โกหก ทำไมกัน?

โกหก ทำไมกัน?

ความรู้ส่วนใหญ่ที่เราใช้ดำเนินชีวิตในโลกมาจากคำบอกเล่าของผู้อื่น  หากปราศจากความไว้วางใจอย่างไร้ข้อกังขาที่จะสื่อสารกับมนุษย์คนอื่น  เราคงอยู่ในสภาพเหมือนเป็นอัมพาตในฐานะปัจเจกบุคคลและสิ้นสุดการมีความสัมพันธ์ทางสังคม “เราได้อะไรมากมายจากการเชื่อในคำพูดของคนอื่น  เทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายน้อยนิดที่เกิดจากการถูกหลอกนานๆครั้ง” ทิม เลวีน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา วิทยาเขตเบอร์มิงแฮม บอก

การถูกตั้ง “โปรแกรม” ให้ไว้ใจคนอื่น  ทำให้มนุษย์เชื่อคนง่ายโดยธรรมชาติ “ถ้าคุณบอกใครสักคนว่า ‘ผมเป็นนักบิน’ จะไม่มีใครมัวนั่งสงสัยว่า ‘เอ ไม่น่าจะใช่หรอกมั้ง เขาบอกเราทำไมว่าเป็นนักบิน’ ผู้คนไม่สงสัยอะไรแบบนั้นครับ” แฟรงก์ อาบักเนล, จูเนียร์ บอก เขาเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย  ผู้เคยทำผิดกฎหมายสมัยยังหนุ่มด้วยการปลอมแปลงเช็คและปลอมตัวเป็นนักบินของสายการบินแห่งหนึ่ง  จนเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง จับให้ได้ ถ้านายแน่จริง (Catch Me if You Can) เมื่อปี 2002 “นี่ละครับที่ทำให้แผนต้มตุ๋นได้ผล”

(แล้วทำไมร่างกายของเราถึงหลั่งน้ำตาออกมาตอนเสียใจ?)

โกหก
สายลับ โกหกเพื่อประเทศชาติ
แวเลอรี เพลม อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ทำงานจารกรรมมานาน 20 ปี เมื่อปี 2003 เธอถูกเปิดเผยตัวและต้องยุติอาชีพที่เป็นความลับ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชให้ชื่อเธอแก่นักเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ เธอกับสามีบอกว่า นั่นคือบทลงโทษที่สามีของเธอกล่าวหาว่า ทำเนียบขาวใช้ข่าวกรองที่ทำให้ใหญ่โตเกินจริงเป็นข้ออ้างในการบุกอิรัก

โรเบิร์ต เฟลด์แมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์  เรียกสิ่งนี้ว่า  ข้อได้เปรียบของคนลวง “ผู้คนไม่คาดคิดว่าจะเจอเรื่องโกหก เราไม่ได้มุ่งเสาะหาคำลวงครับ” เขาบอก “และบ่อยครั้งที่เราอยากเชื่อเรื่องที่เราได้ยิน” เรามีความต้านทานต่ำมากต่อเรื่องโกหกที่ฟังแล้วชื่นใจและปลอบประโลม ไม่ว่าจะเป็นคำยกยอปอปั้นหรือคำสัญญาถึงผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเกินจริง ยิ่งเป็นคำโกหกของผู้มีฐานะ อำนาจ และสถานะทางสังคม ก็ยิ่งน่าเชื่อถือกว่าปกติ

นักวิจัยชี้ว่า เรามีแนวโน้มจะยอมเชื่อคำลวงที่ตรงกับทรรศนะการมองโลกของเราเป็นพิเศษ  ด้วยเหตุนี้ โพสต์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และอื่นๆ ที่เผยแพร่ “ข้อเท็จจริงทางเลือก” (alternative fact) ตามที่ที่ปรึกษาของทรัมป์เรียกคำกล่าวอ้างของเขาเรื่องจำนวนฝูงชนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี  จึงแพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์  การหักล้างข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถทำลายพลังอำนาจของข้อมูลเหล่านั้น  เพราะผู้คนประเมินหลักฐานต่างๆที่นำเสนอผ่านกรอบความเชื่อและอคติที่มีอยู่เดิม จอร์จ เลคอฟฟ์ นักภาษาศาสตร์ปริชานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ บอกว่า “หากข้อเท็จจริงที่เข้ามาไม่สอดคล้องกับกรอบความคิดของคุณ คุณจะไม่มองมัน ไม่แยแสมัน หัวเราะเยาะมัน หรือฉงนไปกับมัน หรือไม่ก็เล่นงานมัน ถ้ามันคุกคามคุณ”

เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ

ภาพถ่าย แดน วินเทอร์ส

 

อ่านเพิ่มเติม

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีกับความชั่ว

Recommend