ย้อนดูการดัดแปลงภาพถ่ายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในอดีต ก่อนมีเทคโนโลยี  Deepfake

ย้อนดูการดัดแปลงภาพถ่ายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในอดีต ก่อนมีเทคโนโลยี  Deepfake

ก่อน AI จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ช่างภาพยุคก่อนได้ตัดต่อและปรับแก้ภาพต่าง ๆ เช่น ภาพบุคคลสําคัญในประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้องและรักษาภาพลักษณ์ของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเหล่านั้นเอาไว้

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (เอไอ) ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้การปรับแต่งภาพกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและสามารถเข้าถึงได้มากกว่าในอดีต อย่างไรก็ดี หากเทคโนโลยีนี้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ภาพต่าง ๆ ที่ถูกปรับแก้โดย AI อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคมได้

เครื่องมือหลายชนิดที่ใช้ Generative AI หรือ AI สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เช่น รูปภาพหรือวิดีโอขึ้นใหม่จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ และยังสามารถปลอมแปลงอัตลักษณ์ของบุคคลในสื่อเหล่านั้นได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Deepfake

นายพลแกรนต์ ณ เมืองซิตีพอยต์ ภาพนี้ไม่ใช่ภาพจริงที่บันทึกท่าทางของนายพลยูลิสซีส เอส แกรนต์ ที่เมืองซิตีพอยต์ในรัฐเวอร์จิเนียเอาไว้ เพราะภาพถ่ายใบนี้ถูกตัดต่อหรือประกอบรวมขึ้นจากภาพอีกประมาณ 3 ใบ ซึ่งถูกตัดแปะไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของภาพเสมือนจริงภาพนี้

“เดิมทีแล้ว Deepfake หมายถึงวีดีโอที่ใบหน้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกสวมทับด้วยใบหน้าของบุคคลอื่นโดยใช้ AI สร้างขึ้นครับ” แมทธิว สแตมม์ (Matthew Stamm) วิศวกรจากมหาวิทยาลัยเดร็กเซล เมืองฟิลาเดลเฟีย กล่าว พร้อมเสริมว่า “แต่เมื่อ Generative AI ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้า คำว่า Deepfake ก็ถูกนำไปใช้อธิบายการปลอมแปลงหรือดัดแปลงภาพในรูปแบบอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ AI ครับ”

ดังนั้น เมื่อ Deepfake มีข้อมูลมากพอที่จะแสดงภาพของบรรดาผู้นำทางการเมืองได้ เทคโนโลยีนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายข้อมูลเท็จหรือทำให้ฝ่ายบริหารของรัฐบาลเสื่อมเสียชื่อเสียง

แม้ว่าเครื่องมือ AI ที่มีความสามารถในการสร้างภาพปลอมอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในปัจจุบัน แต่การปรับแก้ภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางการเมืองที่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งนั้นไม่ใช่ ก่อนที่จะมีคำว่าเทคโนโลยี Deepfake เกิดขึ้น ภาพตัดต่อในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้นถูกสร้างขึ้นจากความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่เหล่าผู้นำโลก

เทคนิคการปรับแก้ภาพถ่ายในอดีต

นับตั้งแต่การถ่ายภาพถูกคิดค้นขึ้น คนเราก็ปรับเสริมเติมแต่งภาพถ่ายมาโดยตลอด ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพหลาย ๆ คนเชื่อว่า ภาพถ่ายเป็นมากกว่าสิ่งที่บันทึกความเป็นจริงเอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม เฮนรี พีช โรบินสัน (Henry Peach Robinson) หนึ่งในช่างภาพผู้บุกเบิกวงการการถ่ายภาพประกอบ ได้บันทึกข้อความไว้เมื่อค.ศ. 1869 ว่า “ผมมิได้คิดว่าภาพถ่ายนั้นจะต้องแสดงให้เห็นสิ่งที่ชัดแจ้ง จริงแท้ หรือแน่นอน แต่ถึงกระนั้น ภาพก็ควรต้องแสดงถึงความจริง”

ส่วนศีรษะของภาพนายพลแกรนต์ ณ เมืองซิตีพอยต์อาจถูกตัดมาจากภาพถ่ายซึ่งถูกถ่ายไว้ในเดือนมิถุนายนของปี 1864 ของนายพลขณะยืนอยู่ข้างต้นไม้ต้นหนึ่งที่โคลด์ ฮาร์เบอร์ ในรัฐเวอร์จิเนีย

แล้วความจริงที่โรบินสันต้องการจะสื่อคือความจริงประเภทใด ภาพถ่ายสามารถเก็บร่างไร้ชีวิตให้ดูมีชีวาไว้เพื่อปลอบประโลมจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย หรือแสดงให้เห็นความรักชาติของนายทหารที่กำลังจะเดินทางไปร่วมสงครามได้

ในบางครั้ง การปรับแต่งความจริงเหล่านี้อาจหมายถึงการปรับแก้ภาพถ่าย “ในขณะที่อยู่ในห้องมืด ช่างภาพจะสามารถควบคุมการจัดองค์ประกอบและการเปิดรับแสงของรูปได้ค่ะ” ทันยา ชีแฮน (Tanya Sheehan) นักประวัติศาสตร์ศิลป์จากวิทยาลัยโคลบี สหรัฐอเมริกา อธิบาย และกล่าวต่อว่า “ฟิล์มเนกาทีฟสามารถถ่ายภาพซ้อนได้ ยิ่งไปกว่านั้นฟิล์มเนกาทีฟหลาย ๆ แผ่นยังสามารถนำมาตัดแล้วเอามารวมกันเพื่อสร้างภาพซ้อนภาพได้ค่ะ”

การแต่งรูปให้บรรดาผู้นำดูดี

นอกจากการถ่ายและล้างรูป อีกหนึ่งหน้าที่ของสตูดิโอคือการแต่งภาพให้รูปลักษณ์ของผู้ที่เป็นแบบดูดีขึ้น “คนที่ใช้สตูดิโอถ่ายภาพบ่อย ๆ จะคาดหวังว่า ภาพที่ถ่ายออกมาจะแสดงให้เห็นด้านที่ดูดีที่สุดของตัวเอง ดังนั้นการแต่งรูปจึงถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้รูปที่ออกมานั้นตรงตามความคาดหวังของผู้ใช้บริการค่ะ” ชีแฮน ชี้ แม้แต่บรรดาผู้นำทางการเมืองและผู้สนับสนุนของพวกเขาก็ต้องการให้ภาพถ่ายของตนออกมาดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในช่วงปี 1865 ภาพใหม่ของอับราฮัม ลินคอล์นในท่าทางสง่างามถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน มีความเป็นไปได้ว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นหลังจากที่อดีตประธานาธิบดียามสงครามของสหรัฐฯ ถูกลอบสังหารและได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้พลีชีพ” นอกจากนี้ยังอาจเป็นไปได้ว่าภาพนั้นถูกเผยแพร่เป็นวงกว้างหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ทว่าในเวลาต่อมา ผู้คนกลับพบว่าภาพประวัติศาสตร์อันโด่งดังชิ้นนี้เป็นภาพปลอม ซึ่งถูกทำขึ้นโดยการนำภาพศีรษะของวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยทาสอย่างลินคอล์นมาวางทับบนร่างของจอห์น ซี แคลฮูน ซึ่งเป็นนักการเมืองที่สนับสนุนระบบทาส

ภาพของอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นภาพนี้คือภาพตัดต่อซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยการนำภาพศีรษะของลินคอล์นมาวางซ้อนทับบนร่างของจอห์น ซี แคลฮูน

หลายทศวรรษต่อมา สหภาพโซเวียตก็ได้นำเทคนิคการแต่งภาพเช่นนี้มาปรับใช้เพื่อทำให้ภาพของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ดูแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เทคนิคนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงปี 1924 ถึง 1953 หรือในช่วงที่โจเซฟ สตาลินดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของสหภาพ

“ในระดับรัฐ การปรับแต่งภาพส่วนใหญ่จะถูกดำเนินการโดยฝ่ายศิลป์ของแผนกผลิตสื่อชนิดต่าง ๆ ของทางการโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นเอกสารราชการ วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ ซึ่งในแต่ละแผนกจะใช้วิธีในการปรับแต่งภาพที่ต่างกันไปค่ะ” เจสสิกา เวอร์เนคี (Jessica Werneke) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไอโอวากล่าว

เธออธิบายต่อว่า “การใช้เทคนิคพ่นสีเพื่อลบร่องรอยของจุดบกพร่องบนร่างกายออกนั้นเป็นเรื่องปกติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการลบรอยแผลเป็นจากโรคฝีดาษ และบาดแผลตามร่างกายซีกซ้ายของสตาลินที่เกิดจากการบาดเจ็บในวัยเด็กค่ะ”

การตัดต่อภาพเพื่อลบประวัติศาสตร์

ในช่วงที่สตาลินเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต เทคนิคการปรับแต่งรูปถูกใช้โดยมีจุดมุ่งหมายที่ชั่วร้ายกว่าการปรับภาพลักษณ์มาก “การตัดต่อรูปเป็นวิธีที่ถูกใช้เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ตามหลักนโยบายของสตาลินค่ะ เขาและบรรดาผู้สนับสนุนทำให้วิธีปรับแต่งภาพถ่ายในสมัยนั้นก้าวไปสู่ขั้นใหม่จากการลบคนออกจากภาพ” เวอร์เนคีกล่าว

นีโคไล เยจอฟ (ขวา) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจลับของโซเวียตนับตั้งแต่ปี 1936 จนถึงปี 1938 ภายใต้การนำของโจเซฟ สตาลิน (กลาง) เยจอฟถูกจับกุมในปี 1938 และถูกประหารชีวิตในปี 1940 หลังเสียชีวิตลง ตัวตนของเขาก็ถูกลบอกจากภาพต่าง ๆ อย่างหมดจด จนทำให้เขามีชื่อเล่นว่า “หัวหน้าหน่วยที่ปลิวหายไปกับสายลม”

อาจกล่าวได้ว่า การลบบุคคลออกจากภาพถ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองครั้งที่ฉาวโฉ่ที่สุดนั้นปรากฏอยู่บนภาพ 2 ใบซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในปี 1937 เอาไว้ หนึ่งในนั้นคือภาพที่บันทึกภาพของสตาลินและเพื่อนร่วมงาน 3 คน รวมเจ้าหน้าที่ตำรวจลับของโซเวียตอย่างนีโคไล เยจอฟ (Nikolai Yezhov) ซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาในปี 1937 ทว่าเพียง 3 ปีให้หลัง ภาพนั้นกลับถูกพิมพ์ใหม่และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนอีกครั้งโดยปราศจากเงาของเยจอฟ 

เกิดอะไรขึ้นกับภาพนั้นกันแน่ เบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้อาจเริ่มมาจากการที่เยจอฟหลุดจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่คนโปรดของสตาลิน หลังจากที่ถ่ายภาพนั้นเอาไว้ กอปรกับในปี 1941 เยจอฟถูกจับกุมและประหารชีวิต ตัวตนของเขาจึงถูกลบออกจากภาพถ่ายที่มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ราวกับว่าเขาไม่เคยใกล้ชิดกับสตาลินมาก่อน

การตรวจหาภาพที่ถูกปลอมแปลง

ในปัจจุบันนี้ องค์กรต่าง ๆ เช่น Content Authenticity Initiative (CAI) สามารถช่วยตรวจสอบรูปภาพดิจิทัลและตรวจจับภาพที่ใช้ AI สร้างขึ้นได้ แต่เราจะสามารถตรวจสอบรูปถ่ายก่อนยุคดิจิทัลที่ตัดผ่านการต่ออย่างหนักได้อย่างไร

ไมคาห์ เมสเซ็นไฮเมอร์ (Micah Messenheimer) ภัณฑารักษ์ประจำแผนกภาพพิมพ์และภาพถ่ายของหอสมุดรัฐสภาอเมริกันกล่าวไว้ว่า “แหล่งที่มาของภาพคือกุญแจสำคัญ เพราะการทราบประวัติของภาพถ่ายจะช่วยยืนยันได้ว่า ภาพ ๆ นั้นเป็นภาพจริงหรือของเลียนแบบครับ”

(ซ้าย) มิคาอิล กอร์บาชอฟขณะอยู่ที่เมืองเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 1984 ในขณะนั้นเขาเป็นสมาชิกโปลิตบูโรและเป็นผู้มีอิทธิพลอันดับ 2 ของรัฐบาลโซเวียต (ขวา) ภาพอย่างเป็นทางการของกอร์บาชอฟนั้นถูกลบรอยปานอันเป็นเอกลักษณ์ออกจนหมด

แต่ถึงกระนั้น แหล่งที่มาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปริศนาเบื้องหลังภาพ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะจะสามารถพิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพของภาพถ่าย  เพื่อให้ทราบได้ว่ามีสิ่งผิดปกติในองค์ประกอบทางเคมี อายุของกระดาษ หรือเทคนิคการลงสีหรือไม่ครับ” เมสเซ็นไฮเมอร์ อธิบาย

ในบางครั้ง แค่ความรู้สึกตงิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องอยู่ในภาพก็สามารถนำไปสู่การตรวจสอบอย่างจริงจังได้ เฮเลนา ซิงค์แฮม (Helena Zinkham) ผู้เป็นหัวหน้าแผนกภาพพิมพ์และภาพถ่ายของหอสมุด เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ในปี 2007 เมื่อแคทริน แบล็คเวลล์ (Kathryn Blackwell) ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นเจ้าหน้าที่ประจำห้องอ่านหนังสือ ได้จุดความสงสัยเกี่ยวกับภาพถ่ายของยูลิสซีส เอส แกรนต์ (Ulysses S. Grant) ที่ถูกถ่ายในค่ายทหารระหว่างสงครามกลางเมืองขึ้นเป็นคนแรก

ภาพของพลตรีแม็คคุกซึ่งถูกถ่ายไว้เมื่อราว ๆ ปี 1862 ถึง 1865 ถูกนำส่วนที่มีม้าและร่างกายไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดต่อภาพนายพลแกรนต์ ณ เมืองซิตีพอยต์ขึ้น

ในวันนั้น แบล็คเวลล์ที่กำลังจัดเก็บรูปภาพกลับเข้าระบบเอกสารของหอสมุดฉุกคิดได้ว่า ภาพของยูลิสซีส เอส แกรนต์มีบางอย่างที่ดูไม่ปกติ จากการสืบสวนพบว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากภาพที่มาจากคนละแหล่งกัน ศีรษะของแกรนต์ถูกตัดมาวางทับบนร่างของเจ้าหน้าที่อีกคน นอกจากนั้นฉากหลังทั้งหมดยังถูกนำมาจากภาพถ่ายภาพอื่น นักวิจัยสันนิษฐานว่า ภาพนี้ถูกสร้างขึ้นช่วงราว ๆ  ปี 1902 ซึ่งถือว่าห่างจากปี 1885 ที่แกรนต์เสียชีวิตพอสมควร ภาพภ่ายดังกล่าวคือภาพที่แกรนต์ซึ่งเป็นวีรบุรุษแห่งสงครามโพสท่าอย่างสง่างามอยู่บนหลังม้า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวิธีที่ใช้ในการปรับแต่งและตัดต่อภาพจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่จุดประสงค์ในการใช้ขั้นตอนเหล่านี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่เหล่าผู้นำทางการเมือง โดยการแก้ไขจุดต่าง ๆ ในภาพไปทีละน้อยนั้นยังคงไม่เปลี่ยนไป

เรื่อง ปาริสซา เดอจางกี

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ภาพถ่ายป่าชายเลน 2024 มุมมองแห่งความมหัศจรรย์และความเปราะบางของระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญที่สุดของโลก

Recommend