หลากภาพแห่งช่วงเวลา ที่ช่างภาพของเราไม่มีวันลืม

หลากภาพแห่งช่วงเวลา ที่ช่างภาพของเราไม่มีวันลืม

ในสารคดีชุดใหม่ที่สำรวจการทำงานของพวกเขา ช่างภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แบ่งปันเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายที่โด่งดังที่สุดของตน

 

คนแบบไหนที่ไล่ล่าพายุทอร์นาโด หรือดำนํ้าท่ามกลางฝูงฉลาม หรือเดินทางไปยังพื้นที่ขัดแย้ง ทั้งหมดนี้เพื่อภาพถ่ายดี ๆ สักภาพอย่างนั้นหรือ จิมมี ชิน นักปีนเขา ช่างภาพ และผู้สร้างภาพยนตร์ สงสัยเรื่องนี้สมัยเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นในรัฐมินนิโซตา ขณะพลิกหน้านิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ของครอบครัว เมื่อเขาเริ่มถ่ายภาพในวัยยี่สิบ เป้าหมายของเขาคือการถ่ายภาพให้นิตยสารฉบับนี้

หลังขึ้นสู่ทำเนียบช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 2002 นับแต่นั้น ชินก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะไกล หรือสูงเพียงใด เขาก็พร้อมจะฝ่าฟันเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพถ่ายดี ๆ ภาพนั้น เมื่ออเล็กซ์ ฮอนโนลด์ เพื่อนและสหายนักปีนเขา พยายามพิชิตหน้าผาเอลแคพิแทนในอุทยานแห่งชาติโยเซมิที โดยไม่ใช้เชือกในปี 2017

ชินโรยตัวจากเชือกนิรภัยใกล้ ๆ ที่ระดับความสูง 610 เมตรเหนือพื้นหุบเขา ภารกิจท้ามฤตยูของฮอนโนลด์ยังกลายเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ฟรีโซโล่ ระหํ่าสุดฟ้า ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่คว้ารางวัลออสการ์ ซึ่งกำกับโดยชินและเอลิซาเบท ไช วาซาเรลี ภรรยาและคู่หูนักสร้างสรรค์ของเขา

สำหรับสารคดีชุดใหม่สองนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จะหันกล้องไปทางช่างภาพแทน พวกเขาเพิ่งเปิดตัวซีรีส์ Photographerสารคดีหกตอนที่จะตรึงผู้ชมด้วย “เรื่องราวของของนักเล่าเรื่องด้วยภาพผู้น่าทึ่งที่สุด” ตามที่ชินบรรยายถึงพวกเขา การอุทิศตนเพื่อศิลปะเชื่อมโยงช่างภาพในสารคดีนี้เข้าด้วยกัน ตั้งแต่สัตว์ตัวจิ๋วที่สุดถึงการเดินทางเที่ยวสุดท้ายสู่อวกาศ

ภาพถ่ายต่อไปนี้คือตัวอย่างผลงานของพวกเขาและเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลัง

จิมมี ชิน – อุทยานแห่งชาติโยเซมิที แคลิฟอร์เนีย
อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ปีนผาชันของเอลแคพิแทนโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกัน จิมมี ชิน ผู้ถ่ายภาพนี้ให้ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 2017 บอกว่า ช่างภาพที่ดีที่สุดแบ่งปัน “ความมุ่งมั่นและความหลงใหลในสิ่งที่พวกเขากำลังถ่ายภาพ”

 

อานันท์ วรมา – มอนทรีออล ควิเบก
นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกผู้นี้ถ่ายภาพหลายพันภาพ ของด้วงเต่าจับรังไหมของแตน เบียนด้วงเต่าลายจุด ซึ่งขึ้นปก นิตยสารฉบับพฤศจิกายน 2557 ตัวอ่อนแตนพัฒนาอยู่ภายในตัว ด้วงเต่า มันจะทำให้เจ้าบ้านเป็น อัมพาต ก่อนจะออกมาปั่นรังไหม กระบวนการนี้ทำให้ด้วงเต่ากระตุกเหมือนซอมบี้ ผู้อ่านหลายคนเขียนหาวรมา โดยสารภาพว่าพวกเขาเคยไม่ชอบแมลง แต่ภาพถ่ายของวรมาช่วยเปิดหูเปิดตาพวกเขา

 

คริสเติล ไรต์ – อิมพีเรียล เนแบรสกา
ช่างภาพ คริสเติล ไรต์ และเพื่อน นักไล่ล่าพายุมาถึงจุดเกิดเหตุพอดี ตอนที่พายุซูเปอร์เซลล์ปล่อยสายฟ้าออกมาคุกคามฟาร์มแห่งหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2019 จังหวะเวลาในวันนั้นเป็นเรื่อง “โชคช่วยแท้ ๆ” ไรต์เล่า หลังล่าถอยจากพายุในรัฐโคโลราโดที่กระหนํ่ารถของพวกเขาด้วยลูกเห็บ พวกเขาก็ข้ามไปยังรัฐเนแบรสกา และตามทันพายุลูกนี้พอดี

“มันกระอักกระอ่วนใจเวลาเห็นอะไรแบบนี้ ในด้านหนึ่งก็เหมือนกับ โอ้ พระเจ้า ไม่อยากเชื่อว่าฉันกำลังมองดูปรากฏการณ์สุดยอดนี้ด้วยตาตัวเอง แต่แล้วในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมันกำลังพัดผ่านเมือง คุณก็ตระหนักว่า เอาแล้ว มันต้องทำลายล้างชีวิตอย่างแน่นอน”

 

มุฮัมมัด มูเฮเซน – อัลมาฟรัก จอร์แดน
ในภาพถ่ายปี 2018 ภาพนี้ ซาห์รา มาห์มูด อายุเจ็ดขวบ เธออาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ค่ายผู้ลี้ภัย ในจอร์แดน มุฮัมมัด มูเฮเซน ซึ่งบันทึกภาพวิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยในภูมิภาค พบซาห์ราและครอบครัว เมื่อปี 2015 ไม่นานหลังจากพวกเขาหนีภัยสงครามในซีเรีย บ้านเกิด ทุกปี มูเฮเซนจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาและถ่ายภาพซาห์ราที่ตอนนี้กลายเป็นวัยรุ่นแล้ว

“ถ้าคุณอยากจับอารมณ์ที่ใช่ เพื่อเก็บภาพนั้น คุณต้องเคารพผู้คน และต้องได้รับความไว้วางใจจากพวกเขา นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะซื้อหรือขายได้ มันเป็นสิ่งที่คุณต้องลงทุนลงแรง เป็นการลงทุนในระยะยาว”

 

คริสตินา มิตเทอร์ไมเออร์ – หมู่เกาะกาลาปาโกส
เมื่อปี 2021 ช่างภาพ คริสตินา มิตเทอร์ไมเออร์ กับคู่หู พอล นิกเคลน กำลังดำนํ้าในหมู่เกาะกาลาปาโกสเพื่อรณรงค์ให้มีการขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ขณะกระแสนํ้าพัดมิตเทอร์ไมเออร์ไปยังแนวปะการัง และฉลามขนาดใหญ่ตัวหนึ่งลาดตระเวนอยู่ในบริเวณนั้น เธอกลับให้ความสนใจกับเหตุการณ์เหนือตัวเธอ นั่นคือฝูงปลาคาร์ดินัลพุ่งออกมาจากเส้นทางของสิงโตทะเลหมู่เกาะกาลาปาโกส

“[การถ่ายภาพเป็น] งานที่ท้าทายมาก เราต้องอยู่ข้างนอกนั่นตลอดเวลาอยู่ไกลบ้านหลายเดือนติดต่อกัน ต้องทุ่มเทให้กับบางสิ่งจนดูเหมือนแยกตัวโดดเดี่ยว เพื่อเป็นช่างภาพ เราต้องเป็นหมาป่าเดียวดาย ดังนั้น ตอนที่พอลกับฉันพบกัน และเริ่มทำงานร่วมกันจึงเกือบจะเหมือนกับการเจอเสื้อชูชีพกลางมหาสมุทร”
– คริสตินา มิตเทอร์ไมเออร์

 

พอล นิกเคลน – ดินแดนนูนาวุต ตอนเหนือของแคนาดา
เมื่อนํ้าแข็งทะเลในอาร์กติกหายไป หมีขั้วโลกที่หิวโหยถูกบีบให้ออกล่าแมวนํ้าในน่านนํ้าเปิดมากขึ้น เมื่อปี 2004 นิกเคลนถ่ายภาพหมีเพศผู้ว่ายนํ้าอยู่ใต้ชิ้นส่วนนํ้าแข็งที่ล่องลอย ภาพของมันสะท้อนบนผิวนํ้า เพื่อให้ได้มุมเหมาะ ๆ นิกเคลนโน้มตัวไปไกลจากด้านข้างของเรือลำเล็ก จากตรงนั้นเขาเฝ้าสังเกตเจ้าหมีและหย่อนกล้องลงไปใต้น้ำ

 

แดน วินเทอร์ส – ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 2011 กระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ ทะยานผ่านหมู่เมฆเพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งสุดท้ายในชีวิตการทำงาน 19 ปี แดน วินเทอร์ส ตั้งกล้องถ่ายภาพที่ลั่นชัตเตอร์ด้วยเสียงไว้รอบ ๆ ฐานปล่อยจรวด เขาทำงานแบบแมนวลกับกล้องอีกตัวหนึ่งซึ่งใช้สร้างภาพนี้ โดยเปิดรับแสงให้น้อยลงเพื่อสร้างฉากที่มืดและเร้าอารมณ์มากขึ้น

“งานหลักของผมคือการถ่ายภาพพอร์เทรต แต่เรื่องอื่นก็เป็นความหลงใหลของผมจริง ๆ ผมโชคดีที่ได้ทำงานกับองค์การนาซาในตำแหน่งทางการ ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่ง ผมไม่คิดว่าตอนเป็นเด็กผมจะนึกวาดภาพตัวเองทำงานกับนาซา”

เรื่อง ฮิกส์ โวแกน

ติดตามนักเล่าเรื่องเหล่านี้ และคนอื่น ๆ ได้ในสารคดีชุด Photographer ของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้ทาง Disney+ และ Hulu

ติดตามสารคดี ช่างภาพกับชั่วขณะแสนพิเศษ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/609119


อ่านเพิ่มเติม อานันด์ วาร์มา ชายผู้ ‘ร่ายมนต์’ ด้วย “ภาพถ่ายวิทยาศาสตร์”

Recommend