ชนิดของดอกไม้ และหลักเกณฑ์การจำแนก

ชนิดของดอกไม้ และหลักเกณฑ์การจำแนก

ดอกไม้มีความหลากหลายทั้งเรื่องสี กลิ่น รูปร่าง และ ชนิดของดอกไม้ ที่มีเกณฑ์จำแนกแตกต่างกันออกไป

ดอกไม้สามารถจำแนกออกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ชนิดของดอกไม้

1. จำแนกตามโครงสร้างชั้นเกสรเพศในดอกไม้ แบ่งได้ 2 ชนิด คือ

  • ดอกสมบูรณ์เพศ (Perfect Flower) คือ ดอกไม้ที่มีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เช่น ชบา พู่ระหง ถั่ว พริก พุทธรักษา ข้าว บัว เฟื่องฟ้า และมะเขือ เป็นต้น
ดอกสมบูรณ์เพศ, ดอกพู่ระหง, ชนิดของดอกไม้
ดอกพู่ระหง
  • ดอกไม่สมบูรณ์เพศ (Imperfect Flower) คือ ดอกที่มีเกสรเพียงเพศเดียว โดยที่ภายในดอกไม้หนึ่งดอกจะมีเพียงแค่เกสรเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ทำให้พืชเหล่านี้มีดอกไม้ที่แบ่งเป็นดอกเพศผู้ (Staminate Flower) และดอกเพศเมีย (Pistillate Flower) เช่น ตำลึง ข้าวโพด ฟักทอง และแตงกวา เป็นต้น
ดอกฟักทองตัวผู้, ดอกไม่สมบูรณ์เพศ, ดอกไม่ครบส่วน, ชนิดของดอกไม้
ดอกฟักทองตัวผู้
ดอกฟักทองตัวเมีย, ดอกไม่สมบูรณ์เพศ, ดอกไม่ครบส่วน, ชนิดของดอกไม้
ดอกฟักทองตัวเมีย

2. จำแนกตามส่วนประกอบโครงสร้างของดอกไม้ แบ่งได้ 2 ชนิด คือ

ดอกสมบูรณ์ (Complete Flower) คือ ดอกครบส่วน หรือดอกไม้ที่มีโครงสร้างทั้ง 4 ชั้นครบสมบูรณ์ในดอกเดียว ไม่ว่าจะเป็นชั้นกลีบเลี้ยง (Calyx) ชั้นกลีบดอก (Corolla) ชั้นเกสรเพศผู้ (Androecium) และชั้นเกสรเพศเมีย (Gynaecium) เช่นที่ปรากฏในดอกชบา กุหลาบ แค มะเขือ และพู่ระหง เป็นต้น

ดอกกุหลาบ, กุหลาบป่า, ชนิดของดอกไม้, ดอกครบส่วน
ดอกกุหลาบ จัดเป็นหนึ่งใน ชนิดของดอกไม้ ที่เป็นดอกครบส่วน
  • ดอกไม่สมบูรณ์ (Incomplete Flower) คือ ดอกไม่ครบส่วน หรือดอกไม้ที่มีส่วนประกอบทั้ง 4 ชั้นไม่ครบสมบูรณ์ในดอกเดียว โดยขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป เช่น ดอกบานเย็นที่ขาดชั้นกลีบดอก ดอกหน้าวัวและดอกอุตพิดที่ขาดกลีบเลี้ยงและกลีบดอก รวมไปถึงดอกตำลึง ฟักทอง บวบ และแตงที่ขาดชั้นเกสรเพศผู้หรือเกสรเพศเมีย เป็นต้น
ดอกหน้าวัว, ชนิดของดอกไม้, ดอกไม้, ดอกไม่ครบส่วน
ดอกหน้าวัว จัดเป็นดอกไม่ครบส่วน เนื่องจากไม่มีกลีบเลี้ยง และกลีบดอก

นอกจากนี้ ดอกไม้บางชนิดที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เพราะมีเกสรครบทั้งเพศผู้และเพศเมีย อาจถูกจำแนกเป็นดอกไม่ครบส่วน เนื่องจากขาดองค์ประกอบของชั้นใดชั้นหนึ่งไป ดังนั้น ในกรณีที่ดอกไม้ดังกล่าวเป็นดอกไม่ครบส่วน อาจต้องการการพิจารณาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจเป็นได้ทั้งดอกสมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศ เช่นเดียวกันกับดอกสมบูรณ์เพศที่อาจเป็นได้ทั้งดอกครบส่วนและไม่ครบส่วนนั่นเอง

3. จำแนกตามจำนวนของดอกบนก้านดอก แบ่งได้ 2 ชนิด คือ

  • ดอกเดี่ยว (Solitary Flower) คือ การมีดอกไม้เพียงดอกเดียวปรากฏบนหนึ่งก้านดอก ซึ่งเป็นดอกที่พัฒนามาจากตาดอก 1 ตา เกิดเป็นดอกไม้ 1 ดอกบนก้านดอก 1 ก้าน เช่น ฟักทอง จำปี ชบา และบัว เป็นต้น
ดอกบัว, ดอกเดียว, ชนิดของดอกไม้
ดอกบัว
  • ดอกช่อ (Inflorescence Flower) คือ กลุ่มของดอกไม้หลายดอกที่ปรากฏอยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยแต่ละดอกจะมีดอกย่อย (Floret) และมีใบประดับ (Bract) บริเวณโคนก้านดอกย่อย (Pedicel) ที่ตั้งอยู่บนฐานของก้านช่อดอก
ดอกเข็ม, ดอกช่อ, ชนิดของดอกไม้
ดอกเข็ม
ดอกทานตะวัน, ดอกช่อ, ชนิดของดอกไม้
ดอกทานตะวัน มีลักษณะคล้ายดอกเดี่ยว แต่ดอกย่อยเกิดตรงปลายก้านช่อดอกเดียวกัน

ดอกไม้แต่ละชนิดมีการแตกก้านดอกและการจัดเรียงดอกหรือช่อดอกที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงนำลักษณะโครงสร้างเหล่านี้มาใช้ในการจำแนกช่อดอกออกเป็นแบบต่าง ๆ อาทิ ดอกช่อเชิงลด (Spike/Indeterminate Inflorescence) ที่ดอกย่อยชั้นล่างสุดหรือชั้นนอกสุดจะบานก่อน หรือช่อดอกกระจุก (Cyme/ Determinate Inflorescence) ที่ดอกบริเวณกลางช่อจะบานก่อนเป็นอันดับแรกและไล่บานออกไปทางด้านข้างตามลำดับ เช่น ช่อดอกมะลิ เข็ม และแตงกวา เป็นต้น

นอกจากนี้ ดอกช่อบางชนิดมีลักษณะคล้ายดอกเดี่ยว เช่น ทานตะวัน ดาวเรือง และบานชื่น จากการที่ช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อย 2 ชนิด คือ ดอกวงนอก ที่อยู่บริเวณชั้นนอกของโครงสร้างดอก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งดอกสมบูรณ์เพศหรือไม่สมบูรณ์เพศ และ ดอกกลางช่อ ที่มีบริเวณกึ่งกลางติดอยู่บนปลายของก้านช่อดอก ซึ่งเป็นฐานโค้งนูน ดอกกลางช่อเป็นดอก

4. จำแนกตามตำแหน่งของรังไข่ แบ่งได้ 3 ชนิด คือ

  • ดอกที่มีรังไข่อยู่เหนือฐานรองดอก (Hypogynous Flower) คือ ดอกที่มีฐานรองดอกนูนสูง เกสรเพศเมียจึงอยู่สูงกว่าส่วนของกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เช่น ดอกมะเขือ จำปี ยี่หุบ และบัว
  • ดอกที่มีรังไข่อยู่เสมอกับฐานรองดอก (Perigynous Flower) คือ ดอกที่มีส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอกและเกสรเพศผู้อยู่ติดบนฐานรองดอกในระดับเดียวกับรังไข่ เพราะลักษณะที่โค้งคล้ายรูปถ้วยของฐานรองดอก เช่น กุหลาบ และพืชตระกูลถั่วบางสายพันธุ์
  • ดอกที่มีรังไข่อยู่ใต้ฐานรองดอก (Epigynous flower) คือ ดอกที่ส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรเพศผู้ติดบนฐานรองดอกที่อยู่เหนือเกสรเพศเมีย เช่น แตงกวา บวบ ฟักทอง และชมพู่ เป็นต้น
ชนิดของดอกไม้, ตำแหน่งของรังไข่
ภาพกราฟิกแสดงตำแหน่งของรังไข่บนชนิดของดอกไม้แบบต่างๆ

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ

(เทคนิคปลูกดอกไม้ในสวนให้สวยสะพรั่ง)


ข้อมูลอ้างอิง 

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล http://www.satriwit3.ac.th/files/200429099330853_20091916164326.pdf

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://1.179.173.242/moviesnew/Admin/acrobat/v_3_sc_sc_141.pdf

StartDee.com https://blog.startdee.com/โครงสร้างของพืชดอก5-ชีววิทยา


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : โครงสร้างของดอกไม้ อวัยวะสำคัญสำหรับการปฏิสนธิของพืชฃ

Recommend