โกหก ทำไมกัน? ประวัติศาสตร์มนุษยชาติกับพัฒนาการการโกหก
ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเต็มไปด้วยคนลวงโลกที่เหลี่ยมจัดและโชกโชน บ้างเป็นอาชญากรที่แต่งเรื่องต้มตุ๋นเพื่อหลอกเอาเงินโดยมิชอบ เช่น นักการเงินชื่อ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ผู้หลอกให้นักลงทุนจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่หลายปี จนธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของเขาพังครืนลง บ้างเป็นนักการเมืองที่โกหกเพื่อให้ได้อำนาจหรือไม่ก็เพื่อรักษามันไว้ เช่น ข่าวฉาวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้ปฏิเสธว่า เขาไม่มีส่วนพัวพันกับคดีวอเตอร์เกต
จอมลวงโลกเหล่านี้โด่งดังเพราะผลอันเลวร้าย ไร้ยางอาย และเสื่อมเสียที่พฤติกรรมของพวกเขาก่อขึ้น แต่การหลอกลวงไม่ได้ทำให้พวกเขาผิดปกติอย่างที่เราอาจคิด เพราะการโป้ปดมดเท็จหล่อหลอมพฤติกรรมมนุษย์มาเนิ่นนาน
กลายเป็นว่าการ โกหก คือสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่ทำได้ช่ำชองยิ่ง เราโกหกคล่องปากทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก ทั้งกับคนแปลกหน้า เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และคนที่เรารัก ความสามารถในการคิดไม่ซื่อคือรากฐานของชีวิตมนุษย์พอๆกับความจำเป็นที่ต้องไว้ใจคนอื่น และนั่นก็ทำให้เราจับโกหกได้แย่อย่างน่าหัวร่อ การโป้ปดถักทออยู่ในสายใยวัฒนธรรมของเรามากเสียจนพูดได้เต็มปากว่า การโกหกคือธรรมชาติของมนุษย์
พฤติกรรมโกหกที่พบได้ทุกหนแห่งได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบครั้งแรกโดยเบลลา เดเปาโล นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนตาบาร์บารา ย้อนหลังไป 20 ปีก่อน เดเปาโลกับเพื่อนร่วมงานพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยพูดไม่จริงเฉลี่ยวันละหนึ่งถึงสองครั้ง การพูดไม่จริงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง โดยมีเจตนาจะซ่อนความบกพร่องของตนหรือถนอมน้ำใจผู้อื่น บางครั้งก็เป็นข้อแก้ตัว คนหนึ่งบอกว่า ที่ไม่เอาขยะไปทิ้งเพราะไม่รู้ว่าต้องทำแบบนั้น แต่บางครั้งก็ทำเพื่อสร้างภาพจอมปลอม เช่น อ้างตัวเองว่าเป็นลูกชายนักการทูต ผลการศึกษาต่อมาของเดเปาโลชี้ว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต คนส่วนใหญ่ “โกหกจริงจัง” หนึ่งหรือหลายเรื่อง เช่น ปิดบังความไม่ซื่อสัตย์ของตนจากคู่สมรส หรือส่งหลักฐานเท็จเพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย
เราไม่ควรแปลกใจที่มนุษย์ทุกหนแห่งมีพรสวรรค์ในการหลอกลวงกันเอง นักวิจัยสันนิษฐานว่า การโกหกเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่นานหลังภาษาถือกำเนิดขึ้น ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากบุคคลอื่นโดยไม่ต้องใช้กำลังขู่บังคับน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการแย่งชิงทรัพยากรและคู่ครอง “การโกหกเป็นเรื่องง่ายมาก เมื่อเทียบกับวิธีแสวงหาอำนาจอื่นๆ” ซิสเซลา บ็อก นักจริยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกและเสริมว่า “การโกหกเพื่อหลอกเอาเงินหรือสมบัติ จากใครสักคนนั้นง่ายกว่าการตีหัวเขาหรือปล้นธนาคารมากทีเดียว”
(ทำไมเราจึงตกหลุมรัก เกิดอะไรขึ้นบ้างกับสมองของเราเมื่อตกอยู่ในโลกสีชมพู)
การโกหกไม่ต่างจากการหัดเดินและหัดพูดตรงที่เป็นหมุดหมายหนึ่งของพัฒนาการ ขณะที่พ่อแม่มักกังวลกับการโกหกของลูก หลี่คัง นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต กลับเห็นว่า การโกหกของเด็กวัยหัดเดินคือสัญญาณยืนยันว่า สมองส่วนการคิดของพวกเขากำลังพัฒนา
หลี่กับเพื่อนร่วมงานศึกษาพฤติกรรมโกหกในเด็กโดยใช้การทดลองง่ายๆ พวกเขาขอให้เด็กๆทายชื่อของเล่นที่ซ่อนอยู่จากเสียงบอกใบ้ คำใบ้ของของเล่นชิ้นแรกๆนั้นชัดเจน เช่น เสียงเห่าแทนสุนัข เสียงร้องแทนแมว และเด็กๆก็ตอบได้ทันที จากนั้นเสียงบอกใบ้เริ่มไม่เกี่ยวกับของเล่น “เราเปิดเพลงเบโทเฟน แต่ของเล่นคือรถครับ” หลี่อธิบาย ผู้ทำการทดลองแกล้งเดินออกจากห้องโดยบอกว่าจะไปรับโทรศัพท์ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และห้ามเด็กๆแอบดู เมื่อกลับเข้ามา พวกเขาจะขอคำตอบหลังจากถามเด็กๆก่อนว่า “หนูแอบดูหรือเปล่าจ๊ะ”
จากกล้องที่ซ่อนอยู่ หลี่กับทีมวิจัยพบว่า เด็กส่วนใหญ่อดใจไม่ไหวที่จะแอบดู อัตราร้อยละของเด็กที่แอบดูและโกหกขึ้นอยู่กับอายุ ในกลุ่มเด็กสองขวบที่แอบดู มีเพียงร้อยละ 30 ที่พูดไม่จริง ส่วนเด็กสามขวบพูดไม่จริงร้อยละ 50 แต่พออายุแปดขวบ เด็กที่อ้างว่าไม่ได้แอบดูมีสูงถึงร้อยละ 80
เด็กๆยังโกหกเก่งขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นด้วย ในการเดาคำตอบของเล่นที่ตนแอบดู เด็กสามและสี่ขวบจะพูดโพล่งคำตอบที่ถูกต้องออกมาโดยไม่ตระหนักว่า คำตอบนั้นเผยความผิดและการโกหกของตน ส่วนเด็กเจ็ดหรือแปดขวบรู้จักอำพรางการโกหกด้วยการจงใจตอบผิด หรือพยายามทำให้คำตอบนั้นดูคล้ายการคาดเดาอย่างมีเหตุมีผล
เด็กอายุห้าและหกขวบอยู่ตรงกลาง ในการศึกษาครั้งหนึ่ง หลี่ใช้ตุ๊กตาไดโนเสาร์บาร์นีย์เป็นของเล่น เด็กหญิงห้าขวบที่ปฏิเสธว่าไม่ได้เปิดดูของเล่นซึ่งมีผ้าคลุมอยู่ ขออนุญาตจับของเล่นก่อนทาย “แกสอดมือเข้าไปใต้ผ้าคลุม หลับตาลงและบอกว่า ‘อา หนูรู้ว่านี่คือบาร์นีย์’ ” หลี่เล่า “ผมถามว่า ‘ทำไมล่ะ’ แกตอบว่า ‘เพราะมันให้ความรู้สึกถึงสีม่วงค่ะ’ ” [จริงๆหนูน้อยแอบดู แต่ยังโกหกได้ไม่แนบเนียนพอ คำตอบจึงดูขัดแย้งกัน เพราะการสัมผัสไม่น่าจะสามารถบอกหรือระบุสีได้]
การโกหกที่แนบเนียนขึ้นเรื่อยๆนี้ได้แรงผลักดันจากพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีจิต (theory of mind) ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความเชื่อ ความตั้งใจ และความรู้ของคนอื่นๆ นอกจากนี้ พื้นฐานของการโกหกคือทักษะการบริหารจัดการของสมองอันเป็นความสามารถที่จำเป็นต่อการวางแผน การเอาใจใส่ และการควบคุมตนเอง เด็กสองขวบที่โกหกในการทดลองของหลี่ทำแบบทดสอบทฤษฎีจิตและการบริหารจัดการของสมองได้คะแนนสูงกว่าเด็กที่ไม่โกหก กระทั่งในวัย 16 ปี คนโกหกเก่งก็ทำแบบทดสอบได้ดีกว่าคนโกหกไม่เก่ง ในทางกลับกัน เด็กในกลุ่มโรคออทิซึมซึ่งเป็นที่ทราบว่ามีพัฒนาการของทฤษฎีจิตล่าช้า โกหกไม่เก่งนัก
อ่านต่อ >>