ไอดินและกลิ่นฝน กลิ่นหอมจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงฝนตก
ความทรงจำบางอย่างของคนเรามักเกี่ยวโยงกับประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง แสงแดดยามเย็นในฤดูหนาว อาจนำพาความทรงจำบางอย่างย้อนกลับมา บางครั้งอารมณ์และความรู้สึกในช่วงเวลานั้นยังแจ่มชัดแม้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน เช่นเดียวกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนสู่ฤดูฝน ไอดินและกลิ่นฝน อาจนำพาความรู้สึกและความทรงจำเก่าๆ ของเรากลับมาเช่นกัน
ความรู้สึกสดชื่นในช่วงเวลาเม็ดฝนโปรยปราย เป็นความรู้สึกดีสำหรับใครหลายคน นักวิทยาศาสตร์สนใจเรื่องนี้มานานแล้ว และเชื่อกันว่า มนุษย์เราถูกถ่ายทอดความรู้สึก “ชื่นชอบ” และ “กระชุ่มกระชวย” ต่อฟ้าฝน มาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมในยุคที่มนุษย์ทั้งหลายต้องอาศัยฝนเป็นหลักในการทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับฉัน ไอดินและกลิ่นฝนทำให้ความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตในท้องทุ่งชนบทหวนคืนกลับมา
หลังจากมาร่ำเรียนและทำงานในเมืองหลวง ทุกครั้งที่ฝนตก ฉันจะนึกถึงบรรยากาศบ้านไร่ปลายนาอยู่ทุกครั้ง ฉันจึงหาข้อมูลของกลิ่นดินและไอฝนที่ฉันรู้สึกประทับใจ จนพบคำตอบว่า กลิ่นทั้งสองชนิดนี้มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง
กลิ่นฝน
ในขณะที่สายฝนสาดกระเซ็นลงมาจากท้องฟ้า นอกจากการควบแน่นของไอน้ำที่หยดลงมาเป็นเม็ดฝน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟ้าแลบหรือฟ้าผ้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆ ส่งผลให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนบางส่วนในอากาศแตกตัวเป็นอะตอมของออกซิเจน และเกิดปฏิกิริยาขึ้นใหม่กลายเป็นแก๊ซโอโซน กลิ่นของโอโซนที่ลอยมาในอากาศก่อนช่วงฝนตกเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งถึงสายฝนที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า และกลิ่นของแก๊ซโอโซนยังกระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกสดชื่นเมื่อได้สูดดม
ทำความรู้จักกับ “เมฆ” แต่ละประเภท
ไอดิน
“หอมกลิ่นดิน” ฉันได้ยินคำนี้จากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่พึมพำเวลาฝนตกใหม่ๆ ในภาษาอังกฤษ กลิ่นหอมของดินเรียกว่า เพตริเคอร์ (Petrichor) มีที่มาจากการรวมสองคำคือคำว่า “petros” หมายความว่า ก้อนหิน และ “ichor” แปลว่าของเหลวที่ไหลอยู่ในเส้นโลหิตของทวยเทพ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่ศึกษาเรื่องกลิ่นหลังฝนตก เป็นผู้บัญญัติขึ้น ทั้งสองคนอธิบายว่า แท้จริงแล้ว กลิ่นดินไม่ใช่กลิ่นโมเลกุลของดินที่ผสมรวมกับน้ำฝน แต่เป็นกลิ่นของสารหอมระเหย จีออสมิน (Geosmin) ที่สร้างขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรียสกุล สเตรปโตไมคีส (Streptomyces)
เชื้อสเตรปโตไมคีสมีอยู่มากมายในผืนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เมื่อเม็ดฝนตกลงมากระทบกับดิน แรงกระทบส่งให้สปอร์ของแบคทีเรียหลุดลอยขึ้นไปในอากาศพร้อมโมเลกุลจีออสมิน คนส่วนใหญ่มักรู้สึกถึงกลิ่นเฉพาะนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมนุษย์มีความไวต่อกลิ่นนี้เป็นพิเศษ แม้จะมีโมเลกุลจีออสมินเพียงห้าในล้านส่วน (5 ppm, part per million) ปะปนอยู่ในอากาศ
นอกจากกลิ่นหอมจากพสุธาแล้ว สายฝนยังช่วยกระตุ้นกลิ่นต่างๆ ออกมาจากพืชได้ด้วย ในช่วงหน้าแล้ง พืชพรรณต่างๆ มักชะลอกิจกรรมภายในเซลล์ไว้เนื่องจากมีปริมาณน้ำและแร่ธาตุที่จำกัด แต่เมื่อฝนตกลงมาอีกครั้งทำให้พืชเริ่มฟื้นคืนชีวิตและเติบโตอีกครั้ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พืชปล่อยกลิ่นสดชื่นออกมา
การรับรู้กลิ่นเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสของมนุษย์ และสมองของเรามักผูกโยงการรับรู้ของเราเข้ากับความทรงจำที่แตกต่างกันออกไป เกิดเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน การรับรู้ถึงไอดินและกลิ่นฝนก็คงเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นอีกหลายร้อยตัวที่จะคอยทำให้เราได้หวนคิดถึงความทรงจำที่ยังติดตรึง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความทรงจำของมนุษย์