ศึกษา ผลกระทบทางใจหลังออกจากถ้ำ ผ่านเหตุการณ์ในชิลี
ขอแสดงความยินดีกับ 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ในที่สุดก็สามารถออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้หลังติดอยู่นานถึง 17 วัน และขอขอบคุณในความพยายามของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้ รวมไปถึงกำลังใจจากทั่วโลกที่ช่วยให้ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
หลังออกมาจากถ้ำพวกเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและพักฟื้นร่างกาย ทั้งนี้ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน ปัจจุบันมีสภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่แข็งแรงดี ดูได้จากภาพในคลิปวิดีโอของหน่วยซีลที่พวกเขาแนะนำตัวกับกล้อง และจดหมายที่พวกเขาเขียนถึงครอบครัวที่รออยู่ด้านนอกเพื่อให้ทุกคนสบายใจ ไม่ต้องเป็นห่วง
ทว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสภาพจิตใจของบรรดาผู้ประสบภัยเหล่านี้ เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดสิ้นสุดลง? แม้การประเมินผลกระทบทางจิตใจยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ แต่เราสามารถศึกษากรณีที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ และโค้ชได้ ผ่านเหตุการณ์ในอดีต พร้อมเรียนรู้วิธีการป้องกัน ตลอดจนเยียวยาจิตใจของพวกเขา
ทำความรู้จักกับ PTSD
PTSD หรือ Post – Traumatric Stress Disorder คืออาการความเครียดและเจ็บป่วยหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบทางใจอย่างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านั้นครอบคุลมตั้งแต่การสูญเสียคนรัก ไปจนถึงการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยยังคงไม่สามารถลืมภาพของเหตุการณ์นั้นๆ หรือไม่สามารถสลัดออกไปจากหัวได้ บางครั้งอาจมาในรูปแบบของความฝัน หรือเกิดความเครียดอย่างรุนแรงเมื่อพบเจอกับสิ่งกระตุ้น เช่น ในกรณีของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ การกลับไปนั่งรถยนต์อีกครั้งอาจทำได้ยาก เพราะรถยนต์ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยประสบมา
อาการอื่นๆ ทางจิตที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการไม่สามารถสลัดความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ออกไปจากหัวก็ได้แก่ อาการวิตกกังวล, นอนไม่หลับ, หวาดระแวง หรือซึมเศร้า กล่าวโทษตนเองหากมีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ซึ่ง PTSD นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะไม่เคยมีแนวโน้มว่าเป็นคนคิดมาก หรือซึมเศร้ามาก่อนก็ตาม ในหลายประเทศ อาการทางจิตนี้พบได้มากในกลุ่มทหารผ่านศึก และมีหลายกรณีที่จบลงด้วยความรุนแรงเช่น ใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้อื่น หรือฆ่าตัวตาย
เกิดอะไรขึ้นกับคนงานเหมืองในชิลี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 เกิดอุบัติเหตุในเหมืองทองแดงกลางทะเลทรายอาตากามา เมืองซานโฮเซ ของชิลี ส่งผลให้เหมืองถล่มและปิดทางเข้าออกขังคนงานจำนวน 33 คนไว้ใต้ดินที่ระดับความลึกถึง 700 เมตร พวกเขาต้องใช้ชีวิตในเหมืองนาน 69 วัน กว่าทีมกู้ภัยจะเจาะเปิดช่อง และส่งแคปซูลลงไปรับตัวคนงานขึ้นมาทีละคนได้
Jonathan Franklin ผู้เขียนหนังสือ 33 Men ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์เอาชีวิตรอดขณะติดอยู่ภายในเหมือง และการกู้ภัยเล่าให้สำนักข่าว NPR ฟังในระหว่างการเปิดตัวหนังสือหนึ่งปีหลังเหตุการณ์ว่า เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงแล้วชายผู้ประสบภัยทั้ง 33 คนนี้ไม่ทราบว่าจะรับมืออย่างไรกับชื่อเสียง และความสนใจที่พุ่งมาที่พวกเขาทุกทิศทาง “พวกเขามีอาการของสคิโซฟรีเนีย (schizophrenic) โรคที่มีความผิดปกติของความคิด จินตนาการดูว่าวันหนึ่งคุณได้พักในโรงแรมระดับ 5 ดาว แต่เมื่อถึงเวลาต้องบินกลับบ้านที่ชิลี บ้านคุณไม่มีน้ำประปาใช้เสียด้วยซ้ำ”
นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงหลังโด่งดังในชั่วข้ามคืนแล้ว อาการทางจิตจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญคือสิ่งที่หลายคนประสบ “หนึ่งในพวกเขาเล่าให้ผมฟังว่าเขากลับเข้าไปในเหมืองได้แค่สองนาที แต่แล้วก็รู้สึกวิงเวียนศีรษะ และหวาดกลัวสุดท้ายจึงต้องวิ่งออกมา” Franklin กล่าว “คนงานอีกคนเล่าว่าแค่เขามองดูปากทางเข้าเหมืองก็ถึงกับร้องไห้ออกมา ผมบอกเขาว่าคุณรอดชีวิตแล้วนะ เขากลับบอกว่าความสุขทั้งชีวิตของเขาหายไปกับเหมืองนั่นด้วย”
ด้านจิตแพทย์เผยว่า 32 ใน 33 คนของคนงานถูกวินิจฉัยว่าเป็น PTSD บางคนมีอาการฝันร้าย บางคนใช้ความรุนแรงกับลูกและภรรยา และมีอยู่คนหนึ่งที่พยายามก่ออิฐล้อมรอบบ้านของตนเอง
สำนักข่าว Express ของสหราชอาณาจักรติดตามชีวิตของคนงานเหล่านี้หลังผ่านเหตุการณ์ไปแล้ว 5 ปี พวกเขาพบว่าคนงานบางส่วนใน 33 คนยังคงกลับไปทำงานเหมืองเช่นเดิม บางคนพยายามประกอบอาชีพใหม่ บางคนเผชิญกับการติดแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ในขณะที่ส่วนใหญ่เล่าว่าพวกเขายังคงขวัญผวา และเจ็บปวดกับฝันร้ายจากเหตุการณ์
มาริโอ เซพัลเวดา อดีตคนงานเหมืองชิลีผู้ส่งคลิปวิดีโอสั้นๆ ให้กำลังใจทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงว่าให้ทุกคน “สู้ต่อไป และเข้มแข็งเอาไว้!” ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาต้องต่อสู้กับความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายของตนเอง “ผู้คนเห็นภาพเจ้าหน้าที่ช่วยเราขึ้นมาได้และคิดกันว่านรกสิ้นสุดเสียที” เขากล่าว “อันที่จริงมันเพิ่งจะเริ่มเท่านั้น”
เซพัลเวดาเล่าให้ฟังว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกใช้ประโยชน์ จากนั้นก็ทอดทิ้งในเวลาต่อมา โดยบริษัทเหมืองที่ปัดสาเหตุที่เกิดขึ้นไปให้ภัยธรรมชาติ หรือนักการเมืองที่ใช้ปฏิบัติการดังกล่าวเรียกคะแนนนิยมให้ตนเอง ไปจนถึงทนายความที่กันเขาออกจากสิทธิ และการชดเชยที่พวกเขาได้รับ
“ทุกคนได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยกเว้นเรา” เซพัลเวดากล่าว “หลังเหตุการณ์พวกเขาพาเราไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ หรือเยี่ยมชมสนามของแมนเชสเตอร์ยูไนเตด พาเราไปออกรายการ แต่ไม่ได้ช่วยให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” (5 ปีหลังเหตุการณ์คนงานหลายคนยังคงมีฐานะยากจนไม่ต่างจากเดิม)
ด้าน Edison Pena คนงานเหมืองอีกคนต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า เข้าออกสถานบำบัด เผยว่าการหางานกลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากหลายบริษัทเชื่อว่าผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบต่องานไปด้วย ในขณะที่เหมืองอื่นๆ เองก็กังวลว่าการจ้างอดีตผู้ประสบภัยเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจมากเกินไป และอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ในอนาคต
เยียวยาจิตใจ
สำนักข่าว newscientist เคยลงบทวิเคราะห์ไว้ว่า คนงานเหมืองเหล่านั้นอาจเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิตใจเมื่อเรื่องราวของพวกเขาค่อยๆ จางหายไปจากสื่อ และความสนใจของโลก
“เมื่อแสงไฟจากสื่อไม่ได้ฉายไปที่พวกเขาแล้ว โลกก็จะลืมพวกเขาอย่างรวดเร็ว แต่ตัวเขาเองไม่มีวันลืม” Sheryl Bishop นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผู้เชี่ยวชาญการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงกล่าว พร้อมระบุว่าหากการสนับสนุนต่างๆ จากหน่วยงานและรัฐบาลจางหายไปด้วย ก็จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งมากยิ่งขึ้น
สำหรับในกรณีของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ให้คำแนะนำว่า เมื่อผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำได้แล้ว สำคัญมากที่ต้องหลีกเลี่ยงการถามถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น พร้อมระมัดระวังไม่ให้น้องๆ เสพโซเชียลมากเกินไปเนื่องจากมีทั้งคนชื่นชม และคนตำหนิ เสียงวิพากษ์วิจารณ์อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาวได้
ทั้งนี้อาการ PTSD อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน เนื่องจากแต่ละคนมีพื้นฐานชีวิต และการรับมือทางอารมณ์ที่ต่างกัน แต่เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประสบภัยจะเกิดความเครียดในช่วงแรก การประเมินสุขภาพจิตในระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคอยติดตามอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเหตุการณ์จะจบลงไปแล้วก็ตาม รวมไปถึงสุขภาพจิตของครอบครัวด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่โทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี หรือเป็นสาเหตุของเรื่องทั้งหมด
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
Chile’s rescued miners: the psychological after-effects
Psychological Issues For Trapped Miners
Underground, Under the Weather
What became of the Chilean miners five years on?
A Year Later, Chilean Miners Sift Through Trauma
PTSD คืออะไร อาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (POST-TRAUMATIC STRESS DISORDER)
จิตแพทย์เด็ก แนะวิธีเยียวยาจิตใจ 13ชีวิตทีมหมูป่า หลังออกจากถ้ำหลวง