รองชนะเลิศอันดับ 1 : 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: “สายน้ำแห่งเกลือสมุทร”

รองชนะเลิศอันดับ 1 : 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: “สายน้ำแห่งเกลือสมุทร”

ผลงานรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8

โดย คุณนิธิรุจน์ สุทธิเมธีโรจน์

 

แนวคิดของสารคดี

“สายน้ำแห่งเกลือสมุทร” นาเกลือในบางพื้นที่ซึ่งยังไม่มีถนนตัดผ่านเช่น ต.บ้านบ่อ จ.สมุทรสาคร เราจะเห็นชาวนาเกลือกลุ่มหนึ่งที่ต้องใช้ “เรือเกลือ” เพื่อขนเกลือจากยุ้งฉางไปรอขายที่โกดังติดริมน้ำ ที่นั่นนอกจากจะต้องรอเกลือให้ตกผลึกและรื้อเกลือตามวิถีนาเกลือทั่วไปแล้ว ยังจะต้องรอดูช่วงเวลาน้ำขึ้นและลงเพื่อออกเรือไปขนเกลือมาขายซึ่งจะออกเรือช่วงวันน้ำขึ้น (ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเกิด”) ตรงกับวันขึ้น 15ค่ำ ถึง 8 ค่ำ ที่ระดับน้ำจะสูงกว่าช่วงวันน้ำลง (ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตาย”) “น้าอั๋น” คุณอัศวิน น่วมนวล พ่อค้าเกลือและคนขับเรือลากที่ใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำท่าจีนตลอด 38 ปี กล่าว “น้ำคือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตผม ถ้าไม่มีน้ำทะเล ผมก็ทำนาเกลือไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำตามคลอง ผมก็ไม่สามารถออกเรือไปขนเกลือได้ แล้วผมจะทำอะไรกิน” ไม่ไกลจากบ้านบ่อมากนัก ที่ ต.โคกขาม นาเกลือที่นี่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไม่ถึง 5 กิโลเมตร ป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญในการทำให้น้ำมีคุณภาพที่ดีพร้อมเข้าสู่กระบวนการทำนาเกลือต่อไป และนี่คือเรื่องราวของความสำคัญของสายน้ำที่มีผลกระทบต่อวงจรการทำนาเกลือและสร้างรายได้ให้ชุมชนแห่งนี้

“เรือเกลือ” ภาพที่เห็นไม่ได้บ่อยมากนักในปัจจุบัน เมื่อขนเกลือลงเรือเสร็จแล้ว ต้องรอน้ำขึ้นถึงระดับที่สามารถล่องกลับไปยังโกดังเกลือซึ่งต้องมั่นใจว่าระดับน้ำสูงพอที่จะแล่นผ่านตอใต้น้ำเพื่อลดความเสียหายกับเรือ
การรื้อเกลือในโคกขามซึ่งมักจะทำในช่วงเช้าตรู่เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดแรงและอากาศที่ร้อนจัด
น้าอั๋นขณะขับเรือผ่านคลองเล็กๆเพื่อไปขนเกลือจากยุ้ง ประสบการณ์ 38ปี ในการลากเรือเปรียบเสมือนสายน้ำที่อยู่ในเส้นเลือดและคงไม่สามารถผันชีวิตไปทำอาชีพอื่นได้เลย
คนคัดท้ายเรือ อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของวิถีชาวนาเกลือ กำลังออกแรงยันไม้เพื่อให้เรือกลับสู่เส้นทางเดินเรือปกติ
ชาวบ้านที่ว่างจากงานประจำกำลังขนเกลือจากยุ้งมาเทลงในเรือ โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกับการขนเกลือ 15เกวียน หรือเท่ากับ24ตัน
ทีมรับจ้างขนเกลือทยอยแบกเกลือขึ้นบ่าเพื่อไปวางในโกดังเกลือของสหกรณ์ท้องถิ่นบ้านบ่อ
ช่างซ่อมเรือ หนึ่งในอาชีพที่เป็นที่พึ่งพิงของชาวนาเกลือบ้านบ่อกำลังซ่อมบำรุงรอยรั่วและทาสีคืนความสมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด
ความสำคัญของเกลือทะเลมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือการนำเกลือมาละลายน้ำเพื่อลอกหนังปลาหมึกได้ง่ายขึ้นและเพื่อให้เนื้อมีความเด้งเคี้ยวอร่อย
หากไม่มีน้ำทะเล ก็ไม่มีเกลือทะเล คุณเลอพงษ์ จั่นทอง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนาเกลือ โคกขาม กล่าวว่าการปลูกป่าโกงกางมีผลกระทบด้านบวกกับการทำนาเกลือของที่นี่ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งไม่ถึง 5 กิโลเมตร
การรณรงค์ปลูกป่าชายเลนโดยการปลูกต้นโกงกางได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องมากกว่า 10ปีจากชาวบ้าน หน่วยงานราชการ บริษัท โรงเรียนหลายๆแห่งและประชาชน โดยมีคุณลุงนรินทร์ บุญร่วม เป็นหัวเรือการพิทักษ์ป่าชายเลนผืนนี้

Recommend