Southern Exposure : สามจังหวัดชายแดนใต้ ในทัศนะของผม

Southern Exposure : สามจังหวัดชายแดนใต้ ในทัศนะของผม

ภาพชีวิตเสี้ยวหนึ่งของ สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

ผมลงไปนราธิวาสครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2546 พร้อมกับคำถามคาใจมากมาย

แผนการเดินทางของผมค่อนข้างกว้าง และหยาบมาก ๆ จนที่จริงไม่น่าจะเรียกมันว่าแผนซักเท่าไหร่

ผมจะทิ้งตัวอยู่ที่นั่น 3 เดือน ผมจะออกไปข้างนอกทุกวัน ผมจะคุยกับทุกคนที่ผมมีโอกาสได้เจอ ผมจะไปทุกที่ที่ใครก็ตามชวน หรือชี้เป้าให้ผมไป ผมจะตามไปดูทุกอย่างที่สะกิดตา สะกิดใจ ผมจะถาม ผมจะฟัง เพื่อถามต่อ และผมจะพยายามมีชีวิตรอดกลับมา

คน ร้านน้ำชา นราธิวาส ประเทศไทย
ร้านน้ำชาในตัวเมืองนราธิวาส – วัฒนธรรมร้านน้ำชาเข้มข้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมมุสลิมสามจังหวัด เป็นสถานที่พบปะ พูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังในทุก ๆ เรื่อง อยากรู้อะไรเป็นอะไรในพื้นที่ ให้เดินเข้าร้านน้ำชา

นราธิวาสรอบนั้นจบลงที่ 4 เดือน ผมเข้าไปในหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอ ไปปัตตานี ไปยะลา ข้ามไปดูความเป็นไปฝั่งกลันตัน ของมาเลเซีย

ชาวประมง ขนปลา เรือประมง ภาคใต้
ปัญหาใหญ่ยืดเยื้อของประมงพื้นบ้านนราธิวาส คือการที่เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ล้ำเขตจับสัตว์น้ำเข้ามาในรัศมี 3 กิโลเมตรจากชายฝั่งของพวกเค้า จนกลุ่มประมงพื้นบ้านต้องพากันยกขบวนไปประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดปีละหลาย ๆ ครั้ง

ผมไปงานแต่ง ไปงานศพ ไปดูโรงเรียน ตาดีกา ปอเนาะห์ เวลาว่างผมเข้าร้านน้ำชา หาคนคุย หาคนชี้เป้า ไปดูชีวิตประมงพื้นบ้าน ไปประท้วงกับพวกเค้าที่ศาลากลางเรื่องเรือใหญ่ล้ำเขตจับปลา ไปดูชีวิตคนกรีดยาง ไปดูวัยรุ่นเที่ยวงานคอนเสิร์ท เที่ยวน้ำตก เที่ยวงานแข่งเรือ

โรงเรียน อิสลาม ภาษาอาหรับ นักเรียน ระดับประถม
“ตาดีกา” คือโรงเรียนที่สอนเฉพาะหลักสูตรอิสลามภาษาอาหรับ สำหรับเด็กเล็กระดับประถม

ผมไปมัสยิด คุยกับนักการศาสนา สุหนี่ ชีอะห์ โต๊ะครูสอนนักโทษในเรือนจำ คุยกับหมอแว กับนักการเมืองท้องถิ่น ร้านค้า ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน คนเดินถนนทั่วไป ผมไปหาอดีตขบวนการในหมู่บ้าน ไปหาตำรวจที่โรงพัก ขอนั่งรถสายตรวจ ขอตามไปดูเค้าตั้งด่าน ไปหาทหารในค่าย ขอตามดูภารกิจต่าง ๆ รปภ. พระ รปภ. ครู

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี inspired จากทัชมาฮาล มีโดมใหญ่ตรงกลาง ล้อมด้วยโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยสูง 2 ข้าง บ่อน้ำใหญ่ด้านหน้า เริ่มสร้างเมื่อ 2497 ทำพิธีเปิดเอา 2506 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

มัสยิด กลุ่มชาวมุสลิม ละหมาด นราธิวาส
มัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาส – การละหมาดคือหัวใจสำคัญนึงของความใกล้ชิดกันในสังคมมุสลิม การพบปะกันวันละ 5 ครั้งของชุมชน ตั้งแต่ขนาดใหญ่ระดับจังหวัด ย่อยลงไปถึงตามมัสยิดเล็ก ๆในทุก ๆ หมู่บ้าน

นราธิวาส และสามจังหวัดคือโรงเรียนชีวิตโรงใหญ่ที่มีคุณค่ามหาศาลในวัยสามสิบต้น ๆ ของผม

ตำรวจ ถนน รถยนต์ นราธิวาส
เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีอย่างรัดกุมขณะตรวจค้นรถต้องสงสัยคันนึงที่ อำเภอสายบุรี ปัตตานี มือประกบซองปืนเพื่อป้องกันการแย่งชิง และพร้อมใช้ได้ทุกขณะ เจ้าหน้าที่อีกนายยืนคุมเชิงจากระยะไกล

มันคือภาพสะท้อนของความเป็นไป และนานาปัญหาสลับซับซ้อนที่ดำรงอยู่คู่ขนานในภาพกว้างระดับประเทศ ที่ถูกย่อส่วนลงให้เห็นได้ถนัดขึ้น และยิ่งชัดขึ้นไปอีกด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างสุดขั้ว

ผมเห็นความเชื่อมโยง ระหว่างความขัดแย้งภายใน ที่สะเทือนสืบเนื่องเป็นลูกคลื่นมาจากปัญหาใหญ่ระดับนานาชาติ ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างโลกมุสลิมกับโลกตะวันตกที่คุกรุ่นเขม็งเกลียวมาตั้งแต่เหตุ 911 เครื่องบินชนตึกเวิร์ลดเทรด เมื่อปี 2543 ก็มาปะทุเดือดในช่วงเวลานั้นพอดี

ดับเพลิงนราธิวาสกำลังช่วยกันดับไฟบนถนนเส้นหลักกลางตัวเมือง เหตุวินาศกรรมบางครั้งเกิดขึ้นกลางตัวเมือง พุ่งเป้าที่ธุรกิจ ห้างร้าน ทั้งลอบวางเพลิง วางระเบิด

ผมเทียวกลับลงไปอีกหลายรอบ จนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2549 สั้นบ้าง ยาวบ้าง แล้วแต่โอกาสและงบจะอำนวย เหตุรุนแรงในพื้นที่เพิ่มอัตราถี่และดีกรีของความหนักหน่วงขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นช่วง ๆ ตามปัจจัยของแต่ละห้วงเวลา พีคที่สุดคือหลังปี 2547 ที่มีการปราบปรามใหญ่ของฝ่ายรัฐ จนส่งผลให้พี่น้องมุสลิมเสียชีวิตเป็นร้อยศพ 2 ครั้ง ที่มัสยิดกรือเซะ และที่ตากใบ ตามด้วยการตอบโต้กลับที่รุนแรงต่อเนื่องจากฝ่ายขบวนการ ทั้งการลอบยิง คาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ ฝังระเบิดใต้ถนน ฆ่าตัดศรีษะ ฯ

ไฟไหม้ ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ดับเพลิง
เพลิงไหม้ย่านการค้า ตัวเมืองนราธิวาส
ตำราเรียนภาษาอาหรับถูกไฟเผาไหม้เกรียมที่โรงเรียนปอเนาะห์แห่งหนึ่งในเจาะไอร้อง

ความตึงเครียดรู้สึกได้ในมวลอากาศหนัก ๆ ที่อบอวลไปทั่วทุกพื้นที่หลังปี 2547 ทุกชีวิตที่ผมได้สัมผัสล้วนได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งโดยตรง โดยอ้อม มากบ้าง น้อยบ้าง ต่างกรรม ต่างวาระกันไป บางคนตกเป็นเป้า เป็นเหยื่อโดยตรง คนที่ถูกมอง ถูกหมายหัวว่าเป็นสมาชิกขบวนการ โต๊ะครูผู้มีอิทธิพลทางความคิดในชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ครู ไปจนพระสงฆ์ต่างต้องอยู่กันอย่างระแวดระวังทุกฝีก้าว สื่อมวลชนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

ชายหนุ่ม มุสลิม นั่ง ในบ้านไม้
โรงเรียนปอเนาะห์มักถูกจับจ้องจากทางการ ว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มขบวนการ เนื่องด้วยเพราะเป็นที่รวมของคนหนุ่มจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปอเนาะห์ที่อยู่ในหมู่บ้านลึก ๆ ห่างไกลตัวเมือง

เศรษฐกิจที่ซบเซาสืบเนื่องจากความรุนแรงย่อมกระทบปากท้องของทุก ๆ ชีวิตในพื้นที่ ลามไปถึงเมืองธุรกิจใหญ่อย่างสงขลา หาดใหญ่ กระทบการทำมาหากินของคนท้องถิ่น ชาวสวนยางไม่สามารถออกกรีดยางตอนกลางดึกที่น้ำยางไหลดี ต้องรอให้ฟ้าสว่างเสียก่อน ร้านรวงไม่กล้าเปิดจนค่ำมืด การก่อสร้างถนนหนทางไม่สามารถทำตอนกลางคืน การฆ่าแกงกันด้วยเรื่องส่วนตัวก็ง่ายขึ้นด้วยการโบ้ยไปเป็นเรื่องขบวนการ ฯลฯ

รถลาดตระเวณของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตกเป็นเป้าหมายอ่อนไหว
ตามเส้นทางลูกรังเปลี่ยว ในหมู่บ้านห่างไกล ผู้ก่อการจะฝังระเบิดไว้ล่วงหน้ายามค่ำคืน แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับการเฝ้าระวัง ลามสายจุดชนวนไกลออกไปชายป่า รอเวลาเพียงแค่เป้าหมายขับผ่านมาถึงจุดนัดพบตอนรุ่งเช้า
ผู้คน ละหมาด มัสยิด นราธิวาส
ละหมาดค่ำ มัสยิดกลางนราธิวาส

ผมไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบที่ผมตั้งใจไปหาตั้งแต่ก่อนลงไปหรือเปล่า คำถามหนึ่งคำถาม กลับมีคำตอบที่แตกต่างหลากหลาย ตามแต่ประสบการณ์ สถานะ และปูมหลังของคนตอบ คำถามเดียวกันนั้นกลับนำไปสู่คำถามใหม่ ๆ ที่แยกย่อย ต่อยอดออกไปอีกมากมายมหาศาลระหว่างทางที่ผมคลุกคลี ลงลึกไปเรื่อย ๆ

อิสลามห้ามประดับรูปเคารพ และสิ่งสักการะใด ๆ รวมถึงธงชาติด้วย

ภาพจำเดิมก่อนลงไปใต้ทริปแรก จากข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่นั่งดู นั่งอ่านอยู่ทุกวัน ในหัวผมเห็นแต่ภาพความรุนแรงในพื้นที่ ผมข้องใจที่สุด ว่าคนในพื้นที่เขาใช้ชีวิตกันยังไง ท่ามกลางความรุนแรง และการฆ่าฟันกันในอัตราความถี่รายวัน รายชั่วโมง

แล้วผมก็พบว่าผมเข้าใจผิด

ความสัมพันธ์อันยอกย้อนระหว่างภาพจำ (perception) กับความจริง (reality) คือบทเรียนแรกที่ผมได้จากสามจังหวัด

เรามักเชื่อว่าสิ่งที่เรารู้คือความจริง

เป็นเพราะข่าวที่ผมได้รับมีแต่เหตุรุนแรงเพียงด้านเดียว ดูข่าวใต้ 10 ครั้ง เป็นเรื่องความรุนแรง 10 ครั้ง ภาพจำเรื่องสามจังหวัดของผมคือ “รุนแรง 100%” ซึ่งมันไม่ใช่ความจริงสำหรับคนในพื้นที่ พวกเค้ายังคงมีชีวิตปกติอีก 99% 

ผู้หญิง ทอด กระทะ
แม่บ้านประมงกับหม้อต้มวัตถุดิบทำข้าวเกรียบปลา “กรือโป๊ะ” ขึ้นชื่อของนราธิวาส

ภาพถ่ายชุดนี้ไม่เคยถูกตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ผมเจตนาถ่ายเก็บไว้เพื่อเตือนความทรงจำของตัวเอง เกือบ 20 ปีผ่านไป ดูเหมือนสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ไปจากเดิมมากนัก ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่ ขณะที่ชีวิตปกติก็ยังดำเนินคู่ขนานกันไป ละครชีวิตฉากใหญ่ ที่ครบทุกรสชาดความเป็นมนุษย์ ทั้งสุข เศร้า รอยยิ้ม คราบน้ำตา ความรัก การจากลา ความหวาดตัวกลัวตาย และความกล้าหาญในการมีชีวิตอยู่.

 

ผู้หญิง สวมฮิญาบ ผู้ชาย ความรัก
หนุ่มสาวคู่นึงตรงทางขึ้นน้ำตกปาโจ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนในพื้นที่ ด้วยประเพณีอิสลามที่เคร่งครัด เราจะไม่เห็นภาพชายหญิงแสดงความรัก ด้วยการสัมผัสร่างกาย หรือเดินจูงมือกันในที่สาธารณะ

 

รัฐกลันตันของมาเลเซียมีพรมแดนติดกับนราธิวาส คนฝั่งไทยนิยมข้ามไปทำงานฝั่งกลันตัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตกว่า มุมที่น่าสนใจคือความเป็นรัฐที่เคร่งในอิสลามมากที่สุดของมาเลเซีย ขณะที่ไม่ปิดกั้นความเจริญทางวัตถุตามอย่างตะวันตก

 

ผู้ชาย ชาวประมง ยิ้ม จับปลา
ทรัพยากรมูลค่าหมื่นล้านของนราธิวาส

 

ระหว่างละหมาดค่ำ บรรยากาศเงียบงันภายในมัสยิดเรือนไม้หลังเล็ก กลางป่ายางที่อำเภอเจาะไอร้อง ความยากลำบากในการต่อสู้กับขบวนการของฝ่ายรัฐ คือการแยกแยะผู้ก่อการออกจากชาวบ้านทั่วไป

 

ที่มัสยิดกลางนราธิวาส – อุสต๊าดหนุ่มส่วนมาก ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ทั้งจากตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย ฯ จะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากฝ่ายความมั่นคง ด้วยเกรงจะได้รับการปลูกฝังความคิด และเงินทุนสนับสนุนจากขบวนการมุสลิมในประเทศนั้น ๆ

 

ตรวจค้นรถโดยสารที่ปัตตานี

 

พิธีศพมุสลิม จะต้องเสร็จสิ้นจบพิธีฝังภายใน 24 ชั่วโมงหลังบุคคลเสียชีวิตลง ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง พายุจะถล่มยังไงก็ตาม

 

“ปอเนาะห์” มาจากภาษามลายูว่า Pondok แปลว่า “กระต๊อบ” ซึ่งหมายถึงเรือนไม้ไผ่มุงจากหลังเล็กที่นักเรียนปอเนาะห์ใช้พักอาศัยในฐานะเด็กประจำ

 

โรงเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลาม จะเรียนหลักสูตรภาครัฐไทย ควบคู่หลักสูตรอิสลามภาษาอาหรับ เด็กประถมจะเรียนรวมชายหญิง และแยกเป็นชายล้วน หญิงล้วนเมื่อขึ้นชั้นมัธยม

 

กลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่โรงเรียนดารุสซาลาม ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ

 

พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่วัดเขากง นราธิวาส สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับโมเสคสีทอง หน้าตัก 17 เมตร สูงจากฐาน 24 เมตร ตั้งตระหง่านบนยอดเนินกลางทุ่งโล่ง เห็นเด่นชัดจากระยะไกล ตอนสร้างเสร็จใหม่ ๆ เมื่อปี 2512 มีการเดินขบวนประท้วงของพี่น้องมุสลิม ตามความเชื่ออิสลามที่ห้ามไม่ให้สักการะ ครอบครองรูปเคารพใด ๆ

 

การใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างไทยพุทธ กับมุสลิม

 

สามล้อรับจ้าง ตลาดเทศบาลนราธิวาส

 

ฮิญาบคือวัฒนธรรมการแต่งกายที่สร้างอัตลักษณ์อิสลามได้ชัดเจนที่สุดเสมอมา

 

เด็ก ๆ โรงเรียนตาดีกา เผชิญหน้ากับนักท่องเที่ยวที่ตอนนั้นคงนาน ๆ จะมีหลุดไปซักคน

 

บทสนทนาในร้านน้ำชาอาจลากยาวจากเช้าถึงเที่ยง บ่ายถึงเย็น หรือค่ำถึงดึกได้โดยไม่ทันรู้ตัว พร้อมกับ แตออ (ชาร้อนน้ำตาล) หรือกาแฟอออีกนับแก้วไม่ถ้วน

เรื่องและภาพ UNDERDOG.bkk


อ่านเพิ่มเติม

นักประดิษฐ์อุปกรณ์กล้อง ผู้อยู่เบื้องหลังสุดยอดภาพถ่าย National Geographic

Recommend