด หรือทนต่อแรงดันของทะเลลึกได้ เอดเกอร์ตันใช้ความชำนาญด้านการใช้ไฟสโตรบของตนประดิษฐ์ระบบให้แสงสว่างแบบใหม่ และกล้องชนิดใหม่ที่สามารถถ่ายภาพใต้นํ้าคุณภาพสูงได้

ผลลัพธ์คือภาพถ่ายและภาพยนตร์ที่ไม่มีมนุษย์ผู้ใดเคยเห็นมาก่อน ซึ่งถ่ายทอดทัศนียภาพจากท้องทะเลลึกที่ไม่เคยมีใครไปถึง แม้กระทั่งนักดำนํ้า กุสโตทำ ให้ผู้คนเห็นมหาสมุทรอย่างที่เขาเห็น นั่นคือโลกอันน่าตื่นตา ทว่าบอบบาง เหล่านักวิทยาศาสตร์ยกความดีความชอบให้กุสโตที่กระตุ้นให้สาธารณชนลงมือปกป้องธรรมชาติ เขาช่วยให้เราเห็นโลกที่ซ่อนเร้นในมหาสมุทร และตระหนักว่าเราต้องปกป้องมัน ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากความช่วยเหลือของวิศวกรสักคน

ในทศวรรษ 1950 วิศวกรภาพถ่าย แฮโรลด์ เอดเกอร์ตัน พัฒนาเทคโนโลยีระบบให้แสงสว่างและกล้องถ่ายภาพที่ช่วยให้นักสำรวจมหาสมุทรรุ่นบุกเบิก ฌาก กุสโต นำพามหาสมุทรสุดหยั่งมาให้ผู้คนได้ชมถึงห้องนั่งเล่น จุดประกายความสนใจของสาธารณชนต่อการอนุรักษ์
กล้องติดตามพฤติกรรมสัตว์คริตเตอร์แคมที่เกรก มาร์แชล จากห้องปฏิบัติการภาพถ่ายระยะไกลของสมาคม เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สร้างสรรค์ขึ้น เป็นกล้องถ่ายภาพควบคุมจากระยะไกลที่ติดตั้งไว้กับตัวสัตว์อย่างปลอดภัย ทำให้เรามองเห็นโลกผ่านสายตาของพวกมัน

โอ’ไบรอันกับเพื่อนที่เคยร่วมงานทำโปรเจ็กต์มาแล้วสารพัด พวกเขาออกแบบเครื่องมือที่ช่วยเสาะหาสัตว์ประหลาดแห่ง ล็อกเนส (ซึ่งไม่พบ) ติดตั้งกล้องกับหางเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต ใช้กล้องถ่ายภาพความเร็วสูงมากเพื่อศึกษากลไกทางชีวภาพของการวิ่งในเสือชีตาห์ ใช้เรือเหาะขนาดเล็กถ่ายภาพมาชูปิกชู และถ่ายภาพลูกกระสุนพุ่งกลางอากาศด้วย พวกเขาพัฒนากล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่ามาแล้วทุกประเภท ทำให้ช่างภาพเก็บพฤติกรรมที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้ หากต้องถ่ายด้วยตนเอง

ซ่อนไว้ในซาก: ช่างภาพ โรแนน โดโนแวน ได้ภาพระยะใกล้ของฝูงสุนัขป่าอาร์กติกกำลังขยํ้าซากวัวมัสก์โดยไม่ต้องเอาตัวเองเข้าเสี่ยง โอ’ไบรอันออกแบบกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่สามารถตั้งไว้ภายในโพรงกระดูกซี่โครงได้นานหลายวัน และติดตั้งไว้อย่างแน่นหนาพอที่ตัวกล้องเองจะไม่กลายเป็นขนมขบเคี้ยวของเหล่านักล่าด้วยสายเคเบิลหุ้มสแตนเลส

ความท้าทายสุดหวิว: สารคดีรางวัลออสการ์ Free Solo ที่ติดตามนักปีนเขา อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ พิชิตหน้าผาเอลแคพิแทนในโยเซมิทีโดยปราศจากเชือก โอ’ไบรอันสร้างระบบกล้องถ่ายภาพควบคุมจากระยะไกลสามตัวให้จิมมีชิน เพื่อถ่ายภาพช่วงที่ยากลำบากเป็นพิเศษของการปีนขึ้นเพื่อไม่ให้ฮอนโนลด์เสียสมาธิ

แล้วอะไรจะเป็นผลงานชิ้นต่อไปจากห้องปฏิบัติการแห่งนี้ โอ’ไบรอันกำลังทำงานกับลูกค้าประจำรายหนึ่งของเขา นั่นคือ โรแนน โดโนแวน ซึ่งงานที่ทั้งคู่ทำร่วมกันครั้งล่าสุด คือกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่จับภาพฝูงสุนัขป่าขณะรุมกินอาหารจากภายในซากวัวมัสก์ หนนี้เป้าหมายออกจะโหดน้อยกว่า และน่าเอ็นดูกว่า นั่นคือเหล่าบีเวอร์ โดโนแวนต้องการถ่ายภาพวิธีที่สัตว์ซึ่งอาศัยตามแม่นํ้าชนิดนี้เก็บสะสมอาหารไว้ในฤดูหนาว โอ’ไบรอันกำลังสร้างกล้องที่ไม่เพียงกันนํ้าและทนอุณหภูมิตํ่าสุดขีดได้ แต่ยังต้องสามารถห้อยหรือแขวนไว้ในโพรงนํ้าแข็งหนาๆ เพื่อจับภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของกิจกรรมใต้ผิวดินของบีเวอร์ได้ด้วย

ในโลกของโอ’ไบรอัน ไม่มีไอเดียไหนที่ไกลเกินเอื้อม “มันตื่นเต้นเสมอแหละครับ คุณไม่รู้หรอกว่า พวกช่างภาพจะคิดเรื่องเพี้ยนๆ อะไรขึ้นมาอีก” เขาเล่าไว้ในพอดแคสต์

ติดตามสารคดี อาวุธลับในห้องใต้ดิน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/562334

Recommend