รางวัลชมเชย 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: “คนเมืองกับทะเล”

รางวัลชมเชย 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: “คนเมืองกับทะเล”

ผลงานรางวัล การประกวดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8

โดย คุณพุทธรัตน์ หอวัง

แนวคิดของสารคดี

ชีวิตกับน้ำเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน แม้แต่ชีวิตคนเมืองที่อยู่ห่างไกลจากโลกแห่งสายน้ำก็มักจะหาเวลาปลดปล่อยความเคร่งเครียดโดยไปพักผ่อนชมแม่น้ำหรือท่องเที่ยวดูชีวิตของสัตว์ทะเล ผู้คนมากกว่า 350 ล้านคนทั่วโลกเดินทางไปท่องเที่ยวตามชายฝั่งในทุกๆ ปี หากเราจะพูดว่าการท่องเที่ยวทางน้ำถือเป็นหนึ่งในวิถีที่เชื่อมคนเมืองกับชีวิตของสัตว์ในน้ำ ก็อาจจะเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงนัก เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างมาก ผลกระทบระหว่างสัตว์และมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เศษอาหารที่เกิดขึ้นจากโรงแรมหรือร้านอาหาร ส่งผลให้พฤติกรรมของสัตว์นักล่าบางชนิดเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้นเสียหาย แม้แต่คราบน้ำมัน, ควันพิษ​จากเรือที่พานักท่องเที่ยวออกไปในทะเลก็ส่งผลเสียเช่นกัน การเป็นเพียงแค่ผู้ชมเราก็อาจทำอันตรายแก่ชีวิตของสัตว์ทะเลได้ โดยที่เราไม่รู้ตัว การจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลากหลายประเทศมีกฏหมายที่ช่วยปกป้องระบบนิเวศน์ ส่งผลให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสำหรับนักท่องเที่ยวและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นในระยะยาว

ลูกปลากระพงแดงป่าชายเลนอาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำของคลองสองน้ำที่เชื่อมกับทะเล ป่าโกงกางเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล และ เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่คนเมืองชอบไปเยี่ยมชม
ต้นอ่อนของโกงกาง ป่าโกงกางมีความสำคัญต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์ ช่วยในการดูดซับคาร์บอนและเป็นที่หลบภัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก
ความสมบูรณ์ของป่าโกงกางอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากสถานที่ท่องเที่ยว ด้วยกระแสน้ำที่พัดผ่านตลอดเวลา ทำให้ปะการังอ่อนมาเกาะอยู่ที่รากของต้นโกงกาง แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตในบริเวณนั้น
ถุงขยะติดอยู่บนปะการังในพื้นในบริเวณเดียวกับป่าโกงกางกลางทะเล เป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้ได้ว่าแม้แต่ในจุดที่อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ก็ยังได้รับผลกระทบจากเศษขยะที่เราทิ้งลงไปในทะเล
วิถีชีวิตของคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เด็กๆนั่งเล่นอยู่ริมชายหาด เป็นลูกหลานของชาวบ้านที่เดินทางจากเกาะอื่น มารอขายของให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมชายหาดสีชมพู ในประเทศอินโดเนเซีย
กวางในธรรมชาติที่อยู่อาศัยบนเกาะปรับตัวคุ้นกับมนุษย์ ลงมารอกินมะพร้าวกลางเศษขยะที่เหลือจากการขายน้ำมะพร้าวให้กับนักท่องเที่ยว
ในมัลดีฟส์มีข้อกำหนดว่าห้ามทิ้งเศษอาหารอินทรีย์ที่ท่าเรือ แต่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ยังไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความหนาแน่นของปลานักล่าในบริเวณนี้มีมากกว่าปกติ และ สามารถส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลย์ในระบบนิเวศน์ตามชายฝั่งได้
ในอดีตฉลามวาฬเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของชาวประมงบนแพจับปลาของชาวอินโดเนเซียเนื่องจากมาคอยกินเศษปลาจากตาข่าย สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างของแพ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นการพึ่งพาพึ่งอาศัยกัน เพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวที่อยากดูฉลามวาฬ
นักท่องเที่ยวให้อาหารลูกฉลามเพื่อล่อให้ลูกฉลามเข้ามาใกล้ชิด บางครั้งมีอุบัติเหตุจากการที่ลูกฉลามบังเอิญงับโดนคนเพราะไปอยู่กลางจุดให้อาหาร ในปัจจุบันเริ่มมีการห้ามให้อาหารจากกลุ่มผู้ประกอบการเรือและโรงแรมตามชายหาด โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกคน
นักท่องเที่ยวเว้นระยะห่างดูกระเบนราหูใกล้ท่าจอดเรือขึ้นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังของอินโดเนเซีย การบริหารจัดการที่ดี ทำให้พื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในระยะยาว สำหรับสัตว์ทะเลและผู้ที่มาเยี่ยมชม

Recommend